Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนเผยศาลตัดสินจำคุก 'ไบร์ท ชินวัตร' อีก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีให้สัมภาษณ์สื่อปมบังคับใช้ ม.112 เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ - ศาลแขวงเชียงใหม่ปรับ 3 อดีตนักศึกษา มช. คนละ 4,000 บาท เหตุเดินขบวนไปแจ้งความตำรวจใช้ความรุนแรงปี 63 แม้ไม่มีผู้ติดเชื้อจากชุมนุม


'ไบรท์' ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี | แฟ้มภาพ: iLaw 

29 พ.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน รายงานว่าศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี ในข้อหามาตรา 112 สืบเนื่องมาจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่บริเวณหน้าสำนักงานอัยการสูงสุด หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องในคดีปราศรัยในม็อบ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว และ #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564

โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท อาฆาตร้ายพระมหากษัตริย์ พิพากษาจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน

ศาลเห็นว่าเนื่องจากจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันนี้หลายคดี จึงไม่อาจรอลงอาญาได้ และศาลให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอื่นตามคำขอของโจทก์

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกหนึ่งนายได้เข้ามาในห้องพิจารณาคดีเพื่อดูความเรียบร้อย ด้านชินวัตรได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลอีกครั้งว่า ขอให้ปลดกุญแจมือที่สวมอยู่ออกเพื่อที่ตนจะได้กอดลูกชายสักครั้ง ศาลจึงได้อนุญาตให้ปลดกุญแจมือออก ชินวัตรจึงได้สวมกอดลูกชายในที่สุด

สำหรับชินวัตรถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 รวม 8 คดี โดยมีจำนวน 6 คดีแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา โดยเขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพทั้งหมด โดยมี 1 คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้รอลงอาญา แต่อีก 5 คดี ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด และให้นับโทษจำคุกต่อกัน รวมแล้วเขาถูกลงโทษจำคุกไปแล้ว 11 ปี 12 เดือน (ประมาณ 12 ปี) ในแต่ละคดียังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา

ส่วนในคดีมาตรา 112 อีก 2 คดีของชินวัตรที่ยังไม่มีคำพิพากษา มีคดีปราศรัยในกิจกรรมยืนหยุดขังที่ท่าน้ำนนทบุรี ชินวัตรก็ได้ให้การรับสารภาพเช่นกัน อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 10 ก.ค. 2567 นี้ ขณะที่คดีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้อีกคดีหนึ่ง มีนัดสืบพยานที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 4 มิ.ย. นี้

ศาลแขวงเชียงใหม่ปรับ 3 อดีตนักศึกษา มช. คนละ 4,000 บาท เหตุเดินขบวนไปแจ้งความตำรวจใช้ความรุนแรงปี 63 แม้ไม่มีผู้ติดเชื้อจากชุมนุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน รายงานว่าศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของ 3 อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล) ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดกระทำความรุนแรงกับประชาชน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่แยกเกียกกาย หน้ารัฐสภาที่กรุงเทพฯ

คดีนี้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 เนื่องจากต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน โดยมีการอ้างอิงถึงคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมแฟลชม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่เช่นกัน และศาลในคดีดังกล่าวได้ส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีตรวจเช่นกัน

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสามไปร่วมการชุมนุม และมีปัญหาว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

เห็นว่าแม้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 44 จะบัญญัติให้คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม แต่ในระหว่างเกิดเหตุปี 2563 มีการแพร่ระบาดร้ายแรงของโรคไวรัสโคโรนา-2019 และยังไม่มียารักษา และนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ห้ามมิให้ชุมนุม ทำกิจกรรม ในสถานที่แออัด การออกกฏหมายดังกล่าวเป็นการควบคุมโรคแพร่ระบาด ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้นประกาศดังกล่าวจึงไม่เป็นการแทรกแซงสิทธิการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ส่วนข้อกำหนดของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องไปว่ากันต่างหาก

สำหรับการพิจารณา “สถานที่แออัด” ไม่สามารถพิจารณาจากจำนวนคน ประกอบกับสถานที่ได้ แต่จะต้องพิจารณาประการอื่นประกอบด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีการชุมนุมในลักษณะใกล้ชิดกันในปริมาณหนาแน่น มีผู้ใส่หน้ากากอนามัยบางส่วน ไม่มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ และไม่เว้นระยะห่าง

จำเลยไม่ได้นำสืบว่ามีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการชุมนุมของจำเลยทั้งสามนั้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคแล้ว แม้ปรากฏตามพยานหลักฐานทั้งของโจทก์และจำเลยว่าก่อนและหลังการชุมนุมไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วนที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างว่ามาตรการป้องกันโรคโคโรนา-2019 ในช่วงดังกล่าวผ่อนคลายลง โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลาเกิดเหตุตามที่จำเลยอ้างเช่น ประเพณียี่เป็ง งานคอนเสิร์ตฟาร์มเฟสติวัล แต่จำเลยไม่ได้แสดงให้ชัดแจ้งว่างานดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยกฏหมายอย่างไร จึงไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะนำมาอ้างได้ ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศาลลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาโทษให้หนึ่งในสาม เหลือลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีของศาลแขวงดุสิต (เฉพาะจำเลยที่ 1) และศาลแขวงเชียงใหม่ในอีกคดีหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏว่ามีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวจึงไม่นับโทษต่อ รวมแล้วทั้งสามคนต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 12,000 บาท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net