Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' เสนอ 6 ข้อถึง 'ก้าวไกล' หลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยว่าหาเสียงแก้ 112 ถือว่าใช้สิทธิล้มการปกครอง มอง สส.พรรคฯ ต้องถือธงนำประชาชนด้านความคิด ไม่หวั่นถูกยุบพรรค หาช่องแก้ไขมาตรา 112 ต่อ ท้าชนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

 

3 ก.พ. 2567 ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และอดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) ถึงข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกลภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง โดยมีทั้งหมด 6 ข้อหลัก

 

 

การเสนอความเห็นของปิยบุตร สืบเนื่องจากเมื่อ 31 ม.ค. 2567 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า นโยบายหาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการใช้สิทธิล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปิยบุตร จึงมีข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกล ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 1 'ก้าวไกล' ต้องถือธงนำประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเดินนำและคอยปกป้อง

ปิยบุตร ระบุว่า ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ต้องตระหนักเรื่องการเป็นพรรคการเมืองที่นำความคิดมวลชน ความเป็นพรรคอะวองการ์ดด้วย มิใช่ปล่อยให้ประชาชนนำโดยลำพัง แล้วรอเก็บดอกผลความนิยมจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ตนเองเข้าไปมีอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว 
 
ปิยบุตร กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ “นิติสงคราม” รุมกระหน่ำซัดพรรคก้าวไกลในช่วงเวลานี้ เขาอยากให้พรรคตั้งสติ ตั้งหลักให้ดี อย่าลนลานตระหนกตกใจ จนเดินสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไร้แนวคิดรากฐาน แน่นอนว่ามันมีความกลัว มีความกังวลถึงภัยทางกฎหมายที่จะตามมาเป็นลูกระนาด ความกลัวเหล่านี้เกิดได้เป็นธรรมดา เราเป็นปุถุชนรู้สึกแบบนั้นได้ แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ขอให้กลับมายืนหยัดนำความคิดประชาชน

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคฯ ที่รอคอยความช่วยเหลือจากประชาชน ให้ปกป้องตนเอง ถึงเวลาก็เรียกใช้ประชาชนให้ปกป้อง แต่กลับไม่คิดอ่านขยับขยายการต่อสู้เลย อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลที่ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ก็จะมีกองเชียร์ผู้สนับสนุนคอยปกป้อง โดยไม่ติดชี้นำความคิดของประชาชนของพรรค แล้วก็กอบโกยเอาความนิยมจากประชาชนอย่างเดียว
 
นักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุว่า อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกล เปลี่ยนจาก "ยานพาหนะของการเปลี่ยนแปลง" ไปเป็น "ยานพาหนะ ให้คนกลายเป็นอำมาตย์รายใหม่" กลายเป็นที่รวมตัวกันของคนที่อยากเป็น สส. เป็นรัฐมนตรี 

ข้อ 2 หาช่องทางที่ยังพอเป็นไปได้ในการผลักดันการแก้ไข 112 ต่อ 

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า เนื่องจากสภาพปัจจุบัน พรรคการเมืองจะไม่ค่อยกระตือรือร้นกับการแก้ไขมาตรา 112 หากพรรคก้าวไกล ยังคงยืนยันว่ามาตรา 112 เป็นปัญหาสำหรับการเมืองไทย กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคก้าวไกลต้องทำให้ภารกิจนี้เดินต่อ

ปิยบุตร ระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า ไม่ได้ห้ามแก้ไขมาตรา 112 อย่างสัมบูรณ์เด็ดขาด ต่อให้ยอมรับคำวินิจฉัย และจำเป็นต้องทำตามคำวินิจฉัยนี้ มันยังมีช่องทางให้แก้ไขได้อยู่ นั่นคือการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. ลดอัตราโทษ 2. ยกเลิกโทษจำคุกขั้นต่ำ 3. แบ่งแยกความผิดออกเป็น 3 ฐานความผิด ได้แก่ หมิ่นประมาท ฐานหนึ่ง ดูหมิ่น ฐานสอง อาฆาตมาดร้าย และ ฐานสาม แบ่งแยกตามตำแหน่งที่คุ้มครอง และ 4. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดมาตรา 112 ผู้เดียว 

"เมื่อประตูการแก้ไข 112 ยังคงเปิดอยู่ ยังพอมีพื้นที่ให้ขยับขยายอยู่บ้าง พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรละทิ้ง โดยอ้างแต่เรื่องความอยู่รอดปลอดภัยขึ้นบังหน้า" ปิยบุตร กล่าว

ข้อ 3 กล้าหาญยืนยันโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ 

ปิยบุตร เสนอต่อว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ยังไม่เห็นคนของพรรคก้าวไกลออกมาตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญเลย มีเพียงแถลงการณ์สั้นๆ ของหัวหน้าพรรคฯ

การแถลงข่าวของพรรคก้าวไกล หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุดยืนของพรรคตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ คือ การต่อสู้กับขบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่ ณ วันนี้เราต่อสู้น้อยมาก แม้ว่าจะมีแถลงการณ์จากหัวหน้าพรรคก้าวไกลสั้นๆ แต่เห็นว่าน้อยเกินไป

ปิยบุตร มองว่า สส.ถืออำนาจรัฐที่จะต่อสู้ถ่วงดุลกับศาลรัฐธรรมนูญได้ การปล่อยให้ประชาชนรับภาระสู้กับศาลฯ นั่นคือการผลักภาระให้เขาเสี่ยงโดนคดี สส.ต่างหากที่ถืออำนาจแก้ไขกฎหมายอยู่ในมือ พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายผ่านการเลือกตั้งเข้าไปมีอำนาจรัฐ หาก สส. และพรรคก้าวไกล ไม่คิดสู้กับศาลรัฐธรรมนูญบ้างเลย ก็คงไม่เหลือใครที่พอจะยันกับศาลรัฐธรรมนูญได้ ในท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขยับกินแดน สถาปนาตนกลายเป็น "รัฐธรรมนูญ" 
 
การโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้ตั้งแต่ 1. วิจารณ์คำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา 2. ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย หรือตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาทั้งหมด 3. เสนอร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

4.เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม ตีกรอบมาตรา 49 มิให้รวมถึงการเสนอร่างกฎหมาย การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงสกัดขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติในทุกขั้นตอน เว้นแต่ การตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.ป.ภายหลังจากผ่านรัฐสภาและก่อนทูลเกล้าฯ เท่านั้น 

5. เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนที่มาและองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ 6. เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญได้ และ 7. เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน

ข้อ 4 พรรคก้าวไกลต้องผลักดัน พ.ร.บ.ที่มีความแหลมคมต่อไป ไม่หวั่นยุบพรรค

ปิยบุตร กล่าวว่า กล้าหาญผลักดันเสนอร่าง พ.ร.บ. อื่นๆ ที่แหลมคมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และอย่ากลัวเรื่องการยุบพรรคฯ ตัดสิทธิทางการเมืองจนไม่กล้าทำอะไร เอาตัวรอด หรือต่อให้รอดตอนนี้ อนาคตกลับมาทำอะไรที่แหลมคม เขาก็จัดการเราอยู่ดี การหมอบยอม ทำได้เพียงยืดลมหายใจและไปรอตายเอาดาบหน้าเท่านั้น
 
นอกจาก ร่าง พ.ร.บ.จำนวนมากที่พรรคก้าวไกลเสนอไว้ พรรคก้าวไกลอาจไปลองขบคิด พิจารณากันดูว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงความเป็นประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพิ่มเข้าไปอีก หรือไม่ เช่น พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

ข้อเสนอเรื่องการจัดการบริหารพรรคฯ

ปิยบุตร เสนอต่อในเรื่องการบริหารจัดการภายในพรรคการเมือง โดยข้อ 5 นั้นพรรคก้าวไกลต้องสร้างขวัญกำลังใจภายใน ก่อนหน้านี้ เขาได้รับทราบข่าวจาก สส.ในพรรคฯ หลายคนว่า ไม่ได้มีการเรียกประชุม เพื่อพูดคุยตระเตรียมทำความคิดในกรณีเกิดสถานการณ์เลวร้ายจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้เลย มีแต่เพียงการขบคิดคนไม่กี่คน ไม่มีการแจ้งคนอื่นๆ และไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

นักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่า แกนนำพรรคควรเรียกทุกหน่วย ทุกศูนย์ ของพรรค ประชุม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ หลอมรวมความคิด แสดงความเห็นแลกเปลี่ยน ปลุกเร้าการต่อสู้ ไม่ปล่อยไปตามยถากรรมให้ สส. และพนักงานอยู่เฉยๆ และรอการตัดสินใจของคนไม่กี่คน ไม่ใช่แนวทางที่จะหลอมรวมความคิดและพลังได้ 

สร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ไม่ตัดสินใจด้วยคนหยิบมือ

สุดท้าย ปิยบุตร เสนอต่อว่า พรรคการเมืองสร้างประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในพรรคฯ มิให้พรรคแตกแยก 

อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า สมัยก่อน การลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคฯ ตอนนั้น เขาใช้เวลาในการหลอมรวมความคิดให้เป็นเอกภาพ โดยการประชุมถึง 4 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง จนสุดท้ายมี ส.ส. 70 จาก 80 คน ลงมติไม่อนุมัติ ตามมติพรรคฯ 

ปิยบุตร แสงกนกกุล ในวันเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความขัดแย้งทางความคิดตามมา หลายคนไม่ต้องการไปต่อกับพรรคการเมือง หลายคนเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัย ก็แยกออกไปตามวิถีทาง

ปิยบุตร ระบุต่อว่า คาดการณ์ว่าประเด็นการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 (แก้แบบ Lite Version ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญท้วงมา) ประเด็นการต่อสู้ในประเด็นแหลมคมต่อไป และจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งทางความคิดรอบใหม่ อาจจะมีฝ่ายที่อยากให้หยุด ถอยก่อนรอเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งปี 2570 หรือบางคนอาจจะเสนอให้เดินหน้าต่อไป ยันเพดานข้อเรียกร้องทางการเมืองเอาไว้ 

ปิยบุตร มองว่า ต่างคนก็ต่างความคิด ไม่มีแบบไหนถูกหมด หรือผิดหมด คืออาจได้ หรืออาจเสีย และทุกคนรวมถึงโหวตเตอร์ก็มองเห็นต่างกันไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยให้ใครไม่กี่คนประเมินตัดสินใจกันไป และคนที่เหลือต้องมารับผิดชอบร่วมกัน 

ดังนั้น การประเมินในเรื่องนี้ที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก กระทบองค์กรเช่นนี้ ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่การเคาะกันไม่กี่คน และเมื่อผิดพลาดก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ 

สถานการณ์เช่นนี้ควรคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ และแสวงหามติร่วมกัน มีแต่วิธีแบบนี้ที่จะไม่ทำให้พรรคแตก 

ปิยบุตร เสนอให้มีการเปิดโอกาสให้คนในพรรคได้มีการรวมกลุ่ม สร้างแนวทางของกลุ่ม แข่งขันกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ว่าแนวทางไหนที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็ให้ขึ้นนำพรรคการเมือง พาพรรคการเมืองไปตามแนวทาง และเมื่อหมดรอบหรือไม่สำเร็จ ก็พ้นไป ให้กลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับความวางใจจากสมาชิกขึ้นมาต่อ 

หากทำเช่นนี้ได้ นอกจากจะไม่ทำให้พรรคแตกแยกแล้ว ยังทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นสถาบันทางการเมือง สอดคล้องกับพรรคการเมืองที่ควรเป็น มีการแข่งขันกันภายในพรรคว่าแนวทางแบบใดที่ครองอำนาจได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และมีโอกาสเปลี่ยนแนวทางการนำได้เสมอ 

อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ธรรมชาติของการเกิดขึ้นของพรรคแบบพรรคก้าวไกล ความเห็นแตกต่าง ไม่ได้ทำให้แตกแยก แต่ความเห็นที่มาจากการรวมเผด็จอำนาจของคนไม่กี่คนที่สั่งลงไป โดยไม่ให้คนอื่นๆ ได้โต้แย้งต่างหาก ที่จะกลายเป็นน้ำเดือดในการอวันระเบิด

อย่ามองโหวตเตอร์เป็นของตาย

ปิยบุตร ทิ้งท้ายว่า เขายืนยันว่า เขาไม่มีอำนาจไปสั่งให้พรรคก้าวไกล ปฏิบัติตามได้ แต่หวังว่าอยากให้เสียงสะท้อนเหล่านี้ถึง สส.ของพรรค และผู้บริหารพรรคฯ

ปิยบุตร ระบุว่า เขาไม่อยากให้พรรคก้าวไกลมองโหวตเตอร์ หรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองเป็นของตาย และไม่ว่าเราจะทำอย่างไร ประชาชนก็จะตัดสินใจเลือกอยู่ดี เพราะว่าประชาชนไม่เหลือทางเลือก ซึ่งนี่ขัดกับเจตจำนงค์ที่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาแต่ทีแรก 
 
"ผมไม่อยากเห็นพรรคก้าวไกล ...และคนในพรรคเพลิดเพลินกับกระแสสูง จนจมไม่ลง และเลิกคิดเปลี่ยนแปลง คิดแต่ว่าจะได้เป็น สส. เป็น รมต.เมื่อไร
 
"หากวันใดพรรคก้าวไกลและคณะนำพรรคคิดกันแบบนี้ ผมคงรู้สึกผิดบาป ต้องแสวงหาสิ่งเคารพส่วนตนสารภาพบาปว่าไม่น่าตั้งพรรคขึ้นมาเลย 
 
"ทุกวันนี้ผมยังเชื่อมั่นพรรคและคนในพรรค ไว้วันไหนผมหมดศรัทธากับพรรคและคนในพรรค ผมคงดีลีต (ลบ) ได้ และไม่สนใจมันอีกเลย" ปิยบุตร ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net