Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 9 มิ.ย. 48 "วันนี้พวกเรามีความภาคภูมิใจที่จะเสนอร่างแผนแม่บทกิจการโทรคม นาคม โดยเน้นที่การแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเรายังตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ในการเปิดกว้างรับความเห็นไปปรับปรุง แม้จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้วก็ตาม" พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2548-2550 วันนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้สนใจร่วมประชุมนับพันคน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการ กทช. เป็นองค์กรอิสระ เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคม นาคม พ.ศ.2543 โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อ 1 ต.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฉบับดังกล่าว จะใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยต้องเสร็จสิ้นและเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกา 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่ง กทช.พร้อมที่จะนำไปดำเนินการทันที

ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฯ พร้อมกล่าวว่า แผนนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในยุคการค้าเสรี สู่ความพร้อมในการรองรับแรงผลักดันจากเวทีโลกและ เอฟทีเอ

นายกุลิศ ชี้ถึงปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อกิจการโทรคมนาคมในขณะนี้ว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเติบโตที่เติบโตขึ้น จึงส่งผลให้โทรคมนาคมเติบโตมากขึ้น 10% และมือถือเติบโตตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มีจุดเปลี่ยนถึง 200% และยังคงเติบโต 20-30% มาโดยตลอด ทั้งยังมีการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านโครงสร้างประชากร และปัจจัยระหว่างประเทศเกี่ยวข้องด้วย

"ในเวทีระหว่างประเทศ เราจะเข้าไปสนับสนุนและมุ่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ โดยจะช่วยลดช่องว่างและคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุด" นายกุลิศ กล่าว

สำหรับการระดมความคิดเห็นในวันนี้ มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแข่งขันประกอบกิจการโทรคมนาคม และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการ, การอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม และการส่งเสริมกิจการโทรคมนาคมเฉพาะกิจ, การใช้ เชื่อมต่อโครงข่ายและการบริหารทรัพยากรโทรคมนาคม

ลำดับต่อมาคือ การกระจายบริการด้านโทรคมนาคมให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ สุดท้ายคือการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการเตรียมพร้อมในยามเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย

"แผนฉบับนี้เสร็จไปแล้ว 60-70% ยังขาดแต่ความร่วมมือร่วมใจและความคิดที่เป็นประโยชน์จากทุกส่วน โดยแผนนี้ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อีก ไม่เพียงเฉพาะแต่วันนี้เท่านั้น เมื่อมีความเห็นเพิ่มเติมเรายินดีที่จะแก้ไขเสมอ" นายกุลิศ กล่าวทิ้งท้าย

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net