Skip to main content
sharethis

วาระครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา 'พันธมิตรชานม' จัดงาน #ม็อบชานมสันติภาพ ร่วมดื่มชานม แสดงจุดยืนเคียงข้าง-รับฟังเรื่องราวการต่อสู้ของชาวพม่า พร้อมส่งเสียงถึงรัฐไทย ต้องไม่ยอมรับ SAC เป็นรัฐบาล ไม่ทำธุรกิจกับเครือข่ายกองทัพ 'มินอ่องหล่าย'

 

3 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเมื่อ 1 ก.พ. 2567 ที่หน้าสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ถนนสาทร ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป กลุ่มพันธมิตรชานม ประเทศไทย (Milk Tea Alliance Thailand - MTAT) จัดงานวาระครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา ชื่อว่า "#ม็อบชานมสันติภาพ" ร่วมแสดงจุดยืนเคียงข้าง และฟังเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนเมียนมา

มีมี่ สมาชิกพันธมิตรชานม ประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้ #ชานมสันติภาพ ที่ตั้งชื่อนี้ เพราะว่าชานมเป็นสันติภาพทางวัฒนธรรม เราเน้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงการเคียงข้างประชาชนเมียนมา เช่น การแจกชานม ยำใบชา และก็มีการเขียนป้ายผ้า และมีการแทรกเรื่องการอ่านเรื่องราวของผู้หญิงและ LGBTQA+ ที่อยู่ในเมียนมา มีการอ่านแถลงการณ์

สำหรับเรื่องราว LGBTQA+ มีมี่ ระบุเสริมว่า เดิมทีอยากจะทำหนังสือการ์ตูน 'คอมมิก' มาแจกในงาน แต่ทำไม่ทัน น่าเสียดายมาก แต่เรื่องราวในคอมมิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง และ LGBTQ+ ที่ต้องทำงานในกองทัพร่วมกับผู้ชาย ซึ่งเขาจะถูกกดดัน ล่วงละเมิดทางเพศ ต้องอาบน้ำร่วมกับผู้ชาย และถูกทารุณ ส่วนตัวอยากจะเผยแพร่อีกทีในอนาคต

"หลักๆ คือการที่เรามากินชานมร่วมกัน และก็แสดงจุดยืนเคียงข้างกับเพื่อนเมียนมา" มีมี่ กล่าว

ชานมที่แจกในงาน (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ป้ายผ้าที่นำมาเขียนในงานสันติภาพชานม (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ทำไม PDF ต้องจับอาวุธสู้

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์สิทธิมนุษยชน มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวปราศรัยถึงเพื่อนๆ ของเขาที่เป็นชาวเมียนมา และกำลังทำการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร โดยใช้หลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกับการประท้วงอย่างสันติวิธี กลุ่มที่ทำงานด้านมนุษยธรรม กลุ่มศิลปินและนักดนตรีที่ต่อต้านเผด็จการพม่าผ่านศิลปะ แต่หนึ่งในกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มที่เข้าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF

ดนย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงเรื่องการต่อสู้ของกลุ่ม PDF หรือกลุ่มที่เลือกการต่อสู้ด้วยอาวุธ องค์กรสิทธิไม่สามารถช่วยเหลือในการต่อสู้ได้เลย เนื่องจากวิธีที่เขาเลือกใช้ แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ที่เขาต้องทำแบบนี้เพราะว่ายังไม่มีกลไกไหนในโลกคุ้มครองเขาจากความรุนแรงในเมียนมาได้

"ไม่ว่าจะเป็นกลไก UN กลไกอาเซียน หรือว่าที่ใดก็ตาม กลไกรัฐระหว่างประเทศ กลไกรัฐที่มีอยู่ไม่มีกลไกไหนที่ปกป้องเข้าได้จากเหตุการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่เขาทำได้คือจับปืนสู้ เพื่อปกป้องตัวเอง ปกป้องความเป็นพลเมือง หรือปกป้องเพื่อน" ดนย์ กล่าว

ชาวพม่าแค่ต้องการชีวิตกลับคืนมา

ดนย์ กล่าวต่อว่า หลายคนเป็นคนมีศักยภาพที่จะไปมีชีวิตใหม่ในประเทศโลกที่ 3 แต่เขากลับมาสู้อยู่ด่านหน้าของสมรภูมิรบ โดยขอยกตัวอย่างถึงเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนคนนี้อยู่ในสมรภูมิด่านหน้าของสงคราม เขาเป็นเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ กินมังสวิรัติ และดูเป็นคนไม่ได้อยากมีปัญหากับใคร เราถามเขาว่าที่มาต่อสู้เพื่อต้องการอะไร เขาแค่บอกว่า เขาต้องการชีวิตที่เรียบง่ายของเขากลับมา มันไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความรุนแรง แต่เขาสู้เพื่อชีวิต

(ซ้าย) ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

มันมีคำตอบอีกอันจาก PDF คือทุกคนที่สู้ทุกวันนี้สู้เพื่ออะไร เขาบอกว่า "We fight for love" หรือเขาสู้เพื่อความรักของประเทศชาติ รักในเพื่อนร่วมชาติ และเขาถอยไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันผ่านการประนีประนอม และการเจรจาต่อรองมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้เขาจะไม่ยอม เพราะว่าเขาสูญเสียมาเยอะมาก ถ้าต้องตายเขาขอให้จิตวิญญาณนี้ส่งต่อผ่านไปยังปัจจุบัน

"ผมอยากสรุปสั้นๆ ว่ารัฐบาลพม่าไม่เคยทำลายเจตนารมณ์ของชาวพม่าได้เลย ไม่เคยเลย เรื่องพวกนี้ยังคงถูกเปลี่ยนผ่านอยู่ในเพื่อนพม่า ไม่ว่าเขาอยู่ตรงไหนก็ตาม เขายังมีจิตวิญญาณการต่อต้านความไม่เป็นธรรมเหล่านี้"

"ในความคิดของเพื่อนพม่า พูดตามตรง เราคุยกันไม่มีใครคิดเลยว่าตัวเองจะแพ้ เขายังเชื่อว่า เขาชนะแน่นอน สักวันหนึ่ง ถึงมันจะช้าจะเร็วไม่รู้ แต่ทุกวันนี้เขาบอกว่า ไม่มีทางที่มันจะแพ้ ผมนับถือความคิดเขาตรงนี้มาก 

"เรื่องสุดท้าย ทุกอย่างที่เราเล่ามาทั้งหมด ไม่เคยมีใครในกลุ่มเลยที่มีความคิดร้ายกับรัฐบาลไทย หรือสังคมไทย ทุกคนพยายามอยู่ภายใต้สังคมไทยให้มันกลมกลืนที่สุด และไม่ต้องการรบกวน หรือสร้างปัญหาให้สังคมไทย พยายามอยู่อย่างเงียบที่สุด ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจ และอยากให้เป็นกำลังใจต่อเพื่อนๆ และอยากบอกว่าเนื้อแท้ของเพื่อนเรากลุ่มนี้ เขามีความคิดในเชิงสันติภาพ สิ่งที่เขาต้องการมันไม่มีอะไรต้องการไปกว่าสิ่งที่คนธรรมดาต้องการ เขาต้องการชีวิตที่เป็นปกติ และเรียบง่ายของเขากลับคืนมา" ดนย์ กล่าวทิ้งท้าย

กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวปราศรัยว่า บทบาทในสภาฯ ตอนนี้เขาทำเรื่องผู้ลี้ภัย บุคคลไร้รัฐและไร้สถานะ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เอาเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันเท่าที่ควร เราเห็นสถานการณ์ในพม่าที่เกิดขึ้น มีประชาชนพม่าลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย แต่เรายังไม่ยอมรับว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย แต่เป็นปัญหาของความมั่นคง ทำให้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

(กลาง) กัณวีร์ สืบแสง (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

หลังจากนั้น 'มีมี่' สมาชิกจากกลุ่มพันธมิตรชานม ได้มาแชร์เรื่องราวการคุกคามผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQA+) ในประเทศเมียนมา

ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย การอ่านแถลงการณ์ "ความพยายามล้มเหลวของรัฐบาลเมียนมา" และข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ถึงรัฐบาลไทย และนานาชาติ

  1. รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนที่เพียงพอต่อผู้พลัดถิ่น ชุมชนท้องถิ่น และผู้พลัดถิ่น ต้องอยู่ในความสามัคคี และอยู่รวมกันอย่างปลอดภัย
  2. การสนับสนุนด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เราขอเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไทยอนุญาตให้องค์กรประชาสังคม และองค์กรอื่นๆ ดำเนินโครงการเส้นทางเพื่อมนุษยธรรม เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเพื่อนประเทศพม่าที่ต้องการความช่วยเหลือ  ขณะเดียวกัน องค์กรหรือผู้ให้ทุนระหว่างประเทศจะต้องให้การสนับสนุนในรูปแบบที่เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้จริง เราเชื่อว่าการระดมทุนได้มากขึ้นนี้จะได้ส่งต่อไปยังองค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงพื้นที่รัฐบาลทหาร 
  3. ให้เอ็นจีโอนานาชาติเข้าถึงพื้นที่รัฐบาลทหาร และพื้นที่ชายแดน และเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายกเลิกการโจมตีพุ่งเป้าไปยังบุคลากรด้านมนุษยธรรม บุคลากรทางการแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านมนุษยธรรม 

(ขวา) ไฮยีนส์ (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

รู้จัก "ภาคีพันธมิตรชานม"

หลังจบงาน ผู้สื่อข่าวสัมภาาณ์ทางออนไลน์ ‘มีมี่’ และ ‘ไฮยีนส์’ สองนักกิจกรรม และสมาชิกจากพันธมิตรชานม หรือ Milk Tea Allaince ชาวไทย ระบุว่า การจัดกิจกรรมวันนี้เกิดจากเป็นวาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหารเมียนมา เราจึงอยากจังกิจกรรมเพื่อรำลึกและไม่ให้คนลืมว่ารัฐบาลทหารเมียนมาเขาพยายามรัฐประหาร ที่เราใช้คำว่า “รัฐประหาร” เพราะว่าเรามองว่าเขายังรัฐประหารไม่สำเร็จ หลายชาติพันธุ์พยายามทำสงครามกองทัพพม่า

ไฮยีนส์ ระบุว่า เราอยากให้กำลังใจพี่น้องชาวเมียนมา และอยู่เคียงข้างชาวเมียนมา ต่อต้านเผด็จการ ซึ่งไม่ได้แค่ในไทย แต่ในอีกหลายๆ ประเทศ สำหรับผู้ที่ถูกกดขี่จากเผด็จการ

สำหรับ Milk Tea Alliance มาจากการต่อต้านนโยบายจีนเดียว หรือการล่าอาณานิคมจากจีนโดยเฉพาะ พอในช่วงโควิด-19 เราได้มาคุยกันมากขึ้น คุยออนไลน์ และรวมกลุ่มกัน และเจอกันเมื่อปีที่แล้ว เราเลยตัดสินใจแบบจับต้องได้ อย่างชัดเจนจากหลายๆ ประเทศที่เริ่มแอ็กทีฟแล้ว ก็จะมีภาคีชานม ไต้หวัน ฮ่องกง เมียนมา และไทย สมาชิกที่เริ่มแอ็กทีฟมากๆ และเพิ่มเข้ามาคืออินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

มีมี่ เสริมว่า จุดยืนของ Milk Tea Alliance คือ 1. เราต้องการแสดงความสามัคคีร่วมกันในภาคี เพราะว่าคนเมียนมาในไทยไม่สามารถพูดเรื่องที่อ่อนไหว หรือประเด็นที่มันเป็นการโจมตีรัฐบาลโดยตรงได้ เราคิดว่าคนไทยที่สามารถพูดเรื่องนี้ควรทำหน้าที่ตรงนี้แทน และอีกเรื่องเพราะว่าถึงแม้ว่าประเทศพม่าเป็นเพื่อนบ้านเรา แต่คนไทยและเพื่อนมีมี่ มีความรู้เรื่องเมียนมาน้อยมาก การจัดม็อบครั้งนี้ ก็เป็นการทำให้คนตระหนัก และเข้าใจเรื่องราวในเมียนมามากขึ้น เราต้องรับฟังส่งต่อ ให้ความสำคัญกับประเด็นในพม่า 

(ขวา) มีมี่ (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

มีมี่ กล่าวต่อว่า 2. เราต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน 3. อันนี้สำคัญมาก เราต้องเรียกร้องไทยให้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่รับรองว่าเป็นรัฐบาลทางการ เพราะทหารพม่าไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากความชอบธรรม และก็สุดท้าย 4. เราต้องถอนตัวจากธุรกิจที่รัฐบาลทหารพม่าเข้าไปร่วมลงทุน หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อป้องกันการให้ทุนกองทัพพม่าทำสงครามในพม่า 

เมื่อสื่อถามว่าท้อหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ มีการเรียกร้องให้กลุ่มทุนไทยถอนการลงทุนออกจากเมียนมา เหมือนประเทศตะวันตก ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีความคืบหน้านักช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองคนตอบอย่างชัดเจนไม่ท้อ และมองว่าถ้าท้อกับเรื่องแค่นี้คงไม่มาทำกลุ่ม “Milk Tea Alliance”

แผนในอนาคต นักกิจกรรมทั้งสองคนระบุว่า อาจจะมีแผนไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยโดยตรง

"ไม่อยากใช้คำว่าพูดแทน แต่มองว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราควรทำ เพื่อเคียงข้างพี่น้องชาวพม่า 

"รัฐบาลไทยอยากฝากว่า รัฐบาลไทยต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เปิดทางให้ผู้ลี้ภัยและก็สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้ลี้ภัย และก็รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนรัฐบาลฝั่งเมียนมา รัฐบาลไทยต้องคืนความเป็นธรรมให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย และต้องส่งเสียงไปยังประเทศอื่นๆ เหมือนกัน อย่างเช่น ประเทศเมียนมาที่มีผู้ต้องขังทางการเมือง รัฐบาลไทยควรจะส่งเสียงร่วมกับเรา เพื่อปล่อยตัวพวกเขา" มีมี่ และไฮยีนส์ กล่าวทิ้งท้าย

ประชาชนชูป้ายรณรงค์ (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net