Skip to main content
sharethis

8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลประชุมหารือตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลพร้อมตั้งคณะทำงานตามประเด็นใน MOU แล้ว 7 ประเด็น 2 หัวหน้าพรรคยืนยันตำแหน่งประธานสภาจะไม่เป็นอุปสรรคในการตั้งรัฐบาลแต่จะมีการพูดคุยกันระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลในเรื่องนี้ต่อ

30 พ.ค.2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแถลงผลหลังการประชุมร่วมกันระหว่าง 8 พรรคการเมืองในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานขึ้นมาเพื่อรับช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยเขาเริ่มจากระบุถึงรายชื่อคณะกรรมการ ดังนี้

  1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานคณะกรรมการ
  2. ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล
  3. เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
  4. พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ
  5. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ จากพรรคไทยสร้างไทย
  6. วิรัตน์ วรรณศิริ จากพรรคเสรีรวมไทย
  7. กัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม
  8. วสวรรธน์ พวงพรศรี จากพรรคเพื่อไทยรวมพลัง
  9. เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ จากพรรคพลังสังคมใหม่

คณะกรรมการประสานในช่วงเปลีย่นผ่านจะประชุมครั้งต่อไปเพื่อกำหนดวาระการประชุมในวันอังคารที่ 6 มิ.ย.2566 ที่พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ โดยคณะกรรมการนี้ก็จะมีคณะทำงานอีก 7 คณะภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ เพื่อตอบสนองกับปัญหาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในช่วงนี้โดยจะมีตัวแทนจากทุกพรรคร่วมในแต่ละประเด็น

พิธาระบุว่าคณะทำงานที่ตั้งขึ้นนี้มีทั้งหมด 7 ชุดคือ

  1. คณะทำงานเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซลและพลังงาน
  2. คณะทำงานภัยแล้งเอลนีโญ
  3. คณะทำงานสามจังหวัดชายแดนใต้
  4. คณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  5. คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและ PM2.5
  6. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจปากท้องและธุรกิจ SMEs
  7. คณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่าคณะทำงานเหล่านี้จะมีการประชุมและรายงานผลตลอดเพื่อแจ้งความคืบหน้าต่อคณะกรรมการประสานงาน เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของประเทศด้านต่างๆ และกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบายร่วมกันแล้วแถลงต่อรัฐสภาและนำไปปฏิบัติในฐานะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

“การทำงานของเรานั้นเป็นไปได้ด้วยดีและเราจะสามัคคีกันเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

พิธากล่าวต่อว่าการจัดสรรตำแหน่งในฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำงานร่วมกันโดยยึดวาระของการทำงานเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องตำแหน่งประธานสภาว่า เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะพิจารณาร่วมกัน และเขายืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล

พิธากล่าวอีกว่าในวันนี้ได้มีการพูดคุยในจุดประสงค์เดียวกันคือการเตรียมพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อบริการพี่น้องประชาชน ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้วเหลือเพียงแค่รับรอง ส..ส.อย่างเป็นทางการเพื่อให้เปิดประชุมสภาได้ และพี่น้องประชาชนตอนนี้ก็หวังว่า กกต.จะใช้เวลาไม่นานในการพิจารณารับรองเพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลได้โดยเร็วเพื่อให้พวกเขาได้เข้าไปทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนไทย

พิธาอธิบายเพิ่มเติมว่าคณะทำงานทั้ง 7 ชุดนี้ตั้งขึ้นมาตามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ทั้ง 23 ข้อที่ได้แถลงไปเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวาระร่วมกันของทั้ง 8 พรรคและจะทำงานผลักดันประเด็นต่างๆ ใน MOU ซึ่งอาทิตย์หน้าคณะกรรมการจะมีการประชุมเพิ่มเพื่อให้มีคณะทำงานตามประเด็นใน MOU อีก 8-9 วาระและจะตั้งขึ้นมาจนครบทุกประเด็น โดยบุคลากรในคณะทำงานเหล่านี้จะให้แต่ละพรรคพูดคุยกันเพื่อส่งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ มาทำจนกว่าจะเปิดประชุมสภา

พิธาได้ยกตัวอย่างคนที่จะเข้ามาทำงานในคณะทำงานแต่ละชุดไว้ด้วยเช่น เดชรัตน์ สุขกำเนิด ก็จะอยู่ในคณะทำงานด้านภัยแล้งและเอลนีโญ คณะทำงานเรื่องค่าไฟและเรื่องน้ำมันก็คงเป็นวรภพ วิริยะโรจน์ที่อภิปรายในเรื่องเหล่านี้มาตลอด แต่ก็ยังต้องการผู้เชี่ยวชาญจากพรรคอื่นๆ มาร่วมทำงานแก้ไขปัญหา แม้ในเรื่องวิธีการอาจจะไม่เหมือนกันแต่มีเป้าหมายเดียวกันเช่นเรื่องการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจจนเกิดการเรียกส่วยให้เหลือน้อยลง ไทยสร้างไทยอาจจะเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดแต่พรรคก้าวไกลเห็นว่าแบ่งเป็นสองช่วงเวลา 2 ปีค่อยๆ พิจารณากิโยตินกฎหมายออก

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่าจากตัวอย่างเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่คณะทำงานแต่ละชุดจะต้องพูดคุยกันทำให้เป็นไปตามเป้าหมายและรายงานต่อคณะกรรมการประสานงาน แล้วก็จะแถลงต่อรัฐสภาและกำหนดวาระในการประชุมของคณะรัฐมนตรีซึ่งจะทำให้เขารู้ตั้งแต่ก่อนการประชุม ครม.ครั้งแรกแล้วว่าจะต้องประชุมเรื่องอะไรบ้างเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้น

หัวหน้าพรรคก้าวไกลตอบคำถามนักข่าวเรื่องการหารือเรื่องตำแหน่งประธานสภากับพรรคเพื่อไทยว่ายังไม่มีการกำหนดกรอบเวลา แต่ก็ในการพูดคุยกันก็จะต้องสอดคล้องกับเวลาตามกฎหมายหรือการรับรองผลของ กกต. ที่จะทำให้เกิดการตั้งรัฐบาล

ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตอบคำถามเรื่องตำแหน่งประธานสภาว่า ทางพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็นไปตามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวไปแล้ว โดยคณะทำงานได้พูดคุยกันเบื้องต้นแล้วว่าเป็นเรื่องที่ทั้งสองพรรคจะพิจารณาร่วมกัน ไม่ได้คำนึงว่าเป็นโควต้าของพรรคใดพรรคหนึ่งและจะไม่ให้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันทั้ง 8 พรรค

“ไม่เป็นข้อขัดแย้งหรือแตกแยก เรามัดกันแน่นอยู่แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเองต้องการให้ตำแหน่งประธานสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี และมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนที่พี่น้องประชาชนมุ่งหวังอยากได้รัฐบาลประชาธิปไตย” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยย้ำและกล่าวว่าจะทำให้เร็วที่สุดหาก กกต.รับรอง ส.ส.ก็จะมีข้อยุติเพื่อเตรียมตัวสู่การเลือกในที่ประชุมของสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net