Skip to main content
sharethis

‘กาสิโนมาเก๊า’ รับแรงงานไทย ดูแลวีไอพี เงิน-สวัสดิการดี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวดี สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานในเขตบริหารพิเศษมาเก๊า กับนายจ้างบริษัท MGM Grand Paradise Limited ซึ่งประกอบกิจการสถานกาสิโน ร้านอาหาร และโรงแรม ตั้งอยู่ที่ MGM MACAU Building, Avenida Dr. Sun Yat Sen, N.1101, NAPE, Macau จำนวน 7 ตำแหน่ง รวม 46 อัตรา ได้แก่ พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม วีไอพี พนักงานยกกระเป๋า บัตเลอร์ พนักงานต้อนรับ พนักงานต้อนรับส่วนหน้า วีไอพี และพนักงานบริการลูกค้า เงินเดือนอยู่ระหว่าง 53,469 – 85,916 บาท โดยนายจ้างจะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป - กลับ เมื่อทำงานสิ้นสุดสัญญาจ้าง ช่วยจ่ายค่าที่พักเดือนละ 500 เหรียญมาเก๊า จัดอาหารให้ในช่วงเวลาทำงาน มีค่าล่วงเวลา และสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานมาเก๊า

นายคารม กล่าวว่า สำหรับผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครได้ที่เว็ปไซต์  ได้ตั้งแต่วันที่ 13 - 22 พฤษภาคม 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ สำหรับตำแหน่งงานและคุณสมบัติ ที่นายจ้างแจ้งความต้องการมี 7 ตำแหน่ง ดังนี้

1. พนักงานบริการลูกค้า จำนวน 1 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 18,800 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 85,916 บาท อายุระหว่าง 22 - 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สามารถพูดภาษาจีนกลางได้ดี ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีประสบการณ์ทำงานด้านการตลาด การขาย

2. บัตเลอร์ จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 17,500 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 79,975 บาท  อายุระหว่าง 22 - 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป สามารถพูดภาษาจีนกลางได้ ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีความรู้ด้านอาหาร เครื่องดื่ม และการทำความสะอาดบ้าน

3. พนักงานต้อนรับ จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 17,500 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 79,975 บาท อายุระหว่าง 22 – 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีประสบการณ์บริการลูกค้า 1 ปีขึ้นไป

4. พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม วีไอพี จำนวน 10 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 16,600 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 75,862 บาท อายุระหว่าง 22 – 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป มีทักษะด้านการสื่อสาร สามารถพูดภาษาจีนได้ ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม

5. พนักงานต้อนรับส่วนหน้า วีไอพี  จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 16,500 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 75,405 บาท อายุระหว่าง 22 – 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีทักษะด้านการสื่อสาร สามารถพูดภาษาจีนได้คล่อง ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้อง

6. พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 10 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 12,200 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 55,754 บาท อายุระหว่าง 22 - 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป มีทักษะด้านการสื่อสาร สามารถพูดภาษาจีนกลางได้ ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีประสบการณ์ทำงานด้านอาหารและเครื่องดื่ม

7. พนักงานยกกระเป๋า จำนวน 10 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 11,700 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 53,469 บาท อายุระหว่าง 22 - 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป สามารถพูดภาษาจีนกลางได้ ทำงานเป็นกะได้ โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษหากมีประสบการณ์ด้านบริการลูกค้า

“การรับสมัครครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีรัฐจัดส่งคนหางานไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปทำงานจะมีค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ค่ารูปถ่าย ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 4,000 บาท โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสอบ กำหนดการและวิธีการรับสมัครได้ที่ เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หัวข้อ “ข่าวประกาศรับสมัคร” หรือ Facebook : แรงงานไทยไปต่างประเทศโดยรัฐจัดส่ง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694”นายคารม กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/5/2567

รัฐบาลเชิญชวน ปชช. ลงทะเบียนบริการล้างแอร์ฟรี ผ่านโครงการ "อาชีวะล้างแอร์”

นายคารม พลพรกลาง  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินโครงการอาชีวะล้างแอร์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินกิจกรรมล้างแอร์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และประหยัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

นายคารม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ออกให้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ต่าง ๆ ที่ประชาชนขอรับบริการ พร้อมให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน แนะนำการดูแล บำรุงรักษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยกระทรวงศึกษาธิการ

“ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนใช้บริการล้างแอร์ ในกิจกรรมอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ฟรี สามารถลงทะเบียนล้างแอร์ฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ : สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา www.vec.go.th Facebook : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา” นายคารม กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 11/5/2567

ไม่ชะลอจัดส่งแรงงานไป “อิสราเอล” คนไทยต้องการไป 3 หมื่นราย

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการจัดหางานได้ประกาศ “ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอลทุกวิธีการเดินทาง” โดยมีเงื่อนไขว่า แรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานในพื้นที่ปลอดภัย (พื้นที่สีเขียว) ตามที่กองบัญชาการแนวหน้าของรัฐอิสราเอลกำหนดเท่านั้น

โดยกรมการจัดหางานได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐอิสราเอล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นผลมาจากสถานเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอล ประจำประเทศไทย ได้ยืนยันและเน้นย้ำถึงคำมั่นของรัฐอิสราเอลว่า แรงงานไทยจะถูกส่งไปทำงานในรัฐอิสราเอลเฉพาะพื้นที่ปลอดภัย

พร้อมกับเตรียมการรองรับหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ทั้งด้านแผนช่วยเหลือ แผนอพยพ รวมถึงกรณีปิดน่านฟ้า/เปิดน่านฟ้า ประกอบกับปัจจุบันมีแรงงานไทยแจ้งความต้องการเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอล มากถึง 30,186 คน และอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการจัดส่งภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand – Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) ถึง 25,585 คน

ซึ่งเมื่อคำนึงถึงความปลอดภัย โอกาสในการทำงานและรายได้ที่สูงของแรงงานไทยแล้ว จึงพิจารณายกเลิกการชะลอการจัดส่งไปทำงานในรัฐอิสราเอล

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดหน่วยงานด้านประชากรและตรวจคนเข้าเมืองของรัฐอิสราเอล (PIBA) ได้แจ้งโควตาจ้างแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร ช่วงครึ่งปีหลัง (มิถุนายน-ธันวาคม) มาแล้วจำนวน 5,000 คน โดยแรงงานกลุ่มแรกที่จะได้เดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลโดยรัฐจัดส่ง จะเป็นกลุ่มแรงงานไทยที่ถูกชะลอการเดินทางเมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 จำนวน 1,200 คน เป็นลำดับแรก

โดยจากนี้จะเชิญหน่วยงานด้านการทหารมาให้ความรู้เรื่องแนวปฏิบัติ/รับมือ สถานการณ์ฉุกเฉิน/ภาวะสงคราม แก่คนหางานก่อนเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอล และเชิญบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไปทำงานในรัฐอิสราเอล มารับทราบแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อแรงงานไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ โปรดติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ doe.go.th/overseas เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 0 2245 0978 และ 0 2245 9430 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/5/2567

ไทยสร้างไทย ห่วงเกษตรกร-ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กระทบหนัก หลังรัฐประกาศขึ้นค่าแรง

นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงการเร่งประชาสัมพันธ์นโยบายค่าแรง 400 บาทของรัฐบาล ว่า การเร่งโปรโมททั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนรากหญ้า เกษตรกร ธุรกิจขนาดเล็ก และอาจรวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (low season) ด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายกรัฐมนตรีถูกบีบคั้นด้วยนโยบายที่หาเสียงไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งว่าต้องทำให้ได้ จนรีบเร่งประชาสัมพันธ์นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งแม้นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับเลือกประชาสัมพันธ์ก่อนที่จะหารือกับไตรภาคี และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งมีแรงงานอยู่ในกลุ่มดังกล่าวกว่า 3 ล้านคน จากกำหนดการที่ต้องมีการประชุมกันกลางเดือนนี้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศก่อนล่วงหน้า ยิ่งส่งผลทำให้เกิดแรงต้านจนเป็นที่มาของการแถลงข่าวของสมาคมต่าง ๆ 52 สมาคม ได้ออกมาทักท้วงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขึ้นค่าแรง ทำให้ขั้นตอนการดำเนินนโยบายอาจยิ่งช้าลงไปอีก แต่ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว

นายปริเยศ ให้ความเห็นอีกว่า ตอนนี้ภาคธุรกิจขนาดเล็กหรือกลุ่มอาชีพเกษตรกรน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากต้นทุนนอกเหนือไปจากค่าแรงที่รัฐประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าว่าจะขยับขึ้น ยังคงมีอีกหลายค่าใช้จ่ายที่ยังพุ่งไม่หยุด สวนทางกับรายได้ อัตราการส่งออกลดลงต่อเนื่อง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ไม่รวมต้นทุนการปลูกและการผลิตที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงนับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีเลย

ส่วนธุรกิจด้านอื่น ๆ รวมถึงภาคบริการ นายปริเยศ ชี้ว่า ตนเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องค่าแรงที่ชัดเจนได้จากไตรภาคี รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านพลังงานที่ออกมาแบบประคับประคองสถานการณ์ ด้วยการนำเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุน จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจจากนี้แย่ลง เนื่องจากเอกชนอาจเลือกลดต้นทุนทันทีด้วยการใช้วิธีลดคนงานที่ขาดทักษะออกก่อน เพราะค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ สูงขึ้นทั้งหมดและควบคุมได้ยากกว่าการลดคนงาน และสำหรับธุรกิจบริการที่เวลานี้เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว low season ย่อมกระทบให้อัตราการเลิกจ้างงานสูง ดังนั้น การที่รัฐบาลวางแผน จัดทำนโยบายหรือสื่อสารกับประชาชนอย่างไม่มีระบบ ทำให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องขยับตัวก่อนทันที ทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้า ลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะการลดกำลังคน ซึ่งผลลัพธ์ย่อมเกิดกับประชาชนทำให้อยู่ในภาวะรับเคราะห์อย่างมาก รัฐบาลจึงควรต้องทบทวนเรื่องการประชาสัมพันธ์นโยบายให้มากกว่านี้

ส่วนธุรกิจด้านบริการที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วง low season คงจะเลิกจ้างงานอัตราสูงขึ้น ดังนั้น การที่รัฐบาลวางแผนการทำนโยบายรวมถึงการสื่อสารกับประชาชนแบบไม่มีระบบแบบนี้ ทำให้เอกชนจำเป็นต้องขยับตัวก่อนทันที ทั้งปรับราคาสินค้า ลดต้นทุนโดยเฉพาะกำลังคน ผลลัพธ์แบบนี้ย่อมทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะรับเคราะห์อย่างมาก รัฐบาลจึงควรต้องทบทวนเรื่องการประชาสัมพันธ์นโยบายให้มากกว่านี้

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 10/5/2567

สกศ.ชี้ขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวะ สถานประกอบการจี้ขอทักษะ AI เพิ่ม

จากการประชุมวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย ไตรมาส 1 พ.ศ.2567 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวว่า สกศ.ได้จัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย บริบทและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานต่างๆใช้ประกอบการจัดทำนโยบายทางการศึกษา สำหรับไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2567 (ม.ค.-มี.ค.2567) พบว่า สถานการณ์แรงงานกับการศึกษาภาพรวมปี 2566 การจ้างงานขยายตัวในทุกสาขาและมีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสสี่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาในทุกระดับการศึกษา แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวศึกษา และสถานประกอบการมีความต้องการการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับการใช้ AI เพิ่มขึ้น ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กว่าปี 2566 เยาวชนที่มีอายุ 15-17 ปี เป็นกลุ่มที่กระทำผิดมากที่สุด

เลขาธิการ สกศ.กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจกับการศึกษาภาพรวมปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากปี 2565 ผลจากการสำรวจครัวเรือน พ.ศ.2566 (6 เดือนแรก) พบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเป็นหนี้สินที่ใช้ในการศึกษา ร้อยละ 1.2 ขณะที่การสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.2566) พบว่า มีกำลังแรงงานทั้งสิ้น 40.58 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 0.33 ล้านคน (ร้อยละ 0.8) โดยผู้มีงานทำจำนวนถึงร้อยละ 54.4 สำเร็จการศึกษาระดับการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่า และมีสำเร็จระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 24.3

“เมื่อ AI ทำได้ทุกอย่างและมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์ การประยุกต์ใช้ AI ในการวางแผนการศึกษา และประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง และได้สาร สนเทศเชิงลึก ควรนำหลักการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) มาใช้ควบคู่ในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการวางแผนการศึกษาต้องคำนึงถึงข้อพึงระวังด้านความถูกต้อง ความเอนเอียง และความไม่ครบถ้วนของผลการวิเคราะห์ เพราะ AI เป็นเพียงเครื่องมือช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.อรรถพลกล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/5/2567

76 หอการค้า 54 สมาคมการค้าค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ

นายพจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1  หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาชิกภาคเอกชน มีความเข้าใจนโยบายและเป้าหมายการปรับอัตราค่าจ้างเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยในประเทศไทยของรัฐบาล แต่นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศโดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567  ซึ่งหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศดังกล่าว

อย่างไรก็ตามทางภาคเอกชนยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ต้องศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ผ่านระบบและกลไกการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

“การที่รัฐบาลจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศซึ่งเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าวว่า  ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าแต่ละจังหวัด และแต่ละประเภทธุรกิจ มีความพร้อมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน

โดยเฉพาะภาคเกษตร  ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายกำหนดจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

อีกทั้ง การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าสนใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างชัดเจน

หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ประกอบด้วย 1. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน

2. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3

3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)

4.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว

“ หากรัฐบาลยืนยันที่จะให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัวเลขการปรับที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่ามีความยุติธรรมกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งนำไปสู่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาในอนาคต ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวต่อไป”นายพจน์ กล่าว

สำหรับรายชื่อหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าฯ 52 สมาคมคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

หอการค้าจังหวัด  ได้แก่

1.หอการค้าภาคเหนือ 17 จังหวัด

2.หอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  20 จังหวัด

3.หอการค้าภาคกลาง 17 จังหวัด

4.หอการค้าภาคตะวันออก 8 จังหวัด

5.หอการค้าภาคใต้ 14 จังหวัด

สมาคมการค้าฯ ได้แก่

1. สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

2. สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย

3. สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

4. สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย

5.สมาคมยางพาราไทย

6.สมาคมน้ำยางข้นไทย

7.สมาคมธุรกิจไม้

8.สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย

9.สมาคมการค้าของเล่นและผลิตภัณฑ์ เด็กไทย

10. สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

11.สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

12.สมาคมการค้านวัตกรรมการพิมพ์ไทย

13. สมาคมโรงแรมไทย

14. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

15. สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย

16.สมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย

17.สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

18.สมาคมอาคารชุดไทย

19.สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

20.สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย

21. สมาคมผู้ผลิตสีไทย

22. สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

23. สมาคมการค้าเครื่องกีฬา

24.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย

25.สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

26. สมาคมตลาดสดไทย

27.สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

28.สมาคมกุ้งไทย

29.สมาคมอุตสาหกรรมนมและอาหาร

30. สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย

31.สมาคมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับอาเซียน

32.สมาคมภัตตาคารไทย

33. สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

34.สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน

35.สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย

36. สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย

37.สมาคมรักษาความปลอดภัยภาคฟื้นเอเชีย  (APSA)

38.สมาคมสภารักษาความปลอดภัย

39.สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย

40. สมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย

41.สมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย

42.สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพรักษาความปลอดภัยภาคเหนือ

43.สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยภาคเหนือ

44.สมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยภาคตะวันออก

45.สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัย(ภาคอีสาน)

46.สมาคมอารักขาบุคคลสำคัญ

47.สมาคมบริหารงานรักษาความปลอดภัยไทย

48.สมาคมการค้าธุรกิจคุ้มกันภัย

49.สหพันธ์นายจ้างวิชาชีพรักษาความปลอดภัย

50.ชมรมครูฝึกรักษาความปลอดภัยไทย

51.ชมรมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

52.ชมรมบริษัทรักษาความปลอดภัยพันธมิตร  (ภาคใต้)

53.ชมรมพันธมิตรธุรกิจรักษาความปลอดภัย

54. กลุ่มพัฒนาวิชาชีพรักษาความปลอดภัย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/5/2567

ปลัดแรงงาน ชี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400บาท/วัน ต้องเป็นธรรมกับนายจ้าง-ลูกจ้าง พร้อมฟังปัญหาผู้ประกอบการ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง ความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

“เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง” นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เนื่องจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อมา คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่องพื้นที่ 10 จังหวัด ในกิจการประเภทโรงแรม ระดับ 4 ดาว และมีลูกจ้างแต่ 50 คนขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นทั้งจังหวัด ส่วน อีก 9 จังหวัดขึ้นบางพื้นที่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.จังหวัดกระบี่ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.จังหวัดชลบุรี เขตเมืองพัทยา 4.จังหวัดเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตเทศบาลหัวหิน 6.จังหวัดพังงา เขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.จังหวัดระยอง เขตตำบลบ้านเพ 8.จังหวัดสงขลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 9.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/5/2567

ประกาศกระทรวงแรงงาน กำหนดอาชีพที่จะส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 สาขา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง สาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกำหนดสาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 สาขา จากเดิม 7 สาขา

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการกำหนดสาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อส่งเสริมให้แรงงานไทยเป็นแรงงานคุณภาพมีทักษะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง  และมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557

กำหนดสาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประกอบด้วย

สาขาอาชีพก่อสร้างและให้บริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

สาขาอาชีพการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

สาขาอาชีพการบริหารจัดการ และการให้บริการทางวิชาชีพ

สาขาอาชีพการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เคมี และไบโอดีเซล

สาขาอาชีพการพัฒนาบุคลากร

สาขาอาชีพการพิมพ์และสื่อสารมวลชน

สาขาอาชีพการวิจัย

สาขาอาชีพเครื่องจักรกลและการผลิต

สาขาอาชีพด้านการแพทย์ และสุขภาพ

สาขาอาชีพท่องเที่ยว กีฬา และการจัดนิทรรศการ

สาขาอาชีพเทคโนโลยีดิจิทัล

สาขาอาชีพธุรกิจการเงินและการจัดการทรัพย์สิน

สาขาอาชีพธุรกิจบริการและพาณิชย์

สาขาอาชีพผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน

สาขาอาชีพผลิตอาหารและการแปรรูปอาหาร

สาขาอาชีพพลังงานและสาธารณูปโภค

สาขาอาชีพเฟอร์นิเจอร์

สาขาอาชีพแฟชั่นและอุตสาหกรรมศิลป์

สาขาอาชีพไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สาขาอาชีพระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

สาขาอาชีพโลจิสติกส์แลการขนส่ง

สาขาอาชีพโลหการ

สาขาอาชีพเหมืองแร่

โดยให้มีผลให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ที่มา: MSN, 8/5/2567

ส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ 1 แสนคน คืบหน้า 50% ใน 139 ประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 ล่าสุดกำลังส่งแรงงานไทยรวม 477 คน เพื่อเข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ แบ่งเป็น ไต้หวัน 433 คน ในตำแหน่งคนงานฝ่ายผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น 12 คน ในตำแหน่งช่างเชื่อมและคนงานฝ่ายผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และซาอุดิอาระเบีย 2 คน ในตำแหน่งช่างเขียนแบบ และช่างเหล็ก ซึ่งทั้งหมดเดินทางไปทำงานโดยมีบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยี่ยมให้กำลังใจแรงงานไทย 477 คน กล่าวว่า เป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องแรงงานไทย มีรายได้มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจะต้องอบรมคนหางาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง

ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ รวมทั้งรู้ช่องทางขอความช่วยเหลือ ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย

“ขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือก ฝึกฝนทักษะทั้งด้านภาษา ทักษะการทำงาน และขอชื่นชมในความพยายามและความอดทน ทุกคนถือเป็นกำลังสำคัญที่สร้างชื่อเสียงด้วยทักษะฝีมือการทำงาน และนำเงินตรากลับเข้าประเทศไทย”

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานขานรับนโยบายรัฐมนตรี ปี 2567 กระทรวงแรงงานตั้งเป้ารักษาการจ้างงานในตลาดแรงงานเดิม ควบคู่กับการขยายตลาดแรงงานใหม่ในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ความคืบหน้าล่าสุด ได้ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศแล้ว 53,864 คน ใน 139 ประเทศ ซึ่ง 5 อันดับแรกที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่

1. ไต้หวัน

2. สาธารณรัฐเกาหลี

3. ญี่ปุ่น

5. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

6. สหรัฐอเมริกา

สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/5/2567

ค้านหนัก เอกชนชี้ "ดาบสองคม" ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

ในวันที่ 7 พ.ค.2567 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ร่วมกันแถลงข่าว

โดยนายพจน์ ระบุว่าคัดค้านการขึ้นแรงงานขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพราะจะเป็นดาบสองคมของภาคธุรกิจ ซึ่งบางธุรกิจสามารถปรับขึ้นได้ แต่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบมากกว่าบวก จึงควรปรับขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสม และใช้แรงงานคนไทยมากกว่าแรงงานต่างชาติ

ส่วนนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้น 400 บาททั้งประเทศ และอยากชี้ในประเด็นว่า การขึ้น 400 บาท ใครได้ประโยชน์มากที่สุด กระทรวงแรงงานควรรับฟังความเห็น ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งการดึงแรงงานเข้าระบบประกันสังคม เพื่อให้มีสวัสดิการและได้รับการดูแลค่าแรงที่เป็นธรรม รวมทั้งเพิ่มทักษะขีดความสามารถด้วย เพื่อไม่ให้การขึ้นค่าแรงเป็นวาทกรรม หรือพิธีกรรมเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศได้สำเร็จในวันที่ 1 ต.ค.2567 แต่ก็จะหารือกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับ SME รวมทั้งในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอีกหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งนายกสมาคมเอสเอ็มอี ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไร และจะขอให้ รมว.พาณิชย์ ควบคุมราคาสินค้าที่ขึ้นล่วงหน้าไปบ้างแล้ว

มีรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้กรมการค้าภายในดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงราคาอาหารสำเร็จรูป ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคา หลังมีข่าวจะปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท รวมทั้งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่ทะยอยปรับขึ้นในเดือนนี้

ที่มา: Thai PBS, 6/7/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net