Skip to main content
sharethis

เออร์โดกันได้เป็นประธานาธิบดีตุรกีต่ออีกสมัยหลังชนะเลือกตั้ง นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าเออร์โดกันจะนำพาตุรกีไปหนทางใด ทั้งจากแนวทางชาตินิยมและทหารนิยมมากขึ้นของเออร์โดกันและการแสดงท่าทีต่อต้านชาติตะวันตกระหว่างหาเสียงของเขา ไปจนถึงประเด็นยูเครนที่นานาชาติจับตามองอยู่

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของตุรกีเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาปรากฏว่า ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการด้วยคะแนนโหวตร้อยละ 52 ในขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านคือ เคมาล คิริกดาโรกลู ได้คะแนนร้อยละ 48 จนทำให้เออร์โดกันได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกเป็นสมัยที่ 3 ทำให้อยู่ยาวเป็นผู้นำตุรกีต่อไปได้อีก 5 ปี หลังจากเขาอยู่มาตั้งแต่ปี 2547

ภายหลังผลเลือกตั้งออกมา นักวิเคราะห์เสนอฉากทัศน์การเมืองตุรกีที่จะอยู่ภายใต้ประธานาธิบดีเออร์โดกันเฟส 3 ไปอีก 5 ปีจะเป็นอย่างไรต่อไป

อาห์เหม็ด ที คุรุ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรัฐซานดิเอโกกล่าวว่าเขาได้ทำการวิเคราะห์การเมืองตุรกีมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เขามองว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้เป็นทางเลือก 2 ทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของตุรกีระหว่างว่าจะหยุดการปกครองอันยาวนานของเออร์โดกันที่เริ่มเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือจะขยายอายุการดำรงตำแหน่งของเออร์โดกันให้ยาวออกไปอีก และเมื่อผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นอย่างหลังก็จะส่งผลต่อทั้งการเมืองในประเทศเองและส่งผลต่อความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกด้วย

คุรุเริ่มจากย้อนไปกล่าวถึงการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของตุรกีที่มีขึ้นครั้งแรกในปี 2493 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพวกเขาก็มีระบบการแข่งขันแบบพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ทว่าประชาธิปไตยในตุรกีก็หยุดชะงัดเป็นระยะๆ เพราะถูกกองทัพทำรัฐประหารอยู่หลายครั้ง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เออร์โดกัน นำพาตุรกีไปสู่เส้นทางที่เป็นอำนาจนิยมโดยเน้นตัวบุคคลมากขึ้น มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุม และมีเหตุผลน้อยมากที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเออร์โดกันจะกลับลำจากเส้นทางอำนาจนิยมเช่นนี้

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เออร์โดกันชนะการเลือกตั้งโดยที่ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ ว่าจะคืนสิทธิกับเสรีภาพให้ประชาชน ในทางตรงกันข้ามการหาเสียงของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาอยากนำตุรกีไปสู่รัฐศาสนาที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ต่างจากวิสัยทัศน์ของผู้สร้างชาติตุรกีขึ้นมาอย่าง มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ที่ต้องการให้ตุรกีเป็นรัฐโลกวิสัย

คุรุยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าในช่วงก่อนเลือกตั้งเออร์โดกันพยายามสร้างภาพให้ตัวเองดูเป็นผู้นำศาสนาแบบอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เช่น การไปท่องคัมภีร์อัลกุรอานที่มหาวิหารฮาเกีย โซเฟีย และยังไปพูดต่อหน้าฝูงชนในมัสยิดหลังการสวดมนต์วันศุกร์ ไปพร้อมกับสร้างภาพให้มีความเป็นผู้นำกองทัพมากขึ้นด้วย และที่ผ่านมาเออร์โดกันยังกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ที่ร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด (PKK) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตุรกีจัดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเออร์โดกันต้องการจะส่งเสริมชาตินิยมและทหารนิยมในตุรกีต่อไป

การเลือกตั้งประธานาธิบดีล่าสุดนี้ยังเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากที่พรรคการเมืองของเขาคือพรรค AKP และพรรคแนวร่วมอื่นๆ เพิ่งจะชนะเสียงข้างมากในการเลือกตั้งรัฐสภา ทำให้พรรคฝ่ายค้านไม่มีทั้งอำนาจบริหารและอำนาจทางนิติบัญญัติมาคัดง้างกับอำนาจของเออร์โดกัน

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกของตุรกี

ในขณะที่ชาติและองค์การนานาชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, ยูเครน, สหประชาชาติ, อียู, นาโต, ฝรั่งเศส, เยอรมนี ต่างก็กล่าวแสดงความยินดีเป็นพิธีการ ก็มีการวิเคราะห์ว่าชัยชนะของเออร์โดกันจะส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับชาติตะวันตกอย่างไรบ้าง

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แสดงความยินดีต่อเออร์โดกันโดยบอกว่าเขาหวังให้เออร์โดกันร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลก และจะยังคงทำงานร่วมกัน "ในฐานะพันธมิตรนาโต" โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างตุรกีกับนาโตในช่วงเมื่อไม่นานมานี้

ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเออร์โดกันในประเด็นนานาชาติที่สำคัญหลายเรื่องแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อเออร์โดกันว่าชัยชนะของเขาเป็นเรื่องที่ "สมเหตุสมผล" โดยอ้างว่ามาจาก "การทำงานอุทิศตน" ของเออร์โดกัน

อูร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยากให้ตุรกีเข้าร่วมเป็นสมาชิก บอกว่าทางอียูต้องการจะเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตกับตุรกีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะมองเห็นความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์

ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน แสดงความยินดีต่อชัยชนะของเออร์โดกัน โดยที่หลังจากเกิดสงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครน เออร์โดกันก็วางตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ โดยที่เซเลนสกีเน้นพูดถึงการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศเพื่อ "ความมั่นคงและเสถียรภาพของยุโรป"

คุรุชี้ว่าท่าทีของเออร์โดกันที่ผ่านมาได้ใช้การวิพากษ์วิจารณ์ตะวันตกเป็นเครื่องมือหาเสียงเสมอมา โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ เช่นเรื่องสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏชาวเคิร์ด และการวางหน่วยยานเกราะบนเกาะของกรีซ 2 แห่ง นอกจากนี้เออร์โดกันยังตีตัวออกห่างประเทศพันธมิตรนาโตในการคว่ำบาตรรัสเซียแล้วหันไปมี "ความสัมพันธ์แบบพิเศษ" กับรัสเซียแทน

นอกจากนี้ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซานดิเอโกยังตั้งข้อสังเกตถึงการหาเสียงของเออร์โดกันที่ใช้โวหารต่อต้านตะวันตกมาเป็นเครื่องมือใส่ร้ายพรรคการเมืองคู่แข่งว่ามีชาติตะวันตกสนับสนุนอยู่ และตุรกีจะไม่เดินตามการชี้นำของชาติตะวันตก โดยหนึ่งในโวหารที่เออร์โดกันยกขึ้นมาคือเป็นโอกาสที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะได้ "ส่งสารไปถึงชาติตะวันตก"

อย่างไรก็ตาม คุรุมองโวหารที่เออร์โดกันใช้อาจเป็นการเรียกคะแนนนิยมเท่านั้น เพราะมีความเป็นไปได้ที่เออร์โดกันจะหันมาพยายามเยียวยาความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก เช่น การอนุมัติให้สวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งตุรกีบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด เพราะตุรกีมองว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียคอยให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายชาวเคิร์ด แต่การยอมทำตามเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเออร์โดกันจะหันมาสนับสนุนชาติตะวันตกอย่างเต็มที่

นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยซานดิเอโกยังมองว่ามีเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่อาจจะทำให้เออร์โดกันหันกลับไปมีจุดยืนสนับสนุนชาติตะวันตกได้ก็คือเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจของตุรกีที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้รุกลามไปถึงระดับที่บีบเค้นให้ตุรกีต้องพึ่งพารัฐบาลและสถาบันของโลกตะวันตกที่มั่งคั่ง

เศรษฐกิจของตุรกีจะเป็นอย่างไรต่อไป

นับตั้งแต่ปี 2561 เศรษฐกิจของตุรกีก็เริ่มออกอาการว่าจะเกิดวิกฤต ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างรวดเร็ว และดิ่งลงต่ำสุดเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 19 ลีราต่อ 1 ดอลลาร์ นอกจากนี้แล้วในปี 2565 ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของตุรกีก็เพิ่มสูงขึ้นทะลุร้อยละ 80 ขณะที่เออร์โดกันพยายามเอาใจข้าราชการด้วยการประกาศจะขึ้นเงินเดือนข้าราชการร้อยละ 45 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเงินทุนสำรองในประเทศ

ในขณะเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายอำนาจนิยมก็ส่งผลให้เกิดภาวะ "สมองไหล" ที่คนรุ่นใหม่มีการศึกษาพากันหนีออกไปยังประเทศยุโรปตะวันตกและหลังจากเลือกตั้งแล้วสถานการณ์ยังคงเดิมอยู่เช่นนี้ก็อาจทำให้ความสามารถที่จะแก้วิกฤติเศรษฐกิจของตุรกีลดลงอีก ถ้าเออร์โดกันรู้ตัวในเรื่องนี้ก็อาจจะกลายเป็นแรงดลใจให้เขาคิดแก้ไขนโยบายที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่อิงศาสนารู้สึกแปลกแยก

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าจะกลายเป็นปัญหาท้าทายสำหรับเออร์โดกันคือการฟื้นฟูหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ธนาคารโลกประเมินความเสียหายไว้ถึง 34,200 ล้านดอลลาร์เทียบได้กับร้อยละ 4 ของจีดีพีตุรกีในปี 2564 แม้ว่ารัฐบาลเออร์โดกันจะเคยถูกวิจารณ์ว่าตอบสนองช้าและไร้ประสิทธิภาพในการรับมือแผ่นดินไหวมาก่อนแต่เขาก็ยังชนะการเลือกตั้งได้ และเออร์โอกันยังกล่าวสุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้งด้วยว่าเรื่องการฟื้นฟูแผ่นดินไหวจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลเน้นทำในลำดับต้นๆ

คุรุระบุว่า ในตอนนี้เออร์โดกันได้หันไปหา กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย เป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งดูเหมือนจะไม่เพียงพอ จึงอาจจะทำให้เออร์โดกันหันไปผูกสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นขึ้นเพื่ออำนวยให้ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์กรไอเอ็มเอฟหรือองค์กรนานาชาติอื่นๆ

คุรุระบุว่า ในขณะที่เออร์โดกันชนะการเลือกตั้งด้วยการหาเสียงแบบ ทำอยู่ ทำต่อ โดยไม่ได้ให้สัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อนโยบายในบ้านตัวเองหรือนโยบายต่างประเทศ แต่ถ้าหากวิกฤตเศรษฐกิจที่เขาเผชิญอยู่ไม่บรรเทาเบาบางลง ก็อาจจะถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้



เรียบเรียงจาก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net