นวัตกรรมทางสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นวัตกรรมทางสังคม (social innovation) ตรงตัวแปลว่า “การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ทางสังคม แต่ความหมายทางการพัฒนาสังคมในปัจจุบันเจาะจงมาก ไม่ได้หมายความว่า “อะไรที่คิดขึ้นมาใหม่” จะเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” ทั้งหมด

ถ้าวาดภาพแสดงทิศทางทฤษฎีการพัฒนาสังคมคงเป็นทำนองนี้ แม้ความจริงจะไม่ถึงกับเป็นเส้นตรงตามภาพก็ตาม

ตามทฤษฎีการพัฒนาสังคมสมัยใหม่ มองว่า “ชุมชนโบราณ” เป็นชุมชนสงบสุขและเอื้ออาทร เช่น ยายข้างบ้านเข้ามาเก็บมะนาวในสวนบ้านเรา แกตะโกนร้องว่า “เอามะนาวไปนะ” แล้วก็ปลิดมะนาวไปสามสี่ลูก ไม่ต้องรอให้ใครอนุญาตก่อน แต่ชุมชนดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการขออนุญาตแล้ว หรือบ้านเราตกเย็นมาล้อมวงกินข้าว นอกจากครอบครัวเราแล้ว ยังมีครอบครัวข้างบ้านด้วย หรือสังคมที่โบราณกว่านั้น เช่น ในเกาะในอินโดนีเซีย ใครที่ออกทะเลจับปลาตัวใหญ่ได้ จะต้องเอามาแบ่งกันจนหมดชุมชน หรือเวลาต้องร่วมลงแรงตัดไม้ ยกของหนักก็ขนคนมาหมดชุมชน

“ชุมชนทุนนิยม” ต่างหาก ที่เข้ามาพร้อมกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คนเริ่มหวงว่าเป็น “ของตัวเอง” พร้อมกับใช้ “เงิน” วัดมูลค่า จนในที่สุด ก็วัดคุณค่า “ความเป็นคน” ไปด้วย ความเป็นชุมชนมลายหายไป คนข้างบ้างกันติดกันแท้ๆ แต่ไม่รู้จักกัน อาจเพียงแค่เคยเห็นหน้าแวบๆ แวมๆ สังเกตกันบ้าง ส่วนศาสนา-พิธีกรรม ไม่ต้องพูดถึง นานๆ ถึงจะได้ร่วมกันทำบุญบ้านหรือร่วมพิธีสวดศพ ผิดกับสมัยโบราณที่ยกโขยงไปร่วมทำพิธีกรรมพร้อมหน้าพร้อมตา 

คำว่า “พระเจ้าตายแล้ว” ของนีทเชอ (Nietzsche) หมายถึง คนไม่เอาศาสนาคริสต์มายึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่สนใจที่จะไปโบสถ์และทำพิธีกรรมอะไร “ทุนนิยม” มันเข้ามาพร้อมกับ “วัตถุสิ่งของ” และ   “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า” จนน่ากลัว ดูเหมือนคนมีลัทธิใหม่ คือ นับถือ “วัตถุ” และ “เหตุผลทางวิทยาศาสตร์” มากกว่า ทำให้เกิดมนุษย์ประเภท Nihilism มากขึ้นเรื่อยๆ 

น้องรักผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “เคยถามอาจารย์ที่สนิทกัน ว่าท่านนับถือศาสนาอะไร” ท่านตอบว่า “ผมไม่ได้นับถือศาสนาอะไร ผมคิดว่าสติของตัวเองสำคัญที่สุด” วิเคราะห์ดูแล้วไม่ต่างจากนีทเชอ ที่ประกาศว่าตัวเองเป็นพวกไม่มีศีลธรรม (immoralist) แต่ก็ขยักว่า “เขามีจริยศาสตร์” เป็นของตัวเองดูเหมือนนีทเชอจะเป็นคนแรกที่เป็นห่วงปัญหา Nihilism ของโลก และเสนอทางออกให้ว่ามนุษย์ควรมี  จริยศาสตร์ของตัวเอง ไม่ใช่ทำตามคนอื่นไปวันๆ

ถ้าจะว่ากันจริงๆ Nihilism ไม่ได้มีแต่ตะวันตก ดูเหมือนประเทศไทยน่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น คนห่างวัดออกไปทุกที หลายคนเขียนบทความว่า “คนไทยเป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน” ถ้าไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเป็นพุทธเลย ส่วนพระสงฆ์ก็ดูเหมือนห่างเหินจากชุมชนออกไปทุกทีเหมือนกัน นอกจากสังคมพัฒนาเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาการจราจรและผู้คนแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ ส.ศิวรักษ์ เคยนำเสนอ คือ ทำอย่างไรจึงจะเขียนหรือสรุปภาษาบาลี-สันสกฤตที่พระท่านใช้ออกมาเป็นภาษาธรรมดาให้คนเข้าใจ และแบ่งประเด็นปรัชญาพุทธศาสนาออกมาเป็นประเด็นๆ มากกว่าเรื่องเล่า รวมทั้งเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์ แต่ข้อเสนอของ ส.ศิวรักษ์ นี้น่าจะยังไม่มีใครรับฟัง ผู้เขียนเองสังเกตเห็นว่าท่านน่าจะยังภูมิใจในการใช้ภาษายากๆ ของท่าน ศาสนากลายเป็นของสูงที่เข้าใจยากเหมือนกันหมด ดูเหมือนพระสงฆ์ไทยเองกำลังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารสาธารณะไม่น้อย 

ปัญหาของ “ชุมชนทุนนิยม” ดังกล่าวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตะวันตก สังคมเมืองขยายตัวออกอย่างมาก เฉพาะการคมนาคม การสื่อสารก็พัฒนาไปไกลและสลับซับซ้อน ภาพความเจริญของตะวันตกดังกล่าวเป็นภาพที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญอีกไม่นานอย่างแน่นอน ปัญหาชุมชนทุนนิยมดังกล่าว จึงเป็นที่มาให้นักสังคมศาสตร์หลายคน พยายามหาทางออก ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า “ทำอย่างไรให้ความเป็นชุมชนกลับคืนมา” ไม่ให้ชุมชนเมืองมีเฉพาะความเป็นชุมชนทางกายภาพ เช่น บ้านติดกัน มีถนนเข้าหมู่บ้านเดียวกัน แต่ทำให้เกิดคุณภาพ หมายถึงการร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น 

นักสังคมศาสตร์คนหนึ่ง คือ เอลิเนอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) ได้เสนอทางออกให้กับโลก และดูเหมือนเป็นหลักคิดในปัจจุบัน ออสตรอมเสนอว่าปัญหาของสังคมศาสตร์ คือ ชอบมองอะไรเป็นกลไก ถ้ามีปัญหาอะไรก็คิดแต่จะตั้งกลไกเพิ่ม ไม่ต่างจากหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเคยเทศน์เอาไว้   ท่านว่าทำนองว่า “ในสวนสัตว์ เสือผอมลง สวนสัตว์จึงตั้งผู้ตรวจการออกไปตรวจ เสือยิ่งผอมลงอีก จึงตั้งผู้ตรวจการเพิ่มไปตรวจซ้ำๆๆๆ ผลปรากฏว่าเสือตาย” จนกระทั่งในที่สุด มารู้ความจริงว่าสาเหตุที่เสือผอม เพราะคนเลี้ยงเสือยักยอกเงินค่าเนื้อ สมมติเดิมจ่ายบาทหนึ่ง คนเลี้ยงเสือยักยอกไปสลึงหนึ่ง แต่พอตั้งผู้ตรวจการไปตรวจ ผู้ตรวจการเรียกค่าปิดปากอีกสลึงหนึ่ง ตั้งผู้ตรวจหลายคนเข้าเรียกค่าปิดปาก จนไม่มีเงินซื้อเนื้อ เสือเลยตายเพราะไม่มีอะไรจะกิน

ปัญหาของไทยก็เช่นกัน เราตั้ง ปปช. ปปง. ดีเอสไอ ตำรวจทางหลวง ตำรวจท่องเที่ยว หรือแม้แต่ขยายจำนวนอัยการ สร้างอาคารศาล เพิ่มจำนวนผู้พิพากษา ขยายอายุอัยการ-ผู้พิพากษา แต่ปัญหาการคอร์รัปชันก็ไม่ได้รับการสะสาง ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่ม ซึ่งยืนยันด้วยดัชนีวัดความโปร่งใสของโลก ประเทศไทยตกลงมาเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับอาเซียนด้วยกัน สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เราชนะเพียงเวียดนาม ลาว กัมพูชาและติมอร์เลสเต 

ออสตรอม เห็นว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราไม่นำแนวคิด Neo-Institution มาใช้ หมายถึงก่อนการสร้างกลไก เราต้องนึกถึงพฤติกรรมด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องนึก ได้แก่ สิ่งจูงใจทางบวกสำหรับพฤติกรรมและการเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาใหญ่ของกลไกที่เราสร้างขึ้นในอดีต ออสตรอมเห็นว่า เราชอบสร้างกลไกให้เป็นสิ่งลึกลับของอำนาจ เช่น การอ้างความเป็นอิสระของการตรวจสอบ คนนอกจึงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ในที่สุดก็กลายเป็น “ความลับความดำมืด” และกลไกที่สร้างขึ้นจึงพัฒนามาเป็น “อาณาจักรสนธยา” ไปเสียทุกกลไก

แล้วทางออกละทำอย่างไร? ออสตรอมเสนอว่า เราก็กระจายกลไกให้มันเยอะๆ ให้คนมีส่วนร่วมเยอะๆ และสร้างสิ่งจูงใจทางบวกสำหรับการมีส่วนร่วมสิ ตัวอย่างเช่น การจัดการน้ำ เราจะเปิด-ปิดน้ำเมื่อไหร่ เราก็ให้ชาวบ้านที่เป็นผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นคนใช้จริงๆ (end users) มาตกลงกัน หาเวลาเปิด-ปิดเพื่อประโยชน์ของคนริมคลองทุกคน ซึ่งอาจถัวเฉลี่ยประโยชน์ไป ไม่มีใครได้มากที่สุด แต่ก็ไม่มีใครไม่ได้เลย ความคิดของออสตรอมนี้ เรียกว่า “Polycentric Institutional Arrangements” แปลว่า “การจัดระเบียบสถาบันที่มีศูนย์กลางหลายศูนย์” หมายถึงการกระจายกลไกและการมีส่วนร่วม โดยเน้นชาวบ้านที่เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาเธอจึงเขียนงานเล่มใหม่ชื่อ “Governing the Commons” ซึ่งอธิบายวิวัฒนาการของการสร้างกลไกเพื่อให้คนกระทำร่วมกัน (the evolution of institutions for collective action) อีกนัยหนึ่ง คือ “เสียสละเพื่อส่วนรวม” นั่นเอง งานของออสตรอมยิ่งใหญ่ถึงขนาดที่เธอได้รับรางวัลโนเบล เมื่อ ค.ศ. 2009

จากรากฐานการคิดของออสตรอม ในทุกวันนี้จึงเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบเพื่อนวัตกรรมทางสังคม (Design for Social Innovation) ปัจจุบันกลายเป็น “an emergent field” หรือ “สาขาเกิดใหม่” ในการพัฒนาสังคม คนในโลกเริ่มหาทางออกแบบว่าทำอย่างไรเราจึงจะกลับไปหาชุมชนที่คนร่วมมือร่วมใจกันเหมือนสมัยโบราณ แม้ว่าปัจจุบันสังคมเกษตรจะเปลี่ยนมาเป็นสังคมเมืองหมดแล้ว เรามาช่วยกันออกแบบหน่อยเถอะ อันนี้นี่เอง คือ ความหมายของคำว่า “นวัตกรรมทางสังคม” ในปัจจุบัน เราจึงพบงานวิชาการพวกนี้เต็มไปหมดในวรรณกรรมการพัฒนาสังคม ส่วนใหญ่อยู่ในหัวข้อ “transition design” หรือ “design for transition” หรือ “design for social innovation”

งานที่เด่นมากในปัจจุบันเป็นของเอซิโอ มานซินี่ (Ezio Manzini) ที่แปลเป็นไทยก็มี ชื่อ “การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน” แปลโดยอนุสรณ์ ติปยานนท์ กับชื่อ “ออกแบบเมื่อทุกคนร่วมออกแบบ” แปลโดยกรรณิการ์ พรมเสาร์ มีเนื้อหาที่ขยายความต่อจากหลักคิดของออสตรอม เนื้อหาหลัก ได้แก่    จะออกแบบยังไงให้คนในชุมชนกลับมามีความเป็นชุมชน แม้ว่าจะย้อนกลับไปสู่สังคมเกษตรดั้งเดิมไม่ได้ก็ตาม แต่เอาว่าเป็นสังคมเมืองนี่แหละ จะทำยังไงให้คนร่วมมือกัน ไม่ให้อิทธิพลของเงินตราและความเห็นแก่ตัวเข้าครอบงำ มีมิตรจิตมิตรใจให้แก่กัน เปลี่ยนความคิดจากเดิมที่ว่า “Public Goods” (สินค้าสาธารณะ) ไปเป็น “Social Commons” (สมบัติของเราทุกคน) เพราะสินค้าสาธารณะอย่างไรก็ยังไม่ใช่ของเรา เช่น รถหลวง สวนสาธารณะ หรือทางม้าลาย แต่ถ้าเป็นสมบัติของเราทุกคน จะเกิดจิตสำนึกทางสังคมร่วมกัน

งานของเขาไม่ใช่อุดมคติ แต่เป็นการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วประสบความสำเร็จและการออกแบบทดลอง ยกตัวอย่างเช่น ตลาดมอนเตวาร์คี่ ในมิลาน ซึ่งเป็นตลาดชุมชนของคนในท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาว่าคนส่วนใหญ่นิยมเข้าห้างไปซื้อของสดในห้างที่คัดมาอย่างดี ส่วนเกษตรกรท้องถิ่นกลายเป็นคนผลิตสินค้าเกษตรส่งห้าง แต่จะขายเองไม่ได้ เพราะไม่มีแหล่งขายและไม่ติดแอร์เหมือนห้าง การสร้างตลาดชุมชนเริ่มต้นจาก “การสร้างตลาดเสมือนจริง” (virtual market) ทางสื่ออินเตอร์เน็ต เริ่มจากการโพสต์ลงเฟคบุ๊ค อินสตาแกรม เพื่อขายไอเดียและหาพรรคพวกก่อน จากนั้นก็มารวมตัวกันเปิดตลาดและสร้างชุมชนแบบร่วมมือร่วมใจ ชุมชนนี้เป็น “light community” น่าจะแปลว่า “ชุมชนบางเบา” หมายถึงไม่เอากฎระเบียบอะไรรุงรังมาพันธนาการ แต่เอาจิตใจหรือสปิริตของชุมชนเป็นตัวตั้ง มุ่งให้เกิดความร่วมมือกันและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมจริงๆ ต่อจากนั้นก็ร่วมมือกันเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง เช่น คาร์พูล หมายถึงคนหลายครอบครัวเปลี่ยนกันนั่งรถคันเดียวกันไปทำงาน นอกจากนั้นยังร่วมกันออกแบบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น สนามสาธารณะ โดยตัดผู้เชี่ยวชาญออกไป เพราะถ้ามีผู้เชี่ยวชาญเข้ามา เขาจะพูดตามตำรากลายเป็นปัญหาการไม่ยืดหยุ่นและขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งผู้เชี่ยวชายมักเข้ามาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดทางความคิด

สรุปว่า การออกแบบเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคม กลายเป็นสาขาวิชาเกิดใหม่ ที่คนสนใจกันมากในโลก มีรากฐานมาจากงานของออสตรอมที่เสนอให้ลดรูปการสร้างกลไกเดี่ยว ที่มีปัญหาขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนและขาดสปิริตของชุมชน เนื่องจากชุมชนไม่เห็นประโยชน์และไม่ได้รับประโยชน์จากกลไกดังกล่าว การใช้ประโยชน์ของชุมชน (end user) จึงเป็นหัวใจของการออกแบบกลไกใหม่ และสมัยใหม่พยายามหาทางออกแบบให้เกิดขึ้นกับสังคมเมือง ซึ่งสปิริตหายไปนานแล้ว นึกถึงตรงนี้แล้ว อาจารย์ที่ผมเคารพท่านหนึ่งท่านพูดเสมอในการใช้ชีวิตแต่ละวันของท่านว่า “วันนี้ดีใจ ที่ได้หยุดรถให้คนข้ามถนนตรงนั้นตรงนี้” เพื่อแสดงออกว่า “สปิริตคนเมือง” สำคัญมาก แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

ย้อนมาดู “วัด” ผู้เขียนเห็นว่า ความคิดเรื่องการออกแบบเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมนี้ กลายเป็นโอกาสทองของ “วัด” เนื่องจาก “วัด” ถูกลดทอนบทบาทความสำคัญในการพัฒนาสังคมไป  นานแล้ว จากปัญหาที่สังคมพัฒนามาเป็นเมืองและอิทธิพลของวัตถุตามระบอบทุนนิยมและวิทยาศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อถึงยุคปัจจุบันที่นำแนวคิดนวัตกรรมทางสังคมมาใช้ดังกล่าว เห็นชัดว่า “วัด” น่าจะมี “นวัตกรรม” ที่สามารถนำเสนอให้สังคมเห็นบทบาทการสร้างสปิริตชุมชนได้มากมาย เพียงแต่นักวิจัยต้องไม่มองศาสนาในแง่ “อุดมคติ” เกินไป เช่น อธิบายว่าถ้าเอาหลักธรรมข้อนี้ไปใช้แล้ว ปัญหาความขัดแย้งในสังคมจะลดลงหรือหายไป เพราะ “อุดมคติ” ดังกล่าว ไม่ได้มาจากตัวอย่างการปฏิบัติจริง หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ได้สรุปความรู้มาจากการปฏิบัติจริง แต่เป็นข้อเสนอที่พยายามประยุกต์มาจากหลักธรรม ซึ่งตามหลักการกระทำร่วมกันของออสตรอมแล้ว ยังไม่ใช่เป็นชุมชนที่ใช้ประโยชน์จริง นอกจากนั้น ต้องอธิบายว่าวัดมีฐานะเป็น “กลไกหนึ่ง” ในบรรดากลไกที่หลากหลายในการพัฒนาสังคม แต่ต้องระวังอย่างมากว่าอย่าไปอธิบายทำนองว่า “วัด” ดีกว่า “คนอื่น” ในชุมชน วัดอาจเป็นตัวกระตุ้นในการพัฒนาสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะถ้ายกตัวอย่างได้ว่าวัดได้สร้าง “light community” ได้อย่างไร หมายถึงบทบาทของวัดกับการสร้างชุมชนที่ลดกฎระเบียบ ไม่เอากฎระเบียบเป็นตัวตั้ง แต่เปลี่ยนเป็นเอาความร่วมมือร่วมมือร่วมใจกันด้วยความสมัครใจเป็นตัวตั้ง โดยที่เจ้าอาวาสหรือพระไม่ได้เป็นชี้นำหรือบงการ หากแต่เป็นสปิริตล้วนๆ ของชาวบ้าน แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากวัดก็ตาม แต่วัดสามารถ “จุดติด” เป็นสปิริตที่ต่อเนื่องในชุมชน นอกจากนี้ ควรนำเสนอถึง “การออกแบบ” ในลักษณะลำลอง (a tentative design) หมายความว่า การออกแบบดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่รูปแบบถาวรหรือดีกว่าการออกแบบของกลุ่มอื่น เนื่องจากการออกแบบการพัฒนาสังคมสมัยใหม่จะเน้นการลื่นไหลและการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก 

งานลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สังคมศาสตร์ยุคใหม่ต้องการเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเห็นว่า “นวัตกรรมทางสังคม” อาจมีมากมายอยู่แล้วในวัด โดยที่นักวิจัยไม่ได้เอามานำเสนอทางวิชาการ “นวัตกรรมทางสังคมที่มาจากวัด” ลักษณะดังกล่าวนี้น่าจะตรงกับวรรณกรรมสากล เนื่องจาก “นวัตกรรมทางสังคม” มีความหมายเฉพาะเจาะจงตามหลักทฤษฎีที่กล่าวมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท