Skip to main content
sharethis

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าสตง. ที่วุ่นวายข้ามปี จะนำพาไปสู่การเปิดเผยถึงความไร้ประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายขององค์กรขนาดใหญ่ของรัฐหลายองค์กร ไล่ไปตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

แม้กรณีของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จะชะลอความร้อนแรงลงในวันนี้ (8 มิ.ย. 2548) โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประกาศจะยุติการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายเสรีได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ได้เปิดประเด็นให้สังคมไทยไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระเบียบ คตง. ไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา -ไม่มีผลตามกฎหมาย

ภายหลังนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.กรุงเทพฯ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการ วุฒิสภา (ประธานวิป วุฒิ) ออกมาเปิดเผยถึงความไม่เป็น "กฎหมาย" ของระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2543 เนื่องจากยังไม่ได้ประกาศในราชกิจานุเบกษา

ฉับพลัน ก็มีการโต้ตอบ ว่า ระเบียบคตง. ถือเป็นการภายใน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลายความเห็นเป็นของนักกฎหมาย อาทิเช่น นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นต้น

วันที่ 7 มิ.ย. นายเสรีได้ออกมายืนยันอีกครั้งในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ของสำนักข่าวผู้จัดการ โดยหยิบยกเอาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒.....มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา ๕ ให้ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินรักษาการตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือระเบียบโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ประกาศ
ระเบียบตามวรรคหนึ่งที่มีผลเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

จากมาตรานี้ เป็นที่ถกเถียงต่อไปได้ลำบากยิ่งนัก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดเจน แทบไม่ต้องตีความซ้ำอีกว่า ระเบียบในการกระทำ ของ คตง. เพื่อดำเนินการตามพรบ.ฯ นั้น ถือเป็นการทั่วไป ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตัวบทกฎหมายนั้น ไม่ต้องป่วยการหาให้ยากเลย เพียงเข้าไปค้นในเว็บไซต์ ของคตง. เองก็พบ http://www.oag.go.th/information/OAG1Q00102.htm

กฎหมายลูกขัดกฎหมายแม่

การนำเสนอของนายเสรีไม่หยุดอยู่เพียง การสรรหาผู้ว่าสตง. ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ได้ยึดโยงไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ในการใช้ตีความความชอบด้วยกฎหมายของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาในการดำรงตำแน่งผู้ว่าสตง. ด้วย

แม้จะไม่มีเรื่องราชกิจจานุเบกษาเข้ามาแทรก แต่ประเด็นที่เป็นข้อใหญ่ใจความของกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าสตง. ก็มีความวุ่นวายอยู่แล้วจากการที่ระเบียบของคตง. ขัดกับ พรบ. ฯ ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่

นักเรียนกฎหมายที่ไหนก็รู้ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สอนกันในกฎหมายมหาชนเบื้องต้น เรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

ประเด็นนี้ ดูเหมือนเป็นการย้อนรอยถอยหลังกลับไปสู่การคัดง้างอ้างหลักการเมื่อปีที่ผ่านมา จากกรณีที่มีผู้จุดประเด็นเรื่องคุณหญิงจารุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าสตง. โดยไม่ชอบตามระเบียบ คตง. จนกระทั่งนำไปสู่การนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในที่สุด

ย้อนทวนความจำอีกที ปลายปีที่แล้ว ประเด็นเรื่องผู้ว่าสตง. จึงประกอบไปด้วยใจความสำคัญ 2 ประเด็นคือ ควรยึดหลักกฎหมายฉบับใดมากกว่ากัน ระหว่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กับระเบียบคตง. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่า

อีกประเด็นคือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวนั้น ควรหรือไม่ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมาก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและมีคำวินิจฉัยว่า การขึ้นดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา นั้นไม่ชอบด้วยระเบียบของคตง.

ความหมายของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการชี้ว่ากฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่า มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมาย

คำอธิบายในรายละเอียด เรื่องการขัดกันของกฎหมายนั้น ขอเสนอว่าอ่านจากบทความของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนามปรีชา เฉลิมวณิชย์ ผู้เสนอภาพความหลัง และชี้บ่งตัวบทกฎหมายพร้อมหลักการในการวินิจฉัยประอบกันไป ในบทความ วันแห่งประวัติศาสตร์การปกครองไทย
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000067929

กฎหมายไทย ใครอยากได้แบบไหนก็ตีความแบบนั้น?

นายเสนาะ เทียนทอง ผู้เฒ่าแห่งทะเลการเมืองไทยให้สัมภาษณ์ใน A day weekly ฉบับล่าสุด (และเป็นฉบับสุดท้าย) ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เหมาะสำหรับคนมีอำนาจมาใช้ แล้วให้นักกฎหมายมาบิดเบือนได้ทุกกรณี

คำอธิบายนี้ ดูน่ากลัวยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายขององค์กรสำคัญ ๆ ในการเมืองการปกครองของไทย เพราะแม้กระทั่งว่า ระเบียบ คตง.ว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าสตง. นั้นถือเป็นระเบียบภายในซึ่งไม่ต้องประกาศนาชกิจจานุเบกษา

หรือว่าระเบียบดังกล่าวเป็นการทั่วไปเพราะมีผลผูกพันผู้อื่นนอกจาก คตง. ดังนั้นจึงต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามาตรา 5 แห่งพรบ. สตง. จนบัดนี้ ประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อยุติ ด้วยการตีความแปลกต่างพิสดารนานา

ประเด็นเก่าก่อนที่เป็นข้อกังขาในแวดวงผู้สนใจใผ่รู้ในเชิงนิติศาสตร์มหาชน ว่าศาลรัฐธรรมนูญควรรับวินิจฉัยกรณีผู้ว่าสตง. หรือไม่ ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงแต่ก็จบลงอย่างห้วน ๆ หลังศาลรัฐธรรนูญรับตีความ

ประเด็นที่ตามมาคือ เหตุไฉนศาลรัฐธรรมนูญจึงตีความให้ยึดถือกฎหมายที่มีค่าต่ำกว่าเป็นหลัก

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ประเด็นเรื่องกฎหมายฉบับหนึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ กลับถูกนำมาพูดล่าช้าไปเกือบปี และถูกหยิบยกมาพูดถึงภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีปัญหาไปแล้ว

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เรื่องพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะส่งผลให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ อย่างการประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาซึ่งไม่เคยถูกหยิบยกมาพิจารณาเลย สำหรับกรณีผู้ว่าสตง. ไม่ว่าในชั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือวุฒิสภา

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินบางคนออกมากล่าวว่าไม่มีใครบอกเลยว่าระเบียบคตง. ที่มีผลเป็นการทั่วไปต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

วันนี้ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ได้เปิดจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ลาออกจากตำแหน่งเพื่อบ้านเพื่อเมือง และยืนยันอีกครั้งว่า กาวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นข้อยุติ รวมถึงพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสตง. ก็ถือเป็นโมฆะด้วย เพราะขัดกับระเบียบของคตง.

นักกฎหมายเมืองไทยมากมายยิ่งนัก คนไม่รู้กฎหมายก็มีมากอย่างยิ่ง การตีความยังไม่สุดสิ้น กฎหมายที่ตีความอย่างหาข้อยุติไม่ได้ แตกต่างอะไรกับภาวะไร้ขื่อแป

นักข่าวน้อย ศิษย์ท่าพระจันทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net