Skip to main content
sharethis


วันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค. ที่อาคารอเนกประสงค์ 2 ชั้น 3 วงเสวนาเรื่องการเมืองไทยหลังทักษิณ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่ครั้งแรกถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มี.ค. หลังการยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่กี่วัน ความผันผวนของการเมืองไทยทำให้เวทีชื่อเดิมนี้ถูกจัดขึ้นซ้ำมาเป็นครั้งที่ 4 อย่างน่าอัศจรรย์


 


ครั้งนี้ นักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนรวมทั้งสิ้น 6 คน มาร่วมกันถกและตอบคำถามว่า ภายใต้ภาวะที่ดูเหมือนคลี่คลายลงไประดับหนึ่งหลังมีการลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค. ที่จะถึงนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง


 


นักประวัติศาสตร์อาจจะบอกว่า เส้นทางประวัติศาสตร์มีอุบัติเหตุมากมาย แต่คำถามสำหรับการเมืองไทยเวลานี้ คือ อะไรจะอุบัติขึ้น และอะไรจะเป็นเหตุแห่งการอุบัตินั้น


 


 


0 0 0


 


ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์


"ในรอบ 48 ชั่วโมงข้างหน้า


การวินิจฉัยของศาลครั้งนี้


จะส่งผลทางการเมืองไทยอย่างลึกซึ้งไปอีกหลายปี"


 


ดร.สังศิต เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในการศึกษาเรื่องการคอร์รัปชั่นมาอย่างยาวนาน ดร.สังศิต พยายามมองหาโมเดลทางออกของการเมืองไทยขณะนี้ ได้ 7 โมเดล พร้อมๆ กับกล่าวย้ำความสำคัญของการพิจารณาคดีการเมืองเรื่อง กกต. ว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทยไปอย่างยาวนานมากกว่าที่หลายคนจะคิด


 


สภาวะไร้กติกา องค์กรของรัฐไม่มีอำนาจสูงสุดอีกต่อไป


เวลาที่ดูหรือวิเคราะห์ความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยต้องดู 2 ประเด็นคือ


 


ประเด็นแรก  สถานการณ์ภายในรัฐของเรามีปรากฏการณ์คือ การไร้กติกาและไร้กฎเกณฑ์ทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นทั่วไป จะเห็นได้ว่าองค์กรอิสระไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ซึ่งรวมทั้งศาลด้วย กกต.ก็ไม่ยอมลาออก แม้ว่าศาลจะวินิจฉัยแล้วว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เป็นกลาง แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่าคนที่อยู่ในองค์กรอิสระยังทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป นอกจากนั้น เรายังมีวุฒิสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันวุฒิสภาก็กำลังเลือก ปปช. อยู่


 


และรวมทั้งฝ่าบริหารยังทำงานด้านนโยบายใหม่ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลรักษาการกับรัฐบาลปกตินั้นหายไป นอกจากนี้ก็ยังใช้เครื่องมือของรัฐในการโจมตีผู้ทีเห็นแตกต่างจากตัวเองรวมทั้งฝ่ายค้าน


 


มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรต่างๆ ของรัฐ ทำให้เห็นว่าอำนาจสูงสุดของรัฐไม่มีอยู่ต่อไป แมคคิเวลลีวิเคราะห์สถานการณ์แบบนี้ว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นอนาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้องค์กรของรัฐไม่มีอำนาจสูงสุดอีกต่อไป


 


ประเด็นที่สอง ในขณะที่มีความผิดปกติทางการเมืองก็มีการสร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง ในขณะที่รัฐผูกขาดโดยกลุ่มทุนผูกขาด อิทธิพลท้องถิ่น ก็พยายามที่จะขยายกำลังของตัวเองต่อไป


 


ระบบอุปถัมภ์การเมืองมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรก นักการเมืองทำกับข้าราชการประจำ เห็นได้ว่ารัฐบาลได้มีการยกเลือกมติ ครม.ที่แต่เดิมข้าราชการจะสามารถเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 3 แห่ง แต่รัฐบาลทักษิณก็ได้ทำให้ข้าราชการสามารถเป็นบอร์ดได้มากที่สุดถึง 19 แห่ง และนั่นหมายถึงผลตอบแทน ซึ่งมีตั้งแต่เบี้ยประชุม โบนัสประจำปีรวมทั้งเงินใต้โต๊ะจากการประมูลโครงการต่าง ๆ


 


แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การส่งคนของตัวเองไปอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อจะให้ช่วยดูแลการประมูลธุรกิจของครอบครัวของนักการเมืองเป็นหลัก ผลก็คือจะไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้นในการประมูลงานของทางราชการเลย


 


"แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงการไปทำในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็นการไปหาค่าเช่าทางการเมืองนั่นเอง"


 


ระบบอุปถัมภ์ อีกด้านหนึ่ง คือการใช้นโยบายประชานิยม ทำให้ทุนผูกขาดและอิทธิพลท้องถิ่นสามารถกวาดเอากลุ่มคนข้างล่างมาเป็นพันธมิตร ทำให้ตลาดการเมืองของไทยเป็นตลาดแบบปิด โอกาสที่จะทำให้คนเข้ามาแข่งขันน้อยลงไปทุกที


 


จากนี้ การเมืองไทย มีทางเลือกอยู่อย่างน้อย 7 ทางเลือก


ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการเติบโตของอุดมการณ์ประชาธิปไตยค่อนข้างมาก มีการประท้วงการประชุมการออกเอกสาร ทำให้เกิดขั้วทางการเมืองที่น่าสนใจว่า ในขณะที่ทุนผูกขาดสามารถดึงคนข้างล่าง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความขัดแย้งกับกลุ่มพลังประเพณีนิยมและชนชั้นกลางที่เน้นเรื่องประชาธิปไตยที่มีคุณธรรมกำกับ ทำให้ฝ่ายประเพณีนิยมกับประชาธิปไตยมาเป็นพลังกลุ่มเดียวกัน


 


กลุ่มประเพณีนิยมน่าจะไม่ยอมให้ทุนผูกขาดมีอำนาจอยู่ในการเมืองไทยนานเกินไป และเมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ในวันที่ 15 ต.ค. แล้ว จากนี้การเมืองไทย มีทางเลือกอยู่อย่างน้อย 7 ทางเลือกคือ


 


ทางแรก ทักษิณประกาศเว้นวรรคทางการเมืองหรือตั้งนอมินีขึ้นมาทำหน้าที่แทน ทางเลือกแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผลคือจะผ่อนคลายพลังที่จะเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยได้ และจะมีการตั้งนอมินีขึ้นมารับบทบาทแทนสักหนึ่งปี


 


(ทางเลือกที่สองถึงหกนั้น ดร.สังศิต กล่าวว่าจะเป็นบทบาทของศาลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลที่จะมีการวินิจฉัยเรื่อง กกต. ในวันที่ 25 ก.ค. นี้)


 


ทางเลือกที่ 2 ศาลตัดสินจำคุก กกต.ทั้งสามท่าน ผมคิดว่าการตัดสินอย่างนี้มีโอกาสการเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติเร็ว และจะปฏิรูปการเมืองได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีการยุบห้าพรรคตามมา และพรรคการเมืองที่เข้ามาตั้งรัฐบาลจะเป็นพรรคเฉพาะกิจ และรัฐบาลแบบนี้จะอยู่ไม่นาน


 


ถ้าหากว่ามีการสั่งยุบพรรคห้าพรรค ก็จะทำให้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นบาดเจ็บ ต้องไปสมานแผลอย่างน้อยหนึ่งปี และแกนนำอาจต้องใช้เวลาถึงสองปี และจะแตกฉานซ่านเซ็นไปเป็นพรรคใหม่ๆ


 


ทางเลือกที่ 3 กกต.ถูกจำคุก แต่พรรคไม่ยุบ แต่ก็จะเป็นเหมือนเดิมคือ กกต.ห้าคนไม่มีกลไกที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม


 


โอกาสที่พรรคไทยรักไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาลมีอยู่สูงและโอกาสที่ทักษิณและนอมินีจะกลับมานั้นมีสูง


 


ทางเลือกที่ 4 ไม่จำคุก กกต.และศาล รธน.ไม่ยุบพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค กรณีแบบนี้พรรคไทยรักไทยจะกลับมาอย่างท่วมท้น


 


ทางเลือกที่ 5 ศาลไม่จำคุก กกต.แต่ศาลยุบห้าพรรค อย่างนี้การเปลี่ยนแปลงก็ยังเป็นโอกาสที่ดี


 


ทางเลือกที่ 6 ถ้าหากว่าภายหลังการเลือกตั้งแล้ว อาจจะมีการร้องเรียนเกิดขึ้นได้ และจะมีการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ


 


และทางเลือกสุดท้าย หากว่าศาลไม่ลงโทษ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรค ไทยรักไทยกลับมา ก็อาจจะมีการแทรกแซงจากทหาร ซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เกิดขึ้นได้


 


ถ้าทักษิณหรือนอมินีของเขากลับมาเป็นรัฐบาล จะเกิดอะไรขึ้น


แมคคีเวลลีบอกว่า อำนาจคือธรรม คนที่ชนะคือคนที่เขียนประวัติสาสตร์ นี่คือวัฒนธรรมแบบคนหน้าด้านถ้าทักษิณหรือนอมินีของเขากลับมาเป็นรัฐบาล วัฒนธรรมแบบนี้จะแพร่กระจาย คนหน้าด้านมีความชอบธรรม องค์อิสระในเวลานี้ก็เลียนแบบให้เห็น ข้าราชการก็จะเลียนแบบ รวมทั้งเยาวชนก็จะเห็นว่าการหน้าด้านดีกว่า


 


ประการต่อมา คือการเกิดระบบอุปถัมภ์การเมืองจะกลายเป็นเรื่องที่แพร่กระจาย ทำให้โอกาสของการแข่งขันทางธุรกิจอย่างยุติธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ ทำให้คนที่หากินสุจริตต้องถอยออกไป เราจะได้เห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสองถึงสามเปอร์เซ็นต์เป็นอย่างไร เมื่อระบบคุณธรรมหายไปอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดน้อยถอยลง


 


ทักษิณจะปกครองคนไม่ได้ทั้งหมด


และทักษิณจะปกครองคนไม่ได้ทั้งหมด เพราะทุนนิยมแบบทักษิณเป็นทุนนิยมที่ไม่มีทุนทางสังคม


 


ทุนนิยมที่ทักษิณพูดนั้น เป็นทุนนิยมสมัยเริ่มต้นสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม พูดถึงแต่เรื่องประสิทธิภาพและการแข่งขันเป็นทุนเฉพาะกำไรผูกขาดขนาดใหญ่


 


และปีนี้พ.ศ. 2549 เป็นปีที่ครบรอบที่ทักษิณประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดไป เหลือเวลาอีก 5 เดือนที่จะต้องดูว่าทักษิณจะขจัดความยากจนให้หมดไปได้จริงหรือ จะทำให้ความยากจนระบาดจากคนจนไปสู่ชนชั้นกลางระดับล่าง


 


"การเมืองไทยในรอบใหม่จะเกิดขึ้นในรอบ 48 ชั่วโมงข้างหน้า การวินิจฉัยของศาลครั้งนี้จะส่งผลทางการเมืองไทยอย่างลึกซึ้งไปอีกหลายปี


 


เพราะฉะนั้นผมคิดว่าขอให้เราส่งกำลังใจให้แก่ศาลได้ยึดถือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง"


 


0 0 0


 


อ.สุดาทิพย์ อินทร


"เมื่อพูดเรื่องความโปร่งใส


กลุ่มประเทศที่เราเคยอยู่ด้วยเขาเริ่มแซงหน้าเราไปแล้ว"


 


อ.สุดาทิพย์ อินทร นักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชน ที่ถูกปิดรายการไปในช่วงของรัฐบาลทักษิณ กล่าวถึงปัญหาของทักษิณจากมุมมองของต่างประเทศว่า ดัชนีความน่าเชื่อถือที่ติดลบของรัฐบาลและการเมืองไทยนั้น เกี่ยวพันใกล้ชิดกับแรงดึงดูดในการมาลงทุนของต่างชาติ


 


เมื่อพูดเรื่องความโปร่งใส กลุ่มประเทศที่เราเคยอยู่ด้วย เขาเริ่มแซงหน้าเราไปแล้ว


หันไปดูประเทศที่เคยติดกลุ่มกับเราเรื่องความโปร่งใสเช่นเกาหลีใต้ เวียดนาม กลุ่มประเทศที่เราเคยอยู่ด้วยนี่เขาเริ่มแซงหน้าเราไปแล้ว ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ ที่ทำการจัดเรตติ้งนั้น ใช้วิธีการสัมภาษณ์นักธุรกิจต่างๆ เช่น ต้องจ่ายใต้โต๊ะขนาดไหน


 


ความโปร่งใสนั้นเกี่ยวกับต้นทุนทางธุรกิจและนี่ทำให้ขีดการแข่งขันของเราสู้ที่อื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามที่เคยมีเรื่องรัฐมนตรีบางคนไม่โปร่งใส ก็ปรากฏว่ารัฐมนตรีผู้นั้นลาออกกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีเกาหลีใต้ก็เป็นข่าวที่รับรู้ทั่วไป กรณีของการจำคุกอดีตประธานาธิบดี จากการสำรวจอันดับความโปร่งใสของประเทศในเอเชีย 13 ประเทศ โดยบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ก) ไทยอยู่อันดับสิบ ในสิบสามอันดับ มาเลยเซียอยู่อันดับเจ็ด เวียดนามอยู่อันดับที่สิบสอง


 


จากการสำรวจของ Transpiracy International ให้คะแนนความโปร่งใสของไทยจากคะแนนเต็ม 10 ไทยได้คะแนนเพียง 3.8 ขณะเดียวกันบรรดาหนังสือพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟแนนเชียลไทม์ หรือวอลสตรีท ก็พบกับความประหลาดใจว่า แหล่งขาวในไทยเองเริ่มท้าทายตัวเลขจีดีพี่ของรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวที่อยู่ในสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ มักจะให้ความเห็นคล้อยตามรัฐบาลมาตลอด


 


นอกจากนี้ ตัวเลขหนี้สินภายในประเทศก็เป็นตัวฟ้องดัชนีเศรษฐกิจของประเทศอย่างชัดเจน ถ้าเป็นตัวแดงจะเอาอำนาจซื้อภายในมาจากไหน และนี่เองที่รัฐบาลจะต้องเข็นเมกะโปรเจ็กต์ และขณะนี้ก็เพิ่งจะผ่านเมกะโปรเจ็กต์ไปหนึ่งโครงการนั่นก็คือ จังหวัดที่ 77


 


ถ้าคุณทักษิณกลับมาก็คงจะผลักดันเรื่องสนามบินหนองงูเห่าต่อไป จะกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ทักษิณเสกขึ้นมา โดยมีคำถามว่าความชอบธรรมมีแค่ไหน


 


สำหรับกรณี การทำข้อตกลงเอฟทีเอ ประเด็นเอฟทีเอก็จะเป็นประเด็หนึ่งที่จะต้องมีการผลักดันเรื่องอำนาจตรวจสอบของรัฐสภา เพราะไม่เช่นนั้น ประเทศไทยจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำการตกลงเอฟทีเอโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา


 


0 0 0


 


วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา


"ถ้าทักษิณจำเป็นต้องถอย


กระบวนการเช็กบิลทักษิณจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีเต็มๆ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง


และนี่คือสิ่งที่ทักษิณกลัวที่สุด"


 


หัวหน้าโต๊ะข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เจ้าของนามปากกา "ดินสอโดม" กล่าวว่าการเมืองในรอบนี้หนักหนาที่สุด และทักษิณไม่มีตอนต่อไปอีกแล้ว


 


25 ก.ค. นิติปฏิวัติ


จากหัวข้อการเมืองไทยหลังทักษิณ 4 นั้น ผมคิดว่า ทักษิณไม่มีตอนที่ 4 แล้ว ในวันที่ 25ก.ค.นี้ ผมเชื่อว่าการนิติปฏิวัติจะชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการใช้อำนาจปืนเป็นหลัก คือการรัฐประหาร


 


และผมเชื่อว่า วันที่ 24 สิงหาคมที่กฤษฎีกาเลือกตั้งมีผล ก็น่าจะมี กกต. ใหม่ได้ทัน


 


คุณทักษิณเป็นตัวที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งหมด และไม่สามารถจะเป็นผู้นำได้ เพราะคุณทักษิณไม่สามารถเป็นคนหย่าศึก แต่คุณทักษิณเลือกอยู่ข้างใดข้างหนึ่งแล้ว


 


สำหรับกรณีการยุบพรรคการเมืองนั้น หากจะยุบเพียงพรรคของคุณทักษิณพรรคเดียวก็จะวุ่นวาย สิบหกล้านเสียงก็จะมีปัญหา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะยุบก็น่าจะยุบสัก 5 พรรค แถมกรรมการ (กกต.) ด้วย


 


ถ้าถามว่าทักษิณทำอะไรอยู่ตอนนี้ คำตอบก็คือ "การดิ้นรน"


แต่ถ้าถามว่าทักษิณกำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้ คำตอบก็คือ การดิ้นรน ที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีการให้คำมั่นสัญญากับข้าราชการว่า จะขึ้นเงินเดือนให้ในปี 2551


 


ถ้าทักษิณจำเป็นต้องถอย กระบวนการเช็กบิลทักษิณจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีเต็มๆ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง และนี่คือสิ่งที่ทักษิณกลัวที่สุด


 


ตอนนี้กลุ่มต่างๆ ในพรรคไทยรักไทยเริ่มจะวางเฉย แล้วก็เกิดเรื่องขึ้นมาอีกในไทยรักไทยคือ พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล เริ่มตั้งกลุ่มซ้อนขึ้นมา แสดงว่าดุลอำนาจเริ่มไม่เสถียร


 


0 0 0


 


ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล


"ศาลที่คุณทักษิณกลัวที่สุดไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง


แต่เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"


 


นอกจาก ดร.ปริญญา นอกจากจะเสนอทางออกจากยุคทักษิณแล้ว (อ่านเอกสารประกอบการเสวนา "ทำอย่างไร ประเทศไทยจึงจะถึงยุคหลังทักษิณ" http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4356&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai)เขายังกล่าวด้วยว่า ศาลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลัวมากที่สุดไม่ใช่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นศาลอาญาแผนกคดีการเมือง ซึ่งขณะนี้มีคำตัดสินเพียง 4 คดี แต่เป็นที่น่าจับตามอง


 


จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่มีนายกฯ คนไหนอีกที่จะกล้าทำเหมือนคุณทักษิณ


ผมคิดว่าเราเองควรจะเชื่อในพลังของคนเล็กคนน้อย ประชาธิปไตยนั้นหลากหลายและต้องใช้เวลา ผมอยากจะเรียนว่า นับจากวันที่ยุบสภาจนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 6 เดือนเราได้อะไรมามากมายอย่างที่ไม่นึกว่าจะได้ ผมคิดว่าเมื่อนับย้อนไปถึงวันที่เป็นจุดเปลี่ยนคือวันที่ 23 ม.ค.ที่คุณทักษิณขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก และคุณทักษิณเลือกที่จะยุบสภาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. เป็นที่มาของภาวะอึมครึมเรื่องการเลือกตั้งใหม่


 


จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่มีนายกฯ คนไหนอีกที่จะกล้าทำเหมือนคุณทักษิณ ไม่มีทางครับ และนี่คือสิ่งที่เราได้มาแล้ว และต้องรักษาไว้ ว่าที่เปลี่ยนมาขนาดนี้ได้เพราะประชาชน แม้ว่าจะมีพลังของชนชั้นสูงอยู่บ้างก็ตาม


 


และเสียงข้างมากในสภานั้น ไม่ว่าจะมีมากมายสักแค่ไหน แต่ก็หาช่วยอะไรได้ไม่ หากใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบ


 


ทักษิณให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศส 3 เดือนก่อนหน้าที่จะยุบสภาว่า ถ้าหากหาทายาททางการเมืองไม่ได้ จะเป็นต่ออีกสมัยหนึ่ง เขาไม่เคยคิดว่าเขาจะหมดตัวถึงขนาดนี้ เหมือนเจ้าของบ่อนที่ยิ่งเล่นยิ่งหมดตัว


 


ศาลที่คุณทักษิณทักษิณกลัวที่สุดไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง แต่เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


ขณะนี้ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาเราได้คุณูปการอันมหาศาล ประชาธิปไตยของไทยไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมากและการเลือก ส.ส. อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของความถูกต้องความชอบธรรมในการบริหารประเทศด้วย ถึงแม้กระบวนการตามกฎหมายจะยังไม่เกิดขึ้นเพราะว่าเราไม่มี ปปช. แต่ผมอยากจะเรียนว่า ศาลที่คุณทักษิณกลัวที่สุดไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง แต่เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


 


ศาลนี้เคยตัดสินคดีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คดีแรกคือคดีคุณจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดสินจำคุก 6  ปี จากคดีทุจริตยา


 


คดีที่ 2 จำคุกคุณรักเกียรติ สุขธนะ คดีทุจริตยา โดยจำคุก 15 ปี


 


คดีที่ 3 ยึดทรัพย์คุณรักเกียรติ 233 ล้านบาท  จากคดีทุจริตยา


 


คดีที่ 4 จำคุก ปปช. 9 คน ด้วยข้อหาขั้นเงินเดือนให้ตัวเอง รอลงอาญา


 


คุณทักษิณกลัว แต่กระบวนการยังไม่เดินหน้าไปถึงไหน แต่ถึงที่สุดแล้วจะต้องมีการพิสูจน์กันในชั้นศาลว่าคุณทักษิณทำผิดจริงหรือเปล่า


 


ทั้งหมดนั้น ผมอยากให้เรามองว่าเราได้มาแล้วเยอะมาก ประชาธิปไตยของไทยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว และเราจำเป็นต้องก้าวไปด้วยกันเพื่อรักษาสิ่งที่เราได้มาแล้ว


 


0 0 0


 


ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


"การใช้กระบวนการตุลาการก็แก้ได้บางส่วน


ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็คือการ Military Intervention (แทรกแซงโดยทหาร)"


 


ดร. ชาญวิทย์เปิดประเด็นด้วยการทอดถอนใจว่า เอาเข้าจริงแล้วประวัติศาสตร์อาจจะไม่สามารถตอบปัญหาอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทยได้เลย พร้อมทั้งเอ่ยถึงหมอดูจากสมาคนฮินดูสมาช ซึ่งอ่านเจอให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า หมอดูชาวฮินดูนั้นทำนายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเว้นวรรคทางการเมืองในระยะใกล้ และจะกลับมาได้อีกในระยะต่อไป โดย ดร.ชาญวิทย์บอกว่า คำทำนายนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิชาการและนักการเมืองหลายกลุ่ม.................


 


Royal Intervention - Military Intervention พระราชอำนาจ กับอำนาจทหาร พลังขับเคลื่อนที่ทรงอิทธิพลและมากบารมี


ในแง่ของวิชาการประวัติศาสตร์มักจะใช้เวลายาวๆ มาดูเหตุการณ์ ศึกษาและสรุปในสกุลประวัติศาสตร์แบบที่ใช้ช่วงเวลายาวๆ ผมขอสรุปว่า ถ้าหากใช้ประวัติศาสตร์ยาวๆ ดู มองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยไทยเมื่อปี 2475 เราอาจจะบอกได้ว่ามีพลังหลักๆ อยู่ 3 ส่วนที่เป็นจักรกลในการขับเคลื่อนการเมืองไทย


 


พลังกลุ่มแรกคือพลังของสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย พลังกลุ่มที่ 2 คือพลังของข้าราชการ ซึ่งมีทหารบกเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนมาและเป็นที่รู้จักกันดีกรณีที่มีการปฏิวัติ และรัฐประหาร และพลังกลุ่มที่ 3 คือ พลังนอกระบบ ซึ่งมีพัฒนาการอย่างสำคัญมากๆ ในระยะหลัง ประเด็นที่สำคัญของพลังกลุ่มนี้ก็คือรูปแบบของประชานิยม ธนกิจการเมือง และชนชนชั้นกลาง และรวมไปถึงกลุ่มซึ่งเรียกว่า Topping Taksin หมายถึงพัฒนาการทางการเมืองในยุคที่เราเห็นนั้นมีสิ่งที่เราเรียกว่า Electocracy หรือเลือกตั้งธิปไตย เป็นพลังขับเคลื่อนด้วยส่วนหนึ่ง


 


ในเลือกตั้งธิปไตยก็จะมีองค์ประกอบที่เรียกว่าเป็นหัวคะแนนที่อยู่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่กับมุ้งทางการเมืองที่มาประกอบกันเป็นพรรคการเมือง


 


พลัง 3 พลังหลักนี้เป็นพลังในการขับเคลื่อนการเมืองไทย


 


เราจะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าเราคิดว่าวิกฤติการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นและอยู่กับเราตอนนี้ และกำลังมีการแก้ปัญหาอยู่นี้ ถ้าเราตีความว่า เริ่มแต่ประมาณปลายปีที่แล้ว และมีสิ่งที่ ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา เรียกว่า "ปรากฏการณ์สนธิ" ก็มีการคาดการณ์ว่า หลังจากนี้วิกฤตนี้จะจบลงอย่างไร


 


การเมืองไทยตั้งแต่  2475 จะเห็นว่ามี Royal Intervention (ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นพระราชดำรัสหรืออะไรก็แล้วแต่) กับ Military Intervention


 


2 สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เห็นอยู่ในการเมืองไทย คือพลังของสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย ไม่ว่าเราจะมองกลับไปที่กรณีของ 14 ตุลาคม 2516 กรณีพฤษภาคม 2535 เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมาก แต่ว่าถ้าเราจะเข้าใจเรื่องของพลังสถาบันกษัตริย์ ผมว่างานที่ดีมากๆ จะเป็นวิทยานิพนธ์ของคณะสังคมวิทยาชื่อว่า "การสถาปนาพระราชอำนาจนำ" ของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เป็นการดูจากบทบาทพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้พลังสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายนั้นมีอิทธิพลบารมีสูงในการเมืองไทยในปัจจุบัน


 


เกมการเมืองเดินไปแล้วว่าจะต้องมีการเลือกตั้งแน่ๆ


เกมการเมืองเดินไปแล้วว่า จะต้องมีการเลือกตั้งแน่ ๆ ในวันที่ 15 ต.ค. แต่ว่าในทางประวัติศาสตร์นั้นมีอุบัติเหตุมากมายเลย เรายังไม่รู้ว่า กว่าจะถึงวันนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง


 


แต่ผมอยากจะมองว่า ตรงที่เราอภิปรายกันในวันนี้ ในเฉพาะหน้านี้ ถึงแม้ว่าประเด็น กกต.จะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดที่มองกันอยู่ขณะนี้ แต่ระยะยาวออกไป เกมทั้งหมดมันเลย กกต. 3 คนนี้แล้ว


 


ผมคิดว่าทุกฝ่ายอาจจะเห็นว่าเอาของใหม่หมดเลยดีกว่า ผมจึงไม่มีความวิตกกังวลกับ กกต. 3 คนเท่าไหร่ แต่ประเด็นที่น่ากังวลไปอีกก็คือ การยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค ผมคิดว่าน่าจะไม่ยุบ และเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จะปั่นป่วนหมดเลย ถ้าจะเหลือแค่พรรคชาติไทยกับพรรคมหาชน มันคงเซ็งที่สุดในโลกเลย


 


การเมืองไทยช่วงที่ผ่านมานั้น แน่นอนว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารมีปัญหา ขณะนี้ฝ่ายตุลาการก็กำลังดูอยู่ และตุลาการก็แก้ไปเปลาะหนึ่งแล้ว เมื่อต้องดูว่าจะยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค เป็นการตัดสินทางรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ ผมคิดว่าไม่น่าจะยุบมากกว่า เพราะฉะนั้นก็จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งแล้วพรรคไทยรักไทยก็จะชนะ


 


"ผมอยากจะมองในแง่ดีว่า ปรากฏการณ์สนธิก็ดี การไล่คุณทักษิณก็ดี เป็นบทเรียนทางการเมืองที่สำคัญมากๆ แม้ว่าเป็นระยะเวลายาวนาน แม้จะเสียหายทางเศรษฐกิจยับเยิน แต่เป็นบทเรียนที่มีค่ามาก และได้เห็นการพยายามโหนฟ้าแต่ฟ้าไม่เล่นด้วย ซึ่งผมคิดว่าในแง่พัฒนาการทางการเมืองนั้นดีมากๆ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทาง ผมกับเพื่อนบางคนก็แตกกันไปแล้ว ผมกับครอบครัวก็ไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะเราอยู่คนละข้าง และเมื่อมาถึงตอนนี้ ชักจะมีปรากฏการณ์ให้หันหน้าเข้ามาคุยกันได้บ้าง มีการคลี่คลายกันไปได้บ้าง


 


ประเด็นสุดท้ายคือ ถ้าเผื่อสิ่งที่มีพระราชกระแสมาแล้วยังแก้ไม่ได้ การใช้กระบวนการตุลาการก็แก้ได้บางส่วน ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็คือการ Military Intervention เราตัดอำนาจทหารไปจากการเมืองไทยไม่ได้


 


0 0 0


 


หมายเหตุ การเสวนา เมืองไทยหลังทักษิณ ตอนที่ 4 จัดโดยโครงการเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ศึกษา, หลักสุตรควบตรี/โท ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ มธ. และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์, ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, อ.สุดาทิพย์ อินทร, วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา, ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดำเนินรายการโดย ดร.พิภพ อุดร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net