Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ธ.ค.2549 นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ามีข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการใช้สิทธิคลอดบุตรของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เนื่องจากการให้สิทธิผู้ประกันตนในระบบเหมาจ่าย กำหนดให้ผู้ประกันตนหญิงหรือภรรยาของผู้ประกันตนชาย ต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ เท่านั้น


 


ข้อกำหนดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ประกันตนในระดับผู้ใช้แรงงาน เพราะผู้ประกันตนหญิงมักกลับไปคลอดบุตรที่ภูมิลำเนาเดิม ส่วนผู้ประกันตนชายที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดปริมณฑล ส่วนใหญ่มีภรรยาอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม จึงไม่สามารถใช้สิทธิที่โรงพยาบาลตามที่ระบุไว้ในบัตรรับรองสิทธิฯ ของผู้ประกันตนได้ และหากผู้ประกันตนหญิงหรือภรรยาผู้ประกันตนชายไม่ได้คลอดบุตรที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ผู้ประกันตนจะเบิกเงินคืนได้เพียง 6,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง


 


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษา และการถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น กรณีคลอดบุตร ปกติให้อยู่โรงพยาบาลเพียง 1 วัน กรณีผ่าตัดคลอดให้อยู่โรงพยาบาลเพียง 2 วัน เป็นต้น


 



จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สปส.ใช้ระบบเหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในอัตรา 377 บาท (ต่อคน/ต่อปี) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร 12,000 บาทต่อครั้ง รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่การฝากครรภ์ คลอดบุตร บริบาลทารก และอื่นๆ โดยจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิกรณีคลอดบุตรประมาณ 8.1 ล้านคน ในแต่ละปี สปส.จะต้องจ่ายเงินเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท


 


ทว่า ผู้ประกันตนหญิงและภรรยาของผู้ประกันตนชายสามารถใช้สิทธิได้เพียงร้อยละ 3 ของผู้ประกันตนที่มีสิทธิเท่านั้น หมายความว่าในจำนวนผู้ประกันตน 100 คน จะมีผู้ใช้สิทธิคลอดบุตรเพียง 3 คน ใน 1 ปี จะมีผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้นประมาณ 250,000 คนต่อปี


 


เมื่ออ้างถึงผลการวิจัย เรื่องความคิดเห็นของผู้ประกันตนที่มีต่อรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรพบว่าผู้ประกันตน ร้อยละ 75.82 เลือกรูปแบบการเหมาจ่ายเงินค่าคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตน ดังนั้น คณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีคลอดบุตร จากการเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาล เป็นการเหมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตน ในอัตรา 12,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป


 


นายจุฑาธวัช กล่าวต่อว่า การเหมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตน 12,000 บาทต่อครั้ง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนฯ เนื่องจากจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนจะเท่ากับจำนวนเงินเหมาจ่ายที่ สปส.จ่ายให้แก่โรงพยาบาล แต่การเหมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนประโยชน์ทดแทนจะถึงมือผู้ประกันตนโดยตรง


 


เรียบเรียงจาก http://www.thaipost.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net