Skip to main content
sharethis

'สำนักข่าวชายขอบ' รายงานไฟฟ้าในประเทศลาวไม่พอใช้ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้านเหตุภัยแล้ง


ที่มาภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 เพจลาวข่าวเศรษฐกิจการค้า ได้เผยแพร่ข้อมูลมีเนื้อหาว่า ภัยแล้งกินเวลายาวนานส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศยังไม่เพียงพอ ขอให้ทุกคนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด บริษัทการไฟฟ้าแห่งชาติลาวรายงานว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาวมีแหล่งจ่ายไฟฟ้าครอบคลุม 95% ของพลังงานทั้งหมดในประเทศ ในปี 2566 ลาว ประสบปัญหาภัยแล้ง อากาศร้อน มีฤดูฝนสั้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแต่ละแห่งลดลงจากแผนคาดการณ์

เพจลาวระบุว่า ในเดือน เม.ย. 2567 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 2,015 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นประมาณ 15.30% โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่กำลังการผลิตในประเทศสามารถผลิตได้เพียง 1,660 เมกะวัตต์ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังน้อยกว่า 30% จากปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ลุ่มน้ำจริงมีน้อยมาก ดังนั้นเพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าสม่ำเสมอแก่สังคมและเพียงพอต่อความต้องการบริโภค การไฟฟ้าลาว (EDL) จำเป็นต้องนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และในส่วนของพลังงานที่การไฟฟ้าลาวไม่สามารถสมดุลจากการนำเข้าได้จึงต้องแบกรับภาระการจ่ายเงินสูง ราคาค่าไฟฟ้าเมื่อเทียบกับราคาค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศสูงกว่าราคาที่ส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากถือเป็นลูกค้ารายใหญ่

เพจลาวระบุอีกว่า เมื่อแหล่งผลิตต่างๆ คือเขื่อนไฟฟ้าในประเทศไม่สามารถผลิตได้เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันการไฟฟ้าลาวได้นำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 700 เมกะวัตต์ จำนวน 909.47 GWh และคาดว่าจะมีส่วนเกินประมาณ 1,400- 1,600 GWh ตลอดทั้งปี สายส่งส่งไฟฟ้าได้สูงถึง 90-95% ตลอดเวลา โดยเฉพาะสายส่งไฟฟ้าจากหนองคาย ประเทศไทย ที่ได้รับไฟฟ้าจ่ายในเขตเวียงจันทน์ สายส่งจะทำให้เกิดการโอเวอร์โหลด (Over Load) จะส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้เป็นบริเวณกว้างและจะต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูระบบจึงจะสามารถกลับมาจ่ายได้ตามปกติ

จนถึงขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีข้อจำกัดในการส่งพลังงานให้กับการไฟฟ้าลาว และหากปัญหาภัยแล้งและอากาศร้อนยังคงมีอยู่เป็นเวลานาน ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ลุ่มน้ำก็ไม่เพิ่มขึ้น เขื่อนก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ การจัดการพลังงานโดยปิดพื้นที่บางส่วนโดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในธุรกิจคริปโต (Crypto mining) ซึ่งเป็นโครงการทดลองของรัฐบาล และลูกค้าประเภทอื่นที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพ ของระบบไฟฟ้าและไม่ดับไฟเป็นวงกว้าง

“การไฟฟ้าลาวจึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้า โรงงาน เขตอุตสาหกรรม ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน โดยดำเนินการ 4 มาตรการ ได้แก่ 1. ปิดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน 2. ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมที่ 25-27 องศา เพราะการปรับอุณหภูมิ 1 องศา จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 5-10% และปรับการใช้ไฟฟ้าก็ควรใช้เท่าที่จำเป็น 3. ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้งานทำให้เกิดกระแสไฟ ไหลลื่นนอกจากจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเชื่อมต่อได้เร็วเสี่ยงต่อการลัดวงจร และ 4. เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเก่าและเสื่อมสภาพและใช้อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานทางเทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและประหยัดไฟมากขึ้น ทั้งนี้การประหยัดไฟฟ้าหมายถึงการลด ค่าใช้จ่ายของคุณเอง” เพจลาวระบุ

อนึ่ง สปป.ลาว มีนโยบายส่งออกไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยมีโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานและลำน้ำสาขาต่างๆ รวมกันกว่า 100 โครงการ โดยไทยได้ขยายความร่วมมือด้านไฟฟ้าไทย-ลาว จากกำลังการผลิต 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์เมื่อปี 2565 และมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงล่าสุด 3 โครงการ ได้แก่เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย และเขื่อนปากแบง โดยมีอายุสัญญา 35-29 ปี 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net