Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชาวเล อันดามัน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบกระบวนการรัฐอนุญาตให้เอกชนทำโรงแรมทับพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชาวเลภูเก็ต - พังงาและที่อนุรักษ์แหล่งเต่าทะเลวางไข่

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 เครือข่ายชาวเล อันดามัน ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง ให้ตรวจสอบกระบวนการรัฐอนุญาตให้เอกชนทำโรงแรมทับพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชาวเลภูเก็ต - พังงาและที่อนุรักษ์แหล่งเต่าทะเลวางไข่ ระบุว่าสืบเนื่องจากมีการบุกรุกปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองเพื่อทำโรงแรมขนาดใหญ่ ในพื้นที่วางไข่เต่าทะเลและพื้นที่ “ประเพณีนอนหาด” พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ บริเวณหาดไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทั้ง 30 ชุมชนในจังหวัดพังงาและภูเก็ตกว่า 9 พันคนที่ใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดำรงประเพณี หากิน มามากกว่า 300 ปี

ตั้งแต่ พ.ศ.2554 พื้นที่ได้ถูกกล่าวอ้าง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯสิรินาท มีการทำกิจกรรมปลูกป่าร่วมกับชุมชน อนุรักษ์เต่าทะเลวางไข่ เนื่องจากชาวเลเพียงมาหากินชั่วคราวและทำพิธีกรรมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นเวลา 3-5 วันของทุกปี หาดบริเวณนี้จึงเป็นหาดที่สงบ เหมาะที่เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่ดังที่เป็นข่าวตลอดมา

แต่เมื่อเป็นกระแสคัดค้านอุทยานฯปล่อยให้มีการบุกรุกปักเสาลวดหนามสร้างโรงแรม ก็มีแจ้งโดยวาจาผ่านตัวแทนท้องถิ่นว่าไม่ใช่พื้นที่ของอุทยานฯ

ต่อมา..ได้ทราบจากกลุ่มผู้ทำวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงแรมว่า พื้นที่ที่ทุนต่างชาติสเปนร่วมกับเอกชนท้องถิ่นจะทำโรงแรม และปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองนั้น เป็นเขตที่ดินราชพัสดุ ที่อาศัยนโยบาย BOI (Borad of Investment) หรือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย และการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ จึงได้เช่าระยะยาว 30 ปีจาก กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

แต่เนื่องจากก่อนปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครอง ไม่มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งอนุรักษ์เต่าวางไข่ ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิชนพื้นเมืองสากล หลักรัฐธรรมนูญไทย นโยบายต่างๆ เช่น

1. ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง United Nations Declaration on thr Rights of Indigenous Peoples หรือ UNDRIP ตั้งแต่ปี 2007 โดยสาระสำคัญระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครอง และเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อน รัฐจักต้องให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมาย

2. อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ Convention on Biological Diversity หรือ CBD มีมาตราที่ส่งเสริมภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการร่วมจัดการพื้นที่คุ้มครอง อนุสัญญานี้ ไทยเข้าร่วมให้สัตยาบันเป็นภาคีแล้ว

3. สืบเนื่องจาก CBD ได้มีพิธีสารนาโงยา Nagoya Protocol ที่เน้นเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองร่วม แต่ไทยเพียงรับรอง-ไม่ร่วมผูกพันเป็นภาคี

4. กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ United Nations Framework Convention on Climate change หรือ UNFCCC ซึ่งต่อมาได้มี ความตกลงปารีส Paris Agreement ซึ่งไทยได้เข้าร่วมผูกพันแล้ว มีส่วนที่กล่าวถึงการใช้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายกรัฐมนตรีไทยได้รับรอง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในฐานะวาระ การพัฒนาแห่งสหประชาชาติภายหลังปี 2015 ซึ่งหัวใจของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้คือจะเน้นการพัฒนาที่ ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (Inclusive development principles)

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 70 ยังได้ระบุ “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวนทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย”

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบาย เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยยกเรื่องปัญหาที่ดิน มาเป็นอันดับแรก และระหว่างที่มี การฟ้องคดีต้องให้มีหน่วยงานดูแลคุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาอย่างทันท่วงที รวมทั้งผลักดันการพัฒนา พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล และขยายผลไปสู่ชาติพันธุ์อื่นๆ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (หน้า 44) ข้อ 4.3.5 สนับสนุนการพัฒนา บนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้บริบทของสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวิถีชีวิต ทางวัฒนธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความตระหนักในสิทธิมนุษยชน สร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ในกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญา สร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น สร้างความเข้าใจและจุดร่วมบนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ฯ

และด้วยที่นี่เป็น 1 ในพื้นที่ 14 พื้นที่คุ้มครองครองวัฒนธรรมฯชาวเล ตามมติและคำสั่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในที่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ เป็นประธาน มีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ ตามกรอบนโยบายในมติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ทั้งยัง มีมติ ครม. 1 ก.พ. 2565 ให้แก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเร่งดำเนินการเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตฯ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการดำเนินการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานวิชาการเพื่อเสนอให้มีนโยบายประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ ใน พ.ศ. 2566

เครือข่ายชาวเล อันดามัน จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ช่วยเหลือให้การให้มีการร่วมตรวจสอบและชะลอการดำเนินการใดๆเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของวัฒนธรรมและระบบนิเวศพื้นที่แหล่งวางไข่เต่าทะเล รวมทั้งให้เร่งประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ ประเพณีนอนหาดชาวเล อย่างเร่งด่วน

โดยท้ายหนังสือร้องเรียนได้มีตัวแทนเครือข่ายชาวเล อันดามัน จำนวน 16 คนจากแต่ละจังหวัดที่ใช้พื้นที่ร่วมลงนาม

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มารับหนังสือได้กล่าวว่า จะเร่งนำเรื่องร้องเรียนนี้ของเครือข่ายชาวเลฯเข้าสู่ระบบการดำเนินการของ กสม.ต่อไป และยังได้บอกกับตัวแทนชาวเลว่า หากมีการใช้อำนาจ อิทธิพล ละเมิด ข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงใดๆให้เร่งแจ้ง กสม.เพื่อดำเนินการให้เกิดการช่วยเหลือ คุ้มครองทันที ทำให้ตัวแทนชาวเลที่รู้สึกกลัวและกังวลเบาใจขึ้น

ส่วนเรื่องการเสนอแนวทางจากชาวเล ให้ระดมคนเดินทางไปปักหลักหน้ากระทรวงการคลังเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง ยังมีความเห็นบางส่วนว่าควรให้หน่วยงานในระดับจังหวัดได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามอำนาจ หน้าที่ด้วย ถ้าไม่เป็นผลก็ค่อยยกพลไปกระทรวงการคลัง

เครือข่ายชาวเล อันดามัน
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move
สภาประชาชนภาคใต้แห่งความสุข
Beach for life 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net