Skip to main content
sharethis

ประชาไท—9 ส.ค. 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หวั่นหวัดนกพัฒนาซับซ้อน ให้แพทย์ใช้ทามิฟลูกับผู้ป่วยได้ทันที ครม. อนุมัติงบ 65 ล้านบาท ชดเชยเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่จ.นครพนม ด้านกทม. พบผู้ป่วยเฝ้าระวังหวัดนก 5 ราย จีนรับมีเหยื่อหวัดนกรายแรกตั้งแต่ปี 2546 อ้างวินิจฉัยโรคผิดพลาด เนื่องจากอาการของโรคซารส์และหวัดนกคล้ายกัน


 


หวั่น "หวัดนก" พัฒนาซับซ้อน ให้ใช้ "ทามิฟลู" กับผู้ป่วยได้ทันที


เวลา 13.30 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุมการเพิ่มมาตรการการป้องกันและรักษาผู้ป่วย ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป ที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม



นายพินิจ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตนเรียกประชุมเพื่อกำชับมาตรการเฝ้าระวังและการรักษา โดยให้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นสำคัญ คือ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกที่ได้รับการยืนยัน ทั้งที่ จ.พิจิตร และ จ.อุทัยธานี ผลตรวจจากชุดตรวจเบื้องต้น (Test kit) กลับมีผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด


 


นอกจากนี้ ในผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกส่วนใหญ่ต่างมีผลในลักษณะแบบเดียวกัน ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า เชื้ออาจเกิดการพัฒนาจนเกิดความซับซ้อนยากต่อการตรวจหามากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีสาเหตุมาจากการลักลอบใช้วัคซีนในไก่หรือไม่ ที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการแต่ตรวจไม่พบเชื้อ ประกอบกับขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปาก ทำให้การวินิจฉัยลำบากมากขึ้น เนื่องจากเบื้องต้นมีลักษณะอาการไม่แตกต่างกัน


 



ดังนั้นจากที่ได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการทบทวนพร้อมปรับมาตรการการรักษา โดยให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย หากพบว่าผู้ป่วยรายใดที่มีประวัติสัมผัสไก่ หรือพื้นที่โดยรอบมีไก่ตาย และมีอาการที่เข้าข่ายสงสัย สามารถสั่งให้ยาต้านไวรัส (ทามิฟูล) ได้ แม้ว่าผลการตรวจเบื้องต้นจะเป็นลบก็ตาม


 


สธ. รายงานที่ประชุม ครม. พบผู้ป่วยไข้หวัดนกทั่วประเทศแค่ 2 ราย


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน มีการยืนยันผู้ป่วยไข้หวัดนกจำนวน 2 ราย โดยรายแรกเป็นชายอยู่ที่ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. และเสียชีวิตวันที่ 24 ก.ค. ส่วนรายที่ 2 เป็นผู้ชายเช่นกัน อยู่ที่ อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี อายุ 27 ปี เริ่มป่วยวันที่ 24 ก.ค. เสียชีวิตวันที่ 3 ส.ค. อย่างไรก็ตามใน จ.อุทัยธานี มีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก 2 ราย เป็นผู้ชายอายุ 19 ปี ซึ่งขณะนี้อาการดีขึ้นเกือบเป็นปกติแล้ว รอเพียงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้งเท่านั้น เมื่อทราบผลแล้วก็คงจะกลับบ้านได้ และรายที่ 2 อายุ 73 ปี ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยที่ยืนยันเป็นไข้หวัดนกจนถึงขณะนี้เพียงแค่ 2 ราย


 



ครม. อนุมัติงบ 65 ล้านบาท ชดเชยเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่จ.นครพนม


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า นอกจากนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ขอความเห็นชอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ชดใช้เงินค่าทำลายไข่ไก่ และอาหารสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของ จ.นครพนม ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้ทำลายเนื่องจากปัญหาโรคไข้หวัดนก เพื่อปรับปรุงระบบการเลี้ยงใหม่ เนื่องจากระบบการเลี้ยงเดิมไม่อยู่ในมาตรฐาน จำนวนทั้งสิ้น 65 ล้านบาท จากงบกลาง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ แต่ขอให้จ่ายเงินตามความเป็นจริง นอกจากนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 29 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยง ประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติโรคไข้หวัดนก และให้มีการสนธิกำลังกันทุกหน่วยงานในลักษณะบูรณาการ ทั้งการเฝ้าระวัง และการเอ็กซเรย์โรค การสำรวจสัตว์ปีก การทำลายสัตว์ปีกที่ป่วยตายผิดปกติในรัศมี 1 กิโลเมตร การควบคุมเคลื่อนย้าย โดยให้ดำเนินการพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 7-13 ส.ค. สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์


 


นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการขออนุมัติงบประมาณเพื่อจัดทำห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในลักษณะหน่วยตรวจโรคเคลื่อนที่ ซึ่งมีขอบข่ายพื้นที่ในระดับภาคนั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่ายังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ที่ชัดเจน จึงยังไม่ได้อนุมัติ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ ไปจัดทำรายละเอียดเสนอต่อคณะรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง


 


เตรียมตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบเชื้อหวัดนก


น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคระบาดไข้หวัดนก เปิดเผยหลังเชิญตัวแทนนักวิชาการปฏิบัติห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยของรัฐ และเจ้าหน้าห้องแล็ปกลางของกรมปศุสัตว์ ร่วมหารือเพื่อวางแนวทางการตรวจสอบหาเชื้อไว้รัสไข้หวัดนกและวินิฉัยโรคในสัตว์ปีกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกลางเครือข่ายห้องปฏิบัติการการตรวจวินิจฉัยตัวอย่างเชื้อโรคไข้หวัดนก เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บตัวอย่างซากสัตว์ปีกให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และสอบสวนโรคได้เร็วขึ้น โดยมีนายสัตว์แพทย์พรชัย ชำนาญพูด ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจะต้องผ่านคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อระบุโรคได้แม่นยำมากขึ้น เพราะการสุ่มตัวอย่างสัตว์ปีกในแต่ละพื้นที่ปัจจัยการเกิดโรคแตกต่างกันโดยเฉพาะสัตว์ปีกที่มีเชื้อโรคหลายโรคอยู่ในตัวเดียวกันยิ่งต้องอาศัยความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคและความรวดเร็วในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งการป้องกันโรคในคนและในสัตว์


 


กทม. พบผู้ป่วยเฝ้าระวัง 5 ราย


ด้านนายปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการและศูนย์ข้อมูลการแพร่ระบาดไข้หวัดนกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยเฝ้าระวังไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยเฝ้าระวัง 9 ราย ได้รับผลยืนยันแล้วว่าไม่เป็นไข้หวัดนก 4 ราย เหลืออีก 5 ราย คือ 2 รายที่เขตจตุจักร เป็นเด็กชายอายุ 14 ปี และเด็กชายวัย 3 ขวบ 6 เดือน ที่เขตคลองสาน เป็นชายอายุ 41 ปี เขตพญาไท เป็นหญิงอายุ 46 ปี และเขตภาษีเจริญ เป็นชาย วัย 61 ปี ซึ่งทั้ง 5 ราย คาดว่าจะได้ผลตรวจยืนยันภายใน 2 วัน


 


จีนรับมีเหยื่อหวัดนกรายแรกตั้งแต่ปี 2546


กระทรวงสาธารณสุขจีนยืนยันผลการทดสอบจากห้องวิจัยว่า ทหารจีนวัย 24 ปี ที่ทางการจีนเคยระบุให้เขาเสียชีวิตจากอาการของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือซารส์ เป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยเชื้อ ไข้หวัดนกรายแรกของประเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2546 ลบข้อมูลรายงานเก่าที่ระบุว่าจีนพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรายแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยทางการจีนอ้างว่าเป็นการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาด เนื่องจากอาการของโรคซารส์และหวัดนกนั้นคล้ายคลึงกัน


 


นอกจากนี้ รายงานฉบับใหม่ยังได้เปลี่ยนกรอบเวลาการระบาดของไข้หวัดนกภายในภูมิภาคด้วย โดยเดิมทีระบุว่าผู้เสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดนกรายแรกพบที่ประเทศเวียดนามเมื่อเดือนมกราคม 2547


 


จากข้อมูลใหม่นี้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ของจีนเพิ่มเป็น 20 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตทั้งสิ้น 13 ราย


 


ยอดผู้เสียชีวิตจากหวัดนกแดนอิเหนาพุ่งแซงหน้าเวียดนาม


กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าคนไข้ชายวัย 16 ปีที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลซูเลียนติ ซานโรโซ ซึ่งเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยไข้หวัดนกในกรุงจาการ์ต้าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันจันทร์ แพทย์ระบุว่าอาการของคนไข้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากห้องแล็บในท้องถิ่นระบุ พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ในตัวอย่างของคนไข้ และหากได้รับการยืนยันผลการตรวจจากห้องแล็บขององค์การอนามัยโลก จะทำให้อินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นเป็น 43 คน มากที่สุดในโลกแซงหน้าเวียดนามทันที ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดมีภูมิลำเนาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชานกรุงจาการ์ต้า และมีประวัติสัมผัสไก่ที่ติดเชื้อก่อนล้มป่วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net