Skip to main content
sharethis

ภาพจากเอพี
--------------------------------------------------
ประชาไท -- 12 ก.ค. 48 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ มีความเห็นว่า ควรยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องมีกฎหมายใหม่ใช้แทน ทั้งนี้ มอบอำนาจให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศ หรือหากในกรณีฉุกเฉินก็ให้อำนาจนายกประกาศ ระบุ ทำให้เป็นพลเรือนมากขึ้น

ทั้งนี้ ความเห็นในที่ประชุมมีใจความสำคัญ 3 ประการคือ เห็นชอบให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาก่อน มะนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่จะไม่มีกฎหมายให้ยึดถือในการปฏิบัติงาน

ประการต่อมา กฎหมายที่จะออกมาใช้แทนกฎอัยการศึกควรมีลักษณะกลาง ๆ คือใช้ได้กับทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ในประเทศ ไม่เจาะจงเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะการบัญญัติกฎหมายต้องเขียนด้วยหลักนิติธรรม

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ควรใช้ได้กับความรุนแรงทั้งระดับเบา เช่น กรณีไฟไหม้ป่า ระดับกลาง ๆ คือไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายระดับรุนแรงมหาศาลในทันที เช่น กรณีสถานการณ์ภาคใต้ และระดับรุนแรง เช่น กรณีซึนามิ

ประการสุดท้าย กระบวนการประกาศใช้ ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารคือ รัฐบาล แต่ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศได้ แต่ต้องเรียกประชุม ครม. ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 3 วัน มิเช่นนั้น ถือว่าประกาศของนายกฯ สิ้นสภาพไป

นายวิษณุ ให้ความเห็นว่า การมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมาย ทำให้มาตรการของกฎหมายฉบับใหม่ดูเป็นมาตรการทางพลเรือนมากขึ้น พร้อมกับย้ำว่า การมอบอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมาย จะทำให้เกิดการตรวจสอบทางการเมือง โฆษกรัฐบาลต้องแถลง ต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ใช่สักแต่ว่าประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ประชาชนทั่วไปก้ไม่รู้ เหมือนอย่างกรณีที่ทหารประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ แต่คนที่อยู่นอกพื้นที่กฎอัยการศึก เช่น คนกรุงเทพฯ ไม่รู้เรื่อง อย่างที่ผ่าน ๆ มา

นายวิษณุเปิดเผยด้วยว่า ร่างฯ กฎหมายฉบับใหม่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับใหม่จะออกมาในรูปของพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ โดยหลักทั่วไปแล้วก็ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งมีข้อดีคือ ต้องผ่านขั้นตอนพิจารณาของรัฐสภา แต่ก็มีข้อเสียคือความล่าช้า ซึ่งจะเท่ากับเป็นการยืดเวลาการใช้กฎอัยการศึกนานออกไป

แต่หากออกกฎหมายมาในรูปพระราชกำหนด ก็ต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าครบองค์ประกอบที่จะออกตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 218 หรือไม่ ทั้งยังต้องคำนึงด้วยว่าจะเป็นการตัดอำนาจรัฐสภาหรือไม่

การประชุม หารือเกี่ยวกับการพิจารณายกร่างกฎหมายใหม่แทนกฎอัยการศึกวันนี้ มีหน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมประชุม 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกรมการปกครอง กรมพระธรรมนูญ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักวิชาการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยการประชุมครั้งหน้าจะเชิญเชิญอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ และกอ.สสส.จชต.มาร่วมประชุมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net