Skip to main content
sharethis

ชาวเมียนมา จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ จุดเทียนไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตในเหตุระเบิดค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน รัฐกะฉิ่น ขอให้รัฐบาลไทย และยูเอ็น ขึ้นบัญชีดำ 'มินอ่องหล่าย' เป็นอาชญากรสงคราม

 

11 ต.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (11 ต.ค.) ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการสังและเศรษฐกิจ แห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) ประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อเวลา 17.00 น. กลุ่ม Bright Future ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติเมียนมาในประเทศไทย นัดรวมตัวกัน เพื่อไว้อาลัยแก่ชาวเมียนมาผู้เสียชีวิต 29 ราย จากเหตุระเบิดที่ค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกะฉิ่น ติดชายแดนเมียนมา-จีน เมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา 

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์สุรัช กีรี ผู้นำ Bright Future กล่าวว่า เหตุระเบิดที่ค่าย IDP รัฐกะฉิ่น นั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมถึงเด็กและเยาวชน เสียชีวิต ก็เลยมาแสดงไว้อาลัย ต่อหน้าสหประชาชาติ และอยากให้สหประชาชาติรับรู้ และลงโทษอย่างสาสม 

สุรัช กีรี

สุรัช กล่าวถึงกรณี พลตรี ซอมินทุน โฆษก SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ) ออกมาปฏิเสธ ว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในค่าย IDP รัฐกะฉิ่นนั้น เขาไม่เชื่อเลย เพราะว่ากองทัพไม่เคยพูดจริง และเขาเชื่อว่ากองทัพพม่า อยู่เบื้องหลัง 100% หนีไม่พ้น นอกจากมินอ่องหล่าย ไม่มีแล้วในพม่า

สุรัช จะมีการทำพิธีไว้อาลัย จุดเทียนร้องเพลง และมีการอ่านรายชื่อของผู้เสียชีวิต และมีแถลงการณ์จากทั้งรัฐบาล NUG และของเราเอง

แกนนำ Bright Future ระบุว่าสำหรับข้อเรียกร้องนั้น เขาอยากให้รัฐบาล ไทย รัฐบาลใรอาเซียน และ UN กดดันรัฐบาล SAC ให้มากกว่านี้ ลงโทษรัฐบาล SAC ให้สาสม ขึ้นบัญชีดำเป็นอาชญากรสงคราม 

"สถานการณ์เมียนมายิ่งแย่กว่าเดิม ถ้าปล่อยมินอ่องหล่าย ต่อไป คนในพม่าจะไม่เหลืออะไรเลย และอยากให้รัฐบาลไทย อยากให้เขาทำมากกว่านี้หน่อย แน่นอนว่าเขามีธุรกิจร่วมกัน แต่ผมอยากให้รัฐบาลไทยอยู่ฝั่งแรงงานเมียนมามากกว่า เพราะเรามาช่วยสร้างประเทศให้คุณ" สุรัช ทิ้งท้าย

บรรยากาศการทำกิจกรรมเมื่อเวลา 17.44 น. มีชาวเมียนมาบางส่วนนำโปสเตอร์ปรากฏข้อความว่า "This the time for UN to End its circles of Failure in Myanmar" และนำภาพวาดที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ระเบิดในกะฉิ่นมาถือ

โปสเตอร์สะท้อนเหตุระเบิดในรัฐกะฉิ่น

หญิงรายหนึ่ง ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อ และเป็นเจ้าของภาพวาดเกี่ยวกับเหตุที่รัฐกะฉิ่น บอกกับเราว่า เธออยากเรียกร้องให้ UN ทำอะไรบ้างในวิกฤตเมียนมา เนื่องจากผ่านมาแล้ว 2 ปี 8 เดือน แต่กองทัพเมียนมา ยังคงเข่นฆ่าประชาชนอยู่ต่อเนื่อง 

เธออยากเรียกร้องให้ UN ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำ หรือยา ส่งเข้าไปช่วยชาวเมียนมา

เวลา 18.04 น. ผู้เข้าร่วมได้เริ่มจุดเทียน และยื่นสงบนิ่งไว้อาลัย ต่อจากนั้น สุรัช แกนนำ Bright Future ได้อ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในรัฐกะฉิ่น จำนวน 29 รายชื่อ บางรายชื่ออายุไม่เกิน 16 ปี หรือบางรายอายุเพียง 3 ปีเท่านั้น

หลังจากนั้น ได้มีการชวนผู้ที่มาร่วมพิธีร่วมร้องเพลง "กะบ่ามาเจะบู" ซึ่งแกนนำ Bright Future ระบุว่า แปลว่า เราจะไม่มีวันให้อภัย และจากนั้น จะเป็นการอ่านแถลงการณ์ทั้งภาษาพม่า ซึ่งเป็นแถลงการณ์จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG และฉบับภาษาไทยของ Bright Future 

จากนั้น แกนนำการชุมนุมได้ประกาศยุติกิจกรรมเมื่อเวลาประมาณ 18.28 น. 

วานนี้ (9 ต.ค.) พันเอก หน่อบุ โฆษก KIO หรือองค์การปลดปล่อยกะฉิ่น ระบุเมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนอย่างน้อย 29 ราย โดยเป็นเด็กจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุเพียง 1 ขวบครึ่ง จำนวน 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 57 ราย จากเหตุระเบิดในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกะฉิ่น ติดกับชายแดนเมียนมา-จีน

"มีผู้เสียชีวิตชาย 14 ราย และผู้หญิง 15 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของเมียนมา ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี จำนวน 11 ราย" โฆษกของ KIO ให้สัมภาษณ์อิรวดี เมื่อ 10 ต.ค. 2566

หลังจากนี้ ผู้เสียชีวิตอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมีการเคลียร์พื้นที่ และยกซากปรักหักพังออกไป

สำหรับเหตุระเบิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนไม่นานของวันที่ 9 ต.ค. 2566 ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้พลัดถิ่นภายในนับร้อยราย โดยค่ายฯ ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน "โหม่งไหล่แขต" ซึ่งอยู่ห่างจากทางตอนเหนือของเมืองไลซา เป็นระยะทาง 2 ไมล์ โดยเมืองไลซา เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) หรือกองกำลังอิสรภาพกะฉิ่น (KIA) ซึ่งเป็นปีกทางการทหารของ KIO

นอกจากนี้ ค่ายดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองของ KIO หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิการปกครองตนเองมาหลายทศวรรษ และกลับมาสู้กับกองทัพเมียนมา หลังทำรัฐประหารครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเรื่องเหตุระเบิดว่ามาจากการยิงปืนใหญ่ หรือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ/โดรน จากฝั่งกองทัพเมียนมา

ด้านโฆษก KIA กล่าวว่า KIA กำลังสอบสวนเหตุระเบิดดังกล่าว เนื่องจากไม่มีใครได้ยินเสียงเครื่องบินตอนเกิดเหตุระเบิด ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า กองทัพเมียนมาอาจใช้โดรนในโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net