Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ณัฏฐ์ หงส์ดิลกกุล เจ้าหน้าที่วิจัย ผู้เชี่ยวชาญวิจัยเชิงปริมาณในคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (BCOHRC) ที่มลรัฐบริตีชโคลอมเบีย ประเทศแคนาดา เกี่ยวกับจำนวนผู้ลี้ภัยไทยที่เพิ่มขึ้นในเมืองแวนคูเวอร์

 

112WATCH สัมภาษณ์ ณัฏฐ์ หงส์ดิลกกุล เจ้าหน้าที่วิจัย ผู้เชี่ยวชาญวิจัยเชิงปริมาณในคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (BCOHRC) ที่มลรัฐบริติชโคลอมเบีย ประเทศแคนาดา เกี่ยวกับจำนวนผู้ลี้ภัยไทยที่เพิ่มขึ้นในเมืองแวนคูเวอร์

ในฐานะที่ทำงานในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนที่บริทิชโคลัมเบีย ช่วยอธิบายถึงภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแคนาดาและระดับโลกได้หรือไม่ ?

มันไม่ง่ายที่จะอธิบายว่าแนวคิดใหม่ๆ หรือสถานการณ์ใหม่ๆ โดยไม่เปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้อ่านมีความคุ้นเคย ดังนั้น ผมจะอธิบายภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแคนาดาเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย

จากมุมมองของผม สิทธิมนุษยชนอาจจะแบ่งได้หยาบๆ เป็น 3 ประเภท 1. สิทธิทางด้านเศรษฐกิจสังคม 2. สิทธิทางการเมือง และ 3. สิทธิพลเมือง

ในประเทศแคนาดา ชาวแคนาดาหวงแหนและมีความยินดีต่อการได้รับสิทธิทางการเมืองของตนเป็นอย่างมาก ไม่มีชาวแคนาดาคนไหนต้องการยกเลิกสิทธิในการเลือกตั้ง หรือต้องการการปกครองในระบอบอื่น

ดังนั้น ในแคนาดา งานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจะเน้นที่ด้านเศรษฐกิจสังคมและสิทธิพลเมืองมากกว่าสิทธิทางการเมือง เช่น รัฐบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชนของมลรัฐบริติชโคลอมเบีย (The B.C. Human Rights Code) ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มผู้ได้รับความคุ้มครอง (protected ground) ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในมลรัฐบริติชโคลอมเบีย กฎหมายนี้คุ้มครองไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อการจ้างงาน การใช้บริการจากรัฐ การถือครองสินทรัพย์จากการมีสถานะบางอย่างทางสังคม การเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพ ความชื่นชอบทางเพศ เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ความพิการ อายุ

อย่างไรก็ตาม รัฐบัญญัติฉบับนี้ก็ไม่ได้ระบุโดยตรงถึงเรื่องสิทธิทางการเมือง หรือเสรีภาพทางการเมืองออกเป็นการเฉพาะ (เพราะสิทธิเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว)

สิทธิทางการเมืองไทยถือว่าล้มเหลวอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับแคนาดา ชาวแคนาดาสามารถวิจารณ์นายกรัฐมนตรีหรือกษัตริย์ได้อย่างเสรี แต่ประชาชนคนไทยถูกจำกัดสิทธินี้ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เราได้ยินบ่อยครั้งเกี่ยวกับการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น ผมเชื่อว่าสิทธิทางการเมืองคือสิทธิมนุษยชนที่เป็นอย่างแรกที่ต้องปกป้องให้ได้ ซึ่งต่างกับแคนาดาที่มองไปไกลกว่าแค่สิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานแล้ว

ท่ามกลางประเด็นอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ประเด็นไหนที่อยู่ใน 3 ลำดับต้นที่เป็นประเด็นที่ท้าทายในบริบทของรัฐบริติชโคลอมเบีย?

มันเป็นคำถามที่สำคัญมากในที่ทำงานของเรา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของมลรัฐบริติชโคลอมเบีย ทำโครงการที่ชื่อว่า “Baseline Project” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อระบุประเด็นหลักที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในมลรัฐบริติชโคลอมเบีย ผ่านการวิจัยโดยผสมผสานวิธีวิจัยอันหลากหลาย เช่น การทบทวนวรรณกรรม สัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มกับชุมชนที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่มาจากเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มประชากรและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน และการสำรวจเชิงพื้นที่จังหวัด

แม้ว่าโครงการยังไม่ได้สรุปว่าจะเลือกประเด็นใดเป็นด้านสิทธิมนุษยชน แต่คณะกรรมธิการก็ได้หาข้อมูลในเบื้องต้นจากการสำรวจเชิงพื้นที่จังหวัด ซึ่งผู้คนที่ทำงานด้านสาธารณะและหน่วยงานที่ทำเพื่อชุมชน (รวมถึงงานด้าน NGOs) ถูกถามเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในมลรัฐบริติชโคลอมเบีย ในการสำรวจพบว่ามี 3 ประเด็นหลักที่เราได้รับการรายงานจากแหล่งข้อมูล 1. การจัดหาที่พัก 2. ความยากจนหรือการมีรายได้ที่เพียงพอ 3. การเข้าถึงบริการสาธารณสุข นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การเลือกปฏิบัติ สิทธิของผู้พิการ สิทธิของชนพื้นเมือง และการใช้สารเสพติด

คุณทำหน้าที่ใดในคณะกรรมาธิการในมลรัฐบริติชโคลอมเบีย ?

ในฐานะที่เราเป็นลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านวิจัยเชิงปริมาณ เรารับผิดชอบเกี่ยวกับงานทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ทักษะด้านการวิจัยเชิงปริมาณ เช่น การจัดระเบียบและวิเคราะห์ชุดข้อมูลจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่, การทำข้อมูลให้เป็นภาพ (Data virtualisation), เก็บสถิติที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำเร็จ เช่น มีบทบาทนำในการวิเคราะห์การสำรวจเชิงพื้นที่จังหวัด เรายังมีบทบาทนำในการวิเคราะห์สถานการณ์ความเกลียดชังในมลรัฐบริติชโคลอมเบีย ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้ฐานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น เราภูมิใจมากที่ได้เป็นร่วมงานโดยใช้วิธีทำงานแบบเน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ และหวังว่าวิธีนี้จะเป็นรูปแบบการทำงานของหน่วยงานสาธารณะในประเทศไทย เช่น คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนของคนไทยที่ลี้ภัยในเมืองแวนคูเวอร์เพิ่มขึ้นหรือไม่ ทำไมเมืองแวนคูเวอร์กลายเป็นปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ลี้ภัยชาวไทย ?

เท่าที่เราทราบ เมืองแวนคูเวอร์ ไม่ใช่เมืองใหญ่ ที่นั่นมีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 7 ครัวเรือนที่ลี้ภัยจากการถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เราคิดว่าการลี้ภัยมาที่นี่มาจาก 3 ปัจจัยเป็นอย่างน้อย

ประการที่ 1 กระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยภายในประเทศแคนาดาค่อนข้างเร็ว และมีผลกระทบทางลบน้อยกว่าประเทศอื่น

ผู้ลี้ภัยคนแรกที่มาที่เมืองแวนคูเวอร์ หลังการรัฐประหารปี 2557 มาถึงในเดือน ก.ค. 2557 และกระบวนการของเขาก็สำเร็จในเดือน ต.ค. 2557 ผู้ลี้ภัยมาที่ถึงเมืองแวนคูเวอร์หลังจากช่วงปี 2563 มักจะมีกระบวนการที่ยาวนานกว่านั้น อาจจะนานได้ถึง 18 เดือน แต่กระบวนการนี้ก็ยังเร็วกว่าประเทศอื่นๆ อยู่ดี เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประการที่ 2 ประเทศแคนาดาสนับสนุนผู้ที่ต้องการลี้ภัยอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาอยู่นอกประเทศแคนาดา เท่าที่เราทราบ มีผู้ลี้ภัยคนไทยอย่างน้อย 3 คนที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลแคนาดา เมื่อพวกเขาอยู่นอกแคนาดา (หนึ่งคนอาศัยอยู่ที่ UAE อีกสองคนอาศัยอยู่ที่สิงคโปร์) ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ลี้ภัยได้รับสถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวรทันทีหลังจากที่เดินทางมาถึงประเทศแคนาดา

ประการที่ 3 การลี้ภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 จากข้อมูลของหน่วยงาน Economist intelligence Unit และ Mercer จัดให้เมืองแวนคูเวอร์ เป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก แต่ข้อมูลนี้คนที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้มาก่อน อย่างไรก็ตาม เมืองแวนคูเวอร์ กลายเป็นปลายทางที่นิยมมากที่สุดของเยาวชนไทย หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วงที่กระแสอยากย้ายประเทศพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ” และการพูดคุยตามห้องต่างๆ ที่เปิดขึ้นในคลับเฮาส์

นอกจากนี้ เมืองนี้ยังเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เมืองนี้เป็นที่นิยมต่อเยาวชนไทยจำนวนมาก สิ่งนี้อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมผู้ลี้ภัยที่เดินทางแวนคูเวอร์ อายุต่ำกว่า 30 ปี และเป็นชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ในฐานะที่เป็นคนไทยที่ทำงานในองค์กรต่างชาติ มีบทบาทอย่างไรในการช่วยเหลือชุมชนชาวไทย ถ้าคุณมีส่วนสนับสนุน สนับสนุนด้านใด และถ้าไม่ได้สนับสนุน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ในประเด็นเรื่องการสนับสนุนชุมชนชาวไทย การที่ทำงานกับ BCOHRC ถือได้ว่าเป็นดาบสองคม ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมาธิการยังจำกัดในมลรัฐบริติชโคลอมเบีย ดังนั้น ประเด็นสิทธิมนุษยชนในจังหวัดอื่นของแคนาดาหรือพื้นที่อื่นของโลกยังไม่ใช่เรื่องที่รัฐนี้ให้ความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การทำงานกับ BCOHRC อนุญาตให้เราสนับสนุนชุมชนชาวไทยได้โดยเฉพาะสำหรับผู้ลี้ภัยชาวไทย เช่น ทนายในหน่วยงานของเราให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมายและทรัพยากรเพื่อผู้ลี้ภัยชาวไทย ในระยะยาว เราหวังว่าเราจะสามารถใช้ประสบการณ์การทำงานที่ BCOHRC เพื่อแนะนำกลยุทธ์และแผนงานเพื่อยกระดับระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

เมื่อเทียบอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย พบว่า BCOHRC มีอำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากกว่าอย่างน้อย 2 ประเด็น

ประการแรก แทรกแซงคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในศาล ประการที่สอง สามารถสืบสวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ออกรายงานและคำแนะนำในประเด็นสิทธิมนุษยชนเฉพาะเรื่อง การสืบสวนเป็นการศึกษาแบบทางการ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจพิเศษที่จะขอข้อมูลจากหน่วยงานเอกชนและสาธารณะในรัฐบริติชโคลอมเบีย เช่น หน่วยงานตำรวจ ศาล ด้วยอำนาจสองอย่างนี้ เราจินตนาการว่าจะช่วยให้การคุ้มกันสิทธิมนุษยชนในไทยดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112  อย่างไรก็ตาม มันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้หากประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ สิ่งนี้ตรงกับที่ตอบคำถามแรกว่า สิทธิทางการเมืองมีความสำคัญอันดับแรกสำหรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 

ที่มา : https://112watch.org/112watch-speaks-with-natt-hongdilokkul-a-human-rights-officer-in-british-columbia/

112 WATCH เป็นการรวมตัวของผู้คนและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย โครงการนี้ริเริ่มโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อราวปลายปี 2564 โดยจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรในการทำงานสื่อสารเพื่อหยุดยั้งการใช้มาตรา 112 ผ่านช่องทางหลักคือ https://112watch.org/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net