Skip to main content
sharethis

 

“Behind the Dream Place” นิทรรศการที่ถ่ายภาพผู้คนผ่านฉากหลังสีเขียวในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเบื้องหลังชีวิตของพวกเขา เพื่อสื่อสารความคิดความฝันของผู้คนที่ไม่มีรายชื่อในทะเบียนราษฎร์ เป็นคนไร้สัญชาติ ขาดสิทธิทั้งการศึกษาการทำงาน การออกนอกพื้น และการมีชีวิตปกติอย่างคนทั่วไป โดย ธีระพงษ์ สีทาโส จากกลุ่ม Real frame ในงาน “Our voices our change มหกรรมสื่อศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

 

13 พ.ค. 2567 เมื่อวันที่ 11พ.ค. ที่ผ่านมา OVOC Thailand ได้จัดงาน “Our voices our change มหกรรมสื่อศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ขึ้นที่โรงแรมคันทารี่ฮิลล์ เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอสื่อศิลปะของทั้งนักศึกษาและนักศิลปินโดยมีเป้าหมายขับเน้นให้สื่อศิลปะในงานเป็นกระบอกเสียงด้านสิทธิเสรีภาพให้แก่กลุ่มเด็กสตรีรวมไปถึงเยาวชน

 

 

 

ธีระพงษ์ สีทาโส ช่างภาพเจ้าของผลงาน

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ “Behind the Dream Place” โดยธีระพงษ์ สีทาโส จากกลุ่ม Realframe นิทรรศการบอกเล่าถึงเรื่องราวของคนที่ไม่มีรายชื่อในทะเบียนราษฎร์ เป็นคนไร้สัญชาติ และขาดสิทธิหลายด้านทั้งการศึกษา การทำงานและการออกนอกพื้นที่อาศัย ทำให้คนกลุ่มนี้ได้แต่วาดฝันว่าสักวันจะได้ไปในสถานที่ที่ตัวเองใฝ่ฝันไว้ ซึ่งเป็นที่มาของภาพชุดนี้ที่แสดงให้เห็นถึงความหวังของคนที่อยากมีอิสรภาพมีสิทธิ มีความถูกต้องตามกฎหมายที่จะสามารถใช้ชีวิตเดินทางไปยังที่ต่างๆสำหรับการศึกษา ท่องเที่ยวหรือทำงานได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิดกฎหมายเพราะไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีทะเบียนบ้านหรือไม่ใช่คนไทย ผ่านการเติมแต่งภาพถ่ายเพื่อสานฝันที่คาดว่าจะมาถึงในสักวัน

 

คิม หนึ่งในคนต้นเรื่องในนิทรรศการ

“คิม” หนึ่งในคนต้นเรื่องในนิทรรศการ “Behind the Dream Place” คิมเป็นคนไทใหญ่รุ่นใหม่วัย 26 ปีเธอเกิดและเติบโตในแคมป์คนงานแหล่งหนึ่งในเชียงใหม่ ปัจจุบันคิมทำงานกับองค์กรด้านการศึกษาแห่งหนึ่งที่สอนหนังสือให้แก่แรงงานข้ามชาติ โดยคิมทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาไทย คิมระบุว่า สำหรับตัวเธอคิมต้องการส่งเสียงทั้งของตัวเองและเด็กอีกหลายคนที่อยู่ในแคมป์คนงานที่ชีวิตมีปัญหาหลายด้านทั้งคุณภาพชีวิตโอกาสด้านการศึกษา การทำงาน และความไร้สัญชาติ

“ในแคมป์คนงานไม่สะดวกสบายมีความไม่ปลอดภัย เพราะคนเยอะและแปลกหน้าเด็กส่วนใหญ่เรียนจบแค่ ม.3 และกลับมาใช้ชีวิตแต่งงาน ทำงานในแคมป์ วนไป ทำให้ไม่สามารถขยับสถานะ พัฒนาหรือตระหนักรู้สิทธิของตัวเองได้” คิม กล่าว

ในแคมป์คนงานที่ครอบครัวของคิมอาศัยอยู่ปัจจุบันยังไม่มีคนในแคมป์ได้เรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัยซึ่งมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งเป็นคนไร้สัญชาติไม่มีเอกสาร หรือมีความลำบากในการดำเนินการฯลฯ รวมถึงตัวคิมเองได้เรียนจบกศน. เทียบเท่ามัธยมปลายเท่านั้นเธอเคยคิดเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแต่ในตอนนั้นเธอไม่สามารถใช้วุฒิการศึกษาที่มีเพื่อเรียนต่อสิ่งที่ตัวเองต้องการเรียนได้เพราะไม่ได้จบจากหลักสูตรแกนกลางจึงตัดสินใจเรียน General Educational Development (GED) ซึ่งเป็นหลักสูตรเทียบเท่ามัธยมปลายของประเทศไทย และเธอมีความหวังว่าอยากจะได้เรียนในประเทศแคนาดาที่ทั้งสงบและบรรยากาศสวยงาม แต่ปัจจุบันแค่การจะเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดก็ยากแล้ว การเรียนต่างประเทศจึงยิ่งยากขึ้นไปอีก

คิมกล่าวว่า เธอเคยทำงานเป็นแรงงานก่อสร้าง อาศัยในแคมป์ที่มีวงจรชีวิตง่ายๆเกิด เรียนถึงม.3 ออกมาทำงานก่อสร้างแต่งงานกับคนในแคมป์ มีลูกวนลูปเป็นเรื่องที่เห็นได้กันเป็นปกติแต่เธอคิดว่า ตัวเองต้องทำอะไรได้มากกว่านั้นและเลือกที่จะออกมาจากสถานที่ที่เป็นเหมือนโลกทั้งใบเพื่อไปเจอกับโลกภายนอกที่ไม่ไม่มีคนสนับสนุน

 

ปัจจุบันคิมที่เลือกเดินออกจากแคมป์แล้ว เธอได้เรียนรู้ถึงสังคมที่คนในแคมป์ไม่คาดหวังแม้ชีวิตจะไม่ได้สุขสบายแต่ก็ดีกว่าในแคมป์มากทั้งยังเล็งเห็นว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้อีกมากมายมากกว่าการอยู่ในแคมป์อย่างแรงงานเช่นคนรุ่นพ่อแม่ เด็กๆควรมีทางเลือกได้มากกว่าที่เป็นอยู่สิ่งนี้ทำให้ตัวเธอเองอยากจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ในแคมป์ได้เรียนหนังสือมีการศึกษาที่ดี กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้เจอกับสังคมที่กว้างมากขึ้นมากกว่านั้นคิมยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่รัฐต้องตระหนักถึงว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังขาดสิทธิพื้นฐานหลายๆด้านที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

สุดท้ายนี้หากใครมีสถานที่ดีๆ ที่เคยไปแล้วยินดีที่จะแบ่งปัน นิทรรศการ “Behind the Dream Place” เชิญชวนให้ส่งผลงานภาพถ่ายร่วมกิจกรรมเติมภาพในฉากเขียว ได้ผ่านช่องทางการแอดไลน์นี้เพื่อที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะทำการเติมภาพเหล่านั้นให้แก่บุคคลในภาพเพื่อสานฝันเล็กๆถึงการเดินทาง และหวังว่าความตระหนักรู้ของคนในสังคม จะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้จะได้สิทธิ์ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆโดยถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดภัย  และสิทธิพื้นฐานอื่นๆที่มนุษย์พึงจะได้รับอย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net