Skip to main content
sharethis

ในวาระครบรอบ 35 ปี การประท้วง 8888 ของเมียนมา ชาวเมียนมาในประเทศไทยรวมตัวยื่นหนังสือถึง 'โจ ไบเดน' ปธน.สหรัฐฯ ให้ช่วยกดดันกองทัพเมียนมาทุกช่องทาง ขอให้เร่งใช้กฎหมาย 'BURMA Act' คว่ำบาตรธุรกิจกองทัพเมียนมา ผู้มีส่วนร่วมทำรัฐประหาร

8 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (8 ส.ค.) ที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 10.58 น. เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี เหตุการณ์ประท้วง '8888' ของเมียนมา ชาวเมียนมาในประเทศไทย กลุ่ม "Bright Future" ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานของชาวเมียนมาในประเทศไทย รวมตัวเพื่อรอยื่นหนังสือถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้กดดันกองทัพเมียนมาทุกช่องทาง เพื่อให้มีการปล่อยตัว อองซานซูจี และนักโทษการเมืองทุกคน เร่งบังคับใช้กฎหมาย 'BURMA Act' คว่ำบาตรธุรกิจของเครือข่ายกองทัพเมียนมา และเรียกร้องให้สหรัํฐฯ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการรัฐประหารทุกคน โดยวันนี้ มีเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ มารับหนังสือ พร้อมกับแจ้งว่าจะนำข้อเรียกร้องของชาวเมียนมาเสนอต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่อไป

ชาวเมียนมายื่นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ (ถ่ายโดย แมวเล้า)

สำหรับเหตุการณ์ 8888 เป็นการประท้วงต่อเนื่องของประชาชนพม่า นักศึกษา และพระสงฆ์ หลายแสนคนระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ย. 2531 เพื่อต่อต้านการปกครองโดยพรรคโครงการสังคมนิยม (BSPP) ของนายพลเนวิน ประธานาธิบดีในขณะนั้น โดยชนวนเหตุของความไม่พอใจมาจากการบริหารประเทศอันล้มเหลว ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อที่แก้ไม่ตก ความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และการกดขี่จากรัฐบาลทหาร 

แม้ว่าสุดท้าย การประท้วงจะยุติลงเมื่อ 18 ก.ย.ในปีเดียวกัน หลังการทำรัฐประหารของนายพล ซอหม่อง และคณะทหาร ที่ชื่อ "สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ" (SLORC) แต่ตลอดช่วงที่มีการประท้วงของประชาชน ราว 7 เดือน กองทัพพม่าได้ใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของประชาชน ซึ่งรายงานจากฮิวแมนไรท์วอต์ช ระบุด้วยว่า กองทัพพม่าใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่ประชาชน จนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 3,000 คน ตามข้อมูลของสำนักข่าวสัญชาติอังกฤษ 'บีบีซี' ขณะที่ตัวเลขทางการพม่า เผยว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 350 คน

รายละเอียดหนังสือฉบับภาษาไทย

เรียน ประธานาธิบดี Joseph R. Biden

ในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 นักศึกษาและประชาชนชาวเมียนมาจำนวนหลายล้านคนจากหลากหลายสาขาอาชีพและวิถีชีวิตได้ลุกขึ้นสู้กับรัฐเผด็จการทหารนำโดยเนวี่น พ่อแม่ของเราเผชิญหน้ากับกระบอกปืนของตัดมาดอว์และล้มตายลงในนามของประชาธิปไตยและเสรีภาพของปวงชน ในวันนี้เผด็จการมิน อ่อง หล่าย ได้พาประเทศของเราวนมาถึงจุดเดิมอีกครั้งด้วยการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพรรค National League for Democracy และนั่นหมายความว่าพวกเราต้องลุกขึ้นสู้กันอีกครั้ง

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธีและการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศ Civil Disobedience Movement หรือ CDM จนต่อมาเกิดรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน People's Defense Force หรือ PDF ขึ้นมาเพื่อยกระดับการต่อต้านพวกของมิน อ่อง หล่าย ที่คุมขังนักโทษการเมืองกว่า 23,000 คน ใช้อาวุธปืนไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ เข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 3,728 คน และก่อให้ต้องมีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน

ในฐานะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย พวกเรามีความคาดหวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาลใต้การนำของประธานาธิบดี Joseph R. Biden จะให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมียนมาผ่านการดำเนินการตามข้อเสนอของเราดังนี้

ข้อที่ 1: ให้สหรัฐฯ กดดันรัฐบาลเมียนมาให้ปล่อยตัวอองซานซูจี และนักโทษการเมืองทุกคน

ข้อที่ 2: ให้สหรัฐฯ ใช้กฎหมาย BURMA Act เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทหารเมียนมาและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเผด็จการเมียนมา

ข้อที่ 3: ให้สหรัฐฯ สนับสนุนการให้ความเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย โดยเฉพาะในรัฐคะยาที่มีคนรอการช่วยเหลือจำนวนมาก

สุดท้ายนี้ เราหวังให้ประชาคมโลกร่วมกันยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน ยุติสงครามในเมียนมาและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เบิกบานยั่งยืนก่อนที่จะเกิดความสูญเสียของชีวิตประชาชนไปมากกว่านี้

อำนาจจงเป็นของประชาชน
 - Bright Future
8 สิงหาคม 2023

หลังยื่นหนังสือ สุรัช กีรี แกนนำกลุ่ม Bright Future และเป็นผู้นัดหมายทำกิจกรรม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ เปิดเผยว่า บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปโดยราบรื่น และไม่มีปัญหาอะไร

สุรัช กีรี (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

สุรัช กล่าวต่อว่า ที่มายื่นหนังสือนี้อยากให้สหรัฐอเมริกากดดันกองทัพเมียนมา ให้หยุดก่อการร้ายต่อประชาชนทุกช่องทาง และกดดันธุรกิจเครือข่ายของกองทัพ และใช้มาตรการทุกอย่างเท่าที่จะพอทำได้ และอยากให้สหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมาย “BURMA Act” อย่างจริงจัง 

สุรัช กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากการกดดันกองทัพเมียนมา นำโดยพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ชาวเมียนมาในไทยอยากให้สหรัฐฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในเมียนมา 

"หลักๆ อยากให้ทางสหรัฐฯ รับทราบว่าชาวพม่ามาที่สถานทูตอเมริกา ชาวพม่ายังต่อสู้อยู่นะ และ BURMA Act เป็นอย่างไรบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร กลัวจะใจเย็นเกินไป

"เราอยู่ภายใต้เผด็จการมาแล้ว 70 กว่าปี ได้เวลาที่เราต้องหลุดพ้นจากเผด็จการสักที และก็เราก็อยากให้สหรัฐฯ ช่วยประเทศพม่าด้วย เพราะสหรัฐฯ เป็นเจ้าโลกฝ่ายประชาธิปไตย อยากให้สหรัฐฯ ช่วยเต็มที่" แกนนำ Bright Future ระบุ 

เพจเฟซบุ๊กของ Ways Magazine รายงานว่า บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ ชาวเมียนมามีการนำดอกไม้มาวางหน้าป้ายสถานทูตของสหรัฐฯ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ‘8888’ ชาวเมียนมามีการร้องเพลงต่อต้านเผด็จการเป็นภาษาบ้านเกิด รวมถึงมีการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตฯ 

ชาวเมียนมาวางดอกไม้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 8888 (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี เปิดเผยสติถิ นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึงเมื่อ 7 ส.ค. 2566 มีผู้เสียชีวิตจากเงื่อมมือของกองทัพเมียนมา จำนวนสูงถึง 3,897 ราย หรือเกือบ 4 พันรายแล้ว ขณะที่มีผู้ถูกจับกุม 24,228 ราย และยังถูกควบคุมตัว 19,740 ราย

 

 

สำหรับ BURMA Act หรือกฎหมายเพื่อการสร้างพม่าให้เป็นปึกแผ่นด้วยความรับผิดชอบอย่างเข้มงวดของทหาร (The Burma Unified through Rigorous Military Accountability Act หรือ BURMA Act) ริเริ่มในสมัยของ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะมีผลต่อการกดดัน คว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง และธุรกิจเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา ผู้ก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net