Skip to main content
sharethis

การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของธุรกิจค้าปลีก ทำห้างสรรพสินค้าในจีนทยอยปิดตัว สร้างแรงกระเพื่อมให้คนทำงานประท้วงเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย เงินชดเชยเลิกจ้าง รวมถึงการที่บริษัทไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


ที่มาภาพ: B.Zhou (อ้างใน China Labour Bulletin)

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน เปิดเผยว่าพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมทั่วโลก ทั้งนี้ประเทศจีนถือเป็นผู้นำในด้านธุรกรรมไร้เงินสดและการช้อปปิ้งออนไลน์มาอย่างยาวนาน การซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย การขายของผ่านการไลฟ์สด และเทรนด์การค้าขายออนไลน์แบบอื่นๆ ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมี Alibaba, JD.com และ Pinduoduo (ซึ่งเป็นเจ้าของ Temu) เป็นเพียงผู้เล่นรายใหญ่ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้

ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมต้องดิ้นรนในสภาพแวดล้อมอีคอมเมิร์ซนี้ ตัวอย่างเช่น คนทำงานในห้างสรรพสินค้า Carrefour และ BBK (Better Life Commercial) ได้ออกมาประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากการปิดห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในปี 2023 

Suning ผู้ค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อตั้งเมื่อปี 1990 เป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่มีหน้าร้านจริง ในปี 2019 Suning ซื้อได้หุ้น 80% เฉพาะการดำเนินการในจีนของ Carrefour ห้างสรรพสินค้าสัญชาติฝรั่งเศส โดยหวังว่าจะพลิกฟื้นธุรกิจได้ แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Carrefour ในจีนไม่เพียงต้องดิ้นรนเท่านั้น Suning ก็ยังเผชิญปัญหาด้านการเงินด้วยเช่นกัน

Carrefour เริ่มดำเนินการในจีนในปี 1995 ในปี 2017 Carrefour มีห้างสรรพสินค้า 295 แห่งในจีน และจำนวนดังกล่าวลดลงเหลือ 205 แห่งในปี 2021 จากรายงานราย 6 เดือนแรกปี 2023 ของ Suning แสดงให้เห็นว่า Carrefour 106 แห่งปิดทำการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เหลือเพียง 41 แห่ง เท่านั้นที่ยังเปิดดำเนินการในจีน

เนื่องจากห้างสรรพสินค้าหลายแห่งปิดตัวลง Carrefour จึงประสบปัญหาในการรักษาข้อตกลงกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ และคนทำงาน ตัวอย่างเช่น ลูกค้าไม่สามารถใช้บัตรสะสมคะแนนที่เก็บไว้ได้ เวลาเปิดทำการสั้นลง และสินค้ามักหมดสต็อกจนเหลือชั้นวางว่างๆ เนื่องมาจากการค้างชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ นอกจากนี้พนักงาน Carrefour ได้ออกมาประท้วงที่ห้างสรรพสินค้าและสำนักงานทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการ และเงินชดเชย

คนทำงานประท้วงที่ Carrefour 10 แห่ง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา


ที่มาภาพ: CLB Strike Map

ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2022 มีการประท้วงของพนักงานอย่างน้อย 10 คน ที่ Carrefour โดยเกี่ยวข้องกับการปิดห้างสรรพสินค้าและไม่ได้รับค่าจ้าง


ที่มาภาพ: CLB Strike Map

การประท้วงล่าสุดเกิดขึ้นในฉงชิ่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2023 มีการโพสต์วิดีโอออนไลน์ที่พนักงานหญิงหลายสิบคนประท้วงที่สำนักงาน Suning-Carrefour โดยชูกระดาษที่มีถ้อยคำว่า "Suning-Carrefour เอาเงินที่หามาอย่างยากลำบากของเราคืนมา!"

นี่คือแผนการหลบหนีมาโดยตลอดใช่หรือไม่

ตามที่บันทึกไว้ใน Strike Map ของ CLB พนักงานรายหนึ่งในฉงชิ่งเขียนข้อความออนไลน์ว่า:

"มันน่าหดหู่มาก ฉันทำงานที่นี่มาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเรียกคืนสิ่งที่เป็นของฉันได้"

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2022 พนักงานของ Carrefour ในเฉิงตู มณฑลเสฉวน เขียนข้อความทางออนไลน์ว่าหลังจากที่ Suning และ Carrefour เจรจาข้อตกลงเลิกจ้างกับพนักงาน พวกเขาก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย ข้อตกลงที่ลงนามระบุว่าพนักงานจะได้รับค่าจ้าง 4 งวดในช่วงระยะเวลา 4 เดือน แต่พนักงานระบุว่าบริษัทได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเพียงฝ่ายเดียว

ในวันเดียวกันนั้นที่เมืองเหอเฟย มณฑลอันฮุย พนักงานของ Carrefour ได้ชูป้ายหน้าห้างสรรพสินค้าเพื่อเรียกร้องค่าจ้างด้วยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2023 ห้างสรรพสินค้า Carrefour ในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ปิดตัวลง มีป้ายติดหน้าประตูระบุว่าบริษัทผิดสัญญาเช่า

พนักงานในเสิ่นหยางร้องเรียนว่าบริษัทไม่ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน ในส่วนของเงินชดเชยการเลิกจ้างและค่าชดเชยการเลิกจ้าง บริษัทจะจ่ายเป็นงวดๆ ภายใน 12 เดือน แทนที่จะเป็นเงินก้อน


ที่มาภาพ: CLB Strike Map

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2023 พนักงานที่ห้างสรรพสินค้า Carrefour ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง เดินขบวนภายในห้างสรรพสินค้าเพื่อประท้วงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมาย"

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2023 พนักงาน Carrefour มากกว่าหนึ่งร้อยคนรวมตัวกันที่เมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง วิดีโอออนไลน์แสดงให้เห็นว่าคนทำงานกำลังเจรจากับหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่พบว่าตัวแทนบริษัทเข้าร่วมการเจรจาด้วย

พนักงานคนหนึ่งเขียนข้อความออนไลน์ว่า “นี่คือแผนการหลบหนีมาโดยตลอดใช่หรือไม่”

เขายังเปิดเผยว่าพนักงานในเสิ่นหยางและเฉิงตู ก็ได้รับข้อเสนอจ่ายเงินชดเชยเป็นงวดๆ ด้วยเช่นกัน:

"การจ่ายค่าชดเชย 12 งวดมีเหตุผลสมควรอย่างไร แล้วเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราล่ะ การหักเงินเราไปแล้วไม่จ่ายเข้ากองทุนถือเป็นการละเมิดกฎหมาย ฉันมาทำงานมาโดยตลอด ตอกบัตรเข้าและออกงาน ไม่เคยมาสายหรือออกก่อนเวลา แล้วทำไมพวกเขาถึงไม่จ่ายค่าประกันสังคม"

CLB ประเมินว่าหากมีการปิดห้างสรรพสินค้า ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตเพียง 1 แห่ง ก็จะกระทบคนทำงานมากกว่า 100 คน การลดลงของห้างสรรพสินค้า Carrefour ในจีน ส่งผลให้สิทธิของคนทำงานหลายพันคนได้รับผลกระทบ

เนื่องจากบริษัทค้างจ่ายค่าจ้าง เงินประกันสังคม และสิทธิประโยชน์บังคับอื่นๆ เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายให้พนักงาน ทั้งหมดนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของจีนอย่างร้ายแรง.


ที่มา:
Decline of traditional supermarkets linked to worker protests across China (China Labour Bulletin, 26 September 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net