Skip to main content
sharethis

โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช

หนังสือที่ช่วยสะกดรอยการเมืองพม่าเพื่อให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับการจับกระแสเพื่อนบ้านฟากตะวันตกที่กำลังร้อนระอุไปด้วยไฟสงครามกลางเมืองหลังรัฐประหาร

หนังสือยังมีจัดจำหน่ายที่คลังสินค้าประชาไท สั่งซื้อได้ที่ https://shop.prachataistore.net/ (ฟรีค่าจัดส่ง)

นับแต่รัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 การเมืองพม่ามีความผันผวนสูงมาก ก่อนรัฐประหาร พม่าตกอยู่ในห้วงการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน จัดเป็นรัฐแบบ "กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเอกรัฐกึ่งสหพันธรัฐ" กล่าวคือใช้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการผสมประชาธิปไตยที่เรียกกันว่าระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) และจัดโครงสร้างการปกครองแบบสหพันธรัฐมากขึ้น (มีรัฐบาลและรัฐสภาสองระดับขึ้นไป) หากแต่ยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

เป็นเวลาราว 10 ปีมาแล้ว (ต้นปี พ.ศ. 2554 ถึง ต้นปี พ.ศ.2564) ที่ระบอบการเมืองการปกครองในแบบที่ว่ามานี้ "Operate" ในรัฐพม่าได้ พร้อมสร้างชีวิตชีวาใหม่ทางการเมือง ในห้วงนั้น พม่ามีการเลือกตั้งสม่ำเสมอและมีสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไัตย (แม้ทหารจะยังมีอภิสิทธิ์ทางการเมืองอยู่) พม่ามีการเจรจาสันติภาพเพื่อกรุยทางไปสู่การสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Democratic Federation) (แม้การปะทะทางทหารระหว่างกองทัพส่วนกลางกับกองกำลังชนชาติพันธุ์ยังคงอยู่) ทว่า ภาวะก้ำๆกึ่งๆระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เอกรัฐ (รัฐเดี่ยว) กับสหพันธรัฐ หรือ สันติภาพกับสงคราม แบบนี้ มีอายุขัยเฉลี่ยตกถึง 10 ปีเศษ และพม่าภายใต้บรรยากาศการเมืองระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและภาพลักษณ์บนเวทีระหว่างประเทศที่สูงเด่นกว่าเมื่อครั้งที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารมากว่า 50 ปี (สมัยนายพลเนวิน และ นายพล ตานฉ่วย)

 

หนังสือ

 

กระนั้นก็ดี หลังต้นปี ค.ศ. 2564 คณะรัฐประหารที่นำโดยมิน อ่อง หล่าย ได้พยายามทำให้พม่าหมุนกลับไปสู่ "เผด็จการเสนาธิปัตย์แบบเอกรัฐรวมศูนย์” หรือ "Praetorian Authoritarianism with Centralized Unitary State” โดยการประกาศสภาวะฉุกเฉินและส่งกำลังพลเข้าโรมรันกับฝ่ายต่อต้านอย่างดุเดือด มิน อ่อง หล่าย ตั้งสภาบริหารปกครองรัฐ (State Administrate Council/SAC) ที่ประกอบด้วยคณะรัฐบุคคลจำนวนไม่มากนักเพื่อผลิตรัฐบาลที่กระชับและใช้โครงสร้างกองทัพเข้าไปควบคุมปราบปรามกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์ต่อเผด็จการ คณะรัฐประหารที่กรุงเนปิดอว์กำลังพยายามรวบอำนาจ ทั้งนี้ก็เพื่อลดพลังของแรงแยกออกจากศูนย์กลางที่ถูกกระตุ้นโดยคลื่นปฏิวัติประชาชนชาวพม่าและกองทัพชาติพันธุ์ที่เรียกร้องสหพันธรัฐหรือแม้กระทั่งเคยเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพมาก่อน (เช่น KNU และ KNPP)

สงครามกลางเมืองพม่าหลังรัฐประหารจะจบลงอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยากที่จะฟันธง แต่อย่างน้อย โครงสร้างสถาบันการเมืองในช่วงก่อนรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง รัฐสภาและการปกครองท้องถิ่น จะยังคงเป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์สภาพการเมืองการปกครองพม่าสืบไป หาก มิน อ่อง หล่าย สามารถประคับประคองสถานการณ์การเมืองจนจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในปี พ.ศ. 2568 การทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการเลือกตั้ง การก่อรูปของสภาประชาชนและสภาชนชาติ ตลอดจนการเลือกประธานาธิบดีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใต้กรอบรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการเมืองห้วงก่อนหน้า) ก็ยังคงถือว่าเป็นเรื่องที่จักต้องดำรงอยู่ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐพม่าสืบไป และถ้าหากฝ่ายประชาธิปไตยกระทำการปราบปรามทหารพม่าสำเร็จ ก็หลีกไม่พ้นอีกที่จะต้องอาศัยสถาบันการเมืองบางชุดในยุคก่อนรัฐประหารเป็นฐานรองรับต่อยอดการพัฒนาการทางการเมือง (เช่น การมีอยู่ของมุขมนตรีและรัฐสภามลรัฐในระบบการเมืองแบบกึ่งสหพันธรัฐ)

ในการนี้ หนังสือเรื่อง "เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งให้ภาพลักษณะการเมืองการปกครองและสถาบันการเมืองพม่าในยุคปฏิรูปสมัยรัฐบาล เต็ง เส่ง และ รัฐบาล ออง ซาน ซู จี รวมถึงนำเสนอบทวิเคราะห์พิเศษเรื่องทหารพม่ากับการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า การเมืองสันติภาพและการเมืองสหพันธรัฐในพม่า จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อการสะกดรอยทำนายแนวโน้มการเมืองพม่าหลังรัฐประหารซึ่งยังต้องพึ่งรากฐานของการออกแบบสถาบันการเมืองในยุคก่อนหน้ารัฐประหารต่อไป

หากจะมองอนาคตการเมืองพม่า เราคงปฏิเสธการวิเคราะห์การเมืองพม่าช่วงก่อนหน้ารัฐประหารมิได้ เพราะเป็นระยะรอยต่อในทางการเมืองที่พุ่งเข้าหากระบวนการก่อรัฐประหารในระยะประชิดที่สุด ฉะนั้น รายละเอียดในหนังสือนี้จึงช่วยอธิบายภาพโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันการเมืองและตัวละครในกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งจะเป็น "Background” ให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความเป็นไปในรัฐพม่าก่อนหน้ารัฐประหารและก็ใช้เป็นรากฐานการวิเคราะห์การเมืองพม่านับจากนั้นมาได้
ถ้าอยากเข้าใจการเมืองของรัฐเพื่อนบ้านฟากตะวันตกในระยะประชิดแล้ว ลองอ่าน "เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน”

หนังสือนี้มีจำนวน 280 หน้า ราคา 239 บาท เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คขนาดกะทัดรัด พกปิดตัวหยิบอ่านได้คล่องมือ ส่งฟรีแบบลงทะเบียนทั่วประเทศ สั่งซื้อได้ที่ประชาไท  https://shop.prachataistore.net/ หรือ อีเมลที่ store@prachatai.com

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net