องค์การนักศึกษา มธ. จัดกิจกรรม "ทวงคืนอำนาจประชาชน #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีการปราศรัยวิจารณ์ ส.ว.และองค์กรอิสระที่กำลังขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนและการใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง มีการแสดงสัญลักษณ์ตอกฝาโลง เผาพริกเกลือสาปแช่ง
17.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต(มธ.รังสิต) บริเวณลานสัญญาธรรมศักดิ์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จัดกิจกรรมทวงคืนอำนาจประชาชน #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในกิจกรรมมีนักศึกษาของ มธ.ร่วมปราศรัยวิจารณ์การใช้กระบวนการทางกฎหมายกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งกรณีถือหุ้นไอทีวีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไปและศาลยังรับคำร้องที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองเนื่องจากมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงการที่ ส.ว.ที่ไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ด้วย
ในกิจกรรมมีการให้โหวตแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับเรื่อง "ส.ส. และ ส.ว.ต้องเคารพเสียงประชาชนนายกฯต้องมาจากเสียงข้างมากของประชาชน" "กฎหมายยังมีความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่" รวมถึงถามความเห็นว่ามีสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร
โบ๊ท
โบ๊ท นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยนับตั้งแต่อดีตที่มีการรัฐประหารและการสังหารประชาชนแล้วก็มีการเลือกตั้งนี้เปรียบเสมือนวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย ที่ฝ่ายชนชั้นนำและนายทุนสามานย์มาหลอกประชาชนว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะเสียงของประชาชนถูกเหยียบย่ำ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่ได้รับการเลือกตั้งมายังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ประชาชนไทยกลายเป็นคนนอกของการเมืองไทยเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มพวกพ้องนักการเมืองที่รับใช้เผด็จการและไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรรวมกลุ่มกันครองตำแหน่งรัฐมนตรีกันอย่างยาวนานที่ไม่สามารถคุยกันได้เพราะผลประโยชน์ไม่ตรงกันประชาชนไม่เคยอยู่ในการสมการของนักการเมืองเหล่านี้ และเรื่องนี้ถูกพิสูจน์แล้วจากที่ก่อนเลือกตั้งสัญญาว่าจะช่วยกันปิดสวิตช์ ส.ว.แต่วันนี้พรรคการเมืองเหล่านี้อย่างเพื่อไทยกลับมีท่าทีจะเป็นงูเห่า
โบ๊ทกล่าวว่าการจะหยุดวงจรอุบาทว์นี้ได้คือต้องสู้ต่อไปเพราะชัยชนะของฝ่ายตรงข้ามคือการทำให้ประชาชนท้อแท้รู้สึกว่าประเทศนี้สู้ไปก็ไม่ได้อะไร จะออกเสียงไปทำไมประชาชนไม่มีทางสู้ชนะ ประชาชนจึงต้องไม่หยุดที่จะส่งเสียงออกไปกดดันผู้แทนราษฎรของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองและรักษาสัญญาที่หาเสียงไว้ของตัวเองด้วยโดยการใช้เสียงของตัวเองไปตามฉันทามติของประชาชน แต่ประชาชนกดดัน ส.ว.ไม่ได้เพราะไม่ได้มาจากประชาชนแต่ถูกแต่งตั้งมาจาก คสช.แต่ก็ยังมากินเงินจากภาษีของประชาชน
โบ๊ทยังกล่าวถึงที่ ส.ส.และ ส.ว.อ้างเรื่องเสนอแก้มาตรา 112 ของก้าวไกลเพื่อที่จะไม่โหวตทั้งที่การเสนอแก้กฎหมายเป็นสิ่งเพียงกฎหมายฉบับหนึ่งที่สามารถเสนอเพื่อพิจารณาในสภาได้ แต่การอ้างมาเพื่อไม่โหวตนายกฯ นั้นก็เป็นเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนชนะ แล้วกฎหมายมาตรา 112 เองก็ยังมีปัญหาที่ถูกเอามาใช้ดำเนินคดีกับคนจนมีคนเสียชีวิตในคุก นอกจากนั้นที่ผ่านมากฎหมายนี้ก็เคยถูกแก้มาแล้ว ดังนั้นเหตุผลที่ยกมาอ้างกันนั้นฟังไม่ขึ้น

เอย (ภาพโดย ที่พระจันทร์)
เอย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญที่นักนิติศาสตร์ยึดถือกันว่าเป็นกฎหมายสูงสุดแต่เมื่อศาลตีความเกินกว่าตัวบทแล้วจะยังมีไปอีกเพื่ออะไร แล้ว มธ.ที่อ้างประชาชนทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยออกมาแถลงการณ์อะไรที่กับความวิปริตที่เป็นผลผลิตของคณะนิติศาสตร์ มธ. อย่างมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นเนติบริกรให้คณะรัฐประหารมาเขียนรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจให้ คสช.
"คุณใช้กฎหมาย เอาความรู้กฎหมายที่พวกคุณมีมาเป็นอาวุธให้พวกเผด็จการแบบนี้มันถูกแล้วเหรอ ยังกล้าอีกเหรอว่าอยู่คณะนิติศาสตร์ ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีจิตสำนึกในประชาชน" เอย กล่าว
เอยยังได้กล่าวถึงที่มาของ ส.ว.ในอดีตที่เริ่มมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2490 ว่าทำให้เกิด ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งขึ้นมาโดยผู้ริเริ่มก็คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชย์ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของพวกอภิสิทธิ์ชนที่แม้จะถูกรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ห้ามคนที่อยู่ในตำแหน่งหม่อมเจ้าขึ้นไปมายุ่งการเมืองแล้วก็ตาม ส.ว.จึงกลายมาเป็นมรดกตกทอดของพวกอำนาจนิยมและพวกศักดินา แล้วถึงจะทำให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังถูกทำลายลงไปด้วยการรัฐประหาร 2549
ศาลรัฐธรรมนูญที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็อ้างไม่ได้ว่ามีอิสระเพราะถูกเลือกมาโดย ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งเข้ามาอีกที
“กฎหมายมันสำคัญอย่างมาก ถ้าคุณยึดถือตัวบทกันจริงๆ ทำไมถึงฉีกรัฐธรรมนูญกันเป็นว่าเล่น”
“ศาลที่ได้อำนาจมารัฐธรรมนูญ ประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่ศาลไม่ยึดโยงกับประชาชนไม่ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ บ้านเมืองนี้ยังมีขื่อมีแปอยู่มั้ย” เอยได้เรียกร้องให้ศาลมีความโปร่งใสเพราะตอนนี้ไม่มีใครตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งในประมวลกฎหมายอาญาก็ไม่ได้ระบุว่าศาลต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย
เอยยังได้เรียกร้องไปยังนักกฎหมายทุกคนและมีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดีอย่างวิษณุ เครืองามที่พูดอะไรก็ไม่มีทางผิดกฎหมายความกลับกลอกนี้ที่ทำให้ประเทศชาติถอยหลังทุกวันนี้ และนักศึกษานิติศาสตร์ก็อย่าเอาแต่ท่องจำประมวลกฎหมายแต่ไม่เข้าใจความหมายเบื้องหลังเพราะมันไม่ใช่ความจริงสูงสุดกฎหมายไม่ดีก็ต้องตั้งคำถาม
20.30 น. หลังการเวียนปราศรัยของนักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเสร็จสิ้นลงตัวแทนจาก อมธ.อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองที่ตอนนี้ยังไม่ได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนแม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว
"การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นับเป็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบ แต่กลับเป็นอีกครั้งที่ความต้องการของประชาชนได้ถูกบดขยี้ เพราะแม้ฉันทามติของประชาชนจะเด่นชัดสะท้อนผ่านคูหา เลือกตั้งอย่างไร แต่ก็เหมือนกับไม่มีความหมายใด ๆ ที่จะทําให้ผู้มีอํานาจที่แท้จริงในประเทศแห่งนี้รู้สึกรู้สาเลยแม้แต่น้อย"
แถลงการณ์ระบุว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์ทำให้ศาลและองค์กรอิสระมีสิทธิเด็ดขาดในการชี้นำประเทศสู่ความเลวร้ายลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยอยู่ทั้งที่คนเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหารอย่าง คสช. ทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธแค้นและตั้งคำถามว่าประเทศนี้เป็นของใคร ซึ่งการที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแต่ยังไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนได้ก็เป็นผลที่เป็นรูปธรรมจากการรัฐประหาร
แถลงการณ์เรียกร้องถึงผู้มีอำนาจและพรรคการเมืองที่กำลังมุ่งจัดตั้งรัฐบาลในนามของประชาชนให้ระลึกถึงอนาคตของประเทศและความสง่างามในวิถีทางประชาธิปไตย
“ไม่ว่าอย่างไรพวกเราก็จะไม่ยอมแพ้ พวกเราจะต่อสู้ ในทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางการเมืองอันบิดเบี้ยวในสังคมไทย พวกเราจะต่อสู้ผ่านคูหา เลือกตั้ง พวกเราจะต่อสู้บนท้องถนน พวกเราจะต่อสู้ด้วยวาจา และความคิด ตามสิทธิ และเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ภายใต้กฎกติกาอันเป็นธรรม ทั้งหมดนี้คือจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์กับการต่อสู้ที่ไม่มีวันสูญสลายลงได้ เพราะความอดทน ของผู้คนนั้นมีขีดจํากัด ธรรมศาสตร์เราจึงขอยืนตรงและไม่อดทนอีกต่อไป ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ท้ายแถลงการณ์ระบุ
ภาพโดย ที่พระจันทร์
จากนั้นผู้จัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำหุ่นจำลองที่มีรูปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใส่ในโลงและตอกฝาโลง จากนั้นจึงนำรัฐธรรมนูญ 2560 เผาลงในกระป๋องเหล็ก และปิดท้ายด้วยการเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้มีอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ สว. ที่เป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย และยุติการชุมนุม
ภาพโดย ที่พระจันทร์
กล่องลากตั้ง ติดยันต์ไล่ ส.ว. สะท้อนกติกาการเมืองอันผิดปกติ
บริเวณที่จัดงานมีการจัดแสดงกล่องลากตั้ง และพานสาปแช่งรัฐธรรมนูญ 60 โดยอะโวคาโด ผู้จัดกิจกรรมบอกว่า ทำขึ้นมาเพื่อสะท้อนกติกาการเมืองอันผิดปกติ
อะโวคาโด (นามสมมติ) นศ.คณะนิติศาสตร์ ปี 1 ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า "กล่องลากตั้ง" คอนเซ็ปต์คือการไล่ ส.ว.
นศ.นิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า กล่องลากตั้ง เป็นการตั้งคำถามกับ ส.ว. ช่วงที่ผ่านมาว่า ถ้าการเลือกนายกฯ และรัฐบาลขึ้นอยู่กับ ส.ว. แล้วจะให้เราเลือกตั้งทำไม จะให้เราเปลืองงบฯ ทำไม รอบๆ กล่องมีการแปะยันต์กัน ส.ว. เอาไว้ ด้านบนของกล่องมีดอกไม้ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า "ขอ ส.ว.เถอะ อย่ามายุ่งกับกล่องเลือกตั้งนี้" หรือสะท้อนมุมมองของเธอที่ขอ ส.ว. อย่ามายุ่งกับผลการเลือกตั้ง และการโหวตรับลงมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้แล้ว
ข้างๆ ของกล่องลากตั้ง เธอจัดแสดงพิธีสาปแช่งไว้อาลัยให้รัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะรัฐธรรมนูญถูกเขียนเพื่อคนไม่กี่คน ไม่ได้เขียนเพื่อประชาชน และเป็นจุดเริ่มต้นกติกาที่ไม่เป็นธรรม
"โดยการจัดพาน เป็นการจัดแบบมัดตราสังข์ เป็นการไหว้ผีไหว้ศพ มีการปักธูปปักหัว เพื่อสาปแช่งคนร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมา" อะโวคาโด กล่าว
นอกจากนี้ อะโวคาโด เธอต้องการสื่อด้วยว่า กล่องลากตั้ง ที่วางไว้บริเวณที่ชุมนุม ก็ไม่รู้ว่าจะถูกใครช่วงชิงไปหรือไม่ หรือเราไม่รู้ด้วยว่าจะได้การเลือกตั้งที่โปร่งใส หรือสมบูรณ์มาตอนไหน
ท้ายสุด อะโวคาโด กล่าวถึงศิษย์เก่าธรรมศาสตร์บางคนที่มีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นมา
"สวัสดีค่ะ รุ่นพี่คณะฯ หนู มันทำให้พวกเราเห็นว่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้สร้างคนดี แต่สร้างคนอย่างคุณ" อะโวคาโด ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. คือศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อ 20 ม.ค. 2561 มีชัย ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น "เกียรติภูมินิติโดม" ด้วย