Skip to main content
sharethis

'สมยศ' ยื่นหนังสือถึงฝ่ายค้าน ฝากอภิปรายทั่วไป ระหว่าง 3-4 เม.ย. 67 ตรวจสอบการทำงานรัฐบาล 3 ประเด็น ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เบี้ยผู้สูงวัย และเงินชดเชยเยียวยาลูกจ้างถูกลอยแพ ด้าน 'เซีย' ก้าวไกล ยินดีนำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนไปตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร

 

21 มี.ค. 2567 ยูทูบ The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (21 มี.ค.) สมยศ พฤกษาเกษมสุข สมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และตัวแทนแรงงาน ยื่นหนังสือถึง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อยื่นประเด็นปัญหาต่างๆ ให้พรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน ไปใช้อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันที่ 3-4 เม.ย. 2567 นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน โดยมี อภิชาติ ศิริสุนทร และเซีย จำปาทอง จากพรรคก้าวไกล เป็นผู้รับมอบหนังสือ

สมยศ กล่าวว่า เขาฝากเสนอว่า เรื่องแรก เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยหาเสียงว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทภายใน 2570 แต่พอรับตำแหน่ง ก็บอกว่าจะมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศภายใน พ.ย. 2566 แต่ล่าสุดกระทรวงแรงงานบอกว่าทำไม่ได้ แต่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประกาศใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2567 ไม่เท่ากันทั่วประเทศ โดยมากสุดอยู่ที่ 370 บาท คือ จ.ภูเก็ต จังหวัดเดียว จากนั้น ก็ลดหลั่นกันมาโดยคำนวณจากค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นการพูดแล้วแต่ทำไม่ได้

สมยศ พฤกษาเกษมสุข (ถ่ายโดยสหภาพคนทำงาน)

แกนนำ 24 มิถุนาฯ กล่าวต่อว่า วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยสัญญาเอาไว้ว่าจะมีนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600 บาทเป็น 1,000 บาท แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ จึงอยากให้มีการลงรายละเอียดเวลาให้ชัดเจนว่าจะเพิ่มเมื่อไร โดยสมยศ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เสนอว่าอยากให้ยึดเอาฤกษ์วันมหาสงกรานต์ในเดือน เม.ย. 2567 หรือวันครอบครัวในการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 

สมยศ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 เนื่องด้วยอดีตพนักงาน 3 บริษัท ประกอบด้วย บอดี้แฟชั่น เอเอ็มซีสปินนิ่ง และอัลฟ่าสปินนิ่ง ถูกนายจ้างลอยแพและไม่ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชยเลิกจ้าง มานานตั้งแต่ปี 2562 รวมมูลค่า 209 ล้านบาท แต่ทางพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กลับปล่อยปละละเลยไม่ยอมดำเนินคดีกับนายจ้าง ถือว่าบกพร่องอย่างแรง 

สมยศ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้อดีตพนักงานทั้ง 3 บริษัท เคยไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้รับบันทึกข้อตกลงว่าให้มีการอนุมัติเพิ่มเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง และจะมีการส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาอนุมัติงบประมาณกลางมาจ่ายเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนลูกจ้างก่อน และให้ภาครัฐไปติดตามเงินจากนายจ้าง แต่ข้อตกลงนี้กลับถูกเพิกเฉย ซึ่งหมายความว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตระบัดสัตย์ และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง 

แกนนำกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่าที่มายื่นหนังสือวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้ไม่ได้มีแค่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ แต่นายกรัฐมนตรี รมว.พม. และ รมว.แรงงาน ควรถูกสอบจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อภิปรายไม่ไว้วางใจ และถูกปรับคณะรัฐมนตรี เพราะว่าทั้ง 3 คนถือว่าโกหกหลอกลวง ผิดศีลธรรม ไม่ดูแลหน้าที่ และสร้างความเสียหายให้บ้านเมือง 

"วันนี้จึงมาเพื่อให้มีการตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงแรงงาน ความเห็นของผมอภิปรายทั่วไปไม่พอ จริงๆ แล้ว ต้องปรับ ครม. หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเราถือว่าการโกหกหลอกลวง ผิดศีลธรรม สร้างความเสียหายให้บ้านเมือง และไม่ดูแลหน้าที่" สมยศ ทิ้งท้าย

รายละเอียดหนังสือ

ที่มา สหภาพคนทำงาน

ก้าวไกล ยินดีรับไปอภิปราย เพราะเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร

ด้าน เซีย จำปาทอง รองกรรมาธิการการแรงงานคนที่ 3 จากพรรคก้าวไกล กล่าวหลังรับหนังสือ ระบุว่า ประเด็นที่ประชาชนได้ยื่นมา เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่ต้องผลักดันเรื่องเหล่านี้อยู่ 

เซีย จำปาทอง (ถ่ายโดยสหภาพคนทำงาน)

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ พรรคก้าวไกลมีการตั้งคำถามหลายรอบว่า พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และการผลักดันค่าจ้าง 600 บาทต่อวันในปี 2570 คงเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นแค่ 16-10 บาท ดังนั้น มันจึงยาก และต้องขึ้นอีกประมาณ 24 ครั้ง ช่วงระยะเวลา 3 ปี ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องไปตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า ทำยังไงให้นโยบายที่เคยหาเสียงกับประชาชนไว้ มันเป็นจริงตามที่หาเสียง

ต่อมา เรื่องบำนาญ ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลเคยยื่นเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าเข้าไปแล้ว แต่เนื่องด้วยเป็นร่างการเงินจึงยังอยู่บนโต๊ะนายกฯ ก็อยากฝากสื่อและประชาชนถ้าเจอนายกฯ ฝากถามว่า พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐาน ของพรรคก้าวไกลที่เสนอไป เมื่อไรจะเซ็นรับรอง เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เซีย กล่าวว่า เรื่องสุดท้าย เรื่องอดีตพนักงาน 3 บริษัท พนักงานกระทรวงแรงงานต้องเอาจริงเอาจังกับนายจ้างที่เลิกจ้าง และลอยแพไม่ดูแล ในฐานะรอง กมธ.คนที่ 3 เห็นว่าปัญหานี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนเอาเรื่องนี้มาร้องเรียนที่ กมธ.มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้ารัฐไม่ต้องการให้เรื่องนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐต้องดำเนินคดีกับนายจ้างอย่างจริงจัง

"เราจะไม่เพิกเฉยและข้อเรียกร้องของกลุ่ม 24มิถุนาฯ ข้อเรียกร้องของพี่น้องแรงงานที่มา อยากให้เราได้ตั้งคำถามและตรวจสอบรัฐบาล เรายินดีทำหน้าที่อย่างเต็มที่" เซีย กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ บรรยากาศการยื่นหนังสือถึงพรรคก้าวไกลแล้ว ตัวแทนที่มายื่นหนังสือได้นำเพลงมาร้องฝากถึงสื่อมวลชนและรัฐบาล สะท้อนปัญหาปากท้อง และผลักดันนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน เนื้อเพลงที่น่าสนใจคือการระบุถึงงบประมาณกองทัพไทยที่มีมากมาย ควรนำมาแบ่งเป็นเบี้ยให้คนชรา 

เนื้อเพลง

ข้าวของก็แพง ค่าแรงไม่ไหว 

เจ็บป่วยไข้จะเอาที่ไหนมาคอยดูแล 

ครอบครัวทั้งพ่อและแม่ หากไม่คิดดูแลก็คงแย่แล้วเราทุกคน

โอ้รัฐบาลงบประมาณมากมาย ท่านช่วยได้ แต่ทำเป็นไม่สน

ให้ทหารมากมายเสียจน อัตราของนายพลมีมากจนล้นในกองทัพไทย

ควรคิดพินิจให้ดี เบี้ยเลี้ยงคนชราจะใช้ยังไงให้ไหว 

โอ้ รัฐบาลจ๋า โปรดหันมาทบทวนกันใหม่ 

เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมได้ไหม แบ่งปันมาให้ช่วยคนชรา 

ข้าวของก็แพง ค่าแรงไม่ไหว 

ประเทศไทยจะอยู่ต่อไปยังไงเล่าหนา 

ถ้าใครไม่เห็นคุณค่า 

เบี้ยเลี้ยงคนชราจะถูกตราหน้าว่าเนรคุณประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net