Skip to main content
sharethis

โฆษกสำนักนายกฯ ระบุ รัฐบาลสั่งสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ 'พิธา-บก.ลายจุด' กล่าวว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าประกาศภัยพิบัติเป็นเพราะไม่มีงบเหลือแล้ว” เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนไม่สบายใจ หากพิธา-บก.ลายจุด มีหลักฐานส่งมาให้รัฐบาลได้ พร้อมชี้แจงเพิ่มงบกลาง 272 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติไปเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2567 เพื่อจ้างงานชั่วคราวจัดตั้งชุดเฝ้าระวังไฟป่าเฉพาะกิจ 2,500 ชุด ระยะสั้น 3 เดือน ตอนนี้งบไปถึงกระทรวงทรัพย์ฯ แล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา คาดภายในสัปดาห์นี้สามารถเริ่มนำงบไปใช้จ่ายได้

 

18 มี.ค. 2567 เดอะสแตนดาร์ด รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีคลิปวิดีโอการเผยแพร่ภาพสดการดับไฟป่าของพรรคก้าวไกลกับมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้พูดคุยกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าประกาศภัยพิบัติเป็นเพราะไม่มีงบเหลือแล้ว เพราะงบภัยพิบัติเป็นงบที่ทดลองจ่ายให้กับบริษัทที่รออยู่แล้ว งบจังหวัดเป็นเงินทอน ดังนั้นพอเกิดภัยพิบัติจริงเลยไม่มีงบเหลือแล้ว”

พิธา (เสื้อขาว) - บก.ลายจุด (เสื้อดำ)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจึงชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวดังนี้

รัฐบาลได้สั่งให้มีการตรวจสอบแล้วต่อกรณีดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น กล่าวคือ 1. ที่ว่างบภัยพิบัติเป็นงบทดลองจ่ายให้กับบริษัทที่รออยู่แล้วนั้น เป็นงบทดรองจ่ายเรื่องอะไร ทำไมต้องเอางบภัยพิบัติไปจ่าย จ่ายให้กับบริษัทอะไร จ่ายไปเป็นเงินเท่าไร บริษัทรออะไรอยู่ และ 2. ที่ว่างบจังหวัดเป็นเงินทอนนั้น เป็นเงินทอนค่าอะไร ทอนให้ใคร อย่างไร ยอดเงินทอนทั้งหมดเท่าไร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและเป็นการสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ขอความกรุณาสมบัติได้โปรดให้ข้อมูลรายละเอียดตามประเด็นข้อสงสัยที่ 1. และ 2. ข้างต้น พร้อมส่งมอบหลักฐานตามคำกล่าวหาที่ปรากฏอยู่ในบทสนทนาของท่านกับพิธาให้กับทางรัฐบาล โดยสามารถส่งมอบผ่าน สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง จะเป็นพระคุณยิ่ง

โฆษกรัฐบาลย้ำว่า หากตรวจสอบแล้วว่าเรื่องนี้มีหลักฐานเชื่อถือได้ว่าเป็นเรื่องจริง รัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย ตรวจสอบดำเนินการโดยเด็ดขาดทันที ขอขอบคุณประชาชนทุกฝ่ายที่ได้แจ้งเบาะแสที่น่าสงสัยมายังรัฐบาลว่าอาจมีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสในการแก้ไขปัญหาดับไฟป่า-ลดฝุ่นควันอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับความถูกต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงานเป็นที่ตั้ง หากมีการระบุมูลเหตุที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจแก่ประชาชน รัฐบาลพร้อมตรวจสอบ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนสบายใจ เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง” ชัยกล่าว

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้โพสต์ข้อความแถลงเกี่ยวกับการดับไฟป่าและงบประมาณเพิ่มเติมผ่านทางเฟซบุ๊ก “ชัย วัชรงค์ - Chai Wacharonke” ระบุว่า ปกติภารกิจในการดับไฟป่านั้น จะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบกันดังนี้

1. ไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบในการเฝ้าระวังและดับไฟป่าไปให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่มานานหลายปีแล้ว งบประมาณที่ใช้หลักๆก็จะมาจาก มท. ส่วนทางกรมป่าไม้ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนอีกชั้นหนึ่ง

2. ไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในส่วนนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณให้

ปกติเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า (ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยงานไหน) ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่แล้ว จะมีรอบของการเบิกค่าจ้างและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในทุกๆ 2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะรู้และเข้าใจวิธีการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินของทางราชการดีอยู่แล้ว ยกเว้นผู้ปฏิบัติงานชั่วคราวที่ถูกจ้างมาทำหน้าที่เฉพาะกิจ เวลาจะทำเรื่องขอเบิกจ่ายค่าจ้างอาจจะมีปัญหาขลุกขลักบ้างในขั้นตอนของทางราชการ

งบกลาง 272 ล้านบาทที่ ครม. เพิ่งจะอนุมัติไปเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2567 เพื่อจ้างงานชั่วคราวในการจัดตั้งชุดเฝ้าระวังไฟป่าเฉพาะกิจจำนวนราวๆ 2,500 ชุด ระยะเวลา 3 เดือน นั้น บัดนี้เงินงบประมาณได้ไปถึงกระทรวงทรัพย์ฯแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค. คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถเริ่มนำไปใช้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผู้ปฏิบัติงานชั่วคราวในกลุ่มนี้ เมื่อถึงรอบการเบิกจ่ายค่าจ้าง อาจจะมีบางท่านที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอในการเบิกจ่ายเงินหลวง ดังนั้น ในระยะต้นๆอาจจะมีปัญหาขลุกขลักเกิดขึ้นได้บ้าง

การไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วได้ข้อมูลว่า เงินยังไม่ถึงมือนั้น อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้

1.การเบิกจ่ายเงินของราชการนั้น มีรายละเอียดแบบฟอร์มที่ต้องกรอกและมีหลักฐานที่ต้องแนบ เจ้าหน้าที่บางท่านอาจจะทำเรื่องไม่ครบตามระเบียบของทางราชการ ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้าได้

2.หากไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดับไฟป่าอยู่แล้ว (เพราะโอนไปให้ท้องถิ่นแล้ว) เขาก็ต้องตอบว่า ไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างในการดับไฟป่าเลย ถ้าคนถามไม่รู้มาก่อนว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการดับไฟป่า ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า ทำไมเม็ดเงินจึงไม่มาถึงมือของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net