Skip to main content
sharethis
  • สรุปวงพูดคุยจากงานเปิดนิทรรศการ "A Closer look at Myanmar urban poor" บอกเล่าเรื่องราวของคนจนเมืองในเขตอุตสาหกรรม 'หล่ายตายา' ชานเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ที่กำลังเผชิญภาวะความไม่มั่นคง เนื่องจากถูกไล่รื้อที่หลัง รปห.ปี'64
  • บทเรียนจากวงพูดคุยคือพลังการรวมตัวกันเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อความอยู่รอดของคนในชุมชน และเพื่อบรรลุความฝันของการมีที่ดินทำกิน คุณภาพชีวิตที่ดี และมีสิทธิมนุษยชน

 

16 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 16.37 น. ที่ Hope Space ซอยกรุงธนบุรี 4 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ สรุปวงพูดคุยกับภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนจนเมืองในเมียนมา "ภาวะความเป็นจริงทางสังคม การเมืองของชุมชนคนจนเมืองในเมียนมาก่อนและหลังรัฐประหาร" 

วงสนทนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดนิทรรศการภาพถ่าย ศิลปะแบบจัดวาง และสารคดี หัวข้อ "A Closer look at Myanmar urban poor" จัดโดย Hope space มูลนิธิเสมสิกขาลัย ร่วมด้วยกลุ่มภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิคนจนเมืองเมียนมา 'เบดาร์' (Bedar) บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของคนจนเมืองในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม 'หล่ายตายา' (Hlaingthaya) ชานเมืองย่างกุ้ง ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิตและสถานการณ์หลังประหารปี 2564 ที่พวกเขาถูกกองทัพพม่าไล่รื้อที่ดิน 

ก่อนวงพูดคุยมีการฉายสารคดีสั้น เรื่อง "Home Erased, Home Imagine" กำกับโดย 'หม่องเดย์' (Muang Day) 'โบเค็ต' (Bo keh) แกนนำภาคประชาสังคม กล่าวว่า สารคดีเรื่องนี้บันทึกเรื่องราวของคนจนเมืองหลังรัฐประหารเป็นต้นมา คนจนเมืองเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง นอกจากนี้ ในสารคดีจะฉายให้เห็นถึงความฝันและความหวังของพวกเขาอีกด้วย

โดยสารคดีครั้งนี้ฉายครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มาฉายที่กรุงเทพฯ ซึ่งเขาดีใจมากๆ ที่ได้เป็นกระบอกเสียงให้คนจนเมืองของเมียนมา 

หม่องเดย์ ผู้กำกับสารคดีสั้น กล่าวว่า เขาเชื่อว่าการผลักดันหรือขับเคลื่อนปัญหาสังคมสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการนำเสนอผ่านงานศิลปะ เพราะฉะนั้น เขาจึงลองนำเสนอผ่านสารคดี และผลงานนิทรรศการ 

สารคดีสั้น เรื่อง "Home Erased, Home Imagine"

สำหรับนิทรรศการศิลปะแบบจัดวาง (ตั้งอยู่ชั้น 3 ของอาคาร Hope Space) มีการจำลองบ้านของคนจนเมืองในเขตอุตสาหกรรมหล่ายตายา โดยใช้วิธีการ รูปแบบ วัสดุการสร้าง แบบเดียวกันกับที่พม่า 

 

บ้านจำลอง ถอดแบบมาจากบ้านคนจนเมืองเมียนมา ในเขตอุตสาหกรรม หล่ายตายา ชานเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา จัดแสดงในงาน "A Closer look at Myanmar urban poor" ที่ Hope Space ตั้งแต่วันที่ 16-30 มี.ค. 2567

เดิมทีทีมผู้สร้างตั้งใจจะนำบ้านจำลองตัวนี้ไปจัดแสดงตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในเมือง เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิของคนจนเมือง และไม่อยากให้เรื่องราวของพวกเขาหายไปจากสังคม แต่หลังรัฐประหาร ไม่สามารถทำตามแผนเดิมได้ เลยต้องหาทางเผยแพร่ในรูปแบบอื่นๆ

เรื่องราวของคนจนเมืองในหล่ายตายา นครย่างกุ้ง เป็นใคร

จุดเริ่มต้นของคนจนเมืองในเขตเศรษฐกิจหล่ายตายา มีจุดเปลี่ยนมาจากเมื่อปี 2541 เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติพายุไซโคลนนากิสพัดถล่มประเทศเมียนมา ประชาชนที่อาศัยในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ประสบปัญหาอุทกภัย และสูญเสียที่ดินทำกิน จึงเลือกอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรม 'หล่ายตายา' นอกเมืองย่างกุ้ง ที่มีความต้องการด้านแรงงานในโรงงานสูง โดยเฉพาะแรงงานด้านการก่อสร้าง

ทั้งนี้ คนที่เข้ามาอยู่ในชุมชนแออัดในเขตหล่ายตายา ไม่ได้มีเพียงคนจากที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี แต่มีคนจากรัฐยะไข่ (ตะวันตกของเมียนมา) คนจนในเมืองย่างกุ้งที่ออกมาอยู่ชุมชนแออัด ไปจนถึงคนจากภูมิภาคสะกาย นอกจากนี้ มีกรณีที่ชาวบ้านถูกแย่งยึดที่ดินทำกินเพื่อนำไปทำโครงการพัฒนาหรือก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐเช่นการทำเขื่อน 

ปัจจัยที่ทำให้อพยพเข้าเมือง 

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้หลายคนอพยพเข้าเมือง เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างในเมีอง และต่างจังหวัด คนต่างจังหวัดไม่มีงานทำ เขาก็จะอพยพเข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ไปจนถึงหาโอกาสทางการศึกษา

บรรยากาศการพูดคุยและการนำเสนอสถานการณ์คนจนเมืองเมียนมา หลังรัฐประหารปี 2564 โดยกลุ่มเบดาร์ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Hope Space)

คนที่เข้ามาทำงานในหล่ายตายา ไม่มีเงินเช่าห้อง เขาเริ่มสร้างที่พักพิงโดยใช้วัสดุชั่วคราว เช่น สังกะสี ไม้ไผ่ และอื่นๆ และเริ่มรวมกลุ่มเป็นชุมชนแออัดบนพื้นที่สาธารณะ โดยเริ่มแรกคนที่เข้ามาอยู่จะเป็นลูกหลาน ตอนหลังพวกเขามีการพาครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยทำให้ชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้น

"เมื่อย้ายเข้ามาในเมืองก็ไม่มีความพร้อมที่จะรับผู้อพยพใหม่ ทำให้ต้องอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ได้ จนมีการสร้างเป็นชุมชน กระจายกันอยู่ สร้างกันอยู่ จนมาเป็นชุมชนแบบนี้" โบเค็ต กล่าว

สถานการณ์ก่อนการทำรัฐประหาร 

ในชุมชนแออัดมีคนอยู่ประมาณ 100 ครัวเรือน แต่เนื่องด้วยเป็นคนจนเมืองก็จะไม่ได้ยอมรับจากรัฐบาล และก็จะเข้าไม่ถึงสวัสดิการและสาธารณูปโภคต่างๆ การประปา ไฟฟ้า หรือการจัดการขยะ ทำให้พวกเขาต้องทำกันเองหมด

คนที่นี่ประกอบอาชีพส่วนใหญ่มีตั้งแต่การเลี้ยงหมูขายกันในชุมชน ขายน้ำบาดาล ขายแบตเตอรีให้เช่า เพราะบางคนที่มีเงินเขาจะเอาแบตฯ ไปใช้กับเครื่องปั่นไฟ บางครอบครัวใช้พื้นที่หน้าบ้านขายของหรือบางคนทำกับข้าวเอาไปขายที่โรงงาน บางคนรับงานมาทำที่บ้าน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว

การอยู่ในชุมชนแออัด สมาชิกชุมชนมักมีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิด และใช้ระบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่าง ถ้าบ้านนี้สามี-ภรรยาไปทำงาน พวกเขาก็สามารถขอให้เพื่อนบ้านช่วยเลี้ยงดูลูกๆ หรือผู้สูงวัยได้ และมีความปลอดภัยในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ชุมชนแออัดต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้ประกอบการธุรกิจ หรือโรงงาน เนื่องจากพวกเขามองว่าการพัฒนาพื้นที่ต้องไม่มีชุมชนแออัด ทางกลุ่มภาคประชาสังคม 'เบดาร์' จึงเริ่มลงพื้นที่ เพื่อไปทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเขตหล่ายตายาได้ 

ยกตัวอย่าง การจัดการขยะ กลุ่มเบดาร์ เคยติดต่อทางเทศบาลให้ช่วยมาเก็บขยะในชุมชน แต่ช่วงแรกถูกหน่วยงานรัฐต่อต้านเพราะมองว่าไม่ได้เป็นชุมชนที่ทางการยอมรับ ถ้าต้องการให้รถ 1 คันมาเก็บขยะ ต้องเสียค่าใช้จ่าย 45,000 จั๊ตต่อคัน ราคานี้สำหรับคนในชุมชนถือว่าแพงมาก แต่ทางชุมชนก็พยายามจ่ายเงินให้เทศบาลเข้ามาเก็บขยะอย่างต่อเนื่อง จนทางการเห็นความพยายาม จึงเริ่มส่งรถเก็บขยะเข้ามาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

อีกกรณีคือในช่วงไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาดหนักในเมียนมา (ช่วง 2563-2564) ทางชุมชนก็มีการทำอาหารแจกจ่ายภายในชุมชน และมีการป้องกันการแพร่ระบาด ก็ทำให้ชุมชนผ่านช่วงเวลาอันหนักหน่วงนี้ได้

จุดเปลี่ยน การไล่รื้อหลังรัฐประหาร 2564 

ก่อนหน้านี้ชุมชนแออัดเคยถูกภาครัฐไล่ที่ตั้งแต่ก่อนทำรัฐประหารปี 2564 แต่ในช่วงเวลารัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ แกนนำชาวบ้านก็มีช่องทางในการเจรจา ทำให้ชุมชนแออัดอยู่รอดมาได้ แต่หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 และกองทัพพม่าขึ้นมาปกครองประเทศ ทางภาครัฐมีการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการเข้ามารื้อถอนชุมชน และไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนได้เจรจาต่อรอง มีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ อย่างรถแบคโฮ หรือรถเครน เข้ามารื้อทำลายบ้านเรือนในชุมชน

ในพื้นที่สลัมจะมีทั้งพื้นที่รัฐ และเอกชน ซึ่งพื้นที่ที่ไล่รื้อสำเร็จพื้นที่แรกๆ เป็นพื้นที่รัฐบาล พอทางเอกชนเห็นว่า รัฐบาลทำได้ เขาก็เริ่มใช้วิธีลักษณะเดียวกันคือการจ้างทหาร และใช้เครื่องจักรใหญ่ ในการไล่รื้อชาวบ้านออกไป ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาเล่าถึงเรื่องคนจนเมืองในเมียนมา

คาดกองทัพไม่ชอบที่ชาวบ้านออกมาต่อต้าน รปห. 

กองทัพพม่าอ้างว่าที่ต้องไล่รื้อคนจนเมืองออกไป เพื่อความปลอดภัยของประเทศ แต่ชาวพม่าที่มาแลกเปลี่ยนในวงเสวนามองว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่า เนื่องจากคนในชุมชนแออัดในเขตหล่ายตายา มีบทบาทในการออกมาชุมชนและต่อต้านการทำรัฐประหาร กองทัพพม่าคงเห็นว่าจำเป็นที่ต้องจัดการคนกลุ่มนี้

ทั้งนี้ เคยมีการปราบกลุ่มผู้ประท้วงในเขตหล่ายตายา เมื่อ 14 มี.ค. 2564 หลังการทำรัฐประหารเพียง 2 เดือน เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 59 ราย

ขณะที่ตัวแทนผู้มาเข้าร่วมเสวนา ระบุว่า ผู้เสียชีวิตอาจจะมากเกินร้อยราย และสำนักข่าวอิรวดี ระบุเลยว่าเป็นการสลายการชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในห้วงเวลานั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ผลกระทบจากชาวบ้านหลังรัฐประหารปี 2564 

ผลกระทบหลังรัฐประหาร และหลังถูกไล่รื้อที่ดิน คนในชุมชนที่อยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็ต้องกระจัดกระจายออกไปคนละทิศคนละทาง ต้องสูญเสียอาชีพและพื้นที่ทำกินของตัวเอง และมีปัญหาเรื่องการปรับตัวในพื้นที่ใหม่ๆ

ชาวบ้านต้องไปเช่าห้องในเมือง ซึ่งมีราคาสูง แต่พื้นที่คับแคบ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 65,000 จั๊ต และมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่เพียง 4 คนต่อห้อง ถ้ามีคนมาเพิ่มต้องจ่ายเพิ่ม บางครอบครัวอยู่เกิน 4 คน จ่ายไม่ไหว ก็ต้องส่งลูกหลานกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด

ผู้เข้าร่วมเสวนาอีกรายหนึ่ง แบ่งปันประสบการณ์ว่า เมื่อก่อนครอบครัวของเธอทำงานกัน 2 คน โดยเธอและสามีช่วยกันทำงาน และฝากลูกไว้กับเพื่อนบ้านหรือสมาชิกชุมชน แต่พอความเป็นชุมชนหายไป และต้องย้ายมาอยู่ในห้อง สามีทำงานได้แค่คนเดียว ส่วนตัวเธอเองต้องอยู่ที่ห้องดูแลลูก ก็ทำให้รายได้ในบ้านลดลง

ภาพถ่าย ชุมชนคนจนเมืองในเมียนมาจัดแสดงภายในงานนิทรรศการ "A Closer look at Myanmar urban poor"

รายได้อาจจะไม่ได้ลดลงมากนักสำหรับชาวบ้าน เดิมพวกเขาได้รายได้ต่อวันอยู่ที่ 15,000 จั๊ตต่อวัน แต่หลังรัฐประหารเหลือเพียง 12,000 จั๊ตต่อวัน (อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ณ ปัจจุบัน ประมาณ 204 บาท) ถ้าอยากได้ 15,000 บาทต่อวัน ก็ต้องทำงานในเมือง ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางเพิ่มเติม แต่ที่สร้างความลำบากจริงๆ คือเรื่องของค่าครองชีพและค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ข้าวสาร 1 กระสอบ เดิมราคาเพียง 30,000 จั๊ต แต่ตอนนี้ราคาข้าวสารต่อ 1 กระสอบ เพิ่มขึ้นเกิน 3 เท่าตัว โดยราคาอยู่ที่ 90,000-100,000 จั๊ต

เมื่อรายจ่ายสวนทางมากกว่ารายได้ คนจนบางส่วนก็ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงเริ่มต้นที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่สามารถจ่ายคืนได้ เจ้าหนี้จะส่งอันธพาลมาตามทวงเงิน

นอกจากนี้ ค่าเช่าต้องจ่ายให้ตรงเวลาทุกวันที่ 5 ของเดือน ถ้าจ่ายไม่ได้ ก็ต้องย้ายออกจากห้อง บางคนต้องไปหาเช่าห้องนอกพื้นที่ พื้นที่ที่ไกลจากตัวเมือง หรือไกลจากสถานที่ทำงานออกไปเรื่อยๆ บางรายหาห้องเช่าไม่ได้ เพราะว่าสมาชิกครอบครัวเยอะก็ต้องไปอาศัยอยู่ข้างถนน

การปรับตัวและต่อสู้ของคนจนเมืองเมียนมา

การปรับตัวหลังการทำรัฐประหาร เบดาร์ ในฐานะภาคประชาสังคม พยายามประสานงานให้คนในชุมชนแออัดเดิมพยายามกลับมารวมกลุ่มกัน แม้ว่าจะยากลำบากเพราะแต่ละคนกระจัดกระจายคนละที่ อีกทั้ง กองทัพพม่าพยายามขัดขวางด้านการสื่อสารหรือการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อให้การลุกฮือต่อต้านเกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจากชุมชนแออัดเดิมสามารถรวมตัวกันได้ และมีการเริ่มรวมกลุ่มทำกองทุนเพื่อช่วยเหลือชุมชนหลายรูปแบบ อย่างธนาคารข้าวสารเพื่อจำหน่ายข้าวสารราคาถูกภายในชุมชน โดยจะมีการไปรับข้าวสารและเอาไปเข้าโรงสีด้วยตัวเอง เพื่อลดต้นทุน และสามารถขายในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำกองทุนกู้เงินฉุกเฉินเพื่อค่าเช่าบ้านและการรักษาพยาบาล โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในราคาที่ชาวบ้านจ่ายคืนได้ หลีกเลี่ยงการพึ่งพิงหนี้นอกระบบ

ผู้ร่วมเสวนาจากพม่า ระบุว่าตอนแรกเขาก็กังวลว่า ชาวบ้านจะคืนเงินไหวรึเปล่า แต่ปรากฏว่าชาวบ้านสามารถทำได้ และทำให้โครงการนี้สามารถดำเนินการต่อได้เรื่อยๆ ตอนนี้ครบ 1 ปีแล้ว ส่วนเงินปันผลก็เอาไปช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามกลางเมือง

เมื่อถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้โครงการนี้ยังดำเนินต่อไปได้ โบเค็ต ระบุว่าเป็นเรื่องความเชื่อใจและพลังของการรวมกลุ่มกัน

การรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ การต่อสู้ภายใต้เงารัฐประหาร 

โบเค็ต กล่าวว่า การทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนจนเมืองของกลุ่มเบดาร์ มีเป้าหมาย 3 เป้าหมายหลัก ประการแรก คือว่าความปลอดภัยทางด้านที่ดินและที่อยู่ ประการที่สอง การพัฒนาชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งไม่ได้แค่ได้ที่ดินและที่อยู่ แต่คนในชุมชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี และข้อสำคัญ คือความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ได้มีแค่คนจนเมือง แต่เป็นคนทั่วประเทศ

โบเค็ต (Bo keh)

อย่างไรก็ตาม เบดาร์ มองว่า ทุกอย่างนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าพวกเขาไม่เริ่มจากรวมพลังกันสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิฯ ของพวกเขาเอง

"นี่เป็นเหตุผลว่าหลังรัฐประหาร ทำไมเราต้องรวมกลุ่มกัน และเราต้องเรียกร้องสิทธิของเรา และความเป็นธรรมของเรา ถ้าเราไม่ทำตอนนี้มันก็คงไม่มีประโยชน์ และเราก็อาจไม่ได้รับอีก 2 ข้อด้านบน (ผู้สื่อข่าว - สิทธิทื่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น) ที่ตั้งเป้ากันไว้" โบเค็ต ทิ้งท้าย

สำหรับผู้สนใจเรื่องราวของคนจนเมืองพม่าหลังรัฐประหาร นิทรรศการชุด"A Closer look at Myanmar urban poor" ประกอบด้วย นิทรรศการภาพถ่าย, ศิลปะการจัดวาง, ภาพยนตร์สารคดีสั้น "Homes Erased, Homes Imagined" จัดแสดงที่ Hope Space ซอยกรุงธนบุรี 4 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 16-30 มี.ค. 2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net