Skip to main content
sharethis

แรงงานเมียนมาในไทยนัดชุมนุมหน้าสถานทูต เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เรียกร้องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน-ช่วยดำเนินคดีนายจ้างทุจริตหลอกลวงลูกจ้างต่างชาติ ประกาศให้โลกรับรู้ว่าชาวพม่ายังคงสู้กับเผด็จการ พร้อมฝากข้อความถึง 'ประยุทธ์' ให้เลิกคบ 'มินอ่องหล่าย'

 

19 ธ.ค. 2565 เว็บไซต์ 'มติชน ออนไลน์' รายงานวันนี้ (19 ธ.ค.) กลุ่ม ‘Bright Future’ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติพม่าที่อาศัยในไทย นัดชุมนุมหน้าสถานทูตพม่า ถนนสาทร ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 

ผู้สื่อข่าวมติชน รายงานบรรยากาศหน้าสถานทูตพม่า มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหลายร้อยคน เพื่อเรียกร้องให้นายทุนเผด็จการร่วมรับผิดชอบสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา โดยผู้ชุมนุมส่วนมากสวมใส่เสื้อยืดสีขาว โพกผ้าสีแดงบนศรีษะ มีข้อความ อาทิ NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ถือภาพอองซานซูตี บางรายถือธงสัญลักษณ์กลุ่ม ‘Bright future’ และธงชาติสหภาพพม่า ปี 2517

ทั้งนี้ แกนนำได้ปราศรัยด้วยภาษาเมียนมา พร้อมอ่านแถลงการณ์ พร้อมกล่าวประณาม พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า และผู้นำการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2565 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา โดยผู้ชุมนุมร่วมชู 3 นิ้ว และปรบมือเป็นระยะ ในตอนหนึ่งมีการเปิดคลิปเสียง NY AR ผ่านลำโพง รวมถึงมีการร่วมกันร้องเพลง และเรียกร้องสิทธิแรงงานไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องทางการเมือง ก่อนประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. 

บรรยากาศการชุมนุมหน้าสถานทูตพม่า เมื่อ 19 ธ.ค. 2565 (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่ม ฺBright Future นั้นมีทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ทางการไทยต้องเอาจริงกับนายจ้างที่ทุจริตหลอกลวงแรงงานข้ามชาติ ตำรวจต้องจัดการกับขบวนการข่มขู่เรียกรับส่วยกับแรงงานข้ามชาติ 

2. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องมีการช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหาทนายให้ในการฟ้องร้อง พนักงานตรวจแรงงานต้องให้ข้อมูลกับแรงงานอย่างครบถ้วนเพื่อให้แรงงานสามารถเรียกสิทธิประโยชน์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ รวมไปถึงการจัดให้มีการช่วยเหลือค่าเดินทางเพื่อให้คนทำงานได้เข้าถึงกลไกกฎหมายแรงงานได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้รับสิทธิแรงงานกับผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงประกันสังคมและเงินบำนาญตามการคุ้มครองตามกฎหมายไทยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

3. ในระยะยาวนั้น กรมจัดหางานต้องแก้ไขปัญหาการหลอกลวงไปค้ามนุษย์ด้วยการทำสัญญาจ้างแบบรัฐต่อรัฐ ยกเลิกระบบนายหน้าเอกชนพร้อมจัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา ทำระบบการร้องเรียนแบบที่เดียวจบ หรือ One Stop Service โดยไม่ผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินเรื่องไปกระทรวงต่างๆ หลายแห่งหลายครั้ง เร่งทำกระบวนการทำเอกสารให้เรียบง่าย ค่าธรรมเนียมย่อมเยา ทำบริการของรัฐให้เข้าถึงได้จริง

4. เอกสารที่จำเป็นต่อการจ้างงานแรงงานข้ามชาติไม่ควรต้องรวมพาสปอร์ตด้วยเนื่องจากการแสดงตนซ้ำซ้อนกับเอกสารอื่นๆ อย่างใบอนุญาตทำงาน นับเป็นการสร้างอุปสรรคทางเอกสารโดยไม่จำเป็น สถานทูตต่างๆ จะต้องมีค่าธรรมเนียมที่โปร่งใสและย่อมเยา ช่วยให้แรงงานเข้าถึงและดำรงสถานะถูกต้องตามกฎหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายได้อย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย

สำหรับการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายยืนกระจายกำลังเฝ้าสังเกตการณ์รอบบริเวณสถานทูตเมียนมา โดยกั้นรั้วเหล็กเป็นแนวหน้าสถานทูต และวางกรวยจราจรกินพื้นที่ถนน 1 เลน

สุรัช กีรี สมาชิกกลุ่ม Bright Future ซึ่งเป็นการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติเมียนมาในไทย และรณรงค์ช่วยเหลือด้านสิทธิแรงงานเมียนมาในไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หลังเสร็จสิ้นการชุมนุมวันนี้ (19 ธ.ค.) ว่านอกจากการเรียกร้องด้านสิทธิแรงงานหลายประการแล้ว เขาต้องการส่งเสียงไปนานาชาติว่าคนพม่ายังคงต่อสู้กับเผด็จการที่ประเทศบ้านเกิด

สุรัช กีรี สมาชิกกลุ่ม Bright Future (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

"เราอยากชุมนุมเพื่อบอกโลกว่า ยังสู้อยู่นะ ชาวพม่ายังสู้ (เผด็จการ) อยู่ ยังต้องการประชาธิปไตยอยู่ และไม่ต้องการสถานทูตพม่า ให้สถานทูตพม่าออกจากประเทศไทย" สุรัช กล่าว

สมาชิก Bright Future ระบุต่อว่า ขณะที่ตำรวจ สน.ยานนาวา มีการมาคุยกับผู้ชุมนุมว่าทางแรงงานข้ามชาติไม่มีการขออนุญาตชุมนุม แต่ไม่ได้มีการคุกคามใดๆ

เมื่อสอบถามถึงข้อเรียกร้องอื่นๆ ถึงทางการไทย สุรัช ระบุว่า อยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยว่าอย่าไปคบมินอ่องหล่ายเลย มาดูแลคนพม่าที่สร้างชาติให้ประเทศไทยดีกว่า 

รายละเอียดแถลงการณ์

เนื่องว่าในวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีนับเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล หรือ International Migrants Day ตามประกาศ องค์การสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทั่วโลกได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ พวกเราจึงขอยืนยันในข้อเรียกร้องดังนี้

  1. ให้ตำรวจไทยดำเนินคดีกับบริษัทนายหน้าผู้ทุจริตหลอกลวงตามกฎหมายอาญามาตรา 344 อย่างตรงไปตรงมา และกระทรวงแรงงานต้องเข้าช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อโดยเร็ว รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องไม่ปล่อยให้มีขบวนการข่มขู่แรงงานด้วยกฎหมายเพื่อทำการเก็บส่วย กระทำการนอกเหนือจากหน้าที่ และความถูกต้องในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใต้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่
  2. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องมีการช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหาทนายให้ในการฟ้องร้อง พนักงานตรวจแรงงานต้องให้ข้อมูลกับแรงงานอย่างครบถ้วนเพื่อให้แรงงานสามารถเรียกสิทธิประโยชน์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ รวมไปถึงการจัดให้มีการช่วยเหลือค่าเดินทางเพื่อให้คนทำงานได้เข้าถึงกลไกกฎหมายแรงงานได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้รับสิทธิแรงงานกับผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงประกันสังคมและเงินบำนาญตามการคุ้มครองตามกฎหมายไทยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
  3. ในระยะยาวนั้น กรมจัดหางานต้องแก้ไขปัญหาการหลอกลวงไปค้ามนุษย์ด้วยการทำสัญญาจ้างแบบรัฐต่อรัฐ ยกเลิกระบบนายหน้าเอกชนพร้อมจัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา ทำระบบการร้องเรียนแบบที่เดียวจบ หรือ One Stop Service โดยไม่ผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินเรื่องไปกระทรวงต่างๆ หลายแห่งหลายครั้ง เร่งทำกระบวนการทำเอกสารให้เรียบง่าย ค่าธรรมเนียมย่อมเยา ทำบริการของรัฐให้เข้าถึงได้จริง
  4. เอกสารที่จำเป็นต่อการจ้างงานแรงงานข้ามชาติไม่ควรต้องรวมพาสปอร์ตด้วยเนื่องจากการแสดงตนซ้ำซ้อนกับเอกสารอื่นๆ อย่างใบอนุญาตทำงาน นับเป็นการสร้างอุปสรรคทางเอกสารโดยไม่จำเป็น สถานทูตต่างๆ จะต้องมีค่าธรรมเนียมที่โปร่งใสและย่อมเยา ช่วยให้แรงงานเข้าถึงและดำรงสถานะถูกต้องตามกฎหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายได้อย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย

สุดท้ายนี้ พวกเราจากกลุ่ม Bright Future ขอเรียกร้องให้เราทุกคนตั้งแต่ในภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงเพื่อนประชาชนทุกหนแห่ง ใช้หลักการสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง มิใช่ความเชื่อในลัทธิชาตินิยม มองคนให้เท่ากับคนและสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่าเราล้วนต่างคือพี่น้องในวังวนการดิ้นรนทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพเฉกเช่นเดียวกัน และเราจะไม่มีวันหลุดพ้นจากปัญหาเดิม ๆ หากเราไม่ผนึกกำลังแล้วร่วมมือกันแก้ปัญหาของคน 99% ไปด้วยกัน เพื่อที่สักวันหนึ่งเส้นพรมแดนจะต้องไม่ขวางกั้่นความมั่นคงในปากท้องของคนทำงาน

ภาพบรรยากาศการชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net