Skip to main content
sharethis

นานเท่าใดแล้วที่คนทำงานฟรีแลนซ์ คนรับงานไปทำที่บ้าน แม่บ้าน หรือเกษตรกร ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ต่างจากคนในอาชีพอื่น โดยไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม "ประชาไท" ชวนอ่านการระดมสมองในเรื่องนี้

 

 

รายงานการเสวนา

 

เรื่อง "แนวทางขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ"

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2549 เวลา 09.00-16.30

ณ ห้องประชุมชั้น 13 สำนักงานปลัดกระทรวง

 

00000

 

ราศี เบญจาทิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุมว่า สำนักงานดังกล่าวจัดตั้งมาประมาณ 7 เดือน รับผิดชอบเรื่องการขยายการคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ การจัดเสวนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะในเรื่องการขยายประกันสังคมต่อกระทรวงแรงงาน

 

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักปัจจัยเสี่ยง 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุม โดยแสดงความขอบคุณต่อกระทรวงแรงงานฯ ที่ให้ความร่วมมือในการจัดเสวนา ด้วยแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ สสส.ได้มีการดำเนินโครงการกับแรงงานกลุ่มนี้มาเป็นเวลา 3 ปี เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม คือ แรงงานเกษตรพันธะสัญญา แรงงานรับงานทำที่บ้าน และแรงงานคุ้ยขยะ โครงการดังกล่าวเป็นร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาอกชน นักวิชาการ พบว่าเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานของแรงงานนอกระบบยังหาจุดลงตัวไม่ได้ มีการจัดทำข้อเสนอจำนวนมาก

 

การบรรยาย เรื่อง "มาตรฐาน ILO กับการประกันสังคม"

โกวิทย์ บูรพธานินทร์ ผู้อำนวยงานกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบไว้ 4 เรื่อง คือ

 

            1) แรงงานนอกระบบยังไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนที่เป็นสากล ILO กำหนดคำนิยามเรื่องแรงงานนอกระบบว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่อยู่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่กระทรวงแรงงงานให้การคุ้มครอง หรือเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก คำว่า labour ครอบคลุมแรงงานทั้งหมด

 

            2) ประเทศไทยมีการพิจารณาแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง แต่ ILO มองแรงงานทั้งหมด แต่กระทรวงแรงงานเริ่มให้การดูแลแรงงานทั้งประเทศ เพราะพิจารณาว่าเป็นแรงงานแห่งชาติ national labour force โดยนัยยะควรให้ความคุ้มครองทุกคน

 

            3) คำว่าแรงงานนอกระบบไม่ควรพิจารณาแรงงานรับจ้างกลุ่มเดียว ควรรวมแรงงานประเภทอื่น เช่น แรงงานประกอบธุรกิจส่วนตัว แรงงาน non-regular workers ที่เป็นแรงงานทำงานเป็นช่วงๆ แต่มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานแน่นอน ทำให้เกิดช่องว่างเกิดการขาดรายได้ เพราะวงจรการผลิตปัจจุบันมีความเหลื่อมระหว่างแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ

            การผลิตในระบบมักต้องพึ่งพาการผลิตนอกระบบ บริษัทข้ามชาติมีสายการผลิตยาวไปถึงหมู่บ้าน ซึ่งสามารถพิจารณาเป็นรัศมีหนึ่งของการผลิตในระบบได้ ผลพวงจากงานในระบบเช่นนี้จะพิจารณาเป็นนอกระบบหรือไม่

 

            4) เมื่อพิจารณาเรื่องประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ มักเป็นการพิจารณาในเรื่องของการขยายกรอบและการให้การดูแลในเรื่องประกันสังคม การดูแลแรงงานกลุ่มนี้ควรจะอยู่นอกกรอบการประกันสังคม เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทุกครัวเรือนและครอบครัว หรือเป็น social safety net ไม่ควรพิจารณาเรื่องประกันสังคมอย่างเดียว มีกฎหมายหลายฉบับที่ระบุเรื่องการคุ้มครองทางสังคม

           

กฎหมายแรงงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบอาจแบ่งเป็น 2 ช่วง


ระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
พบว่า มีกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับการประกันสังคมกว่า 20 ฉบับ ในระยะแรกการคุ้มครองดูแลมักเป็นเรื่องการเสี่ยงภัยเฉพาะหน้าและเป็นสิทธิแรงงาน (labour right) ที่พิจารณาว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน เช่น การคลอดบุตรที่เป็นการดูแลระหว่างคลอดไม่ให้เกิดการขาดรายได้ การใช้แรงงานยังเป็นการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดการดูแลทางการแพทย์ขึ้นที่เป็นสิทธิประโยชน์การเจ็บป่วย (sickness benefits) หรือการประสบอุบัติเหตุในการทำงานเป็นเหตุการณ์ที่สังคมพิจารณาว่าต้องมีการคุ้มครอง

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ารขยายขอบเขตประกันสังคมในกรอบของแรงงาน เช่นอนุสัญญาฉบับที่ 102 มีการระบุถึงประโยชน์พื้นฐาน 9 ประเภทในเรื่องการดูแลด้านการแพทย์ (medicare) เช่น ความเจ็บป่วย (sickness) การว่างงาน (unemployment) ชราภาพ (elderly) การเจ็บป่วยจากการทำงาน family benefit maternity invalidity การประกันสำหรับทายาท (survivor benefit)

 

ภายใต้อนุสัญญาฉบับที่ 24 และ25 (1952) เป็นการดูแลด้านการแพทย์ เนื่องจากสังคมกำหนดว่าต้องมีการประกันการเจ็บป่วย ในลักษณะบังคับ (compulsory) ครอบคลุมแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ไม่มีการแยกในระบบและนอกระบบ ดังนั้น แรงงานในระบบจะรวมแรงงานภาคเกษตรไว้ด้วย กฎหมายนี้มีการใช้มาเป็นเวลา 80 ปีแล้ว อนุสัญญานี้ ให้การบริการไม่คิดมูลค่า มีการระบุรายละเอียดด้านการแพทย์ ในระยะต่อไปเป็นการดูแลในเชิงป้องกันและรักษา มีการระบุผลประโยชน์ด้านเจ็บป่วย (sickness benefit) คือ การได้รับค่าจ้างในขณะเจ็บป่วย แต่การพิจารณารายละเอียดผลประโยชน์ค่าทดแทนขั้นต่ำเมื่อเจ็บป่วยมีการพิจารณาตั้งแต่ปี 1927

 

ข้อแนะฉบับที่ 134 มีกรอบที่ครอบคลุมประชากรที่เป็นกำลังแรงงานทุกคนในตลาดแรงงาน ดังนั้นกฎหมายประกันสังคมมีการครอบคลุมถึงการคุ้มครองแรงงานนอกระบบมาเป็นเวลานาน หรือในเรื่องการคลอดบุตร (อนุสัญญาฉบับที่ 19) มีการระบุถึงแรงงานที่ไม่ใช่กลุ่มแรงงานเกษตร

ในปี 1952 จึงครอบคลุมแรงงานภาคเกษตรและอาชีพอื่นที่ไม่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงมีการพูดถึงแรงงานนอกระบบมาเป็นเวลานาน ในเรื่องการรักษาพยาบาลที่เป็นการประกันสังคมเชิงบังคับ โดยใช้งบประมาณจากภาษี

 

อนุสัญญาฉบับที่ 37, 38 ครอบคลุมถึงการจ่ายบำนาญในลักษณะการประกัน (insurance scheme)

 

อนุสัญญาฉบับที่ 128 (1967) ระบุอัตราผลประโยชน์ขั้นต่ำที่แรงงานจะได้รับ รวมทั้งกรอบของการฟื้นฟู (rehabilitation) และการหางานให้คนพิการ ในข้อแนะอนุสัญญาฉบับที่ 131 (1967) ระบุถึงการขยายการทบทวนและการปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมทุกคนที่เป็นกำลังแรงงาน เรื่องของแรงงานนอกระบบจึงได้รับการทบทวน

 

การประกันชราภาพได้มีการระบุในปี 1933 (อนุสัญญา 35) เป็นการประกันบุคคลในภาคเกษตรในลักษณะบังคับ ในเรื่องการได้รับบำนาญ มีการขยายความในอนุสัญญา 122 (1967) เพิ่มสิทธิประโยชน์สูงขึ้น มีการพูดถึงภาคเกษตร แรงงานนอกระบบจึงเข้ามาอยู่ในขอบข่าย

 

มีการพูดถึงการประกันสังคมให้กับหญิงหม้าย และเด็กกำพร้าใน(อนุสัญญา 122) การประกันการเจ็บป่วยสำหรับภาคเกษตรก่อนโดยเฉพาะค่าทดแทนการเจ็บป่วย ในปี 1927 เป็นการพัฒนาขึ้นมามีการจ่ายค่าทดแทนแก่แรงงานทุพลภาพจากการทำงานและเสียชีวิต ในอนุสัญญา 18 (1925) จะเป็นการครอบคลุมเรื่องโรคจากการทำงาน (occupational disease) และในอนุสัญญา 122 มีการครอบคลุมมากขึ้นในเรื่องผลประโยชน์ขั้นต่ำทางการแพทย์

 

ในอนุสัญญา 44 (1934) ระบุการว่างงานโดยกำหนดให้รัฐบาลจ่ายผลประโยชน์ทดแทนนอกเหนือจากการสงเคราะห์ มีการพูดถึงการประกันสังคมที่ไม่ใช่การช่วยเหลือทางสังคม (social assistance) ในอนุสัญญา 102 ระบุถึงผลประโยชน์การว่างงานมากขึ้น และมีขอบข่ายกว้างขวางขึ้นในอนุสัญญา 168 (1988)

 

การประกันสังคมควรมีการพิจารณาไปแต่ละเรื่อง เช่น แรงงานนอกระบบที่เป็นฤดูกาลจะพิจารณาว่าเป็นช่วงการว่างงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างถิ่นควรได้รับการดูแลเพียงไร รวมทั้งประโยชน์ที่ควรได้รับ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปฏิกิริยากับระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ต้องมีการจดทะเบียน มีสังกัดหรือนายจ้างที่แน่นอน ทำให้ภาคนอกระบบบางกลุ่มมีความสามารถในการจ่าย อาจจะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ แต่อาจเป็นกองทุนที่มีขนาดโตยาก แต่อาจเป็นกองทุนช่วยเหลือสำหรับกลุ่ม low productivity sector

           

การบรรยายเรื่อง"หลักเกณฑ์และแนวทางเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ"

คุณนพมาศ ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม ได้อธิบายแนวทางการเตรียมการของสำนักงานประกันสังคมสรุปได้ดังนี้

           

นโยบายรัฐบาลชุดที่ผ่านมากำหนดเรื่องการขยายประกันสังคมไว้ในแผนปฏิบัติการ 5 ปี และมอบหมายกระทวงแรงงานฯ โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)พัฒนาแนวการขยายประกันสังคมไปยังกลุ่มแรงงานทุกอาชีพโดยเริ่มจาก 5 กลุ่มอาชีพ มีการสมทบไม่เกิน 100 บาท แต่เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้มีการทบทวนและปรับเป็นระบบการสมัครใจ ในกลุ่มอาชีพที่พร้อม 5 อาชีพ โดยการสมทบไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท ปัจจุบันกำลังอยู่ในระยะการพัฒนาแนวทาง

           

4นโยบายของรัฐบาลใหม่เป็นการให้ประกันสังคมดูแลเรื่องสวัสดิการสังคม และให้กองทุนสมทบการเจ็บป่วย (สปสช.) และจัดงบประมาณให้กับผู้ทุพลภาพในอัตราคนละ 4 บาท ผู้สูงอายุเพิ่มให้คนละ 500 บาท โดยกำหนดให้หมู่บ้านละ 5 คน ถ้าโอนงบประมาณให้ อบต. ก็จะเป็นรายได้มาดูแลคนชราในหมู่บ้าน การดำเนินงานของประกันสังคมจะซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น

 

ประกันสังคมอาจจะดูแลในเรื่องบำนาญชราภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน แต่การพิจารณายังไม่เป็นข้อยุติ ต้องมีการพิจารณาร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังที่กำลังดำเนินงานเรื่องการออมและกองทุนบำนาญแห่งชาติ

 

ประกันสังคมกำลังมีนโยบายแยกกองทุนแรงงานนอกระบบออกจากกองทุนใหญ่ ดังปรากฏในมาตรา 40 กฎหมายประกันสังคมแต่สิทธิประโยชน์อาจยังไม่จูงใจ อาจมีการแก้ไขโดยปรับอัตราสมทบ

 

การซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ แสดงความคิดเห็นว่าจากการประชุมเรื่องการขยายประกันสังคมครั้งสุดท้ายมีการเปลี่ยนจากแนวคิดการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขมาเป็นเรื่องการบังคับทุกคนต้องร่วมจ่ายตามความสามารถ ในเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น อยากให้ประกันสังคมมาดูแลเรื่องการประกันการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย และการประกันรายได้เมื่อลาคลอด

 

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้เสริมว่า หลักการประกันสังคมเป็นระบบการบังคับ และตั้งคำถาม 2 เรื่อง คือ เกณฑ์ของการเลือกกลุ่มเป้าหมายใน 5 อาชีพและชุดสิทธิประโยชน์ ก่อนการเกิดรัฐประหารที่มีการกำหนดเรื่องจ่ายเงินทดแทนผู้ป่วยใน ไม่เกี่ยวกับสวัสดิการสปสช. เพราะสปส.ระบุในเรื่องการดูแลเรื่องการขาดรายได้ รัฐบาลจะมาสนับสนุนในลักษณะใด

           

ดวงเดือน คำไชย กลุ่มผู้ผลิตที่บ้าน ภาคเหนือตั้งคำถามว่าผู้ผลิตอยู่กับบ้านที่เป็นผู้รณรงค์ในเรื่องการขยายประกันสังคมมาตั้งแต่เริ่มแรกแต่กลับไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย

 

ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์ ประธานคณะทำงานการแรงงาน และสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคม แสดงความคิดเห็นว่าสปส.ทำการศึกษาเรื่องฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบไปแล้วน่าจะมีข้อสรุปออกมาได้ การจัดทำในลักษณะประกันภัย ที่จะทำกับคนจำนวนมาก (mass) น่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร สามารถเก็บรายได้ประจำ การบริหารกองทุนของสปส.สำหรับแรงงานระดับล่างไม่ควรพิจารณาในเรื่องผลกำไร การคัดสรรกรรมการกองทุนควรมีตัวแทนแรงงานนอกระบบ และเสนอว่าสปส.อาจจะจัดตั้งโรงพยาบาลของสปส. รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนแรงงานนอกระบบในลักษณะการประกันภัยที่แท้จริง อาจเริ่มจากกลุ่มอาชีพ 5 กลุ่ม ซึ่งมีการกำหนดในเรื่องรายได้ที่แน่นอน

 

นพมาศ ใจมั่น อธิบายว่า การเลือกกลุ่มเป้าหมาย 5 อาชีพ ในระยะแรก เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้แน่นอน ในการจัดทำหลักประกันการขาดรายได้อัตราเงินสมทบจะต้องสูงมาก ไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท (จากฐานข้อมูลของ TDRI ของกลุ่มอาชีพ 5 กลุ่ม) สำหรับกลุ่มเกษตรและผู้รับงานไปทำที่บ้านจะเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่จะมีผลในเรื่องการบังคับนายจ้างของแรงงานเหล่านี้ เนื่องจากรายได้ของผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่มั่นคงทำให้ยุ่งยากในการหาค่าเฉลี่ย สปส.อาจออกแบบในลักษณะเป็นชุด (package) ได้ประโยชน์ 4 กรณี และเพิ่มเรื่องการขาดรายได้ กำลังศึกษา พบว่าเดือนละ 600 บาท การออกแบบการประกันการขาดรายได้ หากรัฐบาลต้องสมทบต้องเป็นการสมทบไปที่ สปสช. โดยอาจเป็นการสมทบเป็นก้อนเข้ากองทุนในระยะแรก

 

สุนทรี เซ่งกิ่ง เสนอให้มีการศึกษาในรายละเอียดในเรื่องการพิจารณาฐานรายได้ของแรงงานนอกระบบแต่ละกลุ่มในระหว่างรอการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่

 

สุวัฒนา ศรีภิรมย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังอภิปรายว่า เนื่องจากเวลาที่มีน้อยควรพิจารณาการขยายประกันสังคมเป็นเรื่องไป พิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการง่ายและได้ประโยชน์มากที่สุด การจัดสวัสดิการอาจจะแยกออกเป็น 3 เรื่อง คือ

            1) สวัสดิการทั่วไปที่สปส.จัดทำอยู่ เป็นการจัดทำโดยภาครัฐ

            2) การจัดสวัสดิการชราภาพหรือบำนาญ ต่างจากสวัสดิการทั่วไป เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินและระยะเวลา และการนำเงินมาใช้ให้พอเพียง ใช้วิธีคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย

            3) สวัสดิการทดแทนรายได้และการว่างงาน เป็นงานวิจัยโดย TDRI ซึ่งพบว่าเป็นภาระมากและหามาตรฐานยาก

           

ในประเทศไทยรัฐบาลจัดสวัสดิการโดยแบ่งกลุ่มคนให้ทั่วถึง คือข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่พบว่าแรงงานนอกระบบยังไม่อยู่ในระบบใด

           

"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เป็นรูปแบบการสมทบของนายจ้างและลูกจ้างสมทบร่วมกัน และจ้างผู้จัดการกองทุนบริหารให้ได้กำไร เป็นเงินบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลไม่ได้ร่วมสมทบกับกองทุนแต่ให้สิทธิในการยกเว้นภาษี และดูแลเรื่องกฎเกณฑ์ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล การจัดตั้งกองทุนแรงงานนอกระบบยังไม่มีการดำเนินการ ยังไม่สามารถจัดทำเกณฑ์ได้

           

- ในเรื่องสวัสดิการแรงงานนอกระบบ อาจจะพิจารณาในเรื่อง "กองทุนสวัสดิการชุมชน" ซึ่งกำลังส่งเสริมชาวบ้านชุมชนอยู่ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะขยาย "กองทุนพัฒนาสวัสดิการชุมชน" ที่มาจากการสมทบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมียุทธศาสตร์คือการส่งเสริมการออม ที่นำไปใช้ประโยชน์ที่เป็นการจัดสวัสดิการแรงงานนอกระบบ

 

- ในเรื่องชราภาพ มีความพยายามส่งเสริมในเรื่องชราภาพภายใต้กลไกฐานรากชุมชน เป็นเรื่องการออม มีการปรึกษากับสปส. เพื่อจัดทำสวัสดิการชราภาพ โดยพิจารณาจากจำนวนเงินที่จะสมทบ เช่น หากพิจารณาจากแรงงานจำนวน 23 ล้านคน ถ้ามีการออมคนละ 400 บาท หรือ 600 บาท อาจกำหนดได้หลายอัตราและคำนวณด้วยระยะเวลาที่ออม ผลประโยชน์จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินและระยะเวลาที่ออม

 

จันทวิภา อภิสุข มูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ ได้แจ้งว่าพนักงานบริการบางกลุ่ม มีการจัดทำประกันสังคมให้แรงงาน โดยมีเจ้าของสถานบริการเป็นนายจ้าง ไม่ใช่เป็นแรงงานนอกระบบทั้งหมด

 

สุจินต์ รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานครแสดงความคิดเห็นว่า

            ð ควรรวมกลุ่มอาชีพแรงงานรับงานไปทำที่บ้านที่มีการณณรงค์ในเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน

            ð การเก็บเงินสมทบเคยมีการศึกษาออกมาแล้วโดยคำนวณจากฐานรายได้ต่ำสุดคือเดือนละ 3000 บาท และการสมทบมีการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเขตอยู่แล้ว แม้แต่แม่ค้าหาบเร่ก็มีการขึ้นทะเบียนที่เขตเช่นกัน การจัดเก็บไม่น่าจะยุ่งยาก แม้การเลือกกลุ่มจะเลือกจากความชัดเจนของการมีนายจ้าง แต่การทำงานของฐานชุมชนก็น่าจะทำได้ กองทุนในชุมชนมีจำนวนมาก ต้องการได้กองทุนที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เพราะจะมีความมั่นคงกว่า การพัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชน ควรให้การส่งเสริมกองทุนชุมชนที่มีอยู่กระจัดกระจายให้เข้ามาอยู่ภายใต้กองทุนประกันสังคม

 

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพแสดงความคิดเห็นว่าการรณรงค์ในเรื่องการขยายประกันสังคมมาจากกลุ่มแรงงานที่เดือดร้อน คือกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นกลุ่มหลักที่ทำการรณรงค์ แต่กลับไม่ถูกพิจารณา เนื่องจากเหตุผลที่ว่ามีการจัดการยาก หานายจ้างไม่ได้ แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานที่ช่วยในการผลิตของสถานประกอบการ กฎกระทรวงครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ กระทรวงแรงงานน่าจะประสานงานกับสปส. เนื่องจากระบบการจ้างงานของประเทศมีความสับสนและ มีการตีความกันมากในเรื่องการรับเหมาช่วงงานมีการเสนอให้จัดทำสัญญาจ้างงานเพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านมีตัวตนไม่ยากแก่การศึกษาในเรื่องการร่วมจ่าย พิจารณาสิทธิประโยชน์ที่เป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนก่อน

 

ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์ สภาที่ปรึกษา ฯเห็นด้วยกับการจัดทำอัตราที่เป็น package ของประกันสังคมตามความสมัครใจ แต่แรงงานจะมีปัญหาในเรื่องการเจ็บป่วยและการว่างงาน เสนอให้พิจารณากลุ่มอาชีพที่มากขึ้นและกำหนดเกณฑ์ในการเข้าร่วมกลุ่ม ในระยะต่อไปควรพิจารณาเรื่องการเป็นสังคมชราภาพ

 

พูนทรัพย์ สวนเมือง ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ เสนอว่าสปส.น่าจะจัดทำการประกันในลักษณะรัฐสวัสดิการ และนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ ควรเพิ่มกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและแรงงานเกษตร โดยเริ่มจากลุ่มที่พร้อมและสมัครใจ

 

อรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการโครงการบูรณาการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน แสดงความคิดเห็นว่าควรพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ของแรงงานเหล่านี้ในฐานะที่เป็นแรงงานมากกว่าเป็นชุมชนฐานราก และมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากเรื่องการตายและชราภาพ

 

สุนทรี เซ่งกิ่ง เสนอว่าปัญหาที่เกิดแก่ผู้ที่ยากลำบากที่ควรพิจารณาเป็นลำดับแรก คือปัญหาการขาดรายได้ ควรมีการจัดทำการประกันการขาดรายได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในเรื่องในเรื่องการว่างงานสูง เรื่องชราภาพและการตายยังไม่ใช่ความจำเป็นเรื่องแรก

 

การระดมความคิดเห็นเรื่องรูปแบบและแนวทางการขยายประกันสังคมและการพัฒนาความร่วมมือ

            4การจัดทำกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มาจากการออมและสมทบจากภาครัฐจะแก้ไขปัญหาในเรื่องความยากลำบาก เช่น ความเจ็บป่วย ชราภาพ ตาย ส่วนกองทุนประกันสังคมควรรับผิดชอบกลุ่มที่อยู่ในฐานะหรือคนงานซึ่งจะมีปัญหาความเสี่ยงเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งต้องหาผู้ร่วมรับผิดชอบจากคนจ้างงานหรือผู้ว่าจ้าง การดูแลแรงงานนอกระบบจากกองทุนทั้งสองนี้จะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

            4ควรจะทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของเกษตรพันธะสัญญาเข้ามามีส่วนร่วมหรือแบ่งเบาภาระในการจ่ายเงินสมทบ เช่นการจัดทำกฎหมายควบคุม

            4 ควรมีพรบ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบที่คุ้มครองแรงงานเกษตรพันธะสัญญา และควรมีเวทีพิจารณาเรื่องการคุ้มครองแรงงานในระบบการจ้างเหมาโดยมีเป้าหมายที่จะให้นายจ้างร่วมจ่าย

            4ควรต่อยอดกองทุนสวัสดิการชุมชนและตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยงจากการทำงาน

            4ควรมีการขับเคลื่อนในเรื่องกฎกระทรวง การขยายประกันสังคม เตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบเพื่อการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่

            4ควรสร้างความตระหนักและ visibility ของแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นๆ มีการจัดทำเอกสารและสื่อเพื่อการเผยแพร่ที่เหมาะสม

            4เสนอให้แรงงานเกษตรพันธะสัญญารวมตัวกันจัดทำร่างพรบ.การคุ้มครองเกษตรพันธะสัญญา ทั้งนี้ โครงการบูรณาการฯ(สสส.) สามารถให้การสนับสนุนได้

            4สปส.เสนอแนะว่าในการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบ ควรระบุสิทธิประโยชน์ที่ต้องการ ความสามารถในการร่วมจ่าย

            4การศึกษาเรื่องรูปแบบ (model) การส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ ระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ

            4กระทรวงแรงงานฯแจ้งว่าได้จัดจ้างที่ปรึกษาจัดทำการศึกษาเชิงวิชาการเรื่องยุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดจะเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2550

            4ยุทธศาสตร์ในการรณรงค์เรื่องแรงงานนอกระบบที่กำลังเป็นประเด็นและได้รับความสนใจมากขึ้น และจัดทำเป็นขั้นตอน อาจพิจารณาจากภาค (sector) ที่มีการรวมตัวอยู่แล้ว มีความต่อเนื่องของรายได้ เช่นกลุ่มแท็กซี่ และทำการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study)

 

สรุปการสัมมนา

ð การเคลื่อนไหวต่อไปควรต้องมีการกำหนดแนวคิดร่วมกันในเรื่องของ "การประกัน" และ "การสงเคราะห์" การประกันสังคมหมายถึง การจ่ายร่วมกันโดยผลประโยชน์จะเป็นของผู้จ่ายเงิน รัฐบาลมีส่วนร่วมที่อาจจะอยู่ในรูปแบบของการจ่ายเงินอุดหนุน ควรกำหนดขอบเขตความหมายของแรงงานนอกระบบที่จะดำเนินการ กิจกรรมที่อาจะจัดทำร่วมกันได้ คือ

 

โครงการจัดทำฐานข้อมูล อาจจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อพิจารณาจัดทำฐานข้อมูลร่วมกัน โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะจัดทำฐานข้อมูลเพื่ออะไร เช่น ข้อมูลสำหรับประกันสังคม อาจเริ่มจากข้อมูลกลุ่มหญิงบริการ เกษตรพันธะสัญญา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานคุ้ยขยะ


การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องประโยชน์ทดแทน โดยใช้สื่อรูปแบบต่างๆเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมรูปแบบต่างๆ

 

การรณรงค์ในเรื่องสถานการณ์ปัญหาการถูกเอาเปรียบและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยมีการจัดเวทีประชุมในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ

 

ð การเรียกร้องการขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ อาจจะเป็นการเรียกร้องต่อกลไกที่มีอยู่แล้วให้ขยายไปถึงแรงงานนอกระบบ บางประเทศมีการสร้างกลไกเองที่เป็นกลไกเฉพาะกลุ่ม (indigenous scheme) ซึ่งสามารถทำได้ในบางภาคสาขา เช่น ภาคการออมทรัพย์ ที่มีการรวมตัวเพื่อซื้อปุ๋ย ถ้านำแรงงานนอกระบบมาอยู่ในระบบจะทำให้เสียเอกลักษณ์ ต้องเปลี่ยนแนวทางหลายทางที่อาจไม่สอดคล้องกับกลุ่มนั้นโดยเฉพาะ ดังนั้นการจัดทำประกันสังคมอาจเริ่มกับบางภาคเฉพาะ เช่น โครงการสุขภาพสำหรับหญิงบริการ การสร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ควรมีการพิจารณาเรื่องอื่นๆเท่านั้น

           

ð ในเดือนเมษายน 2550 จะมีการประชุมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบระหว่างนักวิชาการ นักกฎหมายในกระทรวงแรงงาน โดยจะเป็นการพิจารณาว่าควรจะจัดทำกฎหมายที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและมีกฎหมายย่อยในแต่ละอาชีพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net