Skip to main content
sharethis

เลขาธิการพรรคก้าวไกลเผยถกวงเล็กตำแหน่งประธานสภา 30 พ.ค. ที่พรรคประชาชาติ แง้มทาบคนนอกนั่งฝ่ายบริหาร - เลขาธิการเพื่อไทยเผยเตรียมหาข้อยุติศึกชิงประธานสภาสัปดาห์หน้า เชื่อมีทางออกขออย่ามองไปไกลถึงขั้นฟรีโหวต - 'สุชาติ' ชี้ประธานสภาไม่มีสิทธิเลือกกฎหมายตามใจ เตือนให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนระวังทำให้สภาเสียหาย 


ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (แฟ้มภาพ)

27 พ.ค. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ประสานงานจัดตั้งรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเจรจาผู้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะมีการหารือกันในวันที่ 30 พ.ค. 2566 นี้ เวลา 14.30 น. ที่ทำการพรรคประชาชาติ เชื่อว่าจะมีเวลาสำหรับการหารือกันเป็นการภายใน ตามที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ย้ำไว้ว่าขอให้พรรคร่วมไปหารือกันในวงเจรจาวงเล็ก

นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องมีวาระที่จะต้องทำก่อน หลังจากที่มีการลงนาม MOU โดยแต่ละวาระจะมีการเตรียมตัว สำหรับการทำงานล่วงหน้าอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบตรงไหน สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการหารือกันหลังจากนี้

“ยอมรับว่าในส่วนของพรรคก้าวไกลจะมีการทาบทามคนนอกเข้ามาในตำแหน่งฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นปกติในทุกรัฐบาล ที่จะเชิญคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการบริหาร โดยไม่ได้มีปัจจัยเรื่องของอายุเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้ภายในพรรคก้าวไกลยังไม่ได้คุยกันว่าใครจะดำรงตำแหน่งอะไร ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าในพรรคการเมืองอื่นอีก 7 พรรค ก็จะยังไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ เพราะว่าอาจจะเร็วเกินไป” นายชัยธวัชกล่าว

เลขาธิการเพื่อไทยเผยเตรียมหาข้อยุติศึกชิงประธานสภาสัปดาห์หน้า เชื่อมีทางออกขออย่ามองไปไกลถึงขั้นฟรีโหวต 

เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาตําแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ว่าจะมีการหารือกันในสัปดาห์หน้า โดยตัวแทนจากทั้ง 2 พรรคจะพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามว่า หากจนสุดทางแล้วยังไม่ลงตัว จะมีการปล่อยให้ฟรีโหวตกันหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่าไม่อยากให้มองไปถึงขั้นนั้น ขอให้คุยกันก่อน เป็นทางที่ดีที่สุด เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออก อย่ามองไปไกลถึงจุดที่ว่าต้องแสดงพลังใส่กัน

เมื่อถามว่าจะกระทบการทํางานร่วมกันในอนาคตหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่กระทบ เรายินดีสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยน 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีนักวิชาการเสนอแก้ปัญหา ด้วยการให้คนจากพรรคที่ 3 ดํารงตําแหน่งประธานสภาฯ นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เป็นความเห็นของนักวิชาการ แต่สิ่งสำคัญคือพรรค พท.และพรรคก้าวไกลต้องตกลงกันให้ได้ เพื่อหาข้อยุติโดยเร็ว ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะบานปลาย

'สุชาติ' ชี้ประธานสภาไม่มีสิทธิเลือกกฎหมายตามใจ เตือนให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนระวังทำให้สภาเสียหาย

Voice online รายงานว่าสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี สามารถใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และการอ้างว่าเป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภา จะได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเสียทีเดียว เพราะในประวัติศาสตร์มีหลายครั้งที่ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุด ที่ผ่านมาทุกสมัย ประธานสภาฯ จะมาจากการเลือกของเพื่อน ส.ส.ในสภาฯ ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เลือก และการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาฯกำหนด

สำหรับการบรรจุวาการประชุมสภาฯ รวมไปถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภา การจะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ของพรรคที่ตนเองสังกัดก็ต้องบรรจุตามลำดับ ประธานสภา ไม่มีสิทธิที่จะเลือกบรรจุตามอำเภอใจได้ และไม่มีสิทธิที่จะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุไปแล้วขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของที่ประชุมสภาต้องตกลงกัน 

“เข้าใจว่า ขณะนี้มีความพยายามในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภากันระหว่างพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองกันทางการเมืองที่เจรจากันเป็นการภายใน และพรรคก้าวไกล เองก็มีอดีต ส.ส.ร่วมทำหน้าที่ในสภาชุดที่แล้วหลายท่าน การกล่าวหาสภาในทางเสียหาย ก็เหมือนกับตำหนิการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย จึงอยากให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสภา หรืออำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ ส่วนตัวผมก็มีคนเชียร์ว่า จะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภา ในสภาชุดนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่จะเสนอชื่อใคร และก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาด้วยว่า จะลงมติเลือกหรือไม่ แต่สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ใครได้เป็นประธานสภาฯ เพราะความสำคัญอยู่ที่การที่สภา ได้เริ่มทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาได้เมื่อใดมากกว่า”

สุชาติ กล่าวถึงวาระของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการทำให้สภามีความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ว่าในสภาฯชุดที่ผ่านมา การประชุมสภา จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมทุกครั้งทางสถานีวิทยุรัฐสภาคลื่น FM 87.5 เมกกะเฮิร์ต และถ่ายทอดทางโทรทัศน์รัฐสภา TPTV ช่อง 10 รวมทั้งผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆตลอด 4 ปี ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการนั้น จะมีทั้งข้อมูลที่เปิดเผยได้ และเปิดเผยไม่ได้ การประชุมใดจะเป็นการลับ หรือเป็นการเปิดเผยจึงขึ้นอยู่กับมติของสมาชิกคณะกรรมาธิการนั้นๆ

เมื่อถามว่า ตามกระแสข่าวหากพรรคเพื่อไทยได้โควตาประธานสภาฯ จริง สุชาติ อาจได้รับการเสนอชื่อ นายสุชาติ กล่าวว่า การลงมติเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใด แต่เป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งและไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ จึงอยากฝากไปถึงให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เร่งพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้สภาฯเดินหน้าการทำงานได้โดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net