Skip to main content
sharethis

เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ยืนยันสันติภาพควบคู่ประชาธิปไตย รื้อโครงสร้างแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่ง่าย ฝ่าด่านกรอบคิดแบบราชการ ต้องโปร่งใสด้วยการเปิดเผยทรัพย์สิน ผู้บริหาร ศอ.บต.และนายทหาร เปิดข้อมูลการอนุมัติโครงการ และดำเนินกระบวนการพูดคุยที่โปร่งใส เพราะเป็นบันไดขั้นที่หนึ่งที่จะทะลุทะลวงการแก้ปัญหา

เอกรินทร์ ต่วนศิริ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

เอกรินทร์ ต่วนศิริ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะการรื้อโครงสร้างและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การยุบ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) และยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ รวมถึงมีข้อเรียกร้องให้ยุบ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)

สันติภาพควบคู่ประชาธิปไตย

เอกรินทร์ กล่าวว่า ตนยืนยันมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ได้รับการแก้ไขและมีความคืบหน้าใดๆ ถ้าประเทศไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

“รัฐประหารและการครอบครองอำนาจของทหารเป็นปัญหาและอุปสรรคของปาตานี เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงการให้กองกำลังทหารและการใช้กฎหมายควบคุมประชาชน”

รองศาสตราจารย์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ระบุว่า จุดยืนนี้เกิดขึ้นมาแต่มาเป็นอาจารย์ที่นี่ตั้งแต่ก่อนปี 2557 ที่เห็นการชุมนุมเรียกร้องต่าง ๆ ที่นำมาสู่รัฐประหารเมื่อปี 2557 วัตถุอันตรายที่ทำให้สังคมไทยหวนกลับไปสู่ระบอบทหาร

“ผมได้ทบทวนและยืนยันว่า ถ้าทหารนำก็ไม่มีสันติภาพแน่นอน ต้องให้พลเรือนนำถึงจะมีสันติภาพได้”

รื้อโครงสร้างแก้ปัญหาใต้ไม่ง่าย

เอกรินทร์ กล่าวว่า ส่วนการรื้อโครงสร้างและกฎหมายในการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น มองได้ 2 มิติ คือ ในเชิงโครงสร้าง และการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เน้นเรื่องความโปรงใส

ในเชิงโครงสร้าง เอกรินทร์ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปที่ พ.ร.บ. ศอ.บต.(พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ที่ร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเรือน สำหรับตนถือว่าเป็นทางบวกที่สามารถทำให้การแก้ปัญหาขยับไปข้างหน้าได้

“แต่กฎหมายฉบับเดียวกันเมื่อมีผู้ใช้คนละแบบกัน มันก็จะทำให้เกิดผลคนละแบบกัน” เอกรินทร์ หมายถึงความแตกต่างในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลที่มาจากทหาร

เอกรินทร์ ระบุว่า ในทางปฏิบัติแล้ว การจะยกเลิกกฎหมายนั้นต้องใช้เวลา เพราะมีกระบวนการในการยกเลิกกฎหมาย ซึ่งเมื่อพูดถึงโครงสร้างของรัฐในการแก้ปัญหาในพื้นที่ย่อมเกี่ยวข้องกับมิติทางกฎหมาย เรียกว่านิติสัมพันธ์

“ต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐบาลก้าวไกลไม่ใช่คณะปฏิวัติเหมือน คสช. อย่าหวังว่ารัฐบาลพรรคก้าวไกลจะมีอำนาจเต็มเหมือนมาตรา 44 ที่ คสช.สามารถใช้แก้ปัญหาได้รวดเร็วอย่างที่ประชาชน (บางกลุ่ม) ต้องการในขณะนั้น” โดยมาตรา 44 ที่ คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้นั้นมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557

รองศาสตราจารย์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวด้วยว่า เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้เวลา และไม่สามารถที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เหมือนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. แม้ประชาชนต้องการความรวดเร็ว พร้อมย้ำว่า ที่แน่ ๆ คือ เราเห็นแล้วว่ากระแสสังคมไม่ต้องการวิธีคิดเดิมอีกต่อไปแล้ว ก็คือทหารที่ครองอำนาจอยู่ในพื้นที่นี้ พิจารณาได้จากผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พรรคประชาชาติได้อันดับ 1 และพรรคก้าวไกลได้อันดับ 2

เพราะฉะนั้นการรื้อโครงสร้างการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องใช้เวลาถ้าต้องเผชิญกับตัวบทกฎหมาย แต่สามารถเร่งกระบวนการให้เร็วได้ถ้ามีทิศทางและเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน ว่าไม่เอาหน่วยงานความมั่นคงที่ครองอำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบที่ดี 

หรือนายกรัฐมนตรีก็สามารถใช้อำนาจยกเลิกหน่วยงาน อย่างเช่น สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยมีคำสั่งยกเลิก ศอ.บต. มาแล้ว 

ฝ่าด่านกรอบคิดแบบราชการ

เอกรินทร์ กล่าวว่า การยกเลิก กอ.รมน., ศอ.บต. รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นโครงการระยะยาวที่อาจจะทำได้ในปลายสมัยรัฐบาลนี้ และคิดว่าช่วงแรกๆ อาจจะถูกต่อต้านแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนที่จะถูกเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะข้าราชการ

การเผชิญกับข้าราชการเป็นการเผชิญกับวิธีคิดในการต่อสู้ ไม่ใช่เพราะข้าราชการเลวร้ายทุกคน ต้องเริ่มด้วยการพูดคุย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำอย่างไรที่ไม่ทำให้เกิดการลดความรู้สึกเสียหน้าหรือเสียผลประโยชน์ “เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่หน้าบาง กลัวเสียหน้าแต่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง”

เอกรินทร์ กล่าวว่า ต้องทำด้วยความละมุนละม่อม อธิบายให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้โทษตัวบุคคล แต่เกิดจากระบบมีปัญหา เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดคุณภาพในทางสังคม ไม่ต้องการเอาผิดใครยกเว้นความผิดอาญา แต่เราต้องการความร่วมแรงร่วมใจซึ่งผมก็เชื่อว่าข้าราชการก็ต้องการความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องอาศัยคนจำนวนมาก ลำพังรัฐบาลอย่างเดียวทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีคำอธิบายที่ไม่ใช่การคุกคามคนอื่น”

โปร่งใสด้วยการเปิดเผยทรัพย์สิน ผู้บริหาร ศอ.บต.และนายทหาร

แน่นอนว่าพรรคการเมืองมีธงทางด้านนโยบายอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องพิจารณาว่าจะปฏิบัติกันอย่างไร โดยเฉพาะการรื้อโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งข้อเสนอต่อมาของ เอกรินทร์ ก็คือ ต้องใช้ความโปร่งใส

รองศาสตราจารย์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ความโปร่งใสสามารถเริ่มได้หลายแบบ แต่สิ่งที่คนอยากเห็นในกรณีที่มีงบประมาณมหาศาล เช่น มีคำสั่งให้เปิดเผยทรัพย์สินของเลขาธิการ รองเลขาธิการ ศอ.บต. รวมถึงนายทหารที่ลงมาทำงานในพื้นที่ที่ผ่านมาทั้งหมด

ข้อเสนอนี้มาจากสมมติฐานที่ว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ต้องการความโปร่งใส และคิดว่าสังคมไทยเห็นด้วย จึงอยากให้ทำเรื่องนี้ก่อน เพราะการทำงานในพื้นที่พิเศษแบบนี้ต้องมีการชี้แจงทรัพย์สิน สามารถตรวจได้ทั้งหมด เพราะที่นี่มีงบพิเศษมหาศาล

เปิดข้อมูลการอนุมัติโครงการต่างๆ

ประเด็นต่อมา คือการเปิดเผยการอนุมัติโครงการต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดว่า ใครได้รับโครงการอะไรบ้าง ผลที่ได้คืออะไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกันหรือไม่ ใครได้โครงการซ้ำๆ บ้าง อย่างตรงไปตรงมา ทั้งของ ศอ.บต. และกองทัพ ซึ่งข้อมูลแบบนี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก จะกลัวอะไรถ้าไม่มีการทุจริต

“คิดว่าสังคมไทยต้องการเห็นเหมือนการเปิดเผยเรื่องสติ๊กเกอร์ส่วย เมื่อเปิดเผยออกมาแล้วเห็นความผิดปกติอะไรบ้าง จึงจะอนุญาตให้ทำเรื่องที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือการยุบหรือยกเลิกหน่วยงาน หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจะยุบ ศอ.บต. ยุบ กอ.รมน. แต่เรามีหลักฐานว่ามันเน่าอย่างไรในการใช้งบประมาณแผ่นดิน และทำให้เห็นว่าคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ เป็นคนจำนวนน้อยนิดเท่านั้น”

เอกรินทร์ กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลไม่ต้องเสียอะไร และคิดว่าสังคมไทยจะเอาด้วยกับการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่เอาคอรัปชั่น 

กระบวนการพูดคุยที่โปร่งใส

รองศาสตราจารย์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ความโปร่งใสเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่ายต้องโปร่งใส แม้กระทั่งฝ่ายขบวนการ ซึ่งการพูดคุยกับขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐก็ต้องพูดคุยด้วยความโปร่งใส คุยอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร

ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อเอกราช เขตปกครองพิเศษหรืออยากให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ว่ากัน ในเมื่อเป้าหมายคือต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และมีการใช้หลักชารีอะห์ในพื้นที่ก็บอกมาว่าเป็นอย่างไร

“ความโปร่งใสจะเป็นตัววัดสติปัญญาและการทำงานหนักที่ไม่ใช่การใช้กำลัง ดังนั้นสำหรับผมแล้วสันติภาพ คือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ใช่สันติภาพก้าวหน้าที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสันติภาพของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”

เอกรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าปลายทางของการสร้างสันติภาพจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเขาต้องการปกครองพิเศษ ถ้าจะให้ก็ให้ไปเลย แต่รัฐบาลต้องเอาความเน่าเฟะในหน่วยงานรัฐพวกนี้ออกไปอยู่ดี 

ความโปร่งใสคือบันไดขั้นที่หนึ่งที่จะทะลุทะลวงการแก้ปัญหาได้เยอะ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net