ปชช. ระยองร้องความรับผิดชอบปมถมถนนและคลองสาธารณะ จนเป็นปัจจัยน้ำท่วมใหญ่ 65

ประชาชนระยอง ยืนหนังสือเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบและเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และนายทุนที่เกี่ยวข้องกับการถมถนนและคลองสาธารณะ จนเป็นปัจจัยทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2565 เผยทำกันเป็นขบวนการทำกันแบบนี้มานาน ท้องถิ่นไม่ยอมตรวจสอบ ถมแล้ว ถมอยู่ ถมต่อ

29 พ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบผู้ใช้เฟสบุ๊คในชื่อ “สำนักข่าว ตาสวรรค์” รายงานความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ต.สำนักทอง , ต.กะเฉด และ ต.แกลง อำเภอเมืองระยอง เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มดังกล่าวรวมตัวกันยืนหนังสือข้อเรียกร้องของประชาชน บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองระยอง เรียกร้องให้รัฐตรวจสอบและเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และนายทุนที่เกี่ยวข้องกับการถมถนนและคลองสาธารณะ จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2565

เฉลิมเกียรติ ลีวงษ์เจริญ ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องดังกล่าวยื่นหนังสือกับ กฤช ศิลปชัย ว่าที่สส.พรรคก้าวไกล  เขต 2 จ.ระยอง เพื่อส่งต่อให้ พิธาลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรี โดยมี 4 ข้อเรียกร้องประกอบด้วย

1. ขอให้นำเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของกรมที่ดินลงมาทำการรังวัดปูเขตทางและคลองสาธารณะในบริเวณที่มีการรุกล้ำทั้งหมด

2. เมื่อพบการกระทำวามผิดแล้วขอให้ดำเนินการกับผู้ดระทำความผิดตามกฎหมายโดยเคร่งคัดและเด็ดขาด

3. ขอให้ย้ายเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ระยอง ออกนอกพื้นที่

4. ขอให้จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเพื่อทำการขุดลอกคลองที่ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลยึดคลองไว้ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมและดำเนินการฟื้นฟูสภาพถนนทางสาธารณะที่ถูกยึดครองให้กลับสู่สภาพเดิมเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้ตามปกติ

ทั้งนี้เมื่อปลายปี 2565 เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดระยอง จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทย โดย สนง.ปภ.ระยอง ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ในพื้นที่จังหวัดระยอง ทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระยอง , อำเภอเมืองแกลง , อำเภอวังจันทร์ และอำเภอบ้านค่าย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง ได้ระบุว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 40,000 ราย 20,000 ครัวเรือน พืชผลทางการเกษตรเสียหายประมาณ 1,300 ไร่

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตจาก The eastern citizen center ECC ระบุว่า “ ปัญหาในครั้งนี้เกิดจาก 'ผังเมืองระยอง' ซึ่งกำหนดให้พื้นที่อุตสาหกรรมถมพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่รับน้ำ, การสร้างบ้านจัดสรรต่าง ๆ ซึ่งขวางทางน้ำ รวมทั้งการขุดเขาธุรกิจขายดินลูกรัง เป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อเกิดฝนตก น้ำป่า จะทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หน้าดินพังทลาย สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากพื้นที่รับน้ำที่จะชะลอความเร็วของน้ำก่อนที่จะไหลลงทะเลได้หายไป ”

สํานักข่าว ตาสวรรค์ ยังนำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2566 ได้ตีพิมพ์ “ แฉ จนท.รัฐ - คนสนิท อบต. ร่วมขบวนการรุกถมคลอง – ถนน ” โดนเนื้อข่าวระบุว่า จากกรณีที่มีเกษตรกร ในพื้นที่ ต.กะเฉด อ.เมืองระยอง เข้าร้องเรียน ต่อ นสพ.ไทยรัฐและอธิบดีกรมที่ดิน เนื่องจากสำนักงานกรมที่ดินจังหวัดระยองไม่ยอมรังวัดที่ดินของโรงงานแห่งหนึ่งตามคำสั่งศาล จากการที่มีการบุกรุกถมคลองสาธารณประโยชน์ของชุมชน โดยทางทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค นสพ.ไทยรัฐ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ถนนและคลองสาธารณประโยชน์หลายจุด โดย ผจก.โรงงานยางพาราที่มาตั้งในพื้นที่ออกมายอมรับว่ามีการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดพบว่ามีแนวบุกรุกถนนและคลองสาธารณะจนไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ทั้งหมด ขณะที่มี จนท.พยายามจะช่วยกันแต่ก็ทำไม่ได้และมีหลายโรงงานด้วยกัน

โดยเนื้อหาข่าวส่วนหนึ่งระบุว่า “ หน้าโรงงานมีการถมคลองเลาะริมถนนเอาที่ปลูกยางพารา ลำคลองเดิมกว้างประมาณ 30 เมตร ปัจจุบันเหลือบางช่วง 3 – 5 เมตร ”

“นายชิดชัย ปิยะสุข อายุ 49 ปี อาชีพช่างยนต์ อยู่บ้านเลขที่ 46 หมู่ 1 ต.กะเฉด เปิดเผยว่าตนเองเป็นคนบ้านนี้เกิดลืมตาจำความได้ก็เห็นมารดามีอาชีพทำสวนยางพาราเห็นมารดานำน้ำยางขายโรงงานแห่งนี้นานแล้ว

คลองกะเฉดแต่ก่อนมีความกว้างประมาณ 30 – 50 เมตร ไหลมาจากบ้านสำนักทองเลาะข้างทางสายกะเฉด - หาดใหญ่ไปออกสุขุมวิทแต่ถูกบุกรุกถมไปเหลือประมาณ 3 – 5 เมตร ส่งผลให้ในฤดูฝนตกหนักจะมีน้ำท่วมฉับพลันลักษณะไหลบ่ามาชนิดไม่มีทิศทางจนหลบหนีแทบไม่ทัน บ้านเรือนข้าวของได้รับความเสียหายอย่างหนักในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาชาวบ้านแทบเอาชีวิตไม่รอด”

“นางประทีป จันทร์ย่อยศ อายุ 72 ปี อยู่บ้านเขาอ่าง หมู่ที่ 1 ต.กะเฉด กล่าวว่าตนเองเป็นชาวปราจีนบุรี มาอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 16 ปี มีครอบครัวและมีบุตรแล้วหลายคน อยู่ที่นี่ น้ำไหลมาจากด้านซ้ายเป็นเทือกเขาลอยเขาหวาย ทางขวาเป็นสวนผู้การไหลผ่านบ้านสังขฤกษ์ลงคลองจันดี ไหลบ่ามาแบบไร้ทิศทางรวดเร็วมาก ปิดประตูเก็บข้าวของไม่ทันท่วมบ้านเรือน น้ำสูงในระดับคาง มาเร็วบ่าท่วมกว้างมีคลื่นซัดเหมือนทะเล ก่อนหน้านี้เคยท่วมใหญ่ในปี 2536 – 2537 สาเหตุมากจากคลองถูกบุกรุกเหลือเล็กลง ตอนสมัยเด็กคลองกว้างหลายสิบเมตร ปัจจุบันที่ดินบริเวณด้านหน้าโรงงานมีการถมที่แล้วปลูกยางพารา ชาวบ้านได้ร้องเรียนส่วนราชการและอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนสั่งเพิกถอนโฉนดแล้ว แต่ที่ดินจังหวัดคนก่อน ๆ อ้างว่าเจ้าของไม่ยอมมายื่นเรื่องเพิกถอน จึงน่าสงสัยว่าอธิบดีที่ดินส่ง้พิกถอนแล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่ที่ดินไม่ดำเนินการเอาคลองกลับคืนมา ”

“ขณะเดียวกันมีชาวบ้านที่ติดตามการตรวจสอบพื้นที่บุกรุกถมคลองและถนนเปิดเผยว่า การบุกรุกถมคลองและถนนในอดีตที่ผ่านมานั้นกระทำเป็นขบวนการ มีกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพลร่วมกับคนของผู้นำท้องถิ่นบางคน คนใกล้ชิดผู้บริหาร อบต. รวมทั้ง จนท.รัฐ มีทั้ง จนท.ที่ดินบางคนและ ขรก.ในอำเภอเมือง

ระยองบางคน ถมคลองสาธารณะและถนนออกโฉนดที่ดินกัน เพื่อครอบครองและขายต่อ ได้รับประโยชน์กัน คนมาซื้อทีหลังเห็นไม่มีคลองก็ชื้อและต้องยืนยันว่าไม่มีการบุกรุกถมคลองและถนนแต่พอมารังวัดจริง บางจุดก็รุกล้ำเห็นได้ชัดแต่ยังดันทุรังกันอยู่ ชาวบ้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการเรื่องก็เงียบเพราะมี ขนท.รัฐ คอยช่วยปกปิดกัน”

หลังจากน้ำท่วมใหญ่ระยองในปีที่ผ่านมาสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่มีกลุ่มทุนและข้าราชการคอยหนุนหลัง ปกปิด การถมถนนและคลองสาธารณะในพื้นที่ ต.กะเฉด อ.เมืองระยอง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เกิดจากการถมคลองสาธารณะซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำสำคัญของชุมชน ประชาชนในพื้นที่จึงรวมตัวยื่นหนังสือเพื่อโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่และให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการและกลุ่มทุนในพื้นที่

ที่มาข้อมูล :   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท