Skip to main content
sharethis

ครอบครัวแรงงานไทยเสียชีวิต ทวงเงินเยียวยาจากภาครัฐ ผ่านมาเกือบเดือนยังไร้วี่แวว

กรณี นายพงษธร ขุนศรี อายุ 25 ปี ชาวอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา แรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศอิสราเอลและเสียชีวิต โดยมีการส่งศพกลับมาที่บ้านเกิดและฌาปนกิจไปแล้ว ล่าสุด นางสุรางคณา ขุนศรี แม่ของนายพงษธร ยังคงเสียใจแม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว และรอรับการเยียวยาจากภาครัฐ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใด ๆ โดยบอกว่าได้นำเงินที่ชาวบ้านมอบให้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพ และตอนนี้มีเพียงเงินช่วยเหลือจากทหารผ่านศึกและประกันสังคมรวมประมาณ 20,000 บาท แต่เงินเยียวยาที่ทางภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานฯ จะช่วยเหลือ 80,000 บาท ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ เพราะเจ้าหน้าที่เพิ่งจะมาขอเอกสารเพิ่มเติม เมื่อปลายเดือนที่แล้ว

นางสุรางคณา ยังกล่าวอีกว่า ถ้าหากภาครัฐอยากจะสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงงานไทยในประเทศอิสราเอลเดินทางกลับมา ควรจะนำเงินมามอบให้ทันทีที่เดินทางมาถึงประเทศไทย

ที่มา: ข่าวช่อง 7, 4/11/2566

เผยนายกมาเลเซียโทรแจ้งข่าว 20 ตัวประกันคนไทยในอิสราเอล ยังปลอดภัย แต่ยังไม่พบอีก 3 คน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการช่วยเหลือคนไทยในเมียนมาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมืองเล่าก์ก่าย ว่า ยืนยันขณะนี้ตัวประกันอยู่ในความปลอดภัยแน่นอน ซึ่งอยู่ในการดูแลของทหารเมียนมาร์ไม่ได้ถูกจับไปอย่างที่มีการพูดกัน และกระทรวงการต่างประเทศกำลังเร่งประสานจะนำออกจากพื้นที่ และจะมีการแถลงความชัดเจนให้ทราบต่อไป

ส่วนความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล ขณะนี้รอติดตามความรุนแรงของสงครามในบางเขต เพื่อที่จะสามารถให้ตัวประกันออกมาได้ // โดยเมื่อวานนี้ (2พ.ย.) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ติดต่อทางโทรศัพท์หาตนเองและแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้ตัวประกันคนไทยจำนวน 2 กลุ่ม รวม20 คน กำลังช่วยเหลือและให้เดินทางมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รอจังหวะอพยพ

ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ขอให้ครอบครัวของตัวประกันสบายใจได้ว่าทุกคนปลอดภัย และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบ ส่วนอีก2-3 คนขณะนี้สูญหาย กำลังพยามติดตามตัวอยู่แต่ไม่ชัดเจนว่าอยู่ในพื้นที่ใด แต่ยืนยันว่าทุกฝ่าย เร่งดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่าได้สั่งการให้เตรียมเครื่องบิน พร้อมอพยพคนไทยแม้ขณะนี้ไม่มีคนไทยในอิสราเอลแสดงเจตจำนงว่าจะเดินทางกลับก็ตาม แต่ต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าหาก มีความต้องการอพยพคนไทยในประเทศอื่นที่ไม่ใช่อิสราเอลจะได้เคลียร์เส้นทางการบินไว้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/11/2566

รมว.แรงงานขอคนไทยกลับจากอิสราเอลด่วน เพิ่มค่าชดเชยเป็น 65,000 บาท พร้อมหางานใหม่ให้ ชง ครม.ช่วยพักหนี้ 3 ปี ทั้งต้นทั้งดอก

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลให้กลับประเทศไทย ว่า เมื่อวานนี้ (31 ต.ค.) ตนได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งท่านเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยให้กระทรวงแรงงานนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าอีกครั้ง

โดยจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ความช่วยเหลือแรงงานที่ต้องชำระหนี้สินจากกู้ยืม เพื่อเดินทางไปทำงานในอิสราเอล ด้วยการพักต้นพักดอกเป็นระยะเวลา 3 ปี ในที่ยังชำระไม่หมดวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท

2.รัฐบาลจะเยียวยาแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลเพิ่มเติมอีก 50,000 บาท นอกเหนือจากเงินเยียวยาในกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากกระทรวงแรงงาน 15,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเดินทางกลับสู่ประเทศไทย

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่าที่ยังไม่ตัดสินใจกลับมา เพราะว่ายังเบิกเงินไม่ได้ ตนมองว่าจริงๆ ไม่ต้องรอเบิกเงิน เพราะวันนี้ก็วันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว ก็ถือว่าท่านทำงานครบเดือนแล้วก็สามารถเดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ถูกหักเงินเดือนเนื่องจากเป็นภาวะสงครามได้

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า แรงงานที่จะต้องได้รับเงินเดือนในวันที่ 9 ของแต่ละเดือน ไม่ควรอยู่ที่อิสราเอลเพื่อรอรับเงินเดือน ท่านสามารถกลับประเทศไทยมาได้เลยและให้ทางเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอลเป็นผู้ติดตามเงินเดือนของท่านจากนายจ้าง แล้วส่งกลับมาให้เราที่ประเทศไทย

“ท่านไม่ควรจะเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัย รัฐบาลและคนไทยทุกคนโดยเฉพาะท่านนายกฯ มีความห่วงใยอยากให้คนไทยทุกคนที่ทำงานในอิสราเอลรีบกลับประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง”

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการเดินทางกลับมานั้นกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับพวกท่าน ส่วนเมื่อเดินทางกลับมาแล้วนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะต้องหางานใหม่ให้กับพวกท่าน ถึงแม้ว่าจะเป็นงานในประเทศที่อาจจะไม่ได้ค่าแรงเทียบเท่ากับในประเทศอิสราเอล แต่ตอนนี้กระทรวงแรงงานกำลังหางานในประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้เทียบเท่าอิสราเอลให้กับพวกท่าน

เมื่อถามว่าเงินเยียวยา 50,000 บาทที่จะได้รับการอนุมัตินั้นจะให้ย้อนหลังกับผู้ที่เดินทางกลับมาก่อนหน้านี้หรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เราจะต้องให้ย้อนหลังกับแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลทุกคน

เมื่อถามถึงกรณีการกู้นอกระบบเพื่อไปทำงานในอิสราเอลจะมีการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินอย่างไร นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ต้องเรียนถึงข้อเท็จจริงว่าการกู้นอกระบบนั้นรัฐไม่สามารถดูแลได้ แต่เราได้เปิดช่องทางโดยท่านต้องหาวิธีพิสูจน์ให้ได้ว่าท่านไปกู้เงินนอกระบบมา พร้อมกับการรับรองข้อมูล เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือหากคนที่ปล่อยกู้นอกระบบไม่กังวลว่าจะผิดกฎหมาย ก็สามารถมาแสดงตนพร้อมหลักฐานเพื่อยืนยันข้อมูลการปล่อยกู้ได้

“การกู้นอกระบบ ต้องหาหลักฐาน หาคนยืนยันมาอ้างอิง แต่ขอว่าพวกเราชาวแรงงานต้องเอาความจริงมาแจ้ง ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าพวกท่านแจ้งเท็จ จะมีความผิดทางกฎหมาย” รมว.แรงงานกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีคนที่กู้เงินมาดำเนินการจ่ายเพื่อเดินทางไปอิสราเอลแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้ ทำให้เกิดหนี้และบางส่วนก็ลาออกจากงานมาแล้ว จะมีวิธีให้การช่วยเหลืออย่างไร นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขอให้มาคุยรายละเอียดกับทางกระทรวงแรงงานเป็นรายๆ ไป

ที่มา: ข่าวสด, 1/11/2566

นายกฯ โทรคุยผู้นำอิสราเอล อำนวยความสะดวกแรงงานไทยไม่กลับก็ดูแลต่อ พร้อมต่อรองปล่อยตัวประกัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ว่า ได้นัดหมายกับนายกฯอิสราเอลเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 31 ต.ค. ผ่านทางนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศมาว่า อยากจะขอโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งเมื่อสักครูพึ่งได้พูดคุยกันเสร็จ นายกฯอิสราเอลบอกว่าเสียใจกับการที่มีคนไทยเสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ท่านยืนยันว่าจะพยายามทำอย่างเต็มความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวประกันของไทยให้ออกมาได้ด้วยความปลอดภัยและเร็วที่สุด และยังบอกอีกว่าหากมีอะไรให้ช่วยเหลือขอให้บอกได้อีก ซึ่งตนได้บอกไป 2-3 เรื่อง โดยเรื่องแรก คนไทยที่แจ้งเจตจำนงต้องการกลับเดินทางกลับใกล้จะหมดแล้ว แต่ถ้ามีคนไทยแสดงเจตจำนงจะเดินทางกลับมาอีกก็ขอให้ทางอิสราเอลอำนวยความสะดวกให้ เพราะหากเขาจะเดินทางกลับมาอีกก็แสดงว่าสภาพสงครามมันต้องรุนแรงขึ้นอีก ตรงนี้อาจจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในการที่จะนำคนไทยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

นายกฯ กล่าวว่า และตนยังได้ถามไปในเรื่องของตัวประกันมีเดดไลน์หรือไม่ พอจะมีระยะเวลาหรือไม่ เมื่อไหร่ ซึ่งนายกฯอิสราเอลยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ ตอนนี้ยังไม่มี แต่ยังเจรจาอยู่ และเรื่องขอให้ดูแลคนไทยที่อิสราเอลให้ดีที่สุดที่ได้ฝากไปด้วย เพราะคนไทย 3 หมื่นกว่าคนไม่ได้ไปมีส่วนกับความขัดแย้ง เราไปช่วยพัฒนาประเทศเขา ช่วยทำเรื่องของการเกษตร ทางนายกฯอิสราเอลก็บอกว่าเข้าใจหมด ไม่ได้มีความสงสัยเลยว่าคนไทยไปทำเรื่องอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร และนายกฯอิสราเอลยังบอกมาว่าหากจะให้กลับมาที่ไทยก็จะอำนวยความสะดวกให้กลับมา และถ้ากลับมาแล้วก็หวังว่าเขาอยากจะกลับไปอิสราเอลอีกเมื่อทุกอย่างมันเรียบร้อยลงตัว และช่วยอำนวยความสะดวกให้กลับมา ก็พูดกันแค่นี้

“หากมีข่าวความคืบหน้าท่านก็จะโทรศัพท์มาบอกโดยตรง และถ้ามีเรื่องของการต่อรองที่อาจจะต้องมีเรื่องการแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างท่านก็จะบอกมา ผมบอกเราเปิดหมดทุกอย่าง ยังไงก็ได้ ขอให้นำคนไทยกลับบ้านโดยเร็วที่สุด เดี๋ยวค่ำๆ วันเดียวกันนี้ ผมจะโทรศัพท์หานายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยตอนนี้นายปานปรีย์อยู่ที่การ์ตาและอียิปต์ว่ามีความคืบหน้าอะไรหรือไม่”นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยกันกรณีที่นายจ้างอิสราเอลจ่ายเงินเดือนล่าช้าให้กับแรงงานไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ย้ำกับทางเอกอัครทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ซึ่งได้บริหารจัดการไปแล้ว และตนได้ขอบคุณไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/11/2566

ขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น 24 ชั่วโมง และรับสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ได้ถึง 10 พ.ย. 66 นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แถลงข่าว “การขยายระยะเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม และขยายเวลารับสมัครเลือกตั้งฯ ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ นายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง และเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 -16.00 น. นั้น

“เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยสามารถเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนจากจำนวนผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างและผู้ประกันตน สอดคล้องกับการขยายกำหนดเวลาการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง และขยายเวลาเปิดรับสมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้างผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ออกไปอีก 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2566”

นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน ได้กล่าวเชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน ทั่วประเทศลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 โดยพร้อมเพียงกัน ทั้งนี้ นายจ้าง ผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านช่องทาง ดังนี้

1. ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2. สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 12 สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)

3. พร้อมประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566

สำหรับผู้สนใจสมัครรับเลือกตั้งสามารถยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ) พร้อมประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหมายเลขผู้สมัคร ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่อได้ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้าง ผู้ประกันตน สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: ไทยโพสต์, 1/11/2566

แรงงานไทย แห่ทำเรื่องขอเบิกเงินค่าเดินทางจากอิสราเอล

ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น ภายในศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ช่วงเช้าที่เปิดทำการ ได้มีแรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางกลับมายังภูมิลำเนา หลังเกิดเหตุรุนแรงในประเทศอิสราเอล ซึ่งมีทั้งชาวจังหวัดขอนแก่น และในจังหวัดใกล้เคียง นำเอกสาร ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน และเอกสารสำคัญอื่นๆ เดินทางมายื่นกับเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น มากกว่า 30 ราย ซึ่งแรงงานไทยในอิสราเอลหลายคนบอกว่า หลังเกิดเหตุได้ติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อิสราเอล เพื่อขอเดินทางกลับประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะยังคงเหลือสัญญาจ้างการทำงานอยู่ แต่เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้ทางครอบครัวเป็นห่วง จึงต้องเดินทางกลับมาประเทศไทยก่อน

หากสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลดีขึ้น หรือสงบก็จะขอเดินทางไปทำงานที่นั่นอีก เพราะได้เงินเดือนค่าจ้างที่สูง อีกทั้งต้องการเงินนำกลับมาใช้หนี้ที่ยังคงค้างการกู้ยืมทั้งจากเงินกู้นอกระบบ และเงินในระบบของหน่วยงานราชการ ที่ปล่อยกู้โดยธนาคารต่างๆ และก่อนเดินทางกลับมาประเทศไทย ได้ชักชวนเพื่อนคนงานชาวไทยด้วยกัน แต่หลายๆ คนปฏิเสธ เพราะปัญหาหนี้สิน ที่ต้องสู้หาเงินมาชดใช้ และเพื่อความสุขของครอบครัวมีเงินใช้ จึงยอมที่จะทนทำงานต่อถึงแม้ว่าจะมีการสู้รบกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ขณะเดียวกัน มั่นใจปลอดภัย เพราะที่ทำงานอยู่ไกลจากจุดปะทะ และมีมาตรการป้องกันอาวุธที่โจมตีทางอากาศของอิสราเอลดี

นางอรวรรณ หินตะ แรงงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ทางสำนักงานแรงงาน จังหวัดขอนแก่น ได้รับเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานสามารถนำตั๋วเครื่องบินที่แรงงานแต่ละคนซื้อเพื่อเดินทางกลับมาเอง สามารถมายื่นและเบิกเงินได้ ขณะนี้มีแรงงานทั้งในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ มายื่นเอกสารมากกว่า 150 คนแล้ว พร้อมกันนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาแนวทางช่วยเหลือแรงงานในทุกด้าน ทั้งหาอาชีพเสริมให้ประสานงานในต่างประเทศ และการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไว้ช่วยเหลือแรงงานทุกคน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/11/2566

ผู้นำชีอะห์แห่งประเทศไทยเผยได้รายชื่อแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 22 คนแล้ว ส่งต่อให้คณะเจรจา รอการตรวจสอบ

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา นายไซยิด สุไลมาน ฮุไซนี ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “SaiyidSulaiman Husaini” แจ้งความคืบหน้าของการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกัน โดยระบุว่า “ชื่อแรงงานไทยที่ฮามาสควบคุมตัวผมได้รับครบหมดแล้ว 22 คนและได้ส่งต่อให้คณะเจรจาเรียบร้อยแล้วครับ รอการตรวจสอบ”

ก่อนหน้านี้ นายไซยิด สุไลมาน ฮุไซนี ได้โพสต์ข้อความกรณีคณะเจรจาฝ่ายไทย นำโดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เจรจากับตัวแทนกลุ่มฮามาส โดยมีที่ปรึกษาประธานาธิบดีอิหร่านเป็นเจ้าภาพพูดคุยที่ห้องทำงานในบริเวณทำเนียบประธานาธิบดีอิหร่าน โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ อยาตุลลอฮ์ อัคตารี ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและประธานสมัชชาองค์การปาเลสไตน์แห่งสำนักประธานาธิบดีอิหร่าน ดร.ระมีฮียาน เลขาธิการใหญ่องค์การช่วยเหลือประชาชาติปาเลสไตน์แห่งชาติ ดร.รูวัยรอน ประธานสมาพันธ์พิทักษ์เยาวชนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลแห่งชาติ ซึ่งการเจรจาคืบหน้าถึงขั้นตอนของรายละเอียดและเงื่อนไขของการปล่อยตัว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 31/10/2566

ก.แรงงาน เตรียมลงนามความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน กล่าวว่า จากการที่นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือกับรัฐบาลประเทศมาเลเซียในเรื่องการจัดส่งแรงงาน เดิมมีคนไทยไปทำงานประมาณ 2-3 แสนคน มีการเปิดกิจการร้านต้มยำอีกประมาณ 5,000 แห่ง แต่ภาพรวมเข้าไปทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเมื่อวีซ่า/พาสปอตหมดอายุก็ไม่เดินทางกลับมาไทย ย้ำว่าการเข้าไปทำงานอย่างถูกต้องจะดีที่สุด จะมีการลงนามใน MOU ระหว่างไทยและมาเลเซีย เช่นเดียวกับที่ได้ลงนาม MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาวกัมพูชา และเวียดนาม นำแรงงานจาก 4 ประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย และนำแรงงานที่ไม่ถูกต้องทำให้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง ทางสำนักงานประกันสังคมก็สามารถดูแลสิทธิประโยชน์ได้ เพราะการเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะต้องมีนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ

“...จะต้องหารือกันว่า จะมีวิธีการอย่างไรในการดูแลและคุ้มครองคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย สิ่งที่อยากได้อยากเห็นก็คือ สามารถดูแลคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ว่า ไม่ถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ที่สำคัญที่สุดค่าแรงหรือแรงงานที่เราไปขายต้องได้รับความยุติธรรม แน่นอนว่าค่าแรงในประเทศมาเลเซียดีกว่าประเทศไทย คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานในประเทศมาเลเซียเยอะ เพราะส่วนหนึ่งสามารถพูดภาษายาวีได้ นี่คือข้อได้เปรียบ นี่คือสิ่งที่ทางกระทรวงแรงงานจะพยายามทำให้จบภายในยุคที่ตนรับหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน...”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน ประเทศมาเลเซีย เป็นการเบื้องต้น ก่อนที่จะเดินทางไปลงนาม MOU กับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของประเทศมาเลเซียต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 30/10/2566

กสศ.จุดประกาย "ทักษะอาชีพเสริม" เยาวชนแรงงานสู้ชีวิต

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 สนับสนุนโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดปรจีนบุรี ประสานภาคีเครือข่าย "สหภาพแรงงานปราจีนบุรี" จัดกิจกรรมจุดประกาย "ทักษะอาชีพเสริม" ระหว่างทำงานประจำในโรงงานหรือต่อยอดอาชีพอิสระที่เยาวชนแรงงาน อายุระหว่าง 15 - 24 ปี ประกอบอาชีพอยู่แล้วในชุมชนโดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่ต้องการมีรายได้เพิ่มและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อเตรียมความพร้อมปัญหาเศรษฐกิจเปราะบางและการจ้างงานในอนาคตที่อาจสุ่มเสี่ยงตกงาน

สำหรับกิจกรรมโครงการ กสศ.ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 ณ สำนักงานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจ อาทิ น.ส.กฤษฏา นานช้า ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ มาให้เกร็ดความรู้เรื่อง เส้นทางสู่ "นักธุรกิจชุมชน" วิธีคิดคำนวณต้นทุน กำไร ค่าแรง หรือ ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และ ออฟไลน์ ทำอย่างไรให้สมหวัง พร้อมแนะนำเทคนิคและสาธิตการเริ่มต้นประกอบอาชีพเสริมเครื่องดื่ม อาหารและเบเกอรี่ที่เป็นเมนูง่าย ๆ เช่น พุดดิ้งนมสด กับ คุกกี้ธัญพืช เป็นเมนูของว่างที่ลงทุนต่ำแต่กำไรสูงเหมาะแก่การเริ่มต้นประกอบเป็นอาชีพเสริม และ นายไกรมิตร พงษ์นิยะกูล มาให้ความรู้เรื่อง เทคนิคการขายของออนไลน์ และ ทักษะการใช้โซเซียลมิเดียเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมผ่าน "ติ๊กต็อก" ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

น.ส.จุฑามาศ สมบูรณ์ เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ทำงานอยู่ในโรงงาน กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องการมี “ทักษะอาชีพเสริม” เพราะรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาทต่อวันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ขณะเดียวกันรายได้จากการทำงานล่วงเวลา หรือ โอที ไม่มีความแน่นอน จึงอยากมี "อาชีพเสริม" เพิ่มรายได้มาประคับประคองเศรษฐกิจครอบครัว ซึ่งทักษะอาชีพที่ตัวเองสนใจ คือ เครื่องดื่มอาหารและเบเกอรี่ จึงใช้เฟสบุ๊คส่วนตัวเป็นร้านค้าเล็ก ๆ ขายชากาแฟทางออนไลน์ รับออเดอร์จากเพื่อนที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน พร้อมกับรับออเดอร์จากคนรู้จักในชุมชน หลังเลิกงาน 17.00 น. หรือ ในช่วงวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดจากการทำงาน

สำหรับรายได้เฉลี่ยขายได้วันละ 8 - 10 แก้ว หรือคิดเป็นเงินประมาณ 300 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้วจะได้กำไรเฉลี่ยวันละ 50 บาท ซึ่งผลกำไรตัวนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.นำมาเป็นค่าอาหารมื้อเย็นของตัวเองช่วยลดรายจ่ายรายวัน หรือ 2.นำไปสะสมเป็นเงินเก็บไว้เป็นเงินลุงทุนทำธุรกิจส่วนตัวตั้งเป้าหมาย 2 - 3 แสนบาท จะเปิดร้านกาแฟและเบเกอรี่เล็ก ๆ เพราะอยากเป็นเจ้านายตัวเอง หากวันหนึ่งต้องถูกเลิกจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในอนาคต

นายภิเศรษฐ์ ป้องคำศรี กรรมการสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเตรียมยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ประกอบการโรงงาน "ไฮเออร์" อนุญาตเปิดพื้นที่ "ล็อคขายของ" ในโรงอาหารโรงงานเพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของน้อง ๆ ที่มีอาชีพเสริม อาทิ ขายเครื่องดื่มชากาแฟ , แซนวิช , ข้ามหลาม , กล้วยฉาบ ได้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ฝีมือของตัวเองมาจัดจำหน่ายเพิ่มรายได้เสริมระหว่างทำงานประจำในโรงงาน

นายปัญญา ตลุกไธสง ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจ้างงานในอนาคตเริ่มมีความเสี่ยงสูง เพราะผู้ประกอบการบางแห่งเริ่มใช้เครื่องจักร หรือ ระบบ Automation ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ดังนั้นการมีทักษะอาชีพเสริม เช่น การจำหน่ายสินค้าและผลิตที่ตัวเองผลิตให้กับร้านค้าในโรงอาหารโรงงาน สามารถช่วยให้น้อง ๆ ได้มีรายได้เพิ่มระหว่างที่ไม่มีค่าล่วงเวลา หรือ โอที นับเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

น.ส.วิไลพร แก่นปรั่ง ประธานสหภาพแรงงานอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนให้น้อง ๆ เยาวชนแรงงานที่มี “ทักษะอาชีพเสริม” ทั้งในกลุ่มที่มีอาชีพเสริมอยู่แล้ว หรือ จุดประกายทางความคิดที่จะมีอาชีพเสริม อยากให้ตั้งใจใฝ่เรียนรู้ ด้วยการรู้จักหาวิธีใหม่ ๆ ในการหารายได้เสริมนอกเหนือจากการทำงานประจำในโรงงาน เพราะในอนาคตอาจกลายเป็น “อาชีพหลัก” รองรับหากต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากการว่างงาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/10/2566

รัฐบาลยืนยันให้ความมั่นใจต่อแรงงานไทยในอิสลาเอล จะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน และจะสามารถกลับไปทำงานภายหลังสถานการณ์สงบได้อย่างแน่นอน วอนแรงงานไทยกลับบ้าน

29 ต.ค. 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ ณ ประเทศอิสราเอล เป็นอย่างมาก ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์การสู้รบอาจมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล โดยการสู้รบที่ขยายพื้นที่ในวงกว้างจะส่งผลต่อการเดินทางภายในประเทศอิสราเอล และกระทบต่อกระบวนการอพยพพี่น้องแรงงาน

นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีพี่น้องแรงงานบางส่วนที่ยังมีความกังวลถึงค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับ หรือกังวลว่าจะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้ภายหลังจากสถานการณ์สงบลง รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานขอยืนยันให้ความมั่นใจกับพี่น้องแรงงานว่า “พี่น้องแรงงานทุกคนจะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน และจะสามารถกลับไปทำงานภายหลังสถานการณ์สงบได้อย่างแน่นอน” ทั้งนี้ ทางกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมสำหรับพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ด้วยแล้วอย่างเต็มที่

“รัฐบาลวอนให้พี่น้องแรงงานไทยพิจารณาทบทวนให้ถี่ถ้วนในการเดินทางกลับประเทศไทย ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตเป็นสิ่งแรก โดยรัฐบาลได้เตรียมพร้อมในการอพยพพี่น้องแรงงานไทยกลับสู่ประเทศได้อย่างปลอดภัยในเวลาที่รวดเร็วที่สุด สามารถแจ้งความประสงค์มายังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ หรือเดินทางมายังศูนย์พักพิงได้ทันทีที่: รร. David InterContinental, Kaufmann Street 12, Tel Aviv- Yafo, 61501 โทรศัพท์ศูนย์พักพิง : 050-443 8094, 053-557-4115 โทรศัพท์สถานทูตฯ : 055-271 2201, 053-245 2826, 054-636 8150” นายคารม ย้ำ

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 29/10/2566

ประกาศกฎกระทรวงลดค่าธรรมเนียม -คำขอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเหลือ 500 บาท แรงงานกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม มีผลยาว 4 ปี หนุนให้เกิดการจ้างงานถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป

สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2566 ประกาศดังกล่าวออกโดยกระทรวงมหาดไทยและลงนามโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ จะเป็นการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจาก 2,000 บาท เป็น 500 บาท และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปจาก 1,900 บาท เป็น 500 บาท สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

การลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 4 ปี จะมีส่วนสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมาย แก้ไขปัญหาคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองเพื่อการทำงาน ให้เข้าสู่ระบบการเป็นผู้เข้าเมืองเพื่อทำงานโดยถูกต้องตามกฎมหาย เพื่อรักษาความมั่นคง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจทั้งภาคการผลิตสินค้า ภาคการบริการและภาคการส่งออก และพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย

“กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับบนี้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด19 ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมลงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทั้งแรงงานและนายจ้าง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 28/10/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net