Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์สั่ง สตช. จ่าย 380,000 บาท เดิมศาลชั้นต้นสั่งจ่ายค่าชดเชย 3,380,000 บาท คดี “ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร” เหยื่อตำรวจซ้อมทรมาน ถูกคลุมถุงดำให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์เมื่อปี 2552 ก่อนตำรวจจะพบว่าจับผิดคน ซึ่งขณะนั้นฤทธิรงค์อายุเพียง 18 ปี โดยคดีนี้ฤทธิรงค์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากว่า 13 ปี

 

22 ธ.ค. 2566 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์สั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียง 380,000 บาท แต่เดิมศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,380,000 บาท กรณีคดีฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อตำรวจซ้อมทรมานคลุมถุงดำเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นจำเลย เรียกค่าเสียหาย 13 ล้าน ส่วนคำขอให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากรของโจทก์ให้ยกฟ้อง 

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีจับกุมและซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย โดยมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งจากการสืบสวนในภายหลังพบว่าเป็นการจับผิด ขณะนั้นฤทธิรงค์มีอายุเพียง 18 ปี เท่านั้น ต่อมาปี 2558 ฤทธิรงค์ได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวรวม 7 นาย โดยในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถือว่าถึงที่สุดว่า พันตำรวจโทท่านหนึ่ง(จำเลยที่ 3) กระทำความผิดจริง ตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

เดิมศาลชั้นต้นพิพากษา ให้ สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฤทธิรงค์ ประกอบด้วย ค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 1 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. จำนวน 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงโดยคำนวนจากสถานภาพของฤทธิรงค์ ขณะถูกทำร้ายและโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต ให้ 3 แสนบาท และสุดท้ายค่าเสียหายต่อจิตใจ โดยศาลได้พิจารณาจากคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ว่าโจทก์มีอาการทางจิตเวชหรือ PTSD หรือโรคเครียดอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จำนวน 2 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,380,000 บาท โดยให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หากรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่ฤทธิรงค์ เสร็จสิ้น ให้ยกคำขอให้ให้ลบประวัติอาชญากรของฤทธิรงค์ อีกด้วย 

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับลดค่าสินไหมทดแทนของศาลชั้นต้น โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฤทธิรงค์ ชื่อจิตร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ สตช ชำระค่าเสียหายส่วนนี้ 1 ล้านบาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว 

2. ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศ ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท โดยมีพยานหลักฐานว่าขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุเพียง 18 ปี เคยสอบคัดเลือกเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อย นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงว่าโจทก์เป็นบุคคลมีชื่อเสียงได้รับความเคารพนับถือนวงสังคมไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่พักอาศัยหรือดรงเรียน การที่โจทก์ถูกกลั่นอก้งดำเนินคดี อัยการก็มีคำสั่งไม่สั่งฟ้อง ทั้งเรื่องราวการถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพถูกเผยแพร่และได้รับความเห็นใจต่อสาธารณะชน ไม่น่าจะทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุรของโจทก์เสียหายมาก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ สตช ชำระ 3 แสนบาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว 

3. ค่าเสียหายต่อเสรีภาพ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จ่าย 8 หมื่นบาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว

4. ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิไช่ตัวเงิน เมื่อพิจารณาแล้ว ขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุเพียง 18 ปี แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกับพวกใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ทั้งยังใช้ถุงพลาสติกมาครอบศีรษะและรวบปากถุงบริเวณต้นคอเพื่อไม่ให้โจทก์มีอากาศหายใจ โดยมีการกระทำเช่นนี้หลายครั้ง เพื่อให้รับสารภาพ  การกระทำเช่นนั้นย่อมส่งผลต่อจิตใจของโจทก์เป็นอย่างมาก โจทก์เข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์เห็น โจทก์มีอาการระแวง มีความเครียดหลังเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD การถูกระทำดังกล่าวส่งผลต่อสภาพจิตใจต้องใช้เวลายาวนานในการบำบัดฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพใกล้เคียงกก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จ่าย 2 ล้านบาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ยังน้อยเกินไป สมควรกำหนดให้ 3 ล้านบาท รวมค่าเสียหายที่สตช.ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,380,000 บาทแก่โจทก์ 

5. ศาลอุทธรณ์มีปัญหาต้องวินิจฉัยในกรณี การนำเงินที่ดาบตำรวจและผู้กำกับ 2 นาย นำเงินมาชดใช้แก่โจทก์ จำนวน 4 ล้านบาท หักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยชดใช้กับโจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นในทำนองว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาทั้งหมดเป็นค่าเสียหายจากการกระทำของตำรวจทั้งหมดทั้งเจ็ดนาย ไม่มีการแยกแยะว่าเจ้าพนักงานตำรวจคนใดจะต้องรับผิดชอบในส่วนค่าเสียหายนี้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีอาญา ที่โจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจทั้งเจ็ดต่อศาลปราจีนบุรี มีดาบตำรวจและผู้กำกับ 2 นายเจรจาตกลงกับโจทก์และชดใช้ค่าเสียหาย 4 ล้านบาท โจทก์จึงถอนฟ้องดาบตำรวจและผู้กำกับ 2 นายดังกล่าว ความเสียหายที่โจทก์ได้รับการชดใช้บางส่วนแล้ว จึงต้องนำเงินมาหักจากที่โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลย มิฉะนั้นจะกลายเป็นโจทก์ได้รับชดใช้ความเสียหายเกินความเสียหายที่แท้จริง ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์รวม 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

“มันสะเทือนใจว่าเราถูกพรากสิทธิมาตั้งแต่วันแรกที่ลูกโดนตำรวจซ้อม ทรมานลูกหมดอนาคตเพราะป่วยจิตเวช ตลอดชีวิต ครอบครัวทุกข์ทรมานมาจนถึงปัจจุบัน ในวันนี้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กำหนดค่าเสียหายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายเพียง380,000บาท เราไม่เห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์อย่างยิ่ง เราต้องอดทน ความอดทนคือความยุติธรรมหรอ? เดินทางมา 10 กว่าปี วันนี้รู้สึกเหมือนถูกพรากความยุติธรรม” หลังฟังคำพิพากษา สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของฤทธิรงค์ กล่าว

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามและให้กำลังใจครอบครัวชื่นจิตรเหยื่อซ้อมทรมาน ที่เดินทางต่อสู้เรียกร้องมาตลอด 13 ปี เพียงต้องการความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเสาหลักที่สำคัญของประเทศนี้ ว่าจะสามารถเป็นเสาหลักที่แท้จริงให้กับเหยื่อ ผู้ถูกกระทำละเมิดให้ได้รับความเป็นธรรมที่แท้จริงได้หรือไม่ ต่อไป 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net