Skip to main content
sharethis


 



 


"ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ประเทศไทยนอกจากมีแนวโน้มที่จะสร้างเขื่อนในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มจะสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น เขื่อนน้ำเทิน และเขื่อนสาละวิน ตามแนวคิดโครงข่ายพลังงานอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นความทะเยอทะยานของไทยที่ต้องการเป็นเจ้าแห่งพลังงานในภูมิภาค บนการทำลายวิถีชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม" เพียรพร ดีเทศน์ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในวงเสวนา สถานการณ์เขื่อนโลก


 


เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่บ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการจัดการน้ำของรัฐจำนวน 25 องค์กรเครือข่ายทั่วประเทศ ได้มีการถกถึงปัญหาจากการสร้างเขื่อนในประเทศที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง ไม่ว่าในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวบ้าน กับการถูกอพยพโยกย้ายของชุมชน กระทบต่อมรดกวัฒนธรรม จนทำให้ชุมชนล่มสลาย


 


รวมไปถึงได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวของรัฐในการแก้ปัญหารับผิดชอบในเรื่องค่าชดเชย ซึ่งทุกชุมชนทั่วโลกต่างประสบปัญหาเหล่านี้กันอย่างรุนแรง จนทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องคัดค้านให้ยุติการสร้างเขื่อน และทำการรื้อเขื่อนเก่าเพื่อแก้ปัญหาที่ทับถมมายาวนาน


 


จีน เจ้าแห่งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่


เพียรพร ดีเทศน์ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) ได้พูดถึงสถานการณ์เขื่อนโลกว่า ปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนในขณะนี้ ไม่ใช่มีแค่เพียงพี่น้องในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ หากยังมีพี่น้องทั่วโลกที่เดือดร้อนกันไปทั่ว ซึ่งเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการเขื่อนโลกมีการประชุมที่บราซิล ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวนในการสร้างเขื่อน


 


"ในรายงานเรื่อง "เขื่อนกับการพัฒนา" ของคณะกรรมการเขื่อนโลก ระบุว่าทั่วโลกในขณะนี้มีเขื่อนทั้งหมด 45,000 แห่ง ครึ่งหนึ่งของเขื่อนที่มี อยู่ในประเทศจีนจำนวนมากกว่า 20,000 แห่ง รองลงมาคือตุรกี และประเทศไทย ซึ่งสังเกตได้ว่าภูมิภาคอื่นเริ่มลดลง แต่กลับพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น"


 


ชี้ไทยทะเยอทะยาน อยากเป็นเจ้าแห่งพลังงานในอาเซียน


จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีการสร้างเขื่อนกันทุกวันๆ ละ 2 เขื่อน แต่มาตอนหลังเริ่มมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยดูจากระดับการสร้างเขื่อนในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ นั้นมีแนวโน้มลดลง แต่เป็นที่น่าตกใจเมื่อมาดูในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น จีน เวียดนาม ลาว และไทย


 


"ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ประเทศไทย เพราะนอกจากมีแนวโน้มที่จะสร้างเขื่อนในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มจะสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น เขื่อนน้ำเทิน และเขื่อนสาละวิน ซึ่งถือว่าเป็นความทะเยอทะยานของไทยที่ต้องการเป็นเจ้าแห่งพลังงานในภูมิภาค บนการทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดโครงข่ายพลังงานอาเซียน จนทำให้เกิดความต้องการในการสร้างเขื่อนมาขึ้น"


ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของโครงข่ายพลังงานอาเซียน ก็เพื่อต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ โดยอาศัยโครงการเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน เขื่อนสาละวินในพม่า และเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาว โดยไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากน้อยเพียงใด


องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ เขื่อนทำลายโลก


ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม "เวิลด์ ไวด์ ฟันด์" ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกมาระบุว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนใหญ่ๆ ทั่วโลกยังคงก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอยู่ แม้โครงการสร้างเขื่อนจะมีขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้มีกระแสไฟฟ้าใช้ในราคาถูกและเอื้อต่อระบบชลประทานก็ตาม แต่การสร้างเขื่อนขึ้นในแต่ละที่ยังคงสร้างความเสียหายต่อสังคมและทำลายสิ่งแวดล้อม โดยได้ทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ ระบบการประมงและคุกคามต่อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์


 


รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุถึงโครงการสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วยความสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารโลกนั้นว่า จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวราว 5,700 คน ต้องถูกอพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัย และจะทำให้คนลาวกว่า 50,000 คนที่ใช้แหล่งน้ำในบริเวณนั้นต้องได้รับผลกระทบ เนื่องจากแม่น้ำถูกทำให้เปลี่ยนทิศทางไป


 


ไทย จีน เวียดนาม ลาว ถูกชาวโลกประณามกลายเป็นนักสร้างเขื่อน


ผู้ประสานงาน เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้พูดถึงโครงข่ายพลังงานอาเซียนอีกว่า โครงการดังกล่าวได้ทำให้เกิดความต้องการในการสร้างเขื่อนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สายตาชาวโลกจ้องมองและประณาม ไทย จีน และเวียดนาม ลาว ว่าเป็นนักสร้างเขื่อน เพราะความต้องการพลังงานไฟฟ้า โดยทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) พยายามที่จะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค มีการเชื่อมโยงสายส่งจากต่างประเทศ เน้นการรวมศูนย์และส่งไปให้ไกลที่สุด


 


ศึกษากรณีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศในแถบเอเชีย


ในเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์เขื่อนโลก ได้มีการฉายวีดีทัศน์ เพื่อชี้ให้เห็นภาพผลกระทบจากการเขื่อนในแถบเอเชีย โดยในประเทศจีน เป็นประเทศที่มีการสร้างเขื่อนมากที่สุด และกำลังมีการวางแผนการสร้างเขื่อนมากขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในจีนต้องถูกอพยพจากเขื่อนอย่างน้อย 10 ล้านคน หากมีการสร้างเขื่อน ซึ่งในขณะนี้ ในประเทศจีน จะพบว่า แม่น้ำสายหลักแทบทุกสายต่างถูกปิดกั้นด้วยเขื่อน คงเหลือเพียงไม่กี่สาย เช่น แม่น้ำสาละวิน ซึ่งกำลังถูกหลายประเทศจ้องจะลงมือสร้างกันอยู่


กรณีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน นอกจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ท้ายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ไทย กัมพูชา และเวียดนาม จนกลายเป็นปัญหาความเดือดร้อนข้ามพรมแดน


ที่ประเทศมาเลเชีย ผลของการก่อสร้างเขื่อนบากุน ทำให้มีการอพยพชาวบ้านกลุ่มชาติพันธ์กว่า 1 หมื่นคน ซึ่งเขื่อนดังกล่าวได้มีการเจาะอุโมงค์ผันน้ำจากภูเขา ลงมาใช้ในเขตเมืองกัวลาลัมเปอร์


 


ประเทศเกาหลีใต้ ทางกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน จนในขณะนี้รัฐบาลได้ระงับหยุดการสร้างเขื่อนไปแล้วทั้งหมด 9 เขื่อน


 


ประเทศเวียดนาม กำลังวางแผนจะสร้างเขื่อนอีกประมาณ 20 เขื่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่ท้ายน้ำ โดยเฉพาะชาวไตที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นประมาณ 1 แสนคน จะต้องถูกอพยพโยกย้ายออกไป


 


ประเทศฟิลิปปินส์ ในความเป็นจริงแล้ว มีความต้องการที่จะสร้างเขื่อนมาก แต่ได้มีพลังมวลชนพากันออกมาคัดค้านอย่างหนัก จนทำให้แหล่งเงินทุนไม่อยากให้งบประมาณในการสร้างเขื่อน ซึ่งในขณะนี้ ทางประเทศฟิลิปปินส์ ได้หันมาเลือกใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นพลังงานลมแห่งแรกในเอเชีย


 


และเมื่อหันมาดู ประเทศไทย กลับพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีการหยิบยกนโยบายการจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ มาเป็นประเด็นในการสร้าง โดยมีการอ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคการเกษตร


 


ยกตัวอย่างเช่น ในภาคใต้มี โครงการเขื่อนรับร่อ และโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร โครงการเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช ในภาคอีสาน มีโครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ


 


ในภาคเหนือ จะเห็นชัดเลยว่า มีโครงการสร้างเขื่อนผุดขึ้นมามากที่สุด นั่นคือ โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ โครงการเขื่อนเวียงแหง โครงการเขื่อนเชียงดาว โครงการสร้างเขื่อนกึ๊ด และโครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่ รวมไปถึงโครงการสร้างเขื่อนสาละวิน


 


นอกจากนั้น ยังมีโครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง และโครงการผันน้ำสาละวินลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมกะโปรเจ็คในแผนจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน ที่กำลังมีการดำเนินการก่อสร้างกันอยู่


 


ในขณะที่เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในประเทศ เช่น เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล จ.ศรีษะเกษ เขื่อนปากมูน เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำโดมใหญ่ เขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี และเขื่อนไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา กลับพบว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนมายาวนานหลายสิบปี กลับไม่ได้รับการเยียวยา ฟื้นฟูวิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียจากการสร้างเขื่อนแต่อย่างใด


 


 


ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน


เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ในรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก หน่วยงานที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนหลักๆ อาทิ ธนาคารโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่ก่อตั้งคณะกรรมการเขื่อนโลกเอง ก็ยังคงประกาศเดินหน้าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ด้วยข้ออ้างที่ว่าโลกกำลังอยู่ในวิกฤติขาดแคลนน้ำและพลังงานไฟฟ้า ทั้งที่จริงแล้ววิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ คือ วิกฤติการจัดการน้ำและการประหยัดพลังงานไฟฟ้า


 


ซึ่งทำให้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเขื่อนมากมาย และเป็นไปอย่างชอบธรรม คือ โครงข่ายพลังงานระดับภูมิภาค ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค อาทิ แอฟริกาใต้ อเมริกากลาง และล่าสุดคือโครงข่ายพลังงานอาเซียนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


รายงานระบุว่า บทเรียนจากแอฟริกาใต้คือ บริษัทพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกได้ลงทุนสร้างโครงข่ายพลังงานในแอฟริกาใต้ และเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศใกล้เคียงในราคาถูก และส่งไฟฟ้าแก่ลูกค้าหลักคืออุตสาหกรรมสกปรกอย่างการถลุงแร่ ที่ยกกันมาตั้งโรงงานในเขตนี้เพราะไฟฟ้าราคาถูก ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่กลับไม่มีไฟฟ้าใช้


"นักสร้างเขื่อน จะบอกกลับประชาชน คนในสังคมว่า เขื่อนมีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ เขื่อนจะให้พลังงานให้ไฟฟ้า แต่เมื่อมีการศึกษา กลับพบว่า เขื่อนที่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตไฟฟ้า ผลิตๆ ได้น้อยกว่าที่กำหนดไว้มาก สำหรับเขื่อนที่ใช้ในการชลประทาน เกือบครึ่งหนึ่งไม่บรรลุผล ทำไม่ได้ และพบว่ามีความล้มเหลวในการทำลายพื้นที่ทางการเกษตร"


 


ที่สำคัญ มีหลายกรณีกลับพบว่า ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทางสังคม สิ่งแวดล้อม ชาวบ้านต้องต้องถูกอพยพ คนท้ายเขื่อนได้รับความเดือดร้อน ทำให้ความหลากลายทางชีวภาพถูกทำลาย พื้นที่ชุมชนน้ำ พื้นที่ทางการเกษตรสูญเสีย ชาวบ้านกลายเป็นผู้แบกรับภาระจากการสร้างเขื่อน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นต้นทุนในการสร้างเขื่อน แต่ผู้สร้างกลับไม่คำนึงถึง จากการศึกษาพบว่า มีจำนวนผู้อพยพจาการสร้างเขื่อนประมาณ 60-90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนเผ่าและคนท้องถิ่น และผู้หญิงจะเป็นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่สุด และแน่นอน เกิดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ชุมชน วัฒนธรรมแตกสลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุด


 


ไทย : นักสร้างเขื่อนเจ้าปัญหาในอาเซียน


และเมื่อหันไปมองดูประเทศที่พัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนาในหลายประเทศทั่วโลก กลับพบว่า ได้มีการศึกษาทบทวนถึงการสร้างเขื่อน จนมีการรื้อเขื่อนทิ้ง เพราะได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศน์ ทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนมายาวนาน เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเชค ญี่ปุ่น แคนาดา คอลอมโบ ฯลฯ ได้มีการรื้อเขื่อนเพื่อหันมาอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ปลา วิถีชีวิตวัฒนธรรม โดยให้คนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลน้ำ จัดการดูแลทรัพยากรฯ กันเอง


 


ในขณะที่ประเทศไทย กลับเดินสวนทางแนวคิดของกลุ่มประเทศที่พัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนา ด้วยโครงการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสายตาชาวโลกที่กำลังจ้องมองและกล่าวขวัญกันว่า "ประเทศไทยกำลังเป็นนักสร้างเขื่อนเจ้าปัญหาในอาเซียน"


.......................................................


 


ข้อมูลประกอบ


รายงานเรื่อง "เขื่อนกับการพัฒนา" ของคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams)


เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN)


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net