Skip to main content
sharethis

ทูตปาเลสไตน์รับปาก ช่วยแรงงานไทยสุดความสามารถ หวังประชาคมโลกดึง ‘ฮามาส-อิสราเอล’ เจรจาหยุดยิง

13 ต.ค. 2566 นายวาลิต อาบู อาลี เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำประเทศไทย มาเลเซีย มัลดีฟส์ และบรูไน ได้แถลงข่าวทางไกลต่อสื่อมวลชน ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ถึงความคืบหน้าในเรื่องการสู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ฉนวนกาซา รวมถึงการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทย

เอกอัครราชทูตวาลิต กล่าวว่า ตนทราบว่ามีแรงงานไทยหลายคนถูกจับเป็นตัวประกัน แต่ตนขอให้ความมั่นใจว่า หากชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาทราบว่าแรงงานดังกล่าวเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ พวกเขาจะไม่ถูกทำร้ายอย่างแน่นอนเพราะกลุ่มฮามาสกำลังมีความขัดแย้งกับอิสราเอล ไม่ใช่กับชาติอื่นๆแต่อย่างใด ตนขอให้คำมั่นกับรัฐบาลไทยว่าตนจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องแรงงานไทย ผ่านการประสานงานกับสำนักงานต่างประเทศแห่งปาเลสไตน์

แต่ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าสถานการณ์ในฉนวนกาซาตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤตและไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ เพราะการสู้รบยังคงดำเนินอยู่ แต่ทันทีที่มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเพื่อเปิดทางให้เราติดต่อกับภายนอกได้ เราจะพยายามเหลือช่วยแรงงานไทยอย่างถึงที่สุด แต่ก็เป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะช่วยทำให้การเจรจาหยุดยิงเกิดขึ้นได้ และเพื่อให้หน่วยงานนานาชาติเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวประกัน

ส่วนในคำถามที่ว่าตอนนี้มีความหวังในการปล่อยตัวประกันแค่ไหน นายวาลิตยังกล่าวอีกว่า ตนไม่ทราบเช่นกัน เพราะไม่มีใครที่จะสามารถบอกในเรื่องข้อมูลในเรื่องนี้ได้เพราะเราไม่สามารถติดต่อไปยังฉนวนกาซาได้ ตนไม่ทราบว่ามีคนชาติใดถูกจับกุมตัวไปบ้าง อยู่ที่ใด ถูกจับเป็นจำนวนเท่าใด แต่เราจะให้ข้อมูลอย่างเร็วที่สุดทันทีที่เรามี

ผู้สื่อข่าว ถามว่าการเจรจาในเรื่องหยุดยิงมีความคืบหน้าไปแค่ไหนแล้ว นาย Walid กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณของการบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ทางปาเลสไตน์ได้ขอให้ประชาคมโลกเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงแต่ทางฝั่งอิสราเอลก็ยังคงทำการโจมตีอย่างต่อเนื่อง เมื่อการหยุดยิงเกิดขึ้นก็จะมีกระบวนการอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงการช่วยเหลือตัวประกันอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว นายวาลิตได้เรียกร้องให้มีการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เพราะการต่อสู้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทหารเพียงอย่างเดียวแต่ยังกระทบไปยังพลเรือนของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนั้นแล้วในการแถลงข่าวเดียวกัน นายรุ่งโรจน์ ซาลลี ประธานองค์กร Palestine Solidarity Campaign Thailand (PSC) ได้อ่านข้อเรียกร้องของทางองค์กรให้ทั้งสองฝ่ายคือรัฐบาลอิสราเอล และกลุ่มฮามาสได้หาทางบรรลุข้อตกลงหยุดยิง และดำเนินการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพ บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และมติของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ PSC ประเทศไทย ยังขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลอิสราเอล ให้ยุติการปิดล้อมฉนวนกาซา ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์จำนวน 2.3 ล้านคนต้องอดตาย เพื่อมนุษยธรรม

อนึ่งองค์กร PSC ประเทศไทย ประกอบไปด้วยสมาชิกหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะจากประชาคมยุโรป สหรัฐอเมริกา และคนไทยผู้รักความเป็นธรรมและยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม ซึ่งมีเครือข่ายประสานกับ PSC ในประเทศต่างๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

ทั้งนี้ PSC ประเทศไทยจะประสานไปยัง PSC ในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างฉันทามติให้เกิดสันติสุขความยุติธรรม และกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/10/2566

"แฟลช เอ็กซ์เพรส" แจงปมพนักงานแห่ลาออก รับมีพัสดุล้นคลังบางสาขา ยันมีกลุ่มคนไม่หวังดีพยายามสร้างกระแสปลุกปั่น

13 ต.ค. 2566 จากกรณีเพจสหภาพไรเดอร์ โพสต์ข้อความพนักงาน Flash ลาออกเกือบทั้งประเทศ ถูกลดค่าคอม และต้องส่งสินค้าต่อวัน 300-500 ชิ้น โดยทำงานหกโมงเช้าถึงเที่ยงคืน ไม่มีโอที จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลนั้น

ล่าสุด บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ออกหนังสือชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ยอมรับว่ามีการเพิ่มขึ้นของพัสดุล้นคลังเกิดขึ้นในบางสาขา ยืนยันไม่ใช่ทุกสาขาตามกระแสที่กล่าวอ้างว่าบริษัทกำลังเผชิญภาวะคลังแตก ซึ่งสิ่งที่เราดำเนินการแก้ไขคือการเร่งรับพนักงานเพื่อทำการเคลียร์พัสดุให้ส่งออกถึงลูกค้าโดยไว ส่วนประเด็นการลาออกของพนักงานที่มีกลุ่มคนไม่หวังดีพยายามสร้างกระแส และปลุกปั่นสังคมให้เข้าใจว่ามีการลาออกของพนักงานทั้งบริษัทฯ นับว่าไม่เป็นความจริง โดยปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีพนักงานประจำกว่า 40,000 คน ที่ยังคงทำงานอยู่ เท่ากับว่าไม่ได้มีการลาออกทั้งประเทศอย่างที่มีการกล่าวอ้างในโซเชียล

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯ พยายามไม่โต้ตอบ เพราะรู้ว่ายังมีลูกค้าจำนวนมากที่ยังเชื่อมั่น และไว้วางใจในคุณภาพของเรา บริษัทฯ อย่างไรก็ตามขอให้ลูกค้าทุกคนเชื่อมั่น และใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร อย่าหลงเชื่อกระแสสังคมที่เกิดจากกลุ่มคนที่ไม่หวังดี และไม่มีข้อมูลที่แท้จริง โดยอาศัยสถานการณ์ดังกล่าวมาเป็นช่องทางในการทำลายชื่อเสียงของบริษัทฯ

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 13/10/2566

นายกห่วงแรงงานไทย ย้ำการอพยพคนไทยในอิสราเอลสำคัญที่สุด เร่งประสานเครื่องบินจากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ว่า ชาวไทยที่อยู่ในพื้นที่อันตรายแสดงเจตจำนงในการขออพยพมาเกือบ 6,000 ราย ขณะนี้มีเที่ยวบินเที่ยวแรกมาแล้ว รัฐบาลมีความห่วงใย แต่มีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการบินเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางกองทัพอากาศเพื่อที่จะนำเครื่องบิน C-130 และแอร์บัส A-340 บินเข้าไปในพื้นที่เพื่ออพยพคนไทยกลับมาจำนวน 140 คน ซึ่งจะออกจากประเทศไทยในวันที่ 14 ต.ค. นี้

การลำเลียงคนไทยกลับมาในวันนี้ได้เพียง 20 คน เป็นจำนวนที่น้อยมาก จึงหารือร่วมกับที่ประชุมว่า ให้เตรียมเครื่องบินให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ และยังมีเครื่องบินพาณิชย์จากสายการบินนกแอร์ 2 ลำ , แอร์เอเชีย 2 ลำ ส่วนสายการบินไทยนั้นจะให้คำตอบในวันพรุ่งนี้  ซึ่งจะบินพิเศษผ่านน่านฟ้า 4 ประเทศ กระทรวงการต่างประเทศใช้เวลาในการประสานเพื่อขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าภายใน 48 ชม. ท่านทูตประจำอิสราเอลยังแจ้งเพิ่มเติมมาว่า มีความพร้อมในการลำเลียงคนไทยออกจากจุดเสี่ยงได้วันละประมาณ 200 ราย 

ส่วนการเจรจากับทางปาเลสไตน์ให้ปล่อยตัวประกันชาวไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ได้มีการเจรจาในทุกช่องทางที่สามารถเป็นไปได้ เป็นเรื่องของความมั่นคง ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด แต่ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ถึงแม้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจะค่อนข้างสูง แต่เราก็จะพยายามทำให้เรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

สำหรับการเพิ่มเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่นั้น นายกฯ กล่าวว่า หน้าที่หลักคือช่วยคนไทยออกมาเร็วที่สุด เพราะถนนหลายสายถูกปิด ต้องมีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานความมั่นคง โดยทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ทำงานอย่างเต็มที่

ในเรื่องการร้องเรียน ว่า แรงงานไทยในพื้นที่สีแดงถูกบังคับจากนายจ้างให้ทำงานท่ามกลางภัยสงคราม นั้น มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ต้องให้ความช่วยเหลือ จะมีการพูดคุยกับทางทูตอิสราเอล พร้อมย้ำว่า เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ยืนยันว่า การอพยพคนไทยออกมาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้ตัวเลขการสูญเสียจะมากที่สุดเช่นกันก็ตาม

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 11/10/2566

ก.แรงงาน ย้ำ แรงงานเปลี่ยนนายจ้างในอิสราเอลต้องเกิดจากความสมัครใจ สั่งทูตแรงงานประสานนายจ้างรับช่วงต่อต้องให้พัก 7 วันเยียวยา

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเกี่ยวกับข้อกังวลประเด็นการเปลี่ยนนายจ้างในประเทศอิสราเอล ระหว่างนายจ้างรายหนึ่งไปยังนายจ้างอีกรายหนึ่งว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอเรียนว่าใม่ใช่การค้ามนุษย์ หรือการขายแรงงาน แต่เป็นการอพยพ เคลื่อนย้าย ส่งต่อแรงงานไทยไปยังจุดที่ปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งหากอยู่กับนายจ้างรายเดิมก็จะไม่มีรายได้

เนื่องจากนายจ้างรายเดิม ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สู้รบ ดังนั้น นายจ้างจึงส่งต่อไปยังนายจ้างรายใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนนายจ้างรายใหม่ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมของลูกจ้าง และเป็นสิทธิของแรงงานที่จะไม่ทำก็ได้ และสั่งให้ทูตแรงงานแจ้งนายจ้างขอให้ลูกจ้างได้พักฟื้นสภาพจิตใจ 7 วัน ก่อนเริ่มงานใหม่เพื่อปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้กลับสู่สภาวะปกติ

โดยทางการอิสราเอล อนุญาตให้นายจ้างที่ได้รับผลกระทบสามารถส่งต่อลูกจ้างไปยังนายจ้างรายใหม่ได้ในช่วงเกิดภาวะความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จนกว่าเหตุการณ์จะสงบ โดยจุดที่นายจ้าง ส่งต่อไปลงคือจุดที่ปลอดภัยที่สุด ลูกจ้างสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ โดยอยู่ภายใต้ความยินยอมจากลูกจ้าง ซึ่งเป็นสิทธิของแรงงานที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ โดยตามข้อกำหนดบทบาทหน้าที่ของนายจ้าง

ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (TIC) ระบุหน้าที่นายจ้างไว้อย่างชัดเจนว่า กรณีที่เกิดเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในอิสราเอล ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของลูกจ้าง นายจ้างจะต้องอพยพลูกจ้างไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย และพยายามจัดหางานให้แก่ลูกจ้าง โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาฉบับที่ทำ นอกจากนี้ยังระบุว่า นายจ้างต้องจัดหาพาหนะรับส่งลูกจ้าง ในการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ดังนั้น จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน พิจารณาถึงความปลอดภัยในการออกจากที่พักของแรงงานไทยเป็นสำคัญ และขอยืนยันว่า เราคำนึงถึงประโยชน์ของแรงงานไทยสูงสุด และจะคุ้มครองแรงงานไทยให้มีความเป็นอยู่ และการจ้างงาน ที่เหมาะสม

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 12/10/2566

สปสช.ชวน “ห้องพยาบาล” ในบริษัท/โรงงาน ร่วมให้บริการป้องกันโรคกลุ่มพนักงาน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2565 แต่ที่ผ่านมาพบว่า ทั้งกลุ่มข้าราชการและผู้ประกันตนมีจำนวนการไม่เข้ารับบริการสูงถึงร้อยละ 40-45 ดังนั้น สปสช. จึงได้มีแนวทางดำเนินการเพื่อให้เกิดการเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น

“เบื้องต้น ในส่วนของผู้ประกันตน ตามกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2545 กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป มีห้องพยาบาลและมีแพทย์หรือพยาบาลคอยให้บริการ พร้อม 1 เตียง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กำหนดให้มีห้องพยาบาลในสถานประกอบกิจการที่แจ้งขอประกอบกิจการสถานพยาบาล (สพ.อ.2) เป็นสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนในลักษณะที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจกรรมสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลและไม่ต้องขำระค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อให้การจัดบริการเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ” ทพ.อรรถพร กล่าว

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ห้องพยาบาลในสถานประกอบกิจการข้างต้นนี้ มีมาตรฐานที่จะร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองฯ ให้กับพนักงาน/ลูกจ้าง ในรายการตามศักยภาพและความพร้อมจัดบริการของห้องพยาบาลได้ ดังนั้น ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้เชิญชวนให้ห้องพยาบาลในสถานประกอบการนี้สมัครร่วมเป็น “หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเภทหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” กับ สปสช. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสิทธิและบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ของกลุ่มวัยทำงานให้กับผู้ประกันตน

สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นสิทธิประโยชน์ของกลุ่มวัยทำงานนี้ มีรายการบริการที่ครอบคลุมทุกเพศ ดังนี้

ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต ได้แก่ ประเมินดัชนีมวลกาย ตรวจวัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด ประเมินภาวะเครียด-ซึมเศร้า และการให้คำปรึกษาและแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล

การตรวจเชื้อ HIV ด้วยชุดตรวจด้วยตนเองพร้อมให้คำปรึกษา บริการตรวจการตั้งครรภ์ (ตรวจปัสสาวะ,ชุดทดสอบ) บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ บริการถุงยางอนามัยพร้อมให้คำปรึกษา ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนรวมสำหรับหญิงปกติทั่วไป บริการยาเสริมธาตุเหล็ก บริการเจาะเลือดตรวจวัดระดับน้ำตาล เมื่อผลคัดกรองพบเป็นกลุ่มเสี่ยง บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และซี บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (HPV DNA test)

สำหรับในส่วนของยาคุมกำเนิดนั้น ยังครอบคลุมยาคลุมกำเนิดชนิดเม็ดสำหรับหญิงที่ให้นมบุตร และผู้ที่มีประวัติไมเกรนแบบมีออร่า ยาฉีดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน บริการใส่ห่วงอนามัย และบริการฝังยาคุมกำเนิด โดยเป็นรายการที่ต้องให้บริการโดยแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีบริการสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร.1600 ที่เป็นบริการที่ผู้ประกันตนสามารถรับบริการได้ด้วยตนเอง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในรายการบริการยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มวัยทำงานที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ได้แก่ ตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและหรือเจาะเลือดปลายนิ่วตรวจระดับน้ำตาล (FCG) และการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Thai CV score) บริการตรวจวัดคอเลสเตอรอล และ HDL และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง

“ผลที่เกิดขึ้น นอกจากเป็นการดูแลและห่วงใยต่อสุขภาพของพนักงาน/ลูกจ้าง ได้เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนแล้ว ยังลดความเสี่ยงภาวะเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคที่ตรวจคัดกรองได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงเบาหวาน/โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ขณะเดียวกันยังแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดบริการตรวจสุขภาพของสถานประกอบกิจการ โดยเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ตามรายการสิทธิประโยชน์อัตราที่กำหนด และในกรณีพนักงาน/ลูกจ้าง มีผลตรวจคัดกรองที่พบภาวะเสี่ยงหรือเจ็บป่วย ก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น ประกันสังคม เป็นต้น นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลพนักงาน/ลูกจ้างของสถานประกอบการเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานอีกด้วย” ทพ.อรรถพร กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/10/2566

แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตเพิ่มเป็น 20 ราย-ถูกจับอีก 3 ราย ยอดขอกลับเพิ่มเป็น 5,019 คน

11 ต.ค.2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลาง ร่วมกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ว่า ยังคงมีการโจมตีด้วยจรวดที่ฉนวนกาซา ทางฝ่ายอิสราเอลพยายามจะเข้าครอบครองยึดคืนพื้นที่คืน และยังคงมีการสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย ทั้งพลเรือน และทหาร ขณะที่อิสราเอลเร่งซ่อมแซมชายแดนแต่ยังคงมีผู้ก่อการที่หลบซ่อนอยู่ในอิสราเอล

“ในแง่ผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ ต้องขอแสดงความเสียใจและแจ้งเพิ่มเติม ว่า เมื่อคืนนี้ทางสถานทูตไทยในเทลอาวีฟได้รับแจ้งจากแรงงานในพื้นที่ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ โจมตีอีก 2 ราย ทำให้สถานะผู้เสียชีวิตรวมเป็น 20 คน ข้อมูลที่ได้นี้เป็นข้อมูลจากพี่น้องแรงงานในพื้นที่ ส่วนการยืนยันโดยทางการอิสราเอลนั้น จะต้องใช้เวลา ส่วนผู้บาดเจ็บได้รับรายงานว่ามีเพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม 9 ราย รวมเป็น 13 ราย และเมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมคนไทยที่โรงพยาบาล และ แรงงานในพื้นที่ ซึ่งได้พูดคุยกับแพทย์ฝากไว้ว่าหากแรงงานไทยที่รักษาตัวมีสติกลับมา ก็ขอให้แจ้งด้วย สำหรับผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน ได้รับแจ้งจากเพื่อนแรงงานด้วยกันเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 14 ราย สำหรับกรณีที่มีรายงานว่า พบแรงงานไทย 14 ราย และได้รับการปล่อยตัวนั้นจากการตรวจสอบไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่มีในตอนแรก ถือว่าแยกออกมา” นางกาญจนา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการอพยพแรงงานมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้อีกหลายร้อยคนโดยออกมาอยู่ในศูนย์พักพิง และทางทูตและข้าราชทูต ได้เข้าไปเยี่ยมเยียน ส่วนความปลอดภัยของตัวประกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่ายืนยันยากมากตอนนี้ฝ่ายฮามาส แจ้งว่าจับไปรวมทุกชาติประมาณ 150 คน และมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะกระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆไม่ได้อยู่รวมกัน และในเรื่องของความปลอดภัย 100% หรือไม่นั้น คงไม่สามารถยืนยันได้

สำหรับการอพยพคนไทยรอบแรก 15 คน จะมาถึงเมืองไทยวันที่ 12 ต.ค.เวลาประมาณ 10:35 น. โดยจะมีทีมงานไปที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และขณะนี้มีพี่น้องแรงงานที่ประสงค์จะกลับไทยเพิ่มเติมรวม 5,019 ราย และแสดงความประสงค์ไม่กลับ 61 ราย จากแรงงานทั้งหมด 30,000 กว่าราย ส่วนที่เหลืออาจจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ระหว่างการตัดสินใจและมีบางคนที่เมื่อโทรศัพท์ติดต่อกลับไป ก็เปลี่ยนใจไม่กลับเพราะมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว และขณะนี้กำลังเตรียมการจองที่นั่งบนสายการบินพาณิชย์ 18 ตุลาคม จองไว้  80 ที่นั่ง ขณะที่เครื่องของกองทัพอากาศกำลังขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆจึงต้องใช้เวลา และในพื้นที่ต้องมีการนัดหมายกับพี่น้องคนไทย

“ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าจะพยายามดำเนินการอพยพอย่างเร็วที่สุดแต่มีหลายปัจจัย เพราะประเทศที่ อพยพและสำเร็จแล้วส่วนใหญ่จะเป็นประเทศยุโรปซึ่งอยู่ใกล้ ในการเดินทาง และ บางส่วนไม่ได้เป็นแรงงานในพื้นที่ที่ เกิดการสู้รบ ดังนั้นการเคลื่อนย้ายและรวมคนในที่ปลอดภัย จะสะดวกกว่า” นางกาญจนา กล่าว

ส่วนเรื่องของการเจรจากับกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกประเทศพยายามเพื่อให้ยุติความรุนแรงโดยสามารถเจรจากับชาติไหนได้ก็จะเจรจา เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น กับพลเรือนทั้งสองฝั่งทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงชาติอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบก็พยายามเจรจาและทราบว่า คนที่ถูกควบคุมตัวน่าจะกระจัดกระจาย ตามที่ต่างๆ แต่เท่าที่ทราบกลุ่มชาวต่างชาติไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย

เมื่อถามว่ามีการแจ้งว่ามีแรงงานเสียชีวิตเพิ่มเติมมากกว่านี้นั้น นางกาญจนา กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทาง สถานทูตได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลทันทีเพื่ออพยพ คนออกซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลแสดงก็ได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่งและไม่อยากให้เกิดเหตุและขอให้เข้าใจข้อจำกัดที่จะอพยพโยกย้ายออกมา แต่พยายามอย่างเต็มที่ และสำหรับน้ำดื่ม เสบียง อาหารต่างๆก็ได้ยินมาว่ามีความยากลำบาก แต่การช่วยเหลือต้องมาจากทางการอิสราเอลและ ทางทหารที่จะเข้าไปในพื้นที่ซึ่งทางการอิสราเอลก็พยายามอยู่

สำหรับกรณีที่มีภาพปรากฏว่าแรงงานถูกบังคับให้ทำงานในสภาวะสงครามว่าได้เห็นตามข่าวทางโซเชียลและทางทูตได้ประสานไปทางนายจ้างและทางการอิสราเอลที่โยกย้ายคน ไปในพื้นที่อื่น ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอล แจ้งว่าเป็นการโยกย้ายจากพื้นที่หนึ่ง ซึ่งทำงานไม่ได้ไม่ปลอดภัยมาสู่อีกพื้นที่หนึ่ง โดยเป็นการทำงานเพื่อที่จะมีรายได้แต่ก็เข้าใจถึงสภาวะความตึงเครียดความกดดันซึ่ง ทูตบอกว่าคงต้องให้เวลากับพี่น้องแรงงานด้วย ไม่ใช่ย้ายออกมาแล้วให้ทำงานทันที เพราะส่งผลต่อสภาพจิตใจ

“แต่ประเภทที่ถูกขายเป็นแรงงาน ทางทูตบอกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และเชื่อว่ากรณีนี้แรงงานมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้ หากสภาพจิตใจยังไม่พร้อม และส่วนตัวคิดว่านายจ้างไม่น่าจะบังคับให้ไปทำงานหากอยู่ในสภาวะเสี่ยง” นางกาญจนา กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 11/10/2566

เผยขนส่งชื่อดังลดค่าตอบแทนพนักงาน

จากกรณีที่เพจสหภาพไรเดอร์ โพสต์ข้อความ “พนักงาน Flash ลาออกเกือบทั้งประเทศ ถูกลดค่าลดค่าตอบแทนพนักงาน และต้องส่งสินค้าต่อวัน 300-500 ชิ้น โดยทำงานหกโมงเช้าถึงเที่ยงคืน ไม่มีโอที พนักงานบางท่านถูกลดค่าตอบแทนพนักงานจาก 8,000 บาท เหลือไม่ถึง 500 บาท” จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลนั้น

ล่าสุด แหล่งข่าวจากบริษัทขนส่งเอกชนรายนี้ ยอมรับว่า มีการปรับลดค่าตอบแทนพนักงานจริง เนื่องจากเป็นไปตามกลไลของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีการแข่งขันสูง และเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของบริษัท ประกอบกับที่ผ่านมา มีการให้ค่าตอบแทนพนักงานสูงกว่าที่อื่นๆในตลาด โดยประเด็นที่มีการระบุว่า บริษัทให้ทำงานถึง 18 ชม. และให้ส่งสินค้า 300-500 ชิ้น ไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีพัสดุตกค้างนั้นมีเพียงบางจุดเท่านั้น เนื่องจากพนักงานลาออก ซึ่งบริษัทกำลังดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 11/10/2566

สภาฯ เป็นห่วง สถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอล สส.แห่หารือ

11 ต.ค. 2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น ประธานสภาฯ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือเรื่องต่างๆ น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย หารือถึงปัญหาแรงงานได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลว่า ตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานจำนวนมาก ทั้งที่ถูกจับตัวและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบชะตาชีวิต ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ตัวเลขแรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลมากถึง 25,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มาจากภาคอีสานถึง 19,000 คน

คนไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลเป็นคนยากจน กู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งตัวเองไปประเทศกลุ่มเสี่ยง เพื่อหาเงินหารายได้กลับมาส่งเสียครอบครัวที่เมืองไทย ตนจึงอยากเรียกร้องไปยัง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

1. ช่วยสื่อสารเป็นระยะๆ ถึงมาตรการการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

2. รัฐบาลมีความช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยที่เสียชีวิต รวมถึงแรงงานที่ต้องตกงานและอพยพกลับมายังประเทศไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญครอบครัวและลดความกังวลของแรงงานไทยในอิสราเอล

ขณะที่ นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ได้แสดงความเสียใจต่อผู้ชีวิตของคนไทย ที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ตนอยากเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยรักษาความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะสถานการณ์ที่เกิดเหตุมีความสลับซับซ้อน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน พร้อมเรียกร้องให้ไทยเร่งช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมตัว และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปะทะ อย่างเร่งด่วน  และขอให้สันติภาพความสงบสุขคืนสู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไป

ด้านนายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ชัยศิริ สส.อุดรธานี พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อุดรธานีเป็นจังหวัดที่ส่งแรงงานออกไปเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีแรงงานอุดรธานีที่ยังตกค้างอยู่ที่อิสราเอลกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นแรงงานที่ไปตามระบบและถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานจึงคาดหวังว่าภาครัฐและภาคเอกชนที่ส่งแรงงานออกไป จะมีความรับผิดชอบดูแลให้ชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย

แต่น่าเศร้า เพราะ สส.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ใกล้ชิดผู้ประสบเหตุว่า ยังไม่มีหน่วยงานไหน หรือองค์การใดยื่นมือเข้าไปช่วยอย่างชัดเจน ตนจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนบริษัทจัดหางาน ถ้ามีปัญญาส่งคนเหล่านี้ไปทำงาน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นก็ต้องมีปัญญานำกลับมา ถ้าไม่มีก็ขอให้ถอดใบอนุญาตผู้ประกอบการดังกล่าว ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ก่อนจะออกไปทำงาน เป็นเกษตรกรหาเช้ากินค่ำ และไม่รู้ว่าประเทศที่ไปมีความเสี่ยงขนาดไหน แรงงานหลายคนที่ร้องเรียนเข้ามาไม่กล้ากลับ เพราะกลัวว่ากลับมาแล้วจะไม่มีงานทำมาใช้หนี้ใช้สิน

ที่มา: เนชันออนไลน์, 11/10/2566

เอกอัครราชทูตไทย ในอิสราเอล เปิดแผนพาแรงงานไทยกลับบ้าน พร้อมตอบทุกข้อสงสัย ย้ำ ดูแลทุกคนอย่างดี ขอทุกคนวิงวอนให้ภารกิจนี้เป็นไปด้วยดี

วันที่ 10 ต.ค.2566 น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เปิดเผยข้อมูลถึงพัฒนาการความคืบหน้าในเรื่องการเดินทางกลับของแรงงานไทย รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ระหว่างการแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่า อิสราเอลมีการแบ่งโซนพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับฉนวนกาซา

น.ส.พรรณนภา กล่าวต่อว่า การเข้าไปช่วยเหลือจะทำได้ทีละโซน เราได้ประสานกับทางการอิสราเอลเป็นระยะ ๆ ว่ามีคนไทยติดอยู่ในพื้นที่นี้และขอให้ช่วยนำกำลังเข้าไปอพยพคนไทยออกมา เขาก็จะจัดลำดับไปตามโซนโดยจะเข้าไปในโซนที่อันตรายที่สุดก่อน ก็อาจต้องใช้เวลาและขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจในข้อจำกัดนี้

น.ส.พรรณนภา ยังให้ข้อมูลในเรื่องการอพยพคนไทยกลับประเทศด้วยว่า ทางสถานทูตจะมีการส่งรถไปรับหรือขอให้นายจ้างพามาส่ง หรือติดต่อให้เหมารถไปรับแรงงานไทยเพื่อเดินทางมาขึ้นเครื่องบิน แรงงานหลายคนไม่มีเอกสารเดินทางซึ่งในส่วนนี้ ทางสถานทูตจะตั้งเคาน์เตอร์ที่สนามบินเพื่อออกเอกสารเดินทางให้กับแรงงานก่อนขึ้นเครื่องบิน ไม่เว้นแม้แต่แรงงานถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เราจะดูแลทุกท่านอย่างเท่าเทียมกัน แรงงานไทย 15 คนแรกจะได้กลับประเทศไทยอย่างแน่นอนเว้นเสียแต่จะมีเหตุสุดวิสัยคือสนามบินถูกปิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงงานไทยในอิสราเอลในพื้นที่และมีปัญหาในการติดต่อสื่อสารเพื่อเดินทางกลับประเทศ จะติดต่อทางสถานทูตได้อย่างไร น.ส.พรรณนภา กล่าวให้ข้อมูลว่า ทางเรามีเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน Google Form แต่หากไม่สามารถลงทะเบียนได้ก็จะมีโทรศัพท์สายด่วนที่เปิดเพื่อให้ติดต่อเข้ามา ซึ่งจะให้มีการเพิ่มคู่สายเพื่อแก้ปัญหาในการติดต่อ

น.ส.พรรณนภา กล่าวอีกว่า และสามารถส่งข้อความมาทางสถานทูตได้ซึ่งจะมีทีมที่ติดต่อกลับไปแก่คนที่ให้เบอร์เอาไว้ ต้องเรียนให้ทราบว่าตอนนี้มีแรงงานไทยหลายคนจากทั่วประเทศอิสราเอลแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย แต่จะขอส่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับประเทศก่อนและจะทยอยส่งแรงงานคนอื่น ๆ กลับ

ส่วนในคำถามที่ว่า ตอนนี้สามารถระบุพิกัดของตัวประกันชาวไทยได้แล้วหรือยัง น.ส.พรรณนภา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ เราได้สอบถามไปทางการอิสราเอลอย่างต่อเนื่องแต่ทางฝั่งนั้นก็ไม่ทราบเช่นกัน หรืออาจจะทราบแล้วแต่ยังไม่สามารถบอกได้เพราะเป็นเรื่องปฏิบัติการช่วยเหลือ

เมื่อถามถึงกรณีที่มีรายงานว่า แรงงานบางคนได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ทางโซเชียลมีเดีย และบอกว่าถูกบังคับให้ทำงานทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ยังตึงเครียด น.ส.พรรณนภา ชี้แจงว่า ได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลในเรื่องนี้แล้ว ต้องเรียนว่าอิสราเอลเป็นประเทศเล็ก ๆ เมื่อเขานำแรงงานไทยออกมาจากพื้นที่อันตรายจึงนำแรงงานของเราไปฝากไว้กับนิคมเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและถือว่าเป็นการย้ายงาน ตนได้แสดงความห่วงกังวลไปยังทางการอิสราเอลแล้ว และพยายามขอให้มีการช่วงพักเบรกก่อน โดยอิสราเอลมองว่านี่เป็นการย้ายงานเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพในประเทศต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะมีการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาเมื่อใด น.ส.พรรณนภา กล่าวว่า ทางฝั่งอิสราเอลบอกว่าขอให้ความสำคัญไปที่การช่วยเหลือผู้ที่ยังมีชีวิตที่ติดอยู่ในพื้นที่อันตรายก่อน จึงทำให้ยังไม่สามารถระบุตัวตนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการได้อย่างรวดเร็ว เมื่อครั้งเกิดเหตุความไม่สงบเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีแรงงานไทยเสียชีวิตด้วย ทางการอิสราเอลใช้เวลาในการระบุตัวตน และทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องว่าคนผู้นี้เป็นผู้เสียชีวิตจากสงคราม และเป็นผู้ที่อิสราเอลจะให้เงินช่วยเหลือ

น.ส.พรรณนภา กล่าวต่อว่า จึงคิดว่าอาจไม่สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตกลับได้เร็ว แต่ก็เพื่อประโยชน์ของญาติผู้เสียชีวิตที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากทางการอิสราเอล และตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันยังปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ แต่ทางการอิสราเอลให้คำมั่นว่าจะพยายามช่วยเหลือทุกคนอย่างเต็มที่ ก็ขอให้ทุกคนวิงวอนให้ภารกิจนี้เป็นไปด้วยดี

ที่มา: ข่าวสด, 10/10/2566

กต.เผย "แรงงานไทย" ในอิสราเอล ตาย 18 คน แจ้งขอกลับ 3,000 คน

นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ ระบุว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด ว่า ขณะนี้มีคนไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ ประมาณ 3,000 คน ประสงค์อยู่ต่อ 100 คน ซึ่งทั้ง 2 ส่วน มีทั้งแรงงานที่เดินทางไปอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

ในช่วงบ่ายของวันนี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือในเเต่ละวัน ขณะนี้มีแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ 30,000 คน อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง 5,000 คน โดยทยอยอพยพออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัย

"การอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล จะทำทุกวิถีทางทั้งการใช้เครื่องบินเหมาลำ และเครื่องบินของกองทัพ เพื่อนำคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด"

รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะเป็นเที่ยวบินแรกที่เดินทางถึงไทย และวันที่ 19 ต.ค.นี้ จะมีอีก 1 เที่ยวบิน และระหว่างนั้นจะพยายามดำเนินการเพิ่มเติม ทั้งประสานหาเครื่องบินพาณิชย์ของไทย และเครื่องบินทหาร

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ที่พยายามติดต่อหาทุกช่องทางในการนำเครื่องบินของไทย เข้าไปให้ความช่วยเหลือในเขตประเทศอิสราเอล ไม่ใช่เขตประเทศเพื่อนบ้าน ให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในช่วงบ่ายของวันนี้จะประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน คาดว่าแผนการช่วยเหลือต่าง ๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งจำนวนผู้แจ้งความประสงค์ขอกลับ และช่วงเวลาในการเดินทางกลับไทย

"ความรุนแรงขณะนี้ขยายวงกว้างเข้ามาใกล้กับสนามบิน จึงมีความเป็นห่วง และเมื่อวานนี้ได้เจรจากับประเทศรอบ ๆ หากมีความจำเป็นต้องส่งเครื่องบินไป แต่ยอมรับว่าการเดินทางค่อนข้างลำบาก"

เมื่อถามว่าได้มีการประสานช่วยเหลือแรงงานที่ถูกนายจ้างนำไปขายต่อหรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่า ได้รับทราบรายงานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากอิสราเอล

ส่วนที่ประชาชนมีความกังวลและพยายามที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินพาณิชย์กลับเอง โดยไม่รอเครื่องรัฐบาลนั้น จะดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่า ทางเอกอัครราชทูตพยายามดูทุกไฟลท์บิน คาดว่าจะครอบคลุมทั้งหมด และจะดูแลค่าใช้จ่ายเป็นกรณีไป

ส่วนการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมนั้น นายจักรพงษ์ ระบุว่า ทางอิสราเอลยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ได้ จึงยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จากการรายงานของนายจ้างอย่างไม่เป็นทางการพบว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 18 คน

นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพูดคุยกับเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศ

ที่มา: Thai PBS, 10/10/2566

กระทรวงการต่างประเทศเผยแรงงานไทยลอตแรก 15 คน กลับไทย 11 ต.ค.นี้

 กระทรวงการต่างประเทศ เผยกำหนดการพาแรงงานไทย ที่อยู่ในพื้นที่สู้รบในประเทศอิสราเอล ล็อตแรก จำนวน 15 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์สู้รบ เดินทางออกจากอิสราเอล 11 ตุลาคม และกลับถึงไทยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ โดยสายการบินพาณิชย์ เนื่องจากทางการอิสราเอล ยังไม่อนุญาตให้เครื่องบินทหารเข้าในน่านฟ้า

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าภายหลังประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินว่า น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้แจ้งพัฒนาการในพื้นที่ให้ได้รับทราบว่า ขณะนี้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 700 คน บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน มีผู้ถูกจับตัวประกัน 100 คนซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติต่างๆ

ในส่วนผลกระทบต่อคนไทย คนไทยมีผู้เสียชีวิต 12 ราย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากสถานทูตอิสราเอลในไทย, ได้รับบาดเจ็บเพิ่ม 1 ท่าน รวมเป็นบาดเจ็บ 9 คน, ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการอพยพ ตามเวลาเช้าของอิสราเอลวันนี้ มีคนไทยแสดงความประสงค์จะขออพยพกลับไทย 1,437 และอีก 23 คน ไม่ประสงค์จะเดินทางกลับ

ขณะที่เมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม ได้รับรายงานว่าทางการอิสราเอลได้ช่วยคนไทยจำนวนหนึ่งจากบริเวณที่มีความเสี่ยงมาอยู่ในที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของการอพยพคนเราได้ใช้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินเอกชน เช่าเหมาลำ ขณะที่กองทัพอากาศ และการบินไทยได้ประชุมร่วมกัน ทุกหน่วยงานพร้อมจัดหาเครื่องบินพาณิชย์เพื่อนำคนไทยออกมา

โดยคนไทยกลุ่มแรกที่จะออกมาคือผู้ได้รับบาดเจ็บที่ออกมาจากพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะออกเดินทางจากอิสราเอลในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ กลับถึงไทย 12 ตุลาคม ประมาณ 15 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ทางสถานทูตยืนยันว่าสามารถเดินทางได้ ก็จะเดินทางมาก่อน เมื่อเดินทางมาถึง 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เตรียมพร้อมที่จะรับคนไทยกลุ่มนี้แล้ว มาถึงไทยแล้ว จะมีการตรวจทุกอย่างทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ

ในส่วนของตัวประกัน กระทรวงต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ เราประสานงาานกับสถานทูตไทยในแต่ละประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศที่จับตัวประกันไป เพื่อสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เอกอัครราชทูตไทยที่มาเลเซียได้พบทูตปาเลสไตน์ที่นั่นเพื่อแจ้งความกังวลของไทย และขอให้ดำเนินการปล่อยตัวพี่น้องประชาชนที่ถูกจับตัวไป ซึ่งจากการพูดคุยกับหลายประเทศก็มีสัญญาณบวก นอกจากนี้ในส่วนของนักเรียนไทย 80 คน ท่านทูตยืนยันว่าปลอดภัยทุกคน

สำหรับช่องทางการติดต่อกับกระทรวงเพื่อสอบถามเรื่องพี่น้องในอิสราเอล ตอนนี้มีฮอตไลน์เพิ่มจาก 30 เป็น 60 คู่สาย ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีโอเพนแชตชื่อห้อง “ขอรับความช่วยเหลือกรณีคนไทยในอิสราเอล” ซึ่งสามารถรองรับสูงสุดได้ 5,000 คน เพื่อให้ญาติเข้ามาสอบถามในนั้นได้ และมีเพจเฟซบุ๊กเฉพาะกิจ “กรมการกงสุลห่วงใยพี่น้องคนไทยในอิสราเอล” เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและติดต่อสอบถาม กระทรวงการต่างประเทศยังจะส่งเจ้าหน้าที่ไปอิสราเอลในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเพิ่มเติมเพื่อดูแลพี่น้องแรงงานและช่วยในภารกิจอพยพคนไทย การอพยพคนไทยเทลอาวีฟขณะนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะยังมีความตึงเครียดสูง การที่เราจะย้ายคนจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งต้องขออนุญาตจากทางรัฐบาล ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน

สุดท้ายขอย้ำว่าท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพี่น้องคนไทยอย่างสูงสุด และพยายามจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้กลับมาที่ประเทศไทย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/10/2566

รัฐบาลยัน เร่งช่วยแรงงานไทยในอิสราเอลเต็มที่ พร้อมตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์

9 ต.ค. 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุจรวดโจมตีจากฉนวนกาซาไปยังหลายพื้นที่ในอิสราเอล ซึ่งจากรายงานของ นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล พบว่า มีพี่น้องแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บ 8 คน ถูกจับเป็นตัวประกันไว้ 11 คน และยังมีพี่น้องแรงงานชาวไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัด และหน่วยงานในกำกับกระทรวงแรงงาน ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร สร้างขวัญกำลังใจ พร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติแรงงานได้รับทราบ

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล เพื่อรับข้อมูลและประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อเร่งช่วยเหลือ คุ้มครอง ดูแล พี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลทุกคนอย่างรวดเร็วที่สุด โดยจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล รวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot, Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 5,000 คน

“รัฐบาลมีความห่วงใยแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล ขอให้ญาติพี่น้องแรงงานไทยมั่นใจว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลแรงงานไทยให้ดีที่สุด และจะเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขอให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด พร้อมกับแจ้งข้อมูลมายังฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อจะได้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือต่อไป”

สำหรับครอบครัวของพี่น้องแรงงานชาวไทยที่ยังไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้อง ณ ประเทศอิสราเอลได้ สามารถติดต่อประสานงานขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 และ 02 2456710 -11 โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนแรงงานในอิสราเอลติดต่อได้ที่เบอร์ (+972) 5 4636 8150 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หมายเลข 0 2575 1047-51 ฝ่ายแรงงานไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ +972 544693476 What app ID : 0544693476 Line ID : 0544693476 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/10/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net