Skip to main content
sharethis

คนทำงานโรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าแห่งหนึ่งในเซินเจิ้นขู่จะกระโดดจากหลังคาโรงงาน เนื่องจากข้อพิพาทเรื่องการย้ายที่ทำงานที่อยู่ห่างออกไปกว่า 200 กม.

  • พนักงานประมาณ 150 คน ที่ Welfare Electronic Technology (运丰) ในเซินเจิ้น นัดหยุดงานประท้วงในเดือน เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการย้ายพวกเขาไปทำงานยังโรงงานที่อยู่ห่างออกไป 200 กม. โดยมีบางส่วนขู่จะกระโดดจากหลังคาโรงงาน
  • ประธานสหภาพแรงงานของโรงงานระบุว่าคนทำงานได้เจรจากับผู้บริหารเพื่อขอค่าชดเชยบางส่วนภายใต้กฎหมายแรงงานของจีนสำหรับการย้ายที่ทำงาน แต่ฝ่ายบริหารเรียกการย้ายงานครั้งนี้ว่าเป็น “การยกระดับอุตสาหกรรม” และสหภาพแรงงานท้องถิ่นปฏิเสธที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 คนทำงานในโรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โพสต์คลิปวิดีโอออนไลน์ที่มีพนักงานประมาณ 150 คน นัดหยุดงานประท้วง ซึ่งรวมถึงพนักงานกว่าสิบคนบนหลังคาโรงงานที่ขู่ว่าจะกระโดดหากไม่ได้รับค่าชดเชยที่ถูกย้ายไปโรงงานในเครือที่อยู่ห่างออกไป 200 กิโลเมตร โดยบริษัทแห่งนี้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้าให้กับแบรนด์ชื่อดัง ได้แก่ Sony, Clarion, Foxconn, Flex, NEC และ Casio เป็นต้น

คลิปวิดีโอนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ใน Strike Map ของ CLB แสดงให้เห็นถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกำลังวางอุปกรณ์เป่าลมขนาดยักษ์ไว้บนพื้นด้านล่าง ขณะที่คนงานจำนวนหนึ่งอยู่บนดาดฟ้าของโรงงาน

การนัดหยุดงานประท้วงกินเวลาอย่างน้อย 7 วันที่บริษัท Welfare Electronic Technology (Shenzhen) Co. Ltd. (运丰) ในเซินเจิ้น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Welfare Print Circuits Board Co. Ltd. ในฮ่องกง โดยโรงงานที่เซินเจิ้นแห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534 และโรงงานแห่งที่ 2 ในเมืองไคผิง มณฑลกวางตุ้ง เปิดดำเนินการเมื่อปี 2556


ที่มาภาพ: humphery / Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 โรงงานของบริษัทฯ ในเซินเจิ้นได้ยุติการผลิตบางส่วนและย้ายคนทำงานไปยังโรงงานไคผิง พนักงานระบุว่าพวกเขาหยุดงานประท้วงมาแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว เนื่องจากการย้ายที่ทำงานและไม่ได้รับค่าชดเชย พนักงานยังช่วยกันเฝ้าอยู่นอกโรงงาน เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์

สหภาพแรงงานระบุว่า ปัจจุบันโรงงานของบริษัทฯ ในเซินเจิ้นมีพนักงานประมาณ 300 คน ประมาณ 150 คน เข้าร่วมการประท้วง นอกจากนี้ความคิดเห็นในวิดีโอออนไลน์ระบุว่าประมาณ 1 ใน 3 ของพนักงานได้ลาออกไปแล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทฯ เริ่มกระบวนการย้ายฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 โรงงานได้โพสต์ประกาศระบุว่าตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2566 พนักงานได้ “ชะลอการผลิตเป็นเวลาหลายวัน” ซึ่งหมายถึงการนัดหยุดงาน โดยทางโรงงานจะทำการลงโทษพนักงาน นอกจากนี้พนักงานที่ขาดงานมากกว่ากำหนด ทางโรงงานจะถือว่าพนักงานได้ลาออกโดยสมัครใจ

ประธานสหภาพแรงงานของโรงงานระบุว่าคนทำงานได้เจรจากับผู้บริหารเพื่อขอค่าชดเชยบางส่วนภายใต้กฎหมายแรงงานของจีนสำหรับการย้ายที่ทำงาน แต่ฝ่ายบริหารเรียกการย้ายงานครั้งนี้ว่าเป็น “การยกระดับอุตสาหกรรม” และสหภาพแรงงานท้องถิ่นปฏิเสธที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง

พนักงานต้องการการสนับสนุนด้านจิตใจเมื่อเผชิญกับข้อพิพาทด้านสิทธิแรงงาน

CLB ได้ติดต่อไปยังฝ่ายสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของสหภาพแรงงานในเขตเป่าอัน เซินเจิ้น โดยได้สอบถามว่าสหภาพแรงงานได้ส่งที่ปรึกษาไปหาคนทำงานที่ขู่จะกระโดดตึกหรือไม่ ฝ่ายสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของสหภาพแรงงานฯ ชี้แจงว่าส่วนใหญ่แล้วจะให้คำปรึกษาแก่คนทำงานทางโทรศัพท์เท่านั้น

ทั้งนี้ CLB เสนอว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ฝ่ายสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของสหภาพแรงงานควรทำงานเชิงรุกมากกว่านี้

คนทำงานที่ผลิตให้แบรนด์ระดับโลกพยายามเอาตัวรอด ภายใต้คำสั่งซื้อที่ลดลง


ที่มาภาพ: humphery / Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

CLB ระบุว่าจากเหตุการณ์นี้ จะเห็นได้ว่าคนทำงานไม่ให้ความไว้วางใจในตัวนายจ้างเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้ แม้ว่าจะมีสหภาพแรงงานท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหรือระงับข้อพิพาทได้มากนัก

นอกจากนี้ ฝ่ายสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของสหภาพแรงงานเขต อันเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างใหม่ และไม่ใช่ทุกสหภาพแรงงานที่จะมีบริการดังกล่าว จากเหตุการณ์การนัดหยุดงานและการประท้วงในมณฑลกวางตุ้ง ที่เริ่มมีบ่อยมากขึ้น CLB ชี้ว่าฝ่ายสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของสหภาพแรงงานควรกำหนดมาตรการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ ต่อคนทำงานที่ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิแรงงาน

ส่วนแบรนด์ต่างประเทศที่สั่งซื้อสินค้าจากจีน ควรคำนึงถึงเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปในห่วงโซ่อุปทานของตน และบทบาทของพวกเขาในการก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่คนทำงานในจีน ผ่านคำสั่งซื้อที่ลดลงและรูปแบบห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้โรงงานที่ผลิตให้พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานได้ตามกฎหมาย


ที่มา:
Shenzhen circuit board workers threaten to jump from factory roof over relocation compensation dispute (China Labour Bulletin, 5 June 2023)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net