Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนองเข้าพบ กมธ.4 ชุดขอให้เข้าตรวจสอบการใช้พื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์ที่ไปกระทบที่ทำกินที่อยู่อาศัยคนในพื้นที่ ตัวแทนเครือข่ายฯ แจงโครงการไม่เชิญคนมีโฉนดร่วมฟังแนวทางเวนคืน มีการเอาชื่อคนร่วมประชุมหมู่บ้านไปสรุปว่าเห็นด้วยกับโครงการ เสนอประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและให้ทำประชาพิจารณ์

6 มี.ค.2567 เครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนอง เดินทางเข้าพบคณะกรรมาธิการของรัฐสภา 4 ชุด เพื่อยื่นข้อเสนอให้เข้าทำการตรวจสอบโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เช่น โครงการผ่านที่ดินทำกินหรือที่อยู่ของประชาชนคนใดบ้าง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้มีการทำประชาพิจารณ์  โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เครือข่ายยื่นข้อเสนอถึงได้แก่ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, ประธาน กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, ประธาน กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รสิตา ซุ่ยยัง ตัวแทนเครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนอง  กล่าวว่า ที่มายื่นถึงทั้ง 4 กมธ.วันนี้เพราะในพื้นที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้วก็ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไม่ถูกให้ความสำคัญทั้งเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่หากโครงการดำเนินไปก็อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องออกไปทำมาหากินที่อื่นหรือต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยผลัดถิ่นที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตอยู่แล้วหลังมีโครงการก็จะทำให้พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพวกเขายังไม่มีบัตรประชาชนเลย อีกทั้งประชาชนที่มีโฉนดที่ดินในพื้นที่ในส่วนท่าเรือและเส้นทางรถไฟของโครงการก็ไม่ถูกเชิญไปรับฟังรายละเอียดว่าพวกเขาจะได้รับการเวรคืนที่ดินอย่างไรแม้ว่าพวกเขาจะไปขอเข้าร่วมแต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมเพราะไม่มีหนังสือเชิญ

ตัวแทนยังกล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นจริงๆ บางพื้นที่มีแค่การเรียกประชุมหมู่บ้านแล้วก็เอาชื่อพวกเขาไปสรุปว่าเห็นด้วยกับโครงการ จึงอยากให้ กมธ.ช่วยตรวจสอบและแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะตอนแรกที่เห็นว่ามี กมธ.วิสามัญแลนด์บริดจ์ขึ้นมาแล้วจะได้มาช่วยตรวจสอบให้กับพวกเธอได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรหรือมารับฟังปัญหาไป

ทั้งนี้บนหน้าเพจของเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะมีการลงข้อเรียกร้องที่มีถึง กมธ.ไว้โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.โครงการทั้งหมด ทั้งที่ตั้งท่าเรือฝั่งระนอง และชุมพร เส้นทางรถไฟรางคู่รวมถึงมอเตอร์เวย์ และที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ จะต้องใช้เนื้อที่จำนวนเท่าไหร่ และเป็นพื้นที่ประเภทอะไรบ้าง และในส่วนของที่ทำกินและที่อยู่อาศัยได้มีการสำรวจอย่างชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าจะพาดผ่านที่ดินของใครบ้างจำนวนเท่าไหร กี่ราย และที่ดินเหล่านั้นมีลักษณะการถือครองกรรมสิทธิ์แบบไหน อย่างไร  และหากมีการเวนคืนที่ดิน หรือการชดเชยค่าเสียหายต่างๆ รัฐบาลมีการวางแผนที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ทั้งในกรณีที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ และไม่มีกรรมสิทธิ์ จะมีรูปแบบวิธีการจัดการที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้

2.มีการประเมินความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ทั้งที่เป็นป่าไม้ ป่าชายเลน แหล่งน้ำ ทะเลชายฝั่ง ทรัพยากรประมง และสัตว์ป่าไว้แล้วหรือไม่ อย่างไร และหากมีความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น จะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร

3.การจัดเวทีประชาคม ประชาพิจารณ์ หรือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ภายใต้โครงการศึกษาต่างๆ ได้มีการสอบถามหรือศึกษาข้อมูลความเสียหายหรือผลกระทบทั้งด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และกับระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net