Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน ย้ำข้าราชการ ก.แรงงาน มุ่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ตั้งเป้าขึ้นเทียร์ 1

22 ก.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์กับข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ในระหว่างเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี ที่กระทรวงแรงงาน ว่า เป้าหมายคือ ยกระดับจากกลุ่มเทียร์ 2 ขึ้น กลุ่มเทียร์ 1 ให้ได้

“ตรงนี้แม้ว่าผมจะพูดแรง เเต่ความจริงคือ แม้พวกเราจะทำดีขนาดไหน จะปฎิบัติอย่างไร หากว่าในสังคมโลกหรือโดยเฉพาะมหาอำนาจของโลกไม่เห็นด้วย เราก็คงไม่มีโอกาสหลุดจากกลุ่มเทียร์ 2 ขึ้นกลุ่มเทียร์ 1 สิ่งต่างๆเหล่านี้ คนเดียวไม่มีทางทำได้ เเต่สิ่งที่จะผลักดันให้ทุกสิ่งทุกอย่างไปถึงจุดหมายปลายทาง คือถ้าพวกเราร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพูดช่วยกันตะโกนเสียงดังๆ ให้โลกใบนี้ได้รับทราบว่า ประเทศไทยเราปลอดจากการค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวต่างๆ หรือแรงงานที่เพื่อนบ้านมาทำงานในประเทศประเทศไทย เราพยายามทุกวิถีทางที่จะนำแรงงานทุกคน เข้ามาอย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย สิ่งที่อยู่ใต้โต๊ะ จะต้องนำขึ้นมาอยู่บนโต๊ะให้ได้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่นำมาวางอยู่บนโต๊ะ พวกเราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ขบวนการค้ามนุษย์สำหรับประเทศไทยได้สิ้นสุดไปแล้ว” นายพิพัฒน์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตนกังวลมาก และได้รับโจทย์มาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ประเทศไทยในอดีต อยู่เทียร์ 3 ขึ้นเทียร์ 2 และจะต้องหลุดจากเทียร์ 2 ขึ้นเทียร์ 1 ให้ได้ ซึ่งก็มั่นใจว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง คนปัจจุบัน ก็หวังและอยากจะเห็นว่า ในยุคของนายกฯ คนปัจจุบันสามารถหลุดจากเทียร์ 2 ขึ้น เทียร์ 1 ได้

“นี่คือเป้าหมายที่เราจะต้องเดินไป ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจ เราต้องเดินไปให้ถึงได้ด้วยตัวเราเอง ไม่มีสังคมโลกไม่มีมหาอำนาจของโลกมาคอยกดดันเรา เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในเรื่องของกระทรวงเศรษฐกิจ ผมมั่นใจว่า พวกเราทำได้ และพวกเราไปอยู่จุดนั้นได้” นายพิพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในการดูแลผู้ใช้แรงงาน ก็ได้ทำการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีความมั่นใจว่าจะพยายามนำสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาทำให้ถูกต้อง

“คนอื่นรู้ว่าเราไม่มีการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมมีความตั้งใจอยากจะทำมากที่สุด นอกเหนือจากนโยบาย 7-8 ข้อ ที่ได้แถลงไปแล้วเบื้องต้น” นายพิพัฒน์ กล่าวย้ำ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/9/2566

ตม.เชียงใหม่ ลุยตรวจร้านอาหารจีนกลางเมืองเชียงใหม่พบใช้แรงงานผิดกฎหมาย

21 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้บุกเข้าตรวจร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง ย่านข่วงประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หลังพบเบาะแสว่ามีการจ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ทำงานแบบผิดกฎหมายภายในร้าน ซึ่งพบพนักงาน 4 คน เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าทำการตรวจสอบ โดยพบว่าเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา และตรวจสอบพบว่า เจ้าของร้าน เป็นบุคคลสัญชาติจีน 3 คน เจ้าหน้าที่จึงขอทำการตรวจสอบพาสปอร์ต และ หลักฐานการจ้างงาน รวมถึงเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านอาหาร

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน สัญชาติเมียนมา มีการลงทะเบียนกับนายจ้างอยู่ที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้มาทำงานกับนายจ้างชาวจีนที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือว่ามีความผิดตาม พรบ.แรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีการนำตัวแรงงานทั้ง 4 คน และ บุคคลสัญชาติจีนอีก3 คนไปตรวจสอบ เพื่อลงบันทึกประจำวัน ส่วนนายจ้างจะต้องมีการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบการร้านอาหาร และตรวจสอบวีซ่า รวมถึงเส้นทางการเงินว่าเกี่ยวข้องทุนสีเทาหรือไม่

ขณะเดียวกันยังได้เข้าตรวจสอบค่ายมวยใน อำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ ที่มักจะมีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนมวยไทยและมาอยู่ระยะยาว  จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบการกระทำผิดกฎหมาย ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่  จึงได้กำชับให้ผู้ประกอบการ ปฎิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

พ.ต.อ.ศราวุธ วะเท ผกก.ตม.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบการกระทำผิดกฏหมายเกี่ยวกับ พรบ.แรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ บูรณาการร่วมกับ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นประจำอยู่แล้ว ล่าสุดได้รับนโยบาย จากนายกรัฐมนตรี ในการเตรียมความพร้อม เปิดฟรีวีซ่าจีน จึงต้องเข้มงวดในการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายในช่วงนี้ และ ถือว่าเป็นการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายของชาวต่างชาติที่มาอยู่ระยะยาวในประเทศไทย พร้อมเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

ที่มา: เนชั่นออนไลน์, 21/9/2566

เครือข่ายแรงงานจี้ “พิพัฒน์” ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท เเก้ระเบียบเลือกบอร์ดประกันสังคม

21 ก.ย. 2566 ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ประกอบด้วย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นายบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง น.ส.ลักษมี สุวรรณภักดี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเครื่องหนังแห่งประเทศไทย นายยศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ( MWG),นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชลิต รัษฐปานะ สหภาพคนทำงาน เข้ายื่นหนังสือ เรื่อง ขอเรียกร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เร่งจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ต่อ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่า เรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 450 บาท โดยให้กำหนดไทม์ไลน์ในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท ในปี 2570 ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม อาทิ ให้ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลสิทธิประกันสังคมให้ดีขึ้น ยกระดับสิทธิประโยชน์ค่าทำฟันจากปีละ 900 บาท เป็นปีละ 1,500 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 800 บาท เป็น 1,200 บาท ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี จากเดิมสูงสุด 6 ปี ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ว่างเงินให้ได้รับเพิ่มขึ้น เช่น กรณีถูกเลิกจ้างรับในอัตราร้อยละ 80 จากเดิมร้อยละ 50 กรณีลาออก รับในอัตราร้อยละ 50 จากเดิมร้อยละ 30 เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพรายเดือน รวมถึงให้ทบทวนแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ เช่น ให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยสามารถใช้สิทธิได้ ปรับเงื่อนไขผู้มีสิทธิจากส่งเงินสมทบต่อเนื่อง 36 เดือน (3ปี) เป็น 12 เดือน (1ปี)

นายพิพัฒน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือด้วยตนเองว่า จะรับข้อเรียกร้องทั้งหมดไปศึกษาในรายละเอียด และหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำต้องไปหารือกับนายจ้าง รวมถึงนายกรัฐมนตรี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านในทุกมิติ เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนการบริหารกองทุนประกันสังคม เป็นหัวใจหลักที่ตนให้ความสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนและมั่นคง โดยมอบนโยบายให้หาวิธีสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้ร้อยละ 5 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 2.4 เพราะการนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลสูงสุดและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการขยายระยะเวลากองทุนให้ยืดยาวที่สุด เพื่อนำมาปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้ประกันตน รวมทั้งการนำระบบ E-Claim เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิด้วย

ด้าน น.ส.ธนพร กล่าวว่า เป็นการพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ครั้งแรก ถือว่าเป็นที่พอใจ หลายเรื่องมีกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจนที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมขึ้น เช่น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ การจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/9/2566

เปิดบริการแล้ว ลูกจ้างฟ้องคดีแรงงานถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้เอง ผ่าน “ระบบปรึกษาและยื่นคำคู่ความคดีแรงงานทางออนไลน์”

21 ก.ย. 2566 ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานเปิดงาน "การประชุมทางวิชาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการใช้งานระบบการยื่นคำคู่ความในคดีแรงงานทางระบบอิเล็กทรอนิกส์"

โดยมีนายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสัน เลขาธิการประธานศาลฎีกา นายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 1-9 เลขานุการศาลแรงงานภาค 1-9 และคณะผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

ด้านนายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายจ้างได้ แต่ต้องเดินทางไปที่ศาลแรงงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้บางครั้งลูกจ้างอาจประสบความยากลำบาก เนื่องจากอาจมีภารกิจอื่นที่ต้องรับผิดชอบทั้งในด้านครอบครัว หรือการหาเลี้ยงชีพ ศาลยุติธรรมได้เล็งเห็นว่าหากจะให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ดียิ่งขึ้น ควรต้องมีช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่จะทำให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงกระบวนการทางศาลได้ โดยในขณะเดียวกันสามารถดูแลภาระความรับผิดชอบด้านอื่นไปพร้อมกันได้ ศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนาระบบการยื่นคำคู่ความในคดีแรงงานทางระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยในระยะเริ่มแรกเรียกว่า“ระบบปรึกษาและยื่นคำคู่ความคดีแรงงานทางออนไลน์”ผ่านระบบ CIOS ระบบดังกล่าวนี้เป็นไปตามนโยบาย “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน” ของนายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา โดยเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ศาลสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น “ระบบปรึกษาและยื่นคำคู่ความคดีแรงงานทางออนไลน์” (e-Service for labour cases) นี้ นอกจากจะอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่บรรดาลูกจ้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังศาลแรงงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยทำให้ลูกจ้างได้รับคำแนะนำ

ทางด้านกฎหมายที่ถูกต้องในช่องทางที่สะดวกอันจะทำให้สามารถดูแลรักษาสิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ โดยศาลยุติธรรมจะเปิดบริการให้สามารถยื่นฟ้องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งวันที่ 21 ก.ย. 2566 เป็นวันแรก พร้อมให้บริการระบบปรึกษาและยื่นคำคู่ความคดีแรงงานทางออนไลน์อย่างเป็นทางการ

ซึ่งขั้นตอนการยื่นคำคู่ความคดีแรงงานทางออนไลน์นั้น ให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่น COJ Connect ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบ ios และ Android แล้วเข้าไปยังเว็บไซต์ https://cios.coj.go.th/labour เพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น จากนั้นเข้าไปกรอกข้อมูล พิสูจน์และยืนยันตัวตนตามขั้นตอนที่ระบุไว้อย่างถูกต้องครบถ้วน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าว นิติกรจะตรวจสอบข้อมูลในระบบที่ได้รับจากลูกจ้าง ซึ่งหากมีคำถามหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมนิติกรจะติดต่อกลับเพื่อสอบถามและให้คำปรึกษาในการร่างคำฟ้องทางออนไลน์ เมื่อลูกจ้างยืนยันตัวร่างคำฟ้องถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ก็จะยื่นคำฟ้องเข้าในระบบต่อไป จากนั้นเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของศาลผู้พิพากษาก็จะพิจารณาในการสั่งประทับรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง ในกรณีที่มีการสั่งฟ้องแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาผ่านทางระบบออนไลน์

สำหรับประเภทคดีที่สามารถยื่นฟ้องผ่านระบบได้นั้น ได้แก่

1.คำฟ้องเรียกค่าชดเชย

2.คำฟ้องเรียกค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

3.คำฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

4.คำฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด

สำหรับประเภทนายจ้างที่อาจถูกฟ้อง ได้แก่

1.บุคคลธรรมดา

2.ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

3.ห้างหุ้นส่วนจำกัน

4.บริษัทจำกัด

5.บริษัทมหาชนจำกัด

ศาลยุติธรรมคาดหวังว่าการพัฒนา “ระบบปรึกษาและยื่นคำคู่ความคดีแรงงานทางออนไลน์” ผ่านระบบ CIOS จะยกระดับการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมใหม่มาสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการของศาลยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาค และเท่าเทียม อันเป็นการกระจายการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีแรงงานให้ทั่วถึง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงานกลางและศาลแรงงานภาค 1-9 ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ที่ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีถูกเลิกจ้างหรือถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมสามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องด้วยตนเองผ่านทางระบบออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/9/2566

แนะปรับ ‘ประกันสังคม’ เพิ่มทางเลือกเทียบ ‘ม.33’ ดึงคนสมัครเข้าระบบ-รัฐตั้งกองทุนค้ำแบงก์ปล่อยสินเชื่อแรงงาน

ศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในสัมมนารับฟังความคิดเห็น รายงานการศึกษาฉบับร่างและข้อเสนอเชิงนโยบายการบริการจัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ณ รร.เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่าแรงงานในกลุ่มกึ่งนอกระบบ หมายถึงในทางปฏิบัตินั้นมีนายจ้างแม้จะไมได้ถูกเรียกว่านายจ้างก็ตาม เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน ไรเดอร์ขี่มอเตอร์ไซค์ส่งสินค้า พนักงานนวดในร้านนวด แรงงานกลุ่มนี้มีความคล้ายกับแรงงานที่อยู่ในประกันสังคม มาตรา 33

แต่จุดที่แตกต่างคือ แรงงานกึ่งนอกระบบอาจมีนายจ้างได้หลายคน เช่น ไรเดอร์รับงานผ่านแพลตฟอร์มหลายเจ้า หรือลูกจ้างทำงานบ้านเหตุที่ไม่สามารถเข้าประกันสังคม ม.33 ด้วยเหตุผลว่าผู้ตรวจแรงงานไม่สามารถเข้าไปตรวจสภาพการจ้างงานได้ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าแนวคิด ม.33 ที่แบ่งการจ่ายเงินสมทบจาก 3 ส่วน คือนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ สามารถนำมาปรับใช้ได้ ขณะเดียวกัน การที่แรงงานกลุ่มนี้มีรายได้ไม่แน่นอน ก็เป็นคำถามว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไร

“เขามีนายจ้างหลายคนในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นก็หักส่วนตรงนี้ในทุกๆ Transaction (การทำธุรกรรม) วันนี้เขาขับรถให้ใคร หรือไปรับจ้างกับนาย ก. นาย ข. นาย ค. เราต้องหักทุก Transaction ตรงนี้เราก็ต้องหาวิธีการที่จะมาทำ เพราะฉะนั้นความถี่มันก็จะถี่เยอะขึ้น แล้วก็เปิดโอกาสให้ไม่ว่าคุณจะมีนายจ้างกี่คนก็ตามระบบมันควรจะทำได้ ฉะนั้นถ้าเราตัดในเรื่องของจะต้องตรวจสอบแรงงานได้ เอากฎหมายคุ้มครองแรงงานออกไปจากการมาผูกกับประกันสังคม ลูกจ้างทำงานบ้านก็สามารถเข้า ม.33 ได้” รศ.ดร.กิริยา กล่าว

รศ.ดร.กิริยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่ไม่มีนายจ้างและรัฐไม่รู้รายได้ กลุ่มนี้จะอยู่กับประกันสังคม ม.40 สิ่งที่น่าคิดคือหากนำ ม.33 ซึ่งดีที่สุดเป็นตัวตั้ง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีสิทธิประโยชน์แบบเดียวกับ ม.33 โดยผู้ประกันตนจ่ายเองทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เพราะในกลุ่มแรงงานนอกระบบก็มีหลากหลายตั้งแต่รายได้น้อยไปจนถึงรายได้สูง

แต่การไปกำหนดสิทธิประโยชน์ของ ม.40 ให้น้อย ก็ไม่ถูกใจผู้ที่มีรายได้สูง อาทิ มัคคุเทศก์ เป็นอาชีพหนึ่งที่รายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งอยากได้สิทธิประโยชน์แบบ ม.33 แต่ไม่สามารถเข้าได้ จึงน่าจะมีแพ็ตคเกจแบบ ม.33 ให้เป็นทางเลือกกับผู้ที่มีกำลังพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับ ม.40 สิทธิประโยชน์เรื่องเดียวที่ยอมรับว่าทำได้ยากคือเรื่องของการว่างงาน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าแรงงานกลุ่มนี้ว่างงานเมื่อใด

“บางทีเราอาจจะบอกว่าสวัสดิการต่างๆ มันมีอยู่แล้ว เอาไปทำบัตรทองก็ได้ บัตรทองก็มีอยู่แล้วรักษาพยาบาล แต่การที่เสนอว่าพยายามเอาทุกคนเข้ามาอยู่ใน ม.33 หรืออะไรที่คล้ายๆ ยังไม่รวมกับ ม.33 ก็ได้นะ เป็นนอกระบบคล้ายๆ ม.33 หรือใกล้เคียง จริงๆ แล้วมันเป็นการลดภาระการคลังที่คนมีนายจ้างนายจ้างก็ร่วมจ่าย คนที่กึ่งก็ร่วมจ่ายด้วย มันก็จะไม่ทุกอย่างไปผูกทุกคนถือบัตรทองหมด มันก็จะเป็นภาระทางการคลังค่อนข้างจะเยอะ ฉะนั้นการดึงเอาทุกคนมาเข้าประกันสังคมไม่ว่าจะเรียกมันว่า ม. อะไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยว่าจะทำให้การคลังยั่งยืนขึ้น” รศ.ดร.กิริยา กล่าว

รศ.ดร.กิริยา ยังกล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่แรงงานนอกระบบต้องการมากที่สุดแต่ไม่มีในระบบประกันสังคมคือสินเชื่อ แต่แรงงานนอกระบบมักมีรายได้น้อยหรือไม่สม่ำเสมอ ในส่วนนี้ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ จะทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ แต่เมื่อดูบทเรียนจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ก็พบว่าแรงงานเข้าถึงได้ยาก

หรือการที่กระทรวงแรงงานต้องทำหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อและติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งบุคลากรในกระทรวงอาจไม่มีความเชี่ยวชาญ  ยังมีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีความยั่งยืน เพราะแรงงานนอกระบบมีเป็นจำนวนมาก จะคัดกรองคนที่ควรได้รับสินเชื่ออย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่าเงินกู้ไปแล้วจะได้กลับคืนเพื่อให้กองทุนมีเงินหมุนเวียน

เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะหากทำได้ง่ายและมีกำไรธนาคารคงปล่อยสินเชื่อเองแล้ว ส่วนข้อสงสัยที่ว่า คณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้เสนอให้กองทุนทำความร่วมมือกับธนาคารเพื่อเข้ามาบริหารจัดการจะเป็นไปได้อย่างไรในการจูงใจ ในเมื่อที่ผ่านมาธนาคารกังวลความเสี่ยงจึงมักไม่ปลอยกู้ให้แรงงานนอกระบบ ประเด็นนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ให้ธนาคารเข้าไปบริหารอย่างเต็มรูปแบบเพื่อหวังผลกำไร แต่เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์ด้านการเงิน และไม่ใช่จากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่เป็นธนาคารเฉพาะ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“รัฐอาจจำเป็นต้องสนับสนุน อุดหนุนอะไรอย่างนี้ จริงๆ ถ้าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ สมมติมันอาจจะถูกค้ำประกันโดยรัฐ เช่น มีการตั้งกองทุน ที่เรียกว่ากองทุนฟื้นฟูอะไรแบบนี้ ฉะนั้นถ้าเมื่อไรปล่อยกู้แล้วมีปัญหา Bank Backup (ค่าใช้จ่ายกันสำรองธนาคาร) นะ ธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะ คืออันนี้มันก็สามารถที่จะลองคิดกันไปได้” รศ.ดร.กิริยา กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: แนวหน้า, 20/9/2566

รมว.แรงงาน สั่งขยายตลาดแรงงานต่างประเทศนับแสนอัตรา

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้ กกจ. ในการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางานพร้อมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้การส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในตลาดแรงงานเดิมที่มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ในตำแหน่งงานใหม่ อาทิ สวีเดน ฟินแลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน ฯลฯ และการขยายตลาดแรงงานในประเทศใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มความต้องการจ้างแรงงานไทย รวมถึงเจรจาเพื่อให้เกิดการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อแรงงานไทย

“โดยเน้นไปที่กลุ่มแรงงานกึ่งฝีมือและทักษะฝีมือ อาทิ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในตำแหน่งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยและคนชรา ประเทศกาตาร์ ในแรงงานภาคก่อสร้าง ภาคบริการเกี่ยวกับท่าอากาศยานและรถไฟ ภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพ และภาคการขนส่ง ประเทศจอร์แดน ในแรงงานภาคเกษตร ประเทศนิวซีแลนด์ ในแรงงานทักษะฝีมือภาคบริการ ภาคเกษตร และแรงงานที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญ เฉพาะสาขาที่ขาดแคลน เช่น สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ทันตแพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ ประเทศโปรตุเกส ในแรงงานเกษตรกรรมและงานร้านอาหาร และประเทศออสเตรเลีย พร้อมรับพ่อครัวคนไทยที่มีประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)” นายไพโรจน์ กล่าว

อธิบดี กกจ. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กกจ.สนับสนุนให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด เพื่อให้แรงงานไทยมีรายได้และโอกาสทำงานเพิ่มขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์ สั่งสมประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ โดยจากนี้ กระทรวงแรงงานจะต้องหารือร่วมกับหลายฝ่ายทั้งนายจ้างในต่างประเทศ ประเทศปลายทาง ภาคเอกชนในประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบ สัญญาจ้างงานของประเทศไทย และประเทศปลายทาง ตลอดจนวิธีการและขั้นตอนการนำแรงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการจ้างแรงงานไทย ซึ่งหากส่งแรงงานไทยทำงานต่างประเทศได้ 100,000 คน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นอกจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยทั้งหมดให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ 100,000 ครอบครัว ของแรงงานมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตตามไปด้วย

“สำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/9/2566

เปิดเงื่อนไข สปส.ให้สิทธิ 'ผู้ประกันตนชาย' ม.33-ม.39 'เบิกค่าคลอดบุตร' ได้

กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ให้ความไว้วางใจให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) โดยหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อย รมว.พิพัฒน์ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้สิทธิ "ผู้ประกันตนชาย" สามารถ "เบิกค่าคลอดบุตร" ได้

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน อธิบายในเรื่องนี้ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.)มีนโยบายสำคัญในการเสริมสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อลดภาระหนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และเติมทุน สร้างสุขให้แรงงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้ประกันตนมีภาระค่าใช้จ่าย

โดยเฉพาะ "ผู้ประกันตนชาย" ที่ภรรยามีบุตร ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ทำให้สถานะทางการเงินในครอบครัวได้รับผลกระทบนั้น สำนักงานประกันสังคม เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้ให้ ผู้ประกันตนชายที่ภรรยาคลอดบุตรสามารถขอรับสิทธิได้

ตั้งแต่ค่าตรวจและฝากครรภ์ คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรได้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายโดยผู้ประกันตนหญิง หรือชายซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้าของครอบครัว ที่ต้องดูแลลูก

โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้สิทธิผู้ประกันตนชาย มาตรา 33 และมาตรา 39 ในกรณีที่ภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ผู้ประกันตนชายสามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม แบ่งเป็น 3 กรณีตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

1. กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ ผู้ประกันตนชายสามารถเบิกเท่าที่จ่ายจริงจำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ดังนี้

อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท

อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

ทั้งนี้ผู้ประกันตนชาย มาตรา 33 และมาตรา 39 ในกรณีที่ภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ผู้ประกันตนชายสามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคมได้ แต่ต้องแนบเอกสารประกอบการเบิกค่าคลอดบุตร ดังนี้

ใบรับรองแพทย์

หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก

ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่ตรวจและฝากครรภ์

สำเนาทะเบียนสมรส

สำหรับกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีใบทะเบียนสมรส ยื่นกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อใช้สิทธิด้วย

2. ผู้ประกันตนชายมาตรา 33 มาตรา 39 สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร จะต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวล 15 เดือน ก่อนเดือนที่ภรรยาคลอดบุตร จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอด จำนวน 15,000 บาท เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

3. ผู้ประกันตนชายที่จดทะเบียนสมรสกับภรรยาหรือจดทะเบียนรับรองบุตรว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ผู้ประกันตนชายสามารถขอรับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตรได้เดือนละ 800 บาท ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ อีกด้วย

ผู้ประกันตน สามารถขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านระบบ e-self service และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ คอดบุตร สงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่นสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: คมชัดลึก, 19/9/2566

ครม.ตั้ง 'ไพโรจน์ โชติกเสถียร' นั่งปลัดแรงงานคนใหม่

18 ก.ย. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ครม. มีมติแต่งตั้งนายไพโรจน์ โชติกเสถียร จากอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ แทนนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือน ก.ย. นี้

ที่มา: เดลินิวส์, 18/9/2566

สั่งตรวจสอบปมดราม่า หนุ่มลาบวชหน้าไฟถูกไล่ออก

จากกรณีมีพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ถึงหัวหน้างาน เพื่อขอลางานไปบวชหน้าไฟให้กับยายที่เสียชีวิตกะทันหัน เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งหัวหน้างานตอบกลับมาว่า "ตามสบาย" ทำให้พนักงานคนดังกล่าวเข้าใจว่า หัวหน้างานรับทราบและอนุญาตให้ลางานแล้ว แต่ภายหลังปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งว่าเจ้าตัวถูกไล่ออกจากงาน ทำให้พนักงานคนดังกล่าวนำข้อความดังกล่าวโพสต์ลงโซเชียล จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถาม นายนิสัย สุขระ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวตนได้รับทราบจากสื่อต่างๆ ซึ่งเช้าวันนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน เดินทางไปตรวจสอบที่โรงงานดังกล่าว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แล้ว เพื่อพบผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ในการขอข้อมูลและให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทราบว่าตัวพนักงานเองก็กำลังบวชอยู่ จึงยังไม่ได้เข้าไปทำงาน แต่เท่าที่ทราบเบื้องต้นพนักงานคนดังกล่าวเพิ่งทำงานได้เพียง 1 เดือน และเป็นพนักงานที่ซับคอนแทรค หรือบริษัทรับจ้างเหมาแรงงานหามาให้โรงงานอีกที จึงยังไม่แน่ใจว่าข้อความที่ส่งไปลากิจนั้น ลางานกับใคร และใครเป็นผู้บอกเลิกจ้างงาน ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน หรือบริษัทซับคอนแทรค ก็ต้องทำตามกฎระเบียบของกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ในการลากิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างในวันที่ลากิจธุระ เท่ากับวันทำงานปกติได้ปีละไม่เกิน 3 วันทำงาน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/9/2566

สมาคมโรงแรมไทย ขอปลดล็อกแรงงานต่างชาติ แก้ปัญหาขาดแคลน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เผยว่า ได้นำเสนอแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะสั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ให้รัฐบาลพิจารณา รวมถึงแนวทางในการช่วยเหลือภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงอยากเรียกร้องให้เพิ่มแรงงานต่างชาติ ผ่านการทำ MOU ให้หลากหลายประเทศมากขึ้น

โดยเฉพาะแรงงานจาก ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี และมีค่าแรงไม่สูงเกินไป และอยากให้ขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวจาก 30 วัน เป็น 45 วัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนในประเทศ อยากให้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่พักไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี

ที่มา: ข่าวเด็ด 7 สี, 18/9/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net