Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว (White House Correspondent Association หรือ WHCA) ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีเรียกว่า White House Correspondent Dinner ที่โรงแรม Washington Hilton เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเสรีภาพของสื่อมวลชนและการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนเรียนดีด้านสื่อมวลชน 

ไฮไลต์ของงานนอกจากประธานาธิบดีจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และปล่อยมุกเป็นครั้งราวในงานยังมีแขกรับเชิญพิเศษเป็นนักแสดงตลก ที่จะมาคอยสร้างสีสันให้กับงานเลี้ยงด้วยการแสดงที่เรียกว่า Comedy Roast อันหมายถึงการแซว เหน็บ ถากถางผู้ร่วมงาน ที่มี่ตั้งแต่นักการเมือง ฝ่ายบริหาร รวมไปถึงตัวนักข่าวและสื่อเอง โดยปีนี้ Roy Wood Jr, นักแสดงตลกจากรายการ The Daily Show ช่อง Comedy Central (ที่เป็นรายการล้อเลียนข่าวยามดึกอีกที) ได้ขึ้นแสดงในวันงาน โดยจิกกัดประเด็นร้อนในช่วงนั้นเช่น คดีความ Fox News vs Dominion Voting System ซึ่ง Fox โดนฟ้องจากการปล่อยข่าวว่า Dominion Voting System โกงเลือกตั้ง 2020 นำมาสู่การจ่ายเงินจำนวน 787.5 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นความเสียหน้าครั้งใหญ่ของ Fox News ถูกนำไปลงข่าวและล้อเลียนจากหลากหลายสื่อ และนักแสดงตลก หรือ Tucker Carlson และ Don Lemon ถูกไล่ออก ทั้งหมดถูกนำมาแซวและขยี้ภายในงานเลี้ยงนี้

ผู้เขียนเห็นว่านักแสดงตลกในโลกตะวันตก (ไม่ว่าจะอยู่ฟากไหนก็ตาม) มีความสามารถในการพูดเรื่องการเมือง ล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหรือนักการเมืองได้ถึงพริกถึงขิงราวกับว่าเรื่องนี้เป็นวัติปฎิบัติอย่างช้านาน เช่น George Carlin, Bill Maher, Jon Stewart, Dave Chappelle, Stephen Colbert หรือคนอื่นๆ ทำให้คิดต่อได้ว่า วัฒนธรรมตลกเมื่อนานมาแล้วนั้นเป็นอย่างไรทำไมหลายครั้งผู้คนถึงดูตลกเล่าข่าวมากกว่าฟังจากสำนักข่าวมากกว่า

คำว่านักแสดงตลกในภาษาอังกฤษ มีทั้ง Comedian, Comic, Jester และอื่นๆ การแสดงตลกล้อเลียนและเสียดสีในโลกตะวันตกมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ อริสโตเติลกล่าวใน Poetic ว่า Comedy มาจากบทเพลงที่ใช้เฉลิมฉลองในงานบูชา Phallus (อวัยวะเพศชายหรือสัญลักษณ์ที่แสดงออกเหมือนกัน) บทละครล้อเลียนเสียดสีเหล่านี้มีชีวิตจากกรีกโบราณ คนที่ดังมากเห็นจะเป็น Aristophanes จนถึงสมัยโรมันแนวทางตลกเสียดสีถูกแบ่งออกเป็นสองพวก คือ Horace Satire ที่จะออกไปทางนุ่มนวลสุภาพไม่ตรงมากนัก กับ Juvenalian Satire ที่จะรุนแรงก่นด่าตรงไปตรงมา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปในส่วนนี้เป็นการพูดถึงบทละครหรือแนวทางการเล่นตลกเท่านั้น ส่วนมากมีอิทธิพลต่อนักเขียนยุโรปในเวลาต่อมา หากแต่เป็นตัวนัดแสดงตลก เราอาจคุ้นเคยกับ Jester มากกว่า

Jester คือตัวตลกมักถูกจ้างเข้าทำงานในราชสำนักของขุนนางและเจ้าแผ่นดินในยุโรป แต่ทั้งนี่ก็ปรากฏหลักฐานว่ามีการว่าจ้างตลกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย หรือญี่ปุ่น Jester จะทำการโชว์ต่างๆ ต่อหน้าผู้ว่าจ้าง เช่นกายกรรม มายากล หรือการแสดงแปลกๆ เช่น ตดสั่งได้ รูปร่างหน้าตาก็สำคัญ เช่น เตี้ยเป็นคนแคระ อ้วนมาก หน้าตาอัปลักษณ์ ก็มีส่วนในการถูกคัดเลือกให้เป็น Jester เช่นกัน Jester ในยุโรป มีภูมิหลังหลากหลาย เป็นบัณฑิตสอบตก อดีตพระ หรืออื่นๆ Jester อยู่ในราชสำนักได้ตามความพอใจของเจ้านายหรือผู้ว่าจ้าง หากเจ้านายพอใจก็มีสิทธิ์จะได้เงินหรือที่ดิน หากไม่พอใจก็อาจโดนไล่ออก Jester จึงต้องมีไหวพริบตลอดเวลา นอกจากทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแล้ว Jester ยังทำหน้าที่ เตือนสติหรือส่งข่าวให้กับเจ้านายอีกด้วย กล่าวคือ Jester เล่นมุกตลกล้อเนียนเจ้านายเพื่อดึงสติหรือถากถางข้าราชบริพารในราชสำนัก มากไปกว่านั้น Jester ยังสามารถแปรเปลี่ยนคำวิจารณ์อันเผ็ดร้อน (ทั้งจากตัว Jester และคนรอบข้าง) เป็นคำวิจารณ์ที่ลดโทนความรุนแรงในระดับพอรับได้ Jester บางคนสามารถนั่งโต้ะเดียวกับเจ้านาย ปล่อยมุกได้ในทันทีหรือสามารถให้คำแนะนำได้ ด้วยธรรมชาติของ Jester ดังที่กล่าวไป ทำให้ Jester เป็นที่ถูกอกถูกใจต่อเจ้านายผู้ปกครองอย่างมาก

พูดอย่างง่าย Jester หรือตลก กลายเป็นผู้วิจารณ์การเมืองและสังคมไปด้วยในตัวมันเอง

เมื่อ Jester ได้ค่อยๆ หายไป Comedian เริ่มปรากฏขึ้น มีงานเขียนต่างๆ ที่ออกเชิงเสียดสีสังคมการเมืองด้วยกลเม็ดวิธีการดังที่กล่าวไปด้านบนรวมไปถึงใช้วิธีอื่นที่ผู้เขียนมิได้กล่าวถึง เพราะรู้ไม่เยอะพอ แต่สปิริตแบบ Jester และการเสียดสียังคงถูกส่งต่อในเหล่าบรรดาตลกของโลกตะวันตก ช่วง Interwar จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เราได้รู้จัก Charlie Chaplin เสียดสีฮิตเลอร์และนาซีเยอรมันในทางตลกขบขัน Walt Disney ในช่วงแรกก็ผลิตการ์ตูนล้อเลียนนาซีออกมาเช่นกัน ดังนั้นตลกจึงกลายเป็นผู้เสียดสีสังคมและการเมืองไปด้วยโดยธรรมชาติ

ดังนั้นตลกจึงวิจารณ์การเมืองและสังคมมาโดยตลอดแม้จะอยู่ในโทนขำๆ ก็ตามที กระทั่งการมาถึงของรายการประเภท Late Night Talk Show ในสหรัฐ ซึ่งก็มีการพูดถึงเรื่องการเมืองอยู่บ้าง ในช่วง 1975 รายการ Saturday Night Live (SNL) ได้ออกฉายมาพร้อมกับช่วง Weekend Update ต่อมาในช่วง 1990 รายการ Late Night แนวการเมือง 2 รายการได้กำเนิดขึ้น คือ Political Incorrect ของ Bill Maher และ The Daily Show ในปี 1996 ซึ่งทั้งสองรายการ ฉายในช่อง Comedy Central จากนั้นนักแสดงตลกและรายการตลกด้านข่าวและการเมืองจึงปรากฏมากขึ้น ในช่วงปัจจุบันนี้เราจึงเห็นรายการตลกการเมืองแบบเข้มข้นที่ดูแล้วฮาแต่ก็มีสาระ เช่น Last Week Tonight with John Oliver หรือ Real Time With Bill Maher ทั้งสองรายการฉายที่ HBO (ไม่มีใน HBO GO นะฮะ มีแค่ HBO MAX) ช่วง A closer look ในรายการ Late Night With Seth Meyers (อดีตนักแสดงในรายการ SNL) และอื่นๆ เราจึงเห็นนักแสดงตลกร่วมโต้ะกับผู้นำโลกเสรีกระทำการเผาแซวและถากถางทุกคนในห้องส่ง ที่ทั้งหัวเราะ จุกอก บ้างก็แรงจนคนเดินหนีไปก็มี  

นักแสดงตลกจึงเป็นผู้สะท้อนสังคม-การเมือง ในยุคสมัยนั้นๆ หลายครั้งก็เป็นกระบอกเสียงถึงความไม่ชอบมาพากล ความอยุติธรรมในสังคมจนผู้คนหันไปฟังตลกเหล่านี้มากกว่าสื่อ เช่น The Daily Show ในสมัยที่ Jon Stewart เป็นผู้ดำเนินรายการ หรือ The John Oliver Effect อันเป็นผลพวงจากรายการ Last Week Tonight with John Oliver ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า นักแสดงตลกก็สามารถขับเคลื่อนสังคมและเป็นกระบอกเสียงได้เช่นกัน ทั้งยังท้าทายผู้มีอำนาจหรือแม้แต่สื่อเองก็ไม่เว้น นี่จึงเป็นการตอกย้ำตำแหน่งแห่งที่ของนักแสดงตลกที่ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิงแบบเดียว

ในส่วนตลกไทยผมไม่พูดอะไรจะดีกว่า เพราะขนาดตำนานของวงการตลกยังเป็นเพื่อนกับจอมพลสฤษดิ์ ไปอย่างงั้น หรือตลกสมัยใหม่ Stand-up ที่พารากอนที่พูดเรื่องการเมืองแค่นิดเดียวคนเอามาพูดซ้ำซากทั้งที่ปกตินิ่งเป็นสากและไม่ได้ครึ่งเท่าตลกฝรั่งด้วยซ้ำ 

เหมือนอยู่คนละมิติ
  


อ้างอิง
https://www.forbes.com/sites/marisadellatto/2023/04/30/biden-and-roy-wood-jr-rib-politicians-and-press-at-correspondents-dinner-from-carlson-and-greene-to-cnn-and-fox/?sh=7a902ad73ec5

Dinner | White House Correspondents' Association (WHCA)

What is Satire || Definition & Examples | Oregon State University

Rusten, J.S. (2006). Who "Invented" Comedy? The Ancient Candidates for the Origins of Comedy and the Visual Evidence. American Journal of Philology 127 (1), 37-66. doi:10.1353/ajp.2006.0019.

K. Otto, Beatrice: Fooling Around the World: The History of the Jester. (n.d.). https://press.uchicago.edu/Misc/Chicago/640914.html

 

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2018/03/75666

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net