Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย จัดงานบุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน และภูเหล็ก ครั้งที่ 15 รำลึก 10 ปี 15 พฤษภาทมิฬ วันขนแร่ทองคำด้วยอำนาจเถื่อน พร้อมประกาศภารกิจ 5 ด้าน เพื่อ “ฟื้นฟูเหมือง ฟื้นฟูความฝันร่วมกันของเรา”

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ซึ่งเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นเวลา 18 ปี เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านเจ้าของ จนนำมาสู่ความสำเร็จได้รับชัยชนะในการปิดเหมืองด้วยสองมือสองเท้าของชาวบ้านในพื้นที่ และกำลังก้าวเข้าสู่การฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำโดยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของการฟื้นฟู

ได้จัดกิจกรรมจัดงานบุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอนและภูเหล็ก ครั้งที่ 15 เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมและเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระลึกถึงบุญคุณของภูเขา แหล่งต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ของชุมชน ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต วิถีชีวิต และอาชีพเกษตรกร รวมถึงย้ำเจตนารมณ์ของกลุ่มว่ายังคงยืนหยัดต่อสู้จนกว่าพื้นที่จะปราศจากสารพิษจากการทำเหมืองแร่ทองคำ

และทำการรำลึก 10 ปี 15 พฤษภาทมิฬ วันขนแร่ทองคำด้วยอำนาจเถื่อน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ที่นายทหารสองคนพ่อลูกใช้อำนาจเถื่อนส่งกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 200 คน เข้ามาในหมู่บ้านทำการข่มขืนใจและทำร้ายร่างกายชาวบ้านในพื้นที่ โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือใด ๆ เหตุการณ์อันเลวร้ายเหล่านี้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจและสะเทือนใจเป็นอย่างมาก และยังเกิดการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ประตูแดง ทางขึ้นภูทับฟ้า บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

โดยในเวลา 07.00 น. นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 60 คน ร่วมใจกันทำบุญตักบาทพระสงฆ์จำนวน 9 รูป และทำกิจกรรมฟ้อนกลองยาว ที่ตีโดยนักอนุรักษ์น้อยวงกลองยาวนครผาดงมะไฟ จากพื้นที่ต่อสู้เหมืองหินปูน ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมพร้อมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู

ซึ่งเวลา 10.30 น. ตัวแทนนักปกป้องสิทธิฯ ได้มีการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ จนนำมาสู่ทศวรรษแห่งการฟื้นฟู ที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากบนภูทับฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่ในการทำเหมืองและแต่งแร่เต็มไปด้วยสารโลหะหนัก ไม่ว่าจะเป็น สารหนู แมงกานีส หรือแม้แต่ไซด์ยาไนด์ ที่เป็นสารอันตรายถึงชีวิต

จากนั้นนักปกป้องสิทธิฯได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ภารกิจ 5 ด้าน เพื่อ “ฟื้นฟูเหมือง ฟื้นฟูความฝันร่วมกันของเรา” ที่จะมุ่งไปข้างหน้า ดังนี้ 1.ประชาชนต้องมีอำนาจร่วมในทุกขั้นของการฟื้นฟูเหมือง 2.ปลูกต้นไม้คือการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำที่จับต้องได้ 3.ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดที่เคยเป็นเขตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำบนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนให้เป็นป่าชุมชน 4.ฟ้องคดีปกครองร่วมกับพี่น้องเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ให้ยกเลิกการบังคับใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ที่ออกตามความพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 และ 5.ส่งตัวแทนสมัคร ส.ว. เพื่อต่อสู้ทุกช่องทางทุกพื้นที่สนามนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จังหวัดเลย ยังได้พาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู เดินทางเข้าในพื้นที่ภูทับฟ้า เพื่อเที่ยวชมพื้นที่อดีตเหมืองทองคำที่ในปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนโครงสร้างโรงงานและอาคารของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากการขายทอดตลอดหลังถูกยึดทรัพย์สินจากการล้มละลาย และกำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งในพื้นที่โรงงานนั้นโครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ถูกรื้อถอนออกไปจนเกือบหมดแล้ว คงเหลือไว้เพียงเศษซากกำแพงปูนหรือฐานปูนของโรงงานและอาคารต่าง ๆ เท่านั้น เพื่อที่จะพัฒนาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้ในอนาคต

แถลงการณ์
ภารกิจ 5 ด้าน เพื่อ “ฟื้นฟูเหมือง ฟื้นฟูความฝันร่วมกันของเรา”

วันนี้เป็นวันบุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน และภูเหล็ก ครั้งที่ 15 และงานรำลึก 10 ปี พฤษภาทมิฬ วันขนแร่ทองคำด้วยอำนาจเถื่อน ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน’ ขอประกาศภารกิจ 5 ด้าน ที่จะมุ่งไปข้างหน้า ดังนี้

1. ประชาชนต้องมีอำนาจร่วมในทุกขั้นตอนของการฟื้นฟูเหมือง นับตั้งแต่ที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องทำการฟื้นฟูเหมือง และเยียวยาค่าเสียหายจากการก่อผลกระทบให้กับพี่น้องเรา 149 ครอบครัว ๆ ละ 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง แต่การฟื้นฟูเหมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะบริษัทแม่ของทุ่งคำ คือ บริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) ใช้เล่ห์กลตัดเนื้อร้ายทิ้งเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในตลาดหุ้นต่อไปได้ ด้วยการขายทุ่งคำออกไป โดยเอาไปซุกซ่อนไว้กับพรรคพวกตัวเอง ด้วยความหวังว่าจะกลับมายึดครองทุ่งคำใหม่ในอนาคต แต่สุดท้ายทุ่งคำก็ไปไม่รอดจำต้องล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการฟื้นฟูแทน จากการที่เป็นหน่วยงานอนุญาตและควบคุม กำกับ ดูแลในการทำเหมืองทองของทุ่งคำ

แต่ กพร. และหน่วยงานราชที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็มีมุมมองและทัศนคติที่คับแคบและตื้นเขิน เพราะเห็นว่าการฟื้นฟูเป็นเรื่องของอำนาจของตนแต่เพียงผู้เดียว ที่มีอำนาจเป็นทั้งเจ้าของพื้นที่ (เจ้าของเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง) และเจ้าของทรัพยากรแร่ ที่จะปล่อยให้หลุดมือตนเองไปตกอยู่แก่ประชาชนไม่ได้ จึงทำให้การฟื้นฟูเหมืองล่าช้าออกไปมากเพราะหวงอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่

ประกอบกับในช่วงระหว่างที่จะต้องกดดันให้ กพร. เข้ามารับผิดชอบฟื้นฟูเหมืองทองคำแทนทุ่งคำ ก็จำเป็นต้องกำจัดโรงถลุงแร่ โรงแต่งแร่และอาคารทั้งหลายในเขตเหมืองแร่ออกไปให้สิ้นซากก่อน เพื่อขายใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย

บัดนี้ เศษซากทั้งหลายได้ถูกกำจัดออกไปจนหมดสิ้นแล้ว จึงถึงเวลาที่จะต้องเดินหน้าอย่างเต็มตัวในการฟื้นฟูเหมือง ซึ่ง กพร. กำลังดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานในการฟื้นฟูเหมืองระหว่างฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนในอัตราส่วนเท่ากันตามคำเรียกร้องของเราอยู่ในขณะนี้ หากมิเช่นนั้นแล้ว เราจะไม่ยอมให้การฟื้นฟูเหมืองเกิดขึ้นภายใต้อำนาจร่วมที่ไม่เท่ากันอย่างเด็ดขาด

2. ปลูกต้นไม้คือการฟื้นฟูเหมืองทองคำที่จับต้องได้ เห็นผลชัดเจน โดยไม่รอระบบราชการที่เฉื่อยชาต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 นี้ เราจะขึ้นไปปลูกต้นไม้บนภูซำป่าบอนเป็นปีที่ 2

จึงขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่าน รวมพลังเพื่อ “ฟื้นฟูเหมือง ฟื้นฟูความฝันร่วมกันของเรา” ให้เหมือนกับการต่อสู้เหมืองทองคำที่ผ่านมา จนขับไล่พวกมันออกไปได้

แม้เรามิอาจกลบขุมเหมืองและความแหว่งวิ่นจากแรงระเบิดที่พวกมันกระทำกับภูซำป่าบอนของเราได้ แต่เราสามารถรักษาบาดแผลเหล่านั้นด้วยความเขียวขจีของต้นไม้เพื่อทดแทนความบอบช้ำของภูซำป่าบอนของเราได้

และปีต่อ ๆ ไปเราจะขยายการปลูกต้นไม้มาที่ภูทับฟ้าด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญอันหนึ่งในการฟื้นฟูเหมือง ที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนว่าอำนาจในการเป็
นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ธาตุทั้งหลาย เป็นของประชาชน

3. เพื่อให้อำนาจในการเป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ธาตุทั้งหลาย เป็นของพวกเราประชาชนอย่างแท้จริง เราจะขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดที่เคยเป็นเขตประทานบัตรเหมืองทองคำบนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนให้เป็นป่าชุมชน

4. ในปีนี้เราจะทำการฟ้องคดีต่อศาลปกครองร่วมกับพี่น้องเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ในหลายพื้นที่ ให้ยกเลิกการบังคับใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ที่ออกตามความพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เหตุเพราะว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่ง กพร. และกรมทรัพยากรธรณีรวมหัวกันไม่ยอมกันพื้นที่โบราณวัตถุ โบราณสถาน พื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด เช่น พื้นที่ป่าชุมชน เป็นต้น และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

5. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเรา ดั่งที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งตลอดมา โดยเฉพาะห้วงเวลาอันเลวทรามหลังจากรัฐประหาร 2557 ที่เราได้ร่วมก่อกำเนิดพรรคสามัญชน ปีนี้เราจะส่งตัวแทนของเราสมัคร ส.ว.

แม้กติกาจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม เราจะสู้ทุกช่องทาง ทุกพื้นที่ ทุกสนาม ที่พวกมันเขียนกฎหมายและกติกา เพื่อหวังว่าการต่อสู้ทุกช่องทางทุกพื้นที่ทุกสนามเหล่านี้จะช่วยกระเทาะให้เห็นหนทางในการนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตให้จงได้

สุดท้ายนี้ ขออุทิศแด่ทุกชีวิตและจิตวิญญาณ ทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่ และที่เดินทางไกลไปสร้างสังคมใหม่ในโลกหน้า เพื่อเตรียมรอรับพวกเราในอนาคต ที่ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อประชาชนทุก ๆ คน


ด้วยความเคารพ
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน
15 พ.ค. 2567
ณ ประตูแดง ทางขึ้นภูทับฟ้า
บ้านนาหนองบง หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net