Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ แก้ ม. 11(11) เปลี่ยนสงเคราะห์เป็น ‘ถ้วนหน้า’ เพิ่มบำนาญเป็น 3,000 บาท ขอรองประธานสภาฯ ช่วยดันให้ผ่านด่านนายกฯ


21 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "สภาองค์กรของผู้บริโภค" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 10.44 น.โดยประมาณ ภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอ พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ต่อปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร 

ภาคประชาชนเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เราเลยจะขอ รองประธานสภาฯ ว่าช่วยเชียร์ และส่งเสียงถึงนายกฯ เพราะว่ามันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องการเงิน ซึ่งต้องผ่านนายกฯ ก่อน และอยากให้มันถึงสภาฯ ให้ได้สภาฯ คุยกัน 

นอกจากนี้ ทางภาคประชาสังคมเชื่อมั่นในตัวรองประธานสภาฯ เพราะว่าก่อนหน้านี้พรรค (พรรคก้าวไกล) ของปดิพัทธ์ หาเสียงเลือกตั้งชูนโยบายเรื่องนี้มาโดยตลอด เลยตั้งความหวังว่า ทางรองประธานสภาฯ จะช่วยส่งเสียงถึงนายกฯ ด้วยให้ผ่านร่างดังกล่าวด้วย

หลังจากนั้น ภาคประชาชนได้ยื่น 4 หมื่นรายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ให้กับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร 

สำหรับความสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ จะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และจะแก้ไขไม่กี่มาตรา 11 (11) เดิมเขียนว่า ผู้สูงอายุจะได้เงินสงเคราะห์เพียงพอต่อการยังชีพ เขียนไว้แค่นี้เอง แต่สิ่งที่เราจะแก้ไข เราจะแก้ไขเป็น “ผู้สูงอายุต้องได้บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท บนเส้นความยากจนที่เพียงพอ และจะขอให้มีการปรับเรทบำนาญทุกๆ 3 ปี” แก้มาตรานี้มาตราเดียว ขอมาตรานี้ก่อน สำหรับเส้นความยากจนปัจจุบัน อยู่ที่ 2,997 บาท ซึ่งอีก 3 บาท จะเท่ากับข้อเสนอบำนาญพื้นฐานแห่งชาติแล้ว 

ตัวแทนของเครือข่ายผู้บริโภค ระบุว่า ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า แต่การพัฒนา ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องอุตสาหกรรม และด้านวัตถุ แต่วันนี้เรามายื่นหนังสือ เพราะว่ามองว่าถึงเวลาที่เราต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่วันละ 20 บาท วันนี้คิดว่า บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ต้องเพิ่มเป็น 3 พันบาท 

เครือข่ายสลัม4ภาค กล่าวว่า เราทำเรื่องบำนาญเพื่อผู้สูงอายุมานานแล้วตั้งแต่ปี 2546 และคิดว่า ผู้สูงอายุในชุมชน หรือที่อื่นๆ เขาเสียภาษีมาตั้งแต่อายุยังเป็นวัยรุ่น พอเป็นผู้สูงอายุแล้ว บำนาญ 3 พันบาท น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว เราเคยไปยื่นมา 2 ครั้งแล้ว แต่นายกฯ เซ็นปัดตกทุกครั้ง ครั้งนี้มาใหม่เป็นครั้งที่ 3 เราอยากให้เพิ่มเงินบำนาญเป็น 3 พันบาทได้แล้ว เพื่อเป็นการประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และอยากให้นายกฯ เซ็นอนุมัติได้แล้ว

เครือข่ายพลังผู้สูงวัย กล่าวว่า ดิฉันยื่นบำนาญมากนานแล้ว แต่ถูกปัดตกตลอด ไม่รู้จะทำได้อีกนานเท่าไร ต่อให้ไม่ทันรุ่นเราก็อยากให้ทันรุ่นหลานเรา ก็จะได้สบายกว่านี้ จะได้ไม่มานั่งอดๆ อยากๆ ลูกบางคนไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากมายเลี้ยงพ่อแม่ เพราะว่าเขามีภาระทางครอบครัวจะมาหวังจากเขาไม่ได้หรอก ยังไงฝากผ่านกฎหมายด้วย 

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า แม้ว่าภาคประชาชนจะเห็นตรงกันว่า ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และเพิ่มเงินบำนาญ แต่ในรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องให้ฝ่ายบริหารเขาเป็นคนรับรองก่อนว่าจะเอาเข้าสภาฯ ได้หรือเปล่า และเราเองต้องทำตามรัฐธรรมนูญ แต่เขาอยากเรียกร้องนายกฯ ผ่านร่างดังกล่าว เพื่อให้มีการนำมาถกเถียงกันในสภาฯ ช่วยกันดูงบประมาณภาพรวม

"แต่ผมอยากจะเรียกร้องไปยังฝ่ายบริหารด้วยว่า เพราะตอนนี้มีกฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นการเงินจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องบำนาญอย่างเดียว แต่ 10 กว่าฉบับที่ถูกตีความว่าเป็นการเงิน ยังไม่ได้ถูกรับรอง ให้เข้ามาถกเถียงในสภาฯ ซึ่งเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วต่อให้มันเป็นภาระทางการคลัง การได้เข้ามาถกเถียงในสภาฯ และช่วยกันดูงบประมาณภาพรวมว่าจะปรับลดอะไรตรงไหนได้บ้าง ส่วนนี้น่าจะถูกนำเข้ามาถกเถียงอะไรกันได้" รองประธานสภาฯ กล่าว

ปดิพัทธ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าจะยื่นหนังสือให้สภาฯ แล้ว แต่ยังสามารถเข้าชื่อได้อยู่ผ่านช่องทางออนไลน์ และยิ่งเข้าชื่อมากเท่าไร จะยิ่งเน้นย้ำความสำคัญที่ประชาชนมีต่อร่างต่างๆ ด้วย 

นอกจากนี้ ทางภาคประชาสังคมจะยื่นหนังสือถึง วันมูฮะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net