Skip to main content
sharethis

 


 


หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ ทำให้รายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยวตกวูบลงลง  อีกทั้งรัฐบาลยังต้องประสบปัญหาการขาดดุลทางการค้า อันเนื่องมาจากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น จีน ออสเตรเลีย  รวมไปถึงประชาชนต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตน้ำมันแพง


 


จากวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงหันมาใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เช่น ตั้งเป้าว่าจะต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในกลุ่มประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ยุโรปและออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 1,922,000 คนและทำรายได้ 55,582 ล้านบาทในปี 2549


 


แคมเปญใหม่ที่กำลังโฆษณาทางโทรทัศน์ สมนาคุณทั้งแจกทั้งแถมให้กับผู้ที่เที่ยวในประเทศได้ตามเป้า เป็นต้น


 


ดันเมกกะโปรเจกต์ โหมท่องเที่ยว


 


นิตยสารอมริกาฉบับหนึ่งโหวตให้เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับห้าของโลกและเป็นเวลากว่า 10 ปีที่เชียงใหม่ติดอันดับเมืองน่าเที่ยวที่มีชื่อเสียง  จึงไม่น่าแปลกที่รัฐบาลจะหันมาสร้างแหล่งท่องเที่ยวอย่างคร่ำเครียด โดยวาดฝันว่าเมืองเชียงใหม่ จะเป็นเมืองที่ดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทดแทนการท่องเที่ยวภาคใต้ที่ซบเซา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดรายได้เพิ่มขึ้น


 


โครงการเมกะโปรเจกต์ที่ถาโถมเข้ามาเมืองเชียงใหม่ นอกจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสวนสัตว์เปิดกลางคืน ที่ใกล้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้  คนเชียงใหม่หลายคนยังไม่รู้ว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์เชิงดอยสุเทพที่เป็นปอดของคนเชียงใหม่  ถูกแถมพ่วงด้วยโครงการเมกะโปรเจกต์อื่น ๆ ตามมามากมายนอกเหนือไปจากสวนสัตว์เปิดกลางคืนที่ว่า เช่น ปางช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก, กระเช้าลอยฟ้า, รถรางชมเมืองจากดอยสุเทพสู่สถานที่จัดงานพืชสวนโลก  และโครงการดิสนีย์แลนด์เมืองไทย เป็นต้น


 


นอกจากนี้เชียงใหม่ถูกวางตัวให้เป็นเมืองที่เป็นประตูสู่เมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน จากแผนที่รัฐบาลวางไว้เป็นจิ๊กซอว์คร่าวๆ  เช่น "ระเบียงเศรษฐกิจ" ที่จังหวัดเชียงราย หรือโครงการท่องเที่ยวเมืองโบราณล้านนา ภายใต้คอนเซปต์ "วิถีล้านนา" โดยจะสร้างรถรางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และลำพูน เป็นต้น


 


รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณสร้างระบบการคมนาคมซึ่งกะจะให้บึ้มตามไปด้วย เช่น จะสร้างสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สนามบินสันกำแพง-ดอยธิ เป็นคาร์โก้สินค้ารองรับเขตเศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย ที่คาดว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเข้ามาอีกมาก โครงการการขุดเจาะอุโมงค์ สร้างถนน,ทางรถไฟหรือรถราง เชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆ แผนปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในเชียงใหม่ เป็นต้น


 


นอกจากนี้น้ำท่วมเชียงใหม่ที่ผ่านมา รัฐบาลยังสามารถฉกฉวยสถานการณ์ในการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ได้อีก เช่น โครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง และโดยเฉพาะโครงการรื้อฝายแก่แก่ของล้านนา "ฝายพญาคำ" โดยอ้างว่าขวางลำน้ำปิงเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วม แม้จะมีเสียงคัดค้านจาก 42 ชุมชน ในจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับน้ำของฝายพญาคำก็ตาม


 


เหตุผลเบื้องลึกแท้จริงแล้ว มีคำสั่งการรื้อฝายพญาคำมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโดยนายกทักษิณ ฯ ให้เหตุผลในครั้งนั้นว่า เพื่อการปรับสภาพพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถแล่นเรือจากต้นกำเนิดลำน้ำปิงผ่านตัวเมืองและเรื่อยมาจนตลอดลำน้ำ เชื่อมโยงกับเวียงกุมกาม แหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง


 


จะเห็นได้ว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังเนรมิตขึ้น ล้วนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยมิได้สนใจปัญหาของคนเชียงใหม่อย่างแท้จริง แม้กระทั่งเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหมาด ๆ ครั้งนี้ก็ตาม  


 


เชียงใหม่เมืองน่าอยู่จริงหรือ


 


เชียงใหม่เคยเป็นเมืองที่ทั่วโลกยอมรับว่า เป็นเมืองน่าอยู่เมืองหนึ่ง ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เรียบง่ายงดงามอย่างชนบท แต่ปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จนมีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2551 เชียงใหม่จะมีทุกอย่างครบวงจร


 


แนวความคิดเรื่องเมืองน่าอยู่ เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ในช่วงแรกเมืองน่าอยู่มีความหมายเพียง การวางผังเมืองและสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันแผนพัฒนาฯ 9 มีการบูรณาการหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลาย ๆ หน่วยงานจึงเพิ่มแนวคิดเรื่องเมืองน่าอยู่ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับมอบหมายจากกรมการปกครอง ให้บรรจุแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น, กรมส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม , กรมอนามัยเพิ่มในเรื่องสาธารณสุข เป็นต้น สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหน่วยงานหลักได้ให้คำจำกัดความเมืองน่าอยู่ไว้ว่า


 


 "เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ เป็นกระบวนการพัฒนาที่เป็นองค์รวม ยึดคนเป็นศูนย์กลาง อาศัยความเข้มแข็งของชุมชนเป็นรากฐานการพัฒนา มุ่งให้เกิดความสงบ สะดวก สะอาด ปลอดภัย มีระเบียบวินัย มีเศรษฐกิจฐานราก เข้มแข็ง มีระบบบริหารที่ดี ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี วิถีชีวิตดี มีความสุข และที่สำคัญ การทำเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ต้องอาศัยพลังการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย"


 


เมื่อเร็ว ๆ  นี้ในเวทีประชุมสิ่งแวดล้อมระดับภาค เพื่อจัดทำร่างแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ที่จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเปิดเผยผลการวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ของมูลนิธิพัฒนาไทร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่า  เมืองเชียงใหม่ถูกจัดอันดับเป็นเมืองน่าอยู่จากตัวชี้วัด 5 มิติดังนี้ มิติเมืองปลอดภัย มิติเมืองสะอาด มิติเมืองคุณภาพ มิติเมืองธรรมาภิบาล  และมิติเมืองวัฒนธรรม ซึ่งผลจากคะแนนรวมทั้ง 5 มิติ พบว่า เทศบาลเมืองนครเชียงใหม่มีคะแนนสูงสุดในประเทศ


 


แต่ตัวชี้วัดสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เชียงใหม่ต้องพบกับทางตัน นั่นคือปัญหาขยะ เทศบาลนครมีอัตราการผลิตขยะสูงสุดที่1.79 กิโลกรัม/คน/วัน ในขณะที่อัตราการให้บริการน้ำประปาแก่ครัวเรือนต่ำสุดที่อัตรา 0.37 มิเตอร์/หลังคาเรือน


 


นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยบอกว่าปัญหาขยะของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเสมือนระเบิดเวลาแต่การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาพูดกันอย่างจริงจังนัก แม้แต่โครงการเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้น ยังไม่พบโครงการใดที่พูดถึงปัญหาพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคหรือคุณภาพชีวิตของชาวเมืองเชียงใหม่แม้แต่โครงการเดียว


 


นอกจากขยะที่เป็นระเบิดเวลาแล้ว ในเวทีดังกล่าวได้นำเสนอปัญหาของเมืองเชียงใหม่ที่ถึงจุดวิกฤตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทิวทัศน์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปเพราะป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ตึกสูง ที่ไร้การควบคุมหรือโซนนิ่งสถานบันเทิงออกจากเขตสถานโบราณที่สำคัญของเมือง รวมไปถึงน้ำเสีย และมลพิษทางอากาศจนทำให้เมืองเชียงใหม่มีสถิติผู้ป่วยโรคปอดเพิ่มขึ้น ทำให้เมืองเชียงใหม่ค่อย ๆ ถดถอยจากความเป็นเมืองน่าอยู่


 


ดร.อุทิศ ขาวเทียน จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ทัศนะถึงวิสัยทัศน์เมืองเชียงใหม่ในเวทีฯ ว่า   "ในอีกไม่เกินสิบปี จังหวัดเชียงใหม่ในบริเวณชานเมืองรอบนอกทั้งหมดจะมีความเป็นเมือง นั่นหมายความว่าประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ 70 % จะมีวิถีชีวิตแบบเมือง และวิถีชนบท 30 % เท่ากับว่า เราต้องเตรียมตัวที่จะรับกับสถานการณ์ความแออัดและปัญหาแบบเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้"   ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองที่กำลังจะเกิดเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้


 


แม้วันนี้เชียงใหม่ยังเป็นเมืองน่าอยู่แต่รัฐบาลมัวแต่มองถึงตัวเลขและเม็ดเงินจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจนลืมมองปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายเมืองที่กำลังแออัดมากขึ้น ปัญหาพื้นฐานด้านสวัสดิการของชาวเมืองเชียงใหม่เอง กลับเน้นที่การทุ่มเทงบประมาณสร้างสถานบันเทิงแหล่งท่องเที่ยวทำลายรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม  แม้จะเกิดประโยชน์ต่อชาวเชียงใหม่ในด้านการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่หากวันหนึ่งปราศจากนักท่องเที่ยวแล้ว ชาวเชียงใหม่จะอยู่โดยพึ่งตนเองได้อย่างไร หากเมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยขยะมลพิษ และปัญหาต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมสลายทางวัฒนธรรม และนำไปสู่ความสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองในที่สุด


 


เชียงใหม่พัฒนาอย่างไร


วรวิมล ชัยรัตน์ นักพัฒนาเมืองน่าอยู่ชาวบ้านวัดเกตุ กล่าวแทนใจคนเชียงใหม่ว่า  "หากเราทำให้เมืองเราน่าอยู่แล้วใครผ่านไปมาก็ย่อมอยากจะมาเที่ยวและมาเที่ยวอีกหลายหน แต่หากเมืองถูกโปรโมตการท่องเที่ยวด้วยการประโคมโฆษณา เมื่อคนที่มาเที่ยวพบว่าเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่และไม่น่าเที่ยว เขาก็คงไม่หันกลับมาเป็นหนที่สอง"


 


เพราะแท้จริงเชียงใหม่มีความน่าเที่ยวด้วยเสน่ห์จากรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่สะสมมากว่า 700 ปี ทั้งยังมีธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ความหลากหลายทางชาติพันธ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว รัฐบาลจึงไม่ควรจะทำเมกะโปรเจกต์ที่เน้นการลอกเลียนวัฒนธรรมชาติอื่นเพราะจะทำให้เชียงใหม่กลายเป็นปาหี่ที่หลอกตาชาวโลก ไร้เสน่ห์และไม่มีจุดขายในที่สุด


 


การทำให้เป็นเมืองน่าเที่ยวที่ยั่งยืนได้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของคนเชียงใหม่เอง ที่จะมาช่วยกันมอง สร้างพลังการมีส่วนร่วมที่แท้จริง คือการมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่วมคิด วิพากษ์วิจารณ์ โครงการต่าง ๆ ที่มาจากส่วนกลาง และสามารถตัดสินใจได้ว่าเชียงใหม่ควรจะพัฒนาอย่างไรให้เกิดสมดุล เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวมาแล้วก็จากไป ผู้ที่ล้างจานก็คือเจ้าภาพ หากจัดระเบียบบ้านเมืองให้กับแขกที่มาเยี่ยมได้ดีฉันใด เจ้าบ้านก็จะเหนื่อยน้อยลงไปฉันนั้น


 


เจนจิรา สุทัศน์ ณ อยุธยา


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net