Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 2 ม.ค.2550  เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า โจทย์ของรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผ่านมาเป็นปัญหา 2 เรื่องซ้อนกันอยู่ คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อบกพร่องอย่างไรจึงทำให้เกิดระบอบทักษิณ ส่วนอีกเรื่องคือ ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่มีรัฐธรรมนูญ อำนาจไม่ได้คืนให้ประชาชน ปัญหาจึงซ้อนกัน 2 ชั้น คิดว่ายากจะคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญ 2550 จะใช้เป็นฉบับถาวรตลอดไป เพราะโดยกระบวนการต่าง ๆ ไม่สง่างาม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ครั้งนี้ไม่สง่างามเหมือนของปี 2540


 



นายปริญญา กล่าวว่า แม้ว่าขณะนั้นจะมีข้อครหาว่าบล็อกโหวต มีคนของพรรคการเมือง แต่ก็สง่างาม เพราะอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย แต่ชุดนี้สมัชชาแห่งชาติคัดกันเองเหลือ 200 คน ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า กระบวนการไม่เหมาะสม ไม่สวยงามเท่าไร และ คมช. ก็เลือก 100 คน ในขั้นสุดท้าย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. หรือฉบับประชาชน แต่จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. การร่างรัฐธรรมนูญจากกระบวนการไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคยอายุยืน นักวิชาการจำนวนมากไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปช่วย กระบวนการต่าง ๆ ดูเหมือน คมช. เป็นคนกำหนดทั้งหมด


 



"เราควรนำฉบับ 2540 มาแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2550 โดยอุดช่องว่างที่ทำให้เกิดระบอบทักษิณ แล้วเลือกตั้งไม่ช้ากว่าปี 2550 หลังเลือกตั้งค่อยมาว่ากันใหม่ถึงสิ่งที่ดีที่สุด " นายปริญญา กล่าว


 



นายปริญญา กล่าวอีกว่า ส.ส.ร.ชุดนี้ ไม่ควรคิดว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดในประเทศไทยขึ้นมา เพราะไม่มีทางที่จะดีที่สุดได้ในกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ กรรมาธิการฯ ยกร่างควรประกาศเลยว่าไม่ร่างใหม่ แต่จะเอาฉบับ 40 มาเป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หากนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาแก้ไขเพิ่มเติมจะเป็นการเยียวยาความเสียหายจาก 19 กันยายน ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ การฉีกนี้ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญแต่เป็นการฉีกเจตนารมณ์และเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนไปด้วย การนำฉบับ 2540 มาแก้ไขเพิ่มเติม ยังเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่าจะไม่ถอยหลังไปกว่า 2540 แต่ถ้าเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ไม่รู้ว่าจะถอยหลังไปขนาดไหน เพราะเป็นธรรมชาติของรัฐธรรมนูญหลังการยึดอำนาจที่ถอยหลังเสมอ



 


ต่อคำถามว่า จุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 จริง ๆ มันอยู่ที่จุดใด นายปริญญา กล่าวว่า หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยคือ ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ เป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ปัญหาการเมืองไทยช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ คือ นายกรัฐมนตรีสามารถครอบงำสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างสิ้นเชิง โดยใช้พรรคการเมืองครอบงำผู้แทนปวงชนไว้หมด การครอบงำเกิดจากอะไร ต้องเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติว่า ให้ ส.ส.เป็นคนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ความเป็นจริงที่เกิดสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ คือ นายกรัฐมนตรีเป็นคนเลือก ส.ส. คือ เลือกในเวลาที่จะส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง


 



 "ขณะที่รัฐธรรมนูญเขียนว่า พรรคการเมืองเป็นคนส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขต ซึ่งความเป็นจริงกลายเป็นหัวหน้าพรรคคนเดียวส่งโดยไม่มีกลไกอะไรควบคุมเลย หัวหน้าพรรคที่ประสงค์จะเป็นนายกฯ ก็จะเลือกเฉพาะคนที่เขาไว้ใจ คนที่จงรักภักดี สุดท้ายสภาฯ เลยเป็นสภาหุ่นยนต์ อยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าพรรคกันหมด ยิ่งเรามีกฎ 90 วัน ทำให้ ส.ส.ไม่อาจที่จะฝ่าฝืนความประสงค์ของหัวหน้าพรรคได้เลย" นายปริญญา กล่าว



 


นายปริญญา กล่าวว่า หลักประชาธิปไตยในพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรายังไม่มี และควรนำหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยใส่ไว้ในพรรคการเมืองด้วยคือ 1.ประชาธิปไตยคือ หลักการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น ในพรรคการเมือง อำนาจสูงสุดก็ต้องเป็นของสมาชิกพรรคไม่ใช่หัวหน้าพรรค 2.หลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในการแสดงออกทางการเมือง 3.การปกครองโดยเสียงข้างมากที่ต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อย หมายถึงอย่างน้อยในพรรคต้องมีการประชุมกันเวลาจะมีมติอะไร และเสียงข้างมากไม่บังคับเสียงข้างน้อยให้ทำทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและหน้าที่ของ ส.ส.โดยตรงในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน เช่น การจะยกมือให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรค



 


"แต่ของเราไปทำให้พรรคและหัวหน้าพรรค มีอำนาจเหนือ ส.ส.มากเกินไป กลายเป็นการปกครองของหัวหน้าพรรค โดยหัวหน้าพรรค เพื่อหัวหน้าพรรค นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมคน ๆ เดียวถึงคุมได้หมด ยิ่งเจอกฎ 90 วัน หรือการใช้ 200 คน เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายนายกฯ ยิ่งไปใหญ่ เราให้นายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง แต่กลับให้มีการถูกตรวจสอบได้มีน้อยลง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในการจัดสถาบันการเมืองและอำนาจ เพราะมันต้องขนานขึ้นมาพร้อม ๆ กัน" นายปริญญา กล่าว



 


นายปริญญา กล่าวต่อว่า ทางแก้คือ ทำให้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลกลับมา ส.ส.ต้องมีเสรีภาพ มติพรรคห้ามไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องบัญญัติหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคที่สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของ การได้มาซึ่งผู้บริหารพรรค ห รือหัวหน้าพรรค ต้องมีการจำลองแบบประชาธิปไตยระดับประเทศเข้าไปในพรรค อำนาจสูงสุดเป็นของสมาชิกพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองต้องมีการเรียกประชุม ของเราประชุมกันแค่เพื่อรับรองการเงิน ส่วนวาระของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคไม่เกิน 2 ปี รวมถึงมีหลักประชุมวิสามัญ สมาชิกและกรรมการบริหารพรรคจำนวนหนึ่งเข้าชื่อขอเปิดประชุมได้



 


"การได้มาซึ่งตัวผู้สมัคร ส.ส. ต้องไม่ใช่เรื่องหัวหน้าพรรคคนเดียวกำหนดอีกแล้ว แต่ต้องเป็นเรื่องของพรรค อาจหากลไกให้สมาชิกพรรคในเขตนั้น ๆ มีส่วนจริง ๆ ในการกำหนดผู้สมัคร แต่ต้องระวังไม่ให้ติดอยู่แค่หัวคะแนน ซึ่งถ้า ส.ส.เป็นอิสระ เขาก็จะมีหน้าที่ติดตามการทำงานของนายกฯ ที่เขาเลือกไป หากทำไม่ดี หรือใช้อำนาจมิชอบ สภาฯ ก็มีหน้าที่ลงมติไม่ไว้วางใจ" นายปริญญา กล่าว



 


ส่วนประเด็นการสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า ควรยกเลิก เพราะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเมื่อ ส.ส.ย้ายพรรคไม่ได้ ทำให้พรรคมีอำนาจมากกว่าผู้แทนปวงชน ส่วนถ้ายกเลิกกฎ 90 วัน แล้วจะทำให้เกิดการย้ายพรรคนั้น มองว่าในทางการเมืองเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วไปกันไม่ได้ ก็ควรให้ย้ายพรรค ถ้าจะไปล็อกให้อยู่ด้วยกันโดยที่อยู่กันไม่ได้แล้ว ก็จะเกิดปัญหาพรรคไม่ส่งลงสมัคร การย้ายพรรคไม่ได้ ทำให้ ส.ส.ต้องตกอยู่ใต้อำนาจพรรคการเมืองมากขึ้น ส่วน ส.ส. ต้องสังกัดพรรคหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีกมาก นอกจากนี้ ถ้าจะคุมเรื่องประชาธิปไตยภายในพรรคต้องคุมเรื่องเงินด้วย เพราะคนมีเงินคือคนมีอำนาจในพรรค



 


"ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้ที่ผ่านมา ส.ว.กับ ส.ส.ใกล้กันมาก เป็นเครือญาติ และที่ผ่านมา ส.ว.เป็นนักการเมืองชั้น 2 ส่วนนักการเมืองชั้น 1 จะเป็น ส.ส.เพื่อไปต่อถึงอำนาจคือ รัฐมนตรี ยิ่งทำให้ ส.ว. ตกอยู่ใต้สภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นอีก จุดนี้คนผิดหวัง แนวโน้มจึงหันไปหาระบบแต่งตั้ง ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อ ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชน ปวงชนต้องเป็นคนเลือกได้เอง ส่วนถ้าผู้แทนปวงชนเข้าไปแล้วไปทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็ต้องหาทางแก้ไข ไม่ใช่หันไปหาระบบแต่งตั้งที่กลายเป็นเรื่องของใครก็ไม่รู้ ผมมองว่า หากไม่สามารถจะมี ส.ว.จากการเลือกตั้งต่อไปได้ ก็เลิกไปเลย อย่ากลับไปหาระบบแต่งตั้ง ส่วนถ้าจะแบบสรรหา ทำนองหลากหลายตัวแทนอาชีพ แบบสมัชชาแห่งชาติ อันนี้ก็แบบแต่งตั้งนั่นแหละ เราพอใจสมัชชาแห่งชาติหรือไม่ ดังนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้อย่ามีดีกว่า แต่ถ้าเลือกตั้งก็ไม่ใช่เป็นแบบปี 2540 แต่ควรหาวิธีให้เหมาะกว่านี้" นายปริญญา กล่าว



 


นายปริญญา กล่าวว่า เรื่อง ส.ว. จัดเป็นช่องทางสืบทอดอำนาจด้วย หากใครใน คมช. ประสงค์จะสืบทอดอำนาจแล้วสามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญได้ เขาก็จะทำให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง แล้วก็แต่งตั้งก่อนหน้าเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย เหมือน รสช. เคยทำไว้ ก็เป็นการสืบทอดอำนาจ ยิ่งหากประเด็นนายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งด้วย จะยิ่งเป็นลูกระเบิดทางการเมือง ส่วนเรื่องนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เราใช้หลักนี้อยู่ตลอด แล้วอยู่ดี ๆ ถ้ามันหายไปในสภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยแล้ว คมช. จะถูกมองทันทีว่าจะจ้องสืบทอดอำนาจ ดังนั้น นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง


 


 


 


---------------------------------


ที่มา: http://www.komchadluek.net

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net