Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อ Equal Times อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานฝีมือวัยหนุ่มสาวชาวจีนที่มีศักยภาพจำนวนมาก พยายามดิ้นรนหนีออกจากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก?


ที่มาภาพ: GOV.UK

สวี่ ยูเหอ (Xue Yuhe) กำลังเดินทางผ่านอิสตันบูลระหว่างทางกลับประเทศจีน หลังจากที่ไปเรียนในยุโรปมาหลายปี บัณฑิตหนุ่มกำลังลิ้มรสอาหารจานหนึ่งคือก๋วยเตี๋ยวอุยกูร์อย่างเอร็ดอร่อยที่ร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายร้านที่ผุดขึ้นมาในใจกลางเมืองอิสตันบูลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขากำลังมองหาวิธีที่จะออกจากประเทศจีนอีกครั้ง อาจจะด้วยการเรียนต่อปริญญาโทในยุโรป

"คุณไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับ 'ขบวนการวิ่ง' หรือ?" สวี่ (ซึ่งขอไม่ใช้ชื่อจริง) ถาม Equal Times ตั้งแต่ปี 2021 อักษรจีน 润 (ออกเสียงว่ารุ่น) ซึ่งแต่เดิมแปลว่า 'กำไร' ได้มีความหมายเพิ่มเติมว่า 'อพยพ' เนื่องจากมีเสียงคล้ายกับคำภาษาอังกฤษว่า 'run' สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาในจีน 'วิ่ง' ได้กลายเป็นการแสดงออกถึงความต้องการอย่างเร่งด่วนที่จะหนีออกจากประเทศ

สวี่กล่าวว่าอย่างน้อย 10% ของคนที่เขารู้จักต้องการออกจากประเทศจีน และทุกคนรู้จักคนหนุ่มสาวอย่างน้อยหนึ่งคนที่ได้อพยพออกไปแล้วหรือต้องการจะทำเช่นนั้น เพื่อนร่วมชั้นเรียนหลายคนของเขาว่างงานและกำลังเตรียมตัวสอบเรียนต่อปริญญาโทหรือสอบข้าราชการ ไม่กี่วันหลังจากกลับบ้าน สวี่ได้ตัดการติดต่อทั้งหมด ตำรวจในเมืองของเขาได้ "เชิญเขาไปดื่มชา" ซึ่งเป็นคำพูดแบบสุภาพที่หมายถึง "การถูกสอบสวน"

ทำไมคนหนุ่มสาวจำนวนมากถึงหนีออกจากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก?

การปราบปรามทางการเมือง ประกอบกับการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ (zero-Covid) ของจีน เป็นเหตุผลหลักที่สวี่และผู้ให้สัมภาษณ์คนอื่น ๆ กล่าวกับ Equal Times ว่าทำไมพวกเขาถึงอยากออกจากประเทศของตน

ตุรกีกลายเป็นศูนย์กลางในการเดินทางของกลุ่มแรงงานมืออาชีพรุ่นใหม่ที่มีความฝันที่จะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือยุโรป และแม้กระทั่งประเทศในเอเชียอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น

สิ่งสุดท้ายที่ วินสตัน หวง (Winston Huang) (นามสมมติ) ทำก่อนจะกล่าวอำลาประเทศของตนคือการดื่มด่ำกับหนังสือทางศาสนาคริสต์เล่มหนึ่ง "Exodus" หวง วัย 28 ปี จากเซินเจิ้น เริ่มรู้สึกไม่สบายใจกับการใช้ชีวิตภายใต้ระบบการเมืองของจีน การระบาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มเหตุผลให้เขาต้องการหาทางออกจากประเทศมากขึ้น

การตื่นตัวทางการเมืองของเขาเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น หลังจากที่ได้ชมสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ "วันที่ 4 มิ.ย." (การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989) และได้อ่านหนังสือชุด "People's Trilogy" ของแฟรงค์ ดิโคเทอร์ (Frank Dikötter) เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการทุจริตในจีนผ่านการใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ ช่วงเวลาหลายปีที่เฝ้าสังเกตการณ์ประเทศของเขาเองทำให้เขาอธิบายว่าจีนกำลัง "แตกสลาย ล่มสลาย"

ในปี 2016 หวงตัดสินใจว่าจะอพยพไปญี่ปุ่น แม้ว่าครอบครัวของเขาจะไม่เห็นด้วย เขามองว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่จะได้ชีวิตที่มีความหมายอีกครั้ง จากนั้นเขาใช้เวลา 5 ปีในการเก็บเงินเพื่อสมัครเข้าเรียนโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น วันก่อนที่เขาจะเดินทางในปี 2022 หวังได้รับการเยี่ยมเยียนอย่างไม่คาดคิดจากตำรวจจีน "พวกเขาแวะมาหาเพื่อให้คำแนะนำอย่างเป็นมิตร" พวกเขาเตือนให้เขาตั้งใจเรียน ให้ระวังการหลอกลวง ให้ระวังเรื่องโรคระบาด และเตือนเกี่ยวกับประเทศที่เขาจะไป" เขาเล่าให้ Equal Times ฟัง การเผชิญหน้าครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่หวงคาดไม่ถึง เพราะเขาเคยถูกจับตามองจากหน่วยงานรักษาความมั่นคงมาก่อน เนื่องจากการใช้ VPN เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ในจีน

หวงเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของกลุ่มผู้อพยพชาวจีนยุคใหม่ เขาออกจากจีนในเดือน เม.ย. 2022 ในช่วงที่เซี่ยงไฮ้ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งกระตุ้นให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มพิจารณาการออกจากประเทศ

ตามข้อมูลสาธารณะของ WeChat เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2022 มีการค้นหาคำว่า "ยี่หมิน" (yimin) ซึ่งเป็นตัวอักษรภาษาจีนที่หมายถึง "อพยพ" จำนวน 16 ล้านครั้ง เพียงหนึ่งเดือนต่อมา การค้นหานี้เพิ่มขึ้นเป็น 72 ล้านครั้ง (เซี่ยงไฮ้ยังไม่เปิดเมืองจนถึงปลายปี 2022) และภายในเดือน ต.ค. 2023 ตัวเลขการค้นหาได้พุ่งขึ้นถึง 510 ล้านครั้ง

ขณะที่การถกเถียงเกี่ยวกับการอพยพเริ่มเข้มข้นขึ้น ความอ่อนไหวต่อประเด็นนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย WeChat ได้ลบคำนี้ออกจากฐานข้อมูลสถิติอย่างเงียบ ๆ ในขณะเดียวกันเครือข่ายของจีนอย่าง Baidu และ Weibo ก็หยุดให้บริการวิเคราะห์คำค้นหลังจากการล๊อคดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้

หนีนโยบายโควิดเป็นศูนย์

คนส่วนใหญ่ที่เริ่มพิจารณาอพยพในช่วงเวลานี้ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน เช่น โจ เฉิง (Joe Cheng) จากเมืองอู่ฮั่น ผู้สมัครเรียนในสหรัฐฯ ซึ่งไม่เคยคิดถึงการอพยพจนกระทั่งไม่นานมานี้ "ใครจะคิดว่านโยบายล็อกดาวน์แบบนั้นจะเกิดขึ้นได้ในศตวรรษที่ 21?" เขาถาม เพื่อนเจน Z ของเขากว่า 10 คน ได้ย้ายไปญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แคนาดา และแม้กระทั่งวานูอาตู เฉิงยืนยันถึงความเร่งด่วนในการฉวยโอกาสหนีออกไป ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-Covid policy) ที่บังคับใช้โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว เศรษฐกิจของจีนที่เคยทรงพลัง ได้หยุดการเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ในเดือน ธ.ค. 2023 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า อัตราการว่างงานของผู้ที่มีอายุ 16-24 ปี 25-29 ปี และ 30-59 ปี (ไม่นับรวมกลุ่มนักเรียน) อยู่ที่ 14.9%, 6.1% และ 3.9% ตามลำดับ กลุ่มอายุสองกลุ่มแรกมีอัตราว่างงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 5.1% ก่อนที่จะมีการแก้ไขวิธีการทางสถิติในเดือน ส.ค. 2023 ตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวอายุ 16-24 ปีนั้นยิ่งน่ากังวลมากกว่า โดยเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 21% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024

แม้ว่าทางการจีนจะไม่จำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของพลเมืองอีกต่อไป แต่การตรวจสอบเข้มงวดขึ้น เฉิงเห็นครอบครัวหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนสอบสวนเป็นเวลากว่า 10 นาที ในการเดินทางออกจากจีนครั้งแรกของเขาหลังจากยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางในเดือน ธ.ค. 2022 ในอดีต การเดินทางแบบครอบครัวมักไม่ใช่เป้าหมายเสี่ยงสูงสำหรับการตรวจสอบจากศุลกากร

หากเฉิงไม่ได้รับการตอบรับจากสหรัฐฯ ในปีนี้ เขาจะยังคงพยายามต่อไป แม้ว่าเขาจะอายุ 30 แล้ว เขายังมีแผนที่จะสมัครขอวีซ่าเรื่อยๆ นอกจากสหรัฐฯ เขายังพิจารณาญี่ปุ่นด้วย เขาหวังว่าจะทำการวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้จีนดีขึ้นจากต่างประเทศ แต่หากสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างเพื่อการปฏิรูปไม่เกิดขึ้น เขาก็ไม่มีแผนที่จะกลับประเทศ

ทั้งหวังและเฉิงเชื่อว่า การที่จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกนั้นเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น พวกเขาเห็นพ้องกันว่าประชาชนชาวจีนไม่ได้รับประโยชน์ตามที่คาดหวังจาก 'การปฏิรูปเศรษฐกิจ' ของเติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ซึ่งเป็นการนำระบบทุนนิยมของรัฐมาใช้ตั้งแต่ปี 1978 เฉิงชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นในการกระจายความมั่งคั่ง หวังซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นด้วยวีซ่านักเรียนพอใจกับชีวิตปัจจุบันของเขา ระบบและระเบียบของญี่ปุ่นเกินความคาดหมายของเขา เขาหวังว่าจะหางานทำและตั้งรกรากถาวรหลังจากสำเร็จการศึกษา ในคืนก่อนการเดินทาง หวังบอกกับครอบครัวว่า "ถ้าผมตาย ผมไม่อยากให้เถ้ากระดูกของผมกลับไปที่จีนเลย"

เส้นทางอพยพ


ผู้ลี้ภัยชาวจีนเดินทางผ่านป่าฝนปานามาในเดือน พ.ค. 2023 | ที่มาภาพ: The Epoch Times 

หลายคนที่เลือกหนีออกจากจีนเดินทางผ่านศูนย์กลางสำคัญที่อิสตันบูล จากที่นั่น พวกเขาจะเดินทางต่อไปยังประเทศแอฟริกาหลายประเทศ จากนั้นไปยังเอกวาดอร์ซึ่งไม่ต้องใช้วีซ่าในการเข้าประเทศ จากเอกวาดอร์ พวกเขาจะใช้เส้นทางเดียวกับผู้อพยพจากลาตินอเมริกาหลายล้านคนเพื่อเข้าไปยังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย ตามข้อมูลจากหน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ มีผู้อพยพชาวจีนมากกว่า 37,400 คน ที่เข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายผ่านพรมแดนทางใต้ในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่าจากปี 2021 บนอินเทอร์เน็ตจีนได้เกิดคำใหม่ขึ้นมาสำหรับการกระทำเช่นนี้ว่า "เดินตามเส้นทาง" (zouxian)

ชุย อิงเจีย (Cui Yingjie) นักศึกษาวิชาโปรแกรมมิ่งวัย 26 ปี เดินทางมาถึงนิวยอร์กจากมาเลเซียพร้อมกับภรรยาเพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองในปี 2023 "ผมออกมาเพราะเหตุผลทางการเมือง ผมถูกชักนำให้เชื่อในเรื่องเท็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อผมหลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์และค้นพบประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของจีนและความผิดพลาดของพรรคคอมมิวนิสต์ มันทำให้ผมปรารถนาเสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสี จิ้นผิงเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดไป การละเมิดอธิปไตยของฮ่องกง และนโยบายโควิดเป็นศูนย์เป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางการเมืองมากมายที่ทำให้ผมรู้สึกสิ้นหวัง" เขาอธิบาย

"ผมสังเกตเห็นว่ามีคนต้องการออกจากจีนมากขึ้นในปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ถามผมเกี่ยวกับชีวิตในสหรัฐฯ พวกเขาแสดงความไม่พอใจกับการขาดแคลนงาน การปิดกิจการ และการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในจีน" ชุยกล่าว

"น่าสนใจที่บางคนในกลุ่มนี้เคยสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่ายังมีคนอื่น ๆ ที่ยังคงเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเชื่อว่าจีนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก และที่อื่น ๆ นั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย" ชุยกล่าวเสริม เขาเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนนั้นมาจาก "ความพยายามทำงานหนักของประชาชน" ที่ถูกผู้นำพรรคเอาเปรียบ เขายกตัวอย่างถึงการขาดสิทธิทางการเมืองด้วยการอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบการปกครองได้ยึดเอาเสรีภาพและความมั่งคั่งของบุคคลที่ร่ำรวย เช่น สวี่ เจียหยิน (Xu Jiayin) และแจ็ค หม่า (Jack Ma) นอกจากนี้ ชุยยังกล่าวถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งในปี 2020 ได้เปิดเผยว่าชาวจีนประมาณ 600 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน

การอพยพระลอก 'พิเศษ'

อลิซ (Alice) เดินทางมาถึงนิวยอร์กพร้อมกับลูกสองคนในปี 2023 นักออกแบบวัย 40 ปี และคริสเตียนที่เคร่งครัดกล่าวว่า เธอหนีออกมาเพื่อแสวงหาเสรีภาพ ในจีนการนมัสการจะได้รับอนุญาตเฉพาะในสถาบันที่ได้รับการอนุมัติจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น ข้อห้ามที่เข้มงวดที่ถูกบังคับใช้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในที่สุดก็ทำให้เธอตัดสินใจ "ตลอด 3 ปีของการระบาดใหญ่ เราต้องตรวจ RNA 300 วันต่อปี มันน่ากลัวมาก" เธออธิบาย ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีส่วนเช่นกัน “โรงงานจำนวนมากถูกปิด และหลายคนตกงานในปี 2023 จากบัณฑิต 10 ล้านคน มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่หางานได้ ชนชั้นกลางมีความยากจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนมากมายต้องการออกจากจีน” เธอกล่าว

แจ็ค (Jack) อดีตตำรวจวัย 30 ปีจากซินเจียง ปัจจุบันทำงานในโกดังสินค้าในลอสแอนเจลิส “หัวหน้าของผมทุกคนคอร์รัปชัน พวกเขายักยอก รับสินบน ข่มขู่และทำร้ายร่างกายประชาชน” เขาบอกกับ Equal Times หลังจากที่เศรษฐกิจตกต่ำ “คนจีนจำนวนมากต้องการออกนอกประเทศ รายได้ของผู้คนต่ำมาก” ซันนี่ (Sunny) เพื่อนของเขาที่อาศัยอยู่ในลอสแอนเจลิสเช่นกัน เป็นนักธุรกิจวัย 40 ปี อดีตเจ้าของโรงงานรองเท้าในเจ้อเจียงที่ล้มละลายเพราะการระบาดของโควิด-19 “การควบคุมที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดทำให้ธุรกิจของผมพัง ผมสูญเสียหนักมาก” เขายังมองไม่เห็นอนาคตสำหรับคนหนุ่มสาวอีกด้วย “แค่เรียนมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ ผู้คนถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยและค่ารักษาพยาบาล” เขากล่าว

การอพยพระลอกหลังโควิด-19 นี้เป็นสิ่งที่ "พิเศษ" เซียง เปียว (Xiang Biao) ผู้อำนวยการสถาบันมักซ์พลังค์ด้านมานุษยวิทยาสังคม (Max Planck Institute for Social Anthropology) ซึ่งศึกษาการอพยพของจีนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 กล่าวกับ Equal Times

แม้ว่าจำนวนผู้อพยพชาวจีนจะต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรจำนวนมากของจีน แต่พวกเขาคิดเป็นสัดส่วน 4% ของการอพยพทั่วโลกเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อประชากรจีนอยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านคน การปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 ก่อให้เกิดผู้อพยพสองประเภท ได้แก่ กลุ่มที่มีทักษะและกลุ่มไม่มีทักษะ กลุ่มแรกประกอบด้วยชนชั้นสูงที่มีฐานะดีและต้องการแสวงหาโอกาสในอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งคิดเป็น 85% ของผู้ถือวีซ่านักลงทุน EB-5 ของสหรัฐฯ ส่วนกลุ่มหลังที่เพิ่มขึ้นในช่วงการอพยพระลอกใหม่นี้ คือคนทำงานที่แสวงหาค่าจ้างและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมักใช้เครือข่ายที่ไม่เป็นทางการในการอพยพ

"สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน ณ ปี 2023 คือชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ชนชั้นนำในเมืองใช้วิธีที่ไม่เป็นทางการในการข้ามพรมแดนและขอลี้ภัยทางการเมือง สาเหตุหลักมีสองประการ: ประการแรกคือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน ประการที่สองคือนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งความรุนแรงของมันทำให้คนหนุ่มสาวหลายคนหมดศรัทธา ผู้คนหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและจะมีเสรีภาพทางสังคมมากขึ้นหลังโควิด-19 แต่สิ่งนี้กลับไม่เกิดขึ้น" เขาสรุปว่าเศรษฐกิจของจีนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน


ที่มา:
The ‘run’ movement: young professionals flee the repression and spluttering economy of ‘zero-Covid’ China (Winnie Cheung and Marga Zambrana, Equal Times, 3 September 2024)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net