Skip to main content
sharethis

ความเยอะของ กกต. ทำให้การยื่นรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเพื่อทำประชามติด้วยคำถามว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใหม่ทั้งฉบับและ สสร. ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไร้ผล ทำให้ ConforAll ต้องล่ารายชื่อในรูปกระดาษ 5 หมื่นรายชื่อภายใน 3 วัน แต่สิ่งที่ได้คือ 200,000 รายชื่อซึ่งส่งนัยถึงความเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนไทย

ภาพการยื่นรายชื่อประชาชน 212,139 ชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 

การเสนอชื่อของประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายหรือต้องการทำประชามติเป็นเรื่องยากเย็นและวุ่นวายเสมอมา เหมือนกับว่าไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซ้ำยังมีข้อกำหนดให้นายกรัฐมนตรีตีตกได้ กับกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือการรวบรวมรายชื่อออนไลน์ 50,000 รายชื่อเพื่อทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยกลุ่ม ConforAll เพื่อประกบกับคำถามประชามติของรัฐบาลที่ ณ เวลานั้นกำหนดว่าจะทำประชามติในเดือนกันยายนด้วยท่าทีประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่าจนไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง โดยกำหนดคำถามว่า

‘เห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2’

แต่เมื่อยื่นรายชื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับถูกปฏิเสธและบอกว่า รายชื่อออนไลน์ไม่สามารถใช้ได้ต้องยื่นเป็นเอกสารกระดาษเท่านั้น จากการปฏิเสธของ กกต. ส่งผลให้ ConforAll มีเวลาเพียง 3 วันเพื่อรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ

หลายคนไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้ภายใต้แรงบีบของเวลา ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก ConforAll ก็ก่ำกึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้

ทว่า ฝ่ายรัฐดูเบาพลังของประชาชนน้อยเกินไป ด้วยเวลาเพียง 3 วัน มีผู้คนมากมายส่งรายชื่อให้แก่ ConforAll เพื่อทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญถึง 200,000 รายชื่อ เกินกว่าที่ต้องการถึง 4 เท่า ปฏิเสธได้ยากว่าปรากฏการณ์นี้ไม่มีนัยต่อการเมืองไทยทั้งในวันนี้และวันหน้า 

‘ประชาไท’ พูดคุยกับยิ่งชีพในฐานะหนึ่งในสมาชิก ConforAll กลุ่มคนที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลักของ ‘กลุ่มสมัครอาสาล่ารายชื่อเพื่อเสนอคำถามทำประชามติ 'เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%'’  ที่ประชาไทยกให้เป็นบุคคลแห่งปี

ไม่ใช่ปาฏิหาริย์

ยิ่งชีพยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ทำให้เขาประหลาดใจ ทั้งยังเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของเขาต่อสังคมการเมืองไทย

“ตอนนั้นมีรายชื่อกระดาษอยู่ในมือประมาณหมื่นเดียว ต้องการอีก 40,000 รายชื่อใน 3 วันก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ วันแรกสุด วันที่ 22 สิงหาคม ตอนสี่ทุ่ม ผมพูดในไลฟ์ว่าถ้าเราช่วยกันจนทำได้ 50,000 บาทมันเป็นปาฏิหาริย์ ก็อยากจะขอให้ประชาชนมาช่วยกันสร้างปาฏิหาริย์อีกสักครั้งหนึ่ง”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (แฟ้มภาพ)

แล้วสิ่งผิดสังเกตก็เกิดขึ้นเมื่อทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คส์ไลฟ์มีคนดูแลแชร์มากกว่าปกติ วันรุ่งขึ้น 7 โมงเช้าไรเดอร์คันแรกโทรเข้ามาที่สำนักงานของไอลอว์นำรายชื่อมาส่ง พอช่วง 10.00 น. เป็นต้นไป ผู้คนก็หลั่งไหลมามากขึ้น ตกบ่ายๆ ทางไอลอว์ก็รับรู้ได้ถึงความไม่ปกติ บรรยากาศเปลี่ยน และคิดว่าการรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อให้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมมีความเป็นไปได้

จากแค่ต้องการเพียง 50,000 รายชื่อ กลับเพิ่มพูนถึง 200,000 รายชื่อ ยิ่งชีพกล่าวว่า

“ผมก็นิยามใหม่ว่าแบบนี้ไม่เรียกปาฏิหาริย์แล้ว ปาฏิหาริย์มันต้องลุ้นๆ หน่อย แต่อันนี้คือเรากำลังบอกร่วมกันว่านี่คือบรรทัดฐานของสังคมที่เราจะอยู่ร่วมกัน 50,000 รายชื่อภายใน 3 วันเป็นเรื่องง่ายมากเพราะได้มาตั้ง 2 แสนรายชื่อ เท่ากับเราต้องการแค่ 1 ใน 4 ของที่เราทำ เหมือนกับเราได้บอกแล้วว่าสังคมเรามันดีกว่านั้น ดีกว่าที่เราเคยคิด คนมันพร้อมตื่นตัวอยู่ในภาวะที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าที่เราคิด ซึ่งเป็นบรรทัดฐานแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“แปลว่าถ้าเราจะเอารายชื่อออนไลน์ 50,000 รายชื่อเป็นเรื่องง่ายมาก ถ้าจะเอารายชื่อออนไลน์ 200,000 รายชื่อก็ไม่ยาก ถ้าจะเอารายชื่อเป็นกระดาษ 200,000 รายชื่อก็ทำได้และครั้งหน้าก็จะทำได้อีก เป็นการบอกเราว่าแคมเปญใหญ่ๆ คิดไปเถอะถ้าคิดออกเดี๋ยวคนจะช่วยกันทำ”

คลิปถ่ายทอดสดบรรยากาศรับรายชื่อเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในคลิปจะมีการแชร์ประสบการณ์การล่ารายชื่อในแต่ละพื้นที่ด้วย

200,000 รายชื่อใน 3 วัน ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

ยิ่งชีพเปิดอกกับ ‘ประชาไท’ ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ConforAll ในช่วงเวลาพีคๆ ตอนนั้น เขามีโอกาสเล่าสั้นๆ เพียงไม่กี่ครั้งและทุกครั้งที่พูดก็เป็นต้องเสียน้ำตาถ้าไม่ข่มกลั้นไว้ เพราะเขาได้เห็นพลังของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เขากล่าวชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่พลังของไอลอว์เพราะตัวเขาไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่เคยออกไปหารายชื่อ ทำแค่นั่งอยู่ที่สำนักงานจนดึกดื่น ประชาชนต่างหากที่นำรายชื่อมาให้เขา ยิ่งชีพเล่าว่าคนที่อยู่ใกล้สำนักงานไอลอว์ก็เดินมายื่นให้ด้วยตนเอง บ้างก็ส่งไรเดอร์มา ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็ส่งไปรษณีย์

“มีไรเดอร์ประมาณสี่ห้าร้อยคันทั้งวัน เราสามารถไปยืนริมถนนได้เลย ยืนรอไม่ถึงนาทีก็จะมีเขียวๆ มาเรายกมือได้เลย เพราะถ้าเราไม่ทำอะไร รอให้ไรเดอร์มาจอดและโทรมา เราจะเสียเวลารับโทรศัพท์ เราต้องไปยืนหน้าบ้านเห็นเขียวๆ เราโบกมือแต่ไกลเลยจอดตรงนี้ของเราทั้งนั้นซองเป็นปึกๆ”

มีคนที่ปริ๊นท์เอกสารไปยืนตามรถไฟฟ้าเพื่อรวบรวมรายชื่อ คนที่เดินตั้งแต่ต้นซอยถึงปากซอยชวนคนในซอยมาลงชื่อแล้วนำมาส่งให้ที่ไอลอว์ ผู้ที่เซ็นก็แปลว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ ยิ่งชีพใช้คำว่าในช่วงสามสี่วันนั้นมี ‘คนบ้า’ แบบนี้หลายร้อยหรืออาจจะเป็นพันคนที่ลุกขึ้นมารวบรวมรายชื่อส่งมา ถ้ามีเวลามากกว่านี้ ‘คนบ้า’ เหล่านี้ก็จะลุกขึ้นทำอะไรมากกว่านี้ และจะมี ‘คนบ้า’ อื่นๆ ที่ 3 วันนั้นไม่ว่างลุกขึ้นทำมากกว่านี้ เขาคิดว่าแค่ 200,000 รายชื่อถือว่าน้อยมาก ถ้ามีเวลามากกว่านี้ 1,000,000 รายชื่อก็สามารถทำได้

“สี่ห้าเดือนที่ผ่านมาผมไม่เคยพูดขอบคุณใคร พยายามเก็บปากเอาไว้ เพราะผมรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรเพราะผม เขาไม่ได้เอารายชื่อมาให้เพื่อให้นายยิ่งชีพสำเร็จแล้วนายยิ่งชีพได้อะไร นายยิ่งชีพไม่ได้อะไรเลยแต่เขาทำเพื่อตัวเขาเอง เพื่อประเทศของเขา เพื่อชีวิตของเขา เพื่ออนาคตของเขาเอง แล้วสิ่งที่เขาทำสำหรับผมมันยิ่งใหญ่กว่าที่ผมทำมาก

“ผมทำงานผมได้เงินเดือนผมมีหน้าที่ที่ต้องทำ ถ้าผมไม่ทำผมไม่ควรมีชีวิตอยู่ ผมเป็นองค์กรที่ทำเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชนช่วยบริจาคเงิน ช่วยสนับสนุน ถ้าถึงเวลารัฐบาลกำลังจะทำประชามติที่มีคำถามที่ห่วยแตกแล้วเราไม่ทำอะไรเลย เราไม่ควรมีชีวิตอยู่ แต่เพราะเรารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เราก็ทำ แต่ประชาชนที่ออกค่าใช้จ่ายเอง ทุกคนน่าชื่นชมกว่าสิ่งที่ผมทำมาก ผมขอคืนคำชื่นชมทั้งหมดให้กับประชาชนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นร้อยๆ พันๆ ในช่วงเวลา 3-4 วัน”

ต้องแก้ทั้งฉบับและเลือกตั้ง สสร. 100 เปอร์เซ็นต์

รายชื่อประชาชน 200,000 รายชื่อเพื่อขอทำประชามติด้วยคำถามว่า

‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’

ถูกวางอยู่บนโต๊ะของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอำนาจดำเนินการต่อ ทว่า ยิ่งชีพยอมรับว่า 200,000 รายชื่อก็ไม่มีผลกดดันฝ่ายอนุรักษนิยมแต่อย่างใด ต่อให้ได้มากกว่า 200,000 รายชื่อก็ไม่มีผล เพราะแทนที่ ครม. จะสรุปจบว่ารับหรือไม่รับ แต่กลับตั้งคณะกรรมการศึกษาว่าจะทำประชามติด้วยคำถามแบบไหน มีแนวทางการทำประชามติอย่างไร ผลที่ได้จากคณะกรรมการกลับตรงกันข้ามกับคำถามที่ประชาชน 200,000 รายชื่อเสนอไป ทั้งหมดนี้ยิ่งชีพมองว่าเป็นเพียงการยื้อเวลา พอหลังปีใหม่ ครม. ก็น่าจะอนุมัติให้ทำประชามติด้วยคำถามที่ตั้งธงไว้แต่ต้นแล้วว่า

‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2’

“เราต้องการให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการแก้หมวด 1 หมวด 2 ผมคิดว่าคนที่บอกไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 คิดสั้นเกินไปมากและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือคิดเพียงแค่ว่าต้องการบอกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเรามีความจงรักภักดีและต้องการคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ แต่การคงไว้ไม่จำเป็นต้องคงหมวด 1 หมวด 2 แบบแช่แข็งไว้ตลอดกาล เราสามารถเขียนหมวด 1 หมวด 2 ใหม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์สง่างามกว่านี้หรือมีพระราชอำนาจมากกว่านี้ก็ได้ ส่วนการที่จะเขียนหมวด 1 หมวด 2 ใหม่โดยไปล้มล้างระบอบการปกครองมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะมาตรา 255 ห้าม”

คำถามประชามติที่ ConforAll ล่ารายชื่อ

ทุกฝ่ายต่างต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เป้าหมายต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่จะเป็นประชามติที่ประชาชนมีส่วนร่วม 100 เปอร์เซ็นต์หรือถูกอำนาจต่างๆ แทรกแซงเพื่อล็อกให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งยิ่งชีพเชื่อว่าจะเป็นแบบหลังแน่ๆ เพียงแต่ฟากประชาชนจะสู้จุดไหนได้แค่เท่านั้น

“สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือเราจะทำให้เขาเดินหน้าไปสู่ธงของเขาได้ยากลำบากขึ้น” ยิ่งชีพกล่าว “ซึ่งเราทำแล้วสำเร็จแล้ว เพราะถ้าเราไม่ยื่นไป ไม่ทำเรื่องนี้ เขาเคาะคำถามนี้ไปตั้งแต่เดือนกันยายนแล้ว แต่พอเรายื่นไป กระแสเรื่องนี้มันมา เขาไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยยื้อเวลาไปก่อน ตั้งกรรมการศึกษา ผ่านไป 3 เดือนคำตอบก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรขยับคืบหน้า ก็เห็นได้ว่าคุณยื้อเวลาไปอย่างนั้นเองเพราะคุณรู้ว่าตอนเดือนกันยายนคุณอาจจะสู้กระแสไม่ไหว คุณก็เตะไปอีก 3 เดือนแล้วเพิ่งประกาศมาเมื่อคืน (25 ธันวาคม 2566) เพราะคุณคิดว่ากระแสมันจะตกแล้ว ซึ่งกระแสตกแล้วจริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ต้องคอยดูกันในสองสามวันนี้ว่าประชาชนจะตื่นตัวกันหรือเปล่า”

ยิ่งชีพวิเคราะห์ต่อว่า

“รัฐธรรมนูญ 60 เขียนขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในอำนาจได้ไปเรื่อยๆ และก็ทำสำเร็จแล้วในปี 62 พอปี 66 มันทำไม่ได้ เครื่องมือมันหมด สิ่งที่ทำได้คือเอาก้าวไกลออก เอาเพื่อไทยขึ้น กลไกของ สว. ก็จะหมดในเดือนพฤษภาคมนี้และต้องเลือกสวชุดใหม่ซึ่งเป็นไปได้สูงที่ สว. ชุดใหม่เขาจะควบคุมไม่ได้ แล้วอีกสักสามสีปีหลังได้ สว. ชุดใหม่ก็ถึงเลือกตั้ง 70 พอดีกลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญเขาก็คุมไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นการคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 มันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่ออำนาจของ คสช. หรืออำนาจเดิมอีกต่อไป อำนาจจะค่อยๆ อ่อนลงเอง

“การเขียนใหม่และหาช่องทางหาที่จะเอาอำนาจตนเองเข้าไปในรัฐธรรมนูญใหม่ก็เป็นสิ่งที่เขาอยากจะทำ มันไม่ได้เสียอำนาจอะไรไปมีแต่ไปเดิมพันเอาข้างหน้า แต่ถ้าอยู่อย่างนี้เขาอยู่นานไม่ได้ ทุกคนก็ประเมินตรงกันว่าเลือกตั้งครั้งหน้ายังไงก้าวไกลก็ถล่มทลายไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบไหน เพราะฉะนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วไปวัดดวงเอาข้างหน้าก็เป็นสิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการจะไป เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจะไป ผมจึงเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น”

ประชามติที่ไม่ควรต้องมี

ความจริงแล้วหากย้อนไปดูเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ การทำประชามติว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องทำ ยิ่งชีพอธิบายว่ากฎหมายระบุเพียงว่าให้ทำประชามติก็ต่อเมื่อแก้รัฐธรรมนูญ 60 แล้ว สภาพิจารณาผ่านแล้วว่าการตั้ง สสร. จะมีหน้าตาอย่างไร มีที่มาอย่างไร มีอำนาจหน้าที่แค่ไหน มีระยะเวลาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่าไหร่ เมื่อข้อเสนอเหล่านี้ผ่านสภาเรียบร้อยแล้วจึงทำประชามติเพื่อให้ประชาชนอนุมัติ

ยิ่งชีพกล่าวว่าแต่เนื่องจากมีกลุ่มที่ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ กลุ่มกลุ่มแรกคือพรรคพลังประชารัฐนำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน และกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาสวนำโดยสมชาย แสวงการ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญปี 60 ถูกแก้พวกเขาอยู่ไม่ได้ทางการเมือง ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต้นปี 2564 คนกลุ่มนี้จึงพูดเองเออเองว่าสภาจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องทำประชามติก่อน

คนกลุ่มนี้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องทำประชามติก่อนเริ่มทุกกระบวนการหรือไม่ คำวินิจฉัยกลางระบุว่าสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้ง สสร. ได้ต้องมีประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำตอนไหนและต้องทำกี่ครั้ง แต่เมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญพบว่า 6 คนจาก 9 คนเห็นว่าประชามติครั้งนี้ไม่ต้องทำ แต่ให้ทำหลังจากผ่าน 3 วาระไปแล้ว

“ทีนี้ไพบูลย์ นิติตะวันซึ่งแพ้เลือกตั้งก็ไม่ได้อยู่ในสภาแล้ว สว. ก็จะหมดอายุในเดือนพฤษภาคม ถ้าหากทำประชามติในเดือนกันยายนหรือตุลาคมที่ผ่านมา ผมคิดว่ายังเป็นไปได้ที่จะทำประชามติเพื่อปิดปาก สว. แล้วเราก็จะได้เริ่มเกมทุกอย่างตั้งแต่ธันวาคมมกราคม แต่พอถึงวันนี้ยังไม่ได้ทำประชามติ จะทำอย่างเร็วก็เดือนเมษายน แต่เดือนพฤษภาคม สว. ก็ไปแล้วไม่ต้องทำก็ได้ ไปถึงก็เริ่มเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 60 ตั้ง สสร. กันพอผ่านสภาก็ค่อยไปทำประชามติ”

ตั้งคำถามแบบนี้อย่าทำประชามติดีกว่า

นอกจากนี้ การตั้งคำถามประชามติที่ว่า ‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2’ จะยิ่งเพิ่มความยุ่งยากขึ้นไปอีก ยิ่งชีพอธิบายว่า

“ถ้าตั้งคำถามแบบนี้จะมีปัญหาตามมามากเพราะคนที่อยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่อยากแก้หมวด 1 หมวด 2 ก็ไม่รู้จะโหวตอะไร คนเห็นด้วยกับคำถามแต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขก็ไม่รู้จะโหวตอะไร คนที่อยากปกป้องหมวด 1 หมวด 2 แต่ไม่อยากได้รัฐธรรมนูญใหม่คือไม่อยากให้แก้อะไรเลยก็ไม่รู้จะโหวตอะไร เพราะถ้าโหวตรับก็แปลว่าเอารัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าโหวตโนก็แปลว่าจะแก้หมวด 1 หมวด 2 คน 2 กลุ่มนี้อย่างน้อยๆ ไม่รู้จะโหวตอะไร

“ผลการทำประชามติไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าโหวตเยสชนะก็ไม่รู้จริงๆ ว่าประชาชนคิดอะไรประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือต้องการปกป้องหมวด 1 หมวด 2 กันแน่ ถ้าโหวตโนชนะก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ไม่รู้ว่าประชาชนไม่ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือต้องการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 แล้วต่างฝ่ายต่างก็จะไปตีความเข้าข้างตัวเองว่าเป็นคนส่วนใหญ่และทะเลาะต่อกันต่อไปในอนาคต ผลประชามติที่เกิดขึ้นก็จะไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งและเดินหน้า แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองเป็นคนส่วนใหญ่”

แต่ถ้าเริ่มยื่นร่างเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 60 เข้าสู่สภา 3 วาระพิจารณา ถ้าต้องการแก้หรือไม่ต้องการแก้หมวด 1 หมวด 2 อยากให้ สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือมาจากการแต่งตั้ง สสร. จะมีหน้าที่อะไรบ้าง ประเด็นเหล่านี้ก็ไปใส่ในรายละเอียดให้ครบแล้วจึงทำประชามติ ประชาชนก็จะตัดสินใจได้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

“บางคนอาจจะเอารัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับร่างที่ออกมา ไม่เห็นด้วยกับโมเดล สสร. ไม่เห็นด้วยกับกรอบเวลาเขาก็โหวตโนได้ ผลออกมาก็จะพอเข้าใจกันได้ว่าโหวตเยสหรือโหวดโนชนะแปลว่าอะไร แล้วระหว่างกระบวนการทำประชามติก็จะถกเถียงกันอย่างมีคุณภาพว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับส่วนไหนอย่างไร ว่ากันด้วยเหตุผลได้”

เพดานที่ลดไม่ได้

ในกระบวนการทางการเมืองย่อมต้องมีการเจรจาต่อรองอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพดานต่ำสุดที่ ConforAll ยอมรับอยู่ตรงไหน ยิ่งชีพกล่าวว่าหากพูดในนามของ ConforAll คือลดไม่ได้ ยืนกรานว่าคำถามประชามติต้องเป็น

‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’

เพราะ...”ทุกคนที่เซ็นชื่อมา 200,000 รายชื่อไม่ได้เซ็นมอบอำนาจให้ผมไปต่อรอง ไม่เหมือน ส.ส. คนเลือกตั้งส.ส. ไปถึงเขาต่อรองได้เพราะเป็นตัวแทนของประชาชนได้มอบอำนาจไว้แล้ว แต่คนที่เซ็นชื่อ 2 แสนรายชื่อต้องการเสนอให้เขียนใหม่ทั้งฉบับและเลือกตั้งสสร 100 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย”

“เราก็ยืนกระต่ายขาเดียวเสนอไว้เช่นนี้ ถ้าสุดท้ายเขาตัดสินใจออกมาเราก็มีหน้าที่แค่ไม่เห็นด้วย แต่มันก็จะเดินไปไม่ได้ สมมุติออกมาเลือกตั้งแต่ 80 เปอร์เซ็นต์ เราไม่เห็นด้วยเราต้องการ 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แล้วเราก็จะไปขัดขวางหรือล้มการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ มันก็จะเดินไปแบบนั้นแหละ แต่ให้เราเปลี่ยนจุดยืนว่าเห็นด้วยกับ 80 เปอร์เซ็นต์ไหม เราเห็นด้วยไม่ได้”

และหากรัฐบาลยืนกรานจะใช้คำถามประชามติของคณะกรรมการข้างต้น ยิ่งชีพคิดว่าผลที่ได้จะออกมาใน 3 รูปแบบคือคือไม่ผ่าน ถ้าออกรูปนี้ก็ต้องตีความกันวุ่นวายว่าเราจะไม่ได้ทำรัฐธรรมนูญใหม่เลยใช่หรือไม่ ประการที่ 2 ผ่านแบบทุลักทุเลหมายความว่ามีคนไปใช้สิทธิ์ 25 ล้านคนเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงประชามติทั้งหมดเพราะถ้าไม่ถึงครึ่งจะถือไม่ผ่านเลย แต่หากคนไปใช้สิทธิ์ 25 ล้านเห็นด้วย 12 ล้านไม่เห็นด้วย 10 และงดออกเสียงเยอะมากหลายล้านมาก แล้วไม่ไปใช้สิทธิ์เยอะมาก มันจะทำไปทำไมทำแล้วคนที่เห็นด้วยมันมีน้อยมากไม่มีความหมายไม่มีพลัง และรูปแบบสุดท้ายอาจจะผ่านอย่างสวยงาม แต่ทุกฝ่ายก็จะนำผลไปตีความเข้าข้างฝั่งของตน และเกิดเป็นความขัดแย้งรอบใหม่

ปี 67 ปีที่เหนื่อยและแคมเปญที่ใหญ่ขึ้น

ยิ่งชีพเชื่อว่ากระบวนการทำประชามติจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะทุกฝ่ายไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพียงแต่ถ้าประชาชนไม่ส่งเสียง กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะดีกว่าฉบับปี 2560 ก็เป็นได้ แต่จะไม่ดีมากเท่าที่ประชาชนต้องการและไม่รู้สึกเป็นเจ้าของดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 2540

“ประชาชนก็จะรู้สึกว่านี่มันฉบับพรรคเพื่อไทย ฉบับรัฐบาลผสม ฉบับรัฐบาลแกงส้มผลักรวม สมมติทำเสร็จปี 70 เรารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ 70 เป็นของเขาไม่ใช่ของเรา ประชาชนก็ไม่ได้หวงแหน ไม่ได้ผูกพันกับกติกาที่ปกครองบ้านเมือง แต่กลับรู้สึกเป็นศัตรู รู้สึกรังเกียจเหมือนกับที่รู้สึกกับรัฐธรรมนูญ 60”

ผลดังกล่าวย่อมไม่ใช่เรื่องดีเพราะสิ่งที่ก่อเกิดจากรัฐธรรมนูญนี้จะพลอยถูกรังเกียจไปด้วย แล้วก็ต้องกลับมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2580 กันใหม่เป็นวงจรไม่จบสิ้น

“สิ่งที่อยากเห็นก็แค่ว่าถ้าจะเกิดขึ้นก็เกิดให้มันดี ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมจริงๆ และให้รู้สึกว่าเขาเขียนอะไรออกมา มันก็ไม่ได้ดีที่สุดหรอก มันต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ แต่อย่างน้อยฉบับนี้มันเป็นฉบับที่เรารู้สึกหวงแหนพูดถึงทีไรก็คิดถึงเหมือนรัฐธรรมนูญ 40  ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่กำลังสร้างขึ้น แต่ด้วยคำถามประชามติแบบนี้ ถ้าต้องทำประชามติจริง ผมว่าพัง”

ในปี 2567 นี้จึงเป็นปีที่เหนื่อยยากสำหรับประชาชนเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญของประชาชนให้เป็นจริง และจากปรากฏการณ์ 200,000 รายชื่อ ทำให้ยิ่งชีพรู้สึกกล้าที่จะรณรงค์และออกแบบประเด็นที่ใหญ่ขึ้นเพราะเชื่อว่าจะมีประชาชนมาร่วมด้วยช่วยกัน

“เราจะทำในสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง แล้วปี 67 มาเหนื่อยด้วยกัน ผมจะชวนทำอะไรเยอะมากซึ่งยังบอกตอนนี้ไม่ได้เพราะคิดไม่ออก แต่อย่างน้อยๆ 2 เรื่องคือการนิรโทษกรรมประชาชนกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเพื่อผลักดันให้มันเป็นจริง ก็หวังว่าจะได้เห็นพลังของคนทุกคนเช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมาและมากขึ้นไปเรื่อยๆ”

หมายเหตุ : เมื่อเวลา 2.27 น. วันที่ 30 ธ.ค.2566 กองบรรณาธิการข่าวประชาไทมีการปรับแก้ข้อมูลบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net