Skip to main content
sharethis


โดย   มุทิตา เชื้อชั่ง


 


 


เปิดขุมทรัพย์ชาวนา


 


ในฐานะที่กิน "ข้าว" เป็นอาหารหลักคนหนึ่ง ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ไปเปิดหูเปิดตาทำความรู้จักกับ "ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง" ในงานมหกรรมข้าวพื้นบ้านเพื่อการสืบสานวัฒนธรรมชุมชน เมื่อวันที่ 16 -18 มกราคมที่ผ่านมา ณ บ้านฟองใต้ ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์


 


งานนี้ทำให้ความหลากหลายของข้าวแบบที่รู้จัก (ในห้าง) ไม่ว่าข้าวมาบุญครอง ข้าวเบญจรงค์ ข้าวเกษตร ข้าวสุพรรณหงส์ ข้าวมิตรภาพ หรือกระทั่งข้าวเทสโก้ !!!  ชิดซ้ายตกกระป๋อง เพราะส่วนใหญ่แล้วข้าวที่คนทั่วไปกิน ถ้าไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ ก็เป็นข้าว กข 6 หรือข้าวปทุมธานี ... ได้กินกันแค่นั้นแหละ


 


การจัดมหกรรมนี้เป็นการรวม "ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว" หรือที่เรารู้จักกันในนาม "ชาวนา" มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน พร้อมทั้งเอาพันธุ์ข้าวแปลกๆ ที่พวกเขาปลูกกิน (เป็นปกติ) ติดไม้ติดมือมาประกวดกันด้วย มันทำให้ได้รู้ว่าที่แท้แล้วชาวนาไทยแอบเก็บข้าวพันธุ์เจ๋งๆ แปลกๆ ไว้กินกันเอง.....ไม่ใช่ !! ...... ที่แท้แล้วมีข้าวอีกหลากหลายสายพันธุ์เหลือเกินที่ระบบตลาดไม่อนุญาตให้แทรกตัวไปอยู่บนแผงของห้างสรรพสินค้า และที่สำคัญ ระบบการผลิตแบบปัจจุบันกำลังจะทำให้มันสูญหายไป


 


ด้วยพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขุนเขา ชาวบ้านแถบเทือกเขาเพชรบูรณ์จึงเพาะปลูก "ข้าวไฮ่" (ข้าวไร่) กันเป็นหลัก ข้าวไร่นี้ปลูกบนพื้นที่สูงตามเชิงเขาเชิงดอย มีทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งล้วนทนทายาท ต้องการน้ำไม่มาก ที่สำคัญ ส่วนใหญ่ขบถต่อปุ๋ยเคมี !


 


เกษตรกรแถบนี้ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวไฮ่ไว้พอกินในครอบครัว เฉลี่ยแล้วคนละ 3-10 ไร่ โดยการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวของคณะทำงานพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งได้ทำการเก็บตัวอย่างใน 5 พื้นที่ รวบรวมได้เกือบ 50 สายพันธุ์


 


 


 



ข้าวแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและชื่นชอบผืนดิน ปริมาณน้ำแตกต่างกันไปตาม "นิเวศ" ที่มีความละเอียดอ่อนในแต่ละพื้นที่ ชาวบ้านจะปลูกข้าวกันฤดูกาลหนึ่ง 3-6 ชนิดสับเปลี่ยนเวียนกันไป เรียกได้ว่าคนแถวนั้นเมื่อเปิดฝาหม้อข้าวมาจะมีข้าวหลากชนิดคละเคล้าอยู่ในนั้น ได้รับวิตามินหลากหลาย โดยไม่เน้นขาว-สวย-เหมือนกันทุกเม็ด ดังเช่นคนเมือง


 


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกบอกว่า ที่เคยรวบรวมจริงๆ ทั่วภาคอีสานได้มาเกือบ 200 สายพันธุ์  โดยที่ชาวบ้านเองก็มีท่าทีที่โหยหา


 


"ถามว่าแม่ตอนเป็นสาวปลูกข้าวกี่พันธุ์ แกก็ไล่ไปเป็นตุเป็นตะ แล้วประโยคสุดท้ายก็จะจบว่า ไม่รู้มันหายไปไหนแล้วทุกวันนี้ แต่ก็อยากได้กลับมาเนอะ" เจ้าหน้าที่ว่าอย่างนั้น


 


ส่วนแม่สำรวย ขวัญพุธ แม่บ้านจากบ้านฟองใต้เล่าเพิ่มเติมถึงบรรยากาศในปัจจุบัน ซึ่งคนที่ศรัทธาระบบลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยว่า "ชาวบ้านเขาไม่มีหวงกัน ถ้าแม่มีพันธุ์นึง ข้างบ้านขอแลกกิโลนึงก็จะปันกันไป เอาไว้แลกเปลี่ยนกัน หรือใครไม่มีจริงๆ ขอกันก็ได้ เราจะเก็บพันธุ์ในปีหนึ่ง คัดไว้ 1-2 ถังต่อพันธุ์ เอาไว้ปลูกปีหน้า"


 


เธอบอกว่านี่เป็นวิถีดั้งเดิมที่เป็นมาแต่ไหนแต่ไรที่บ้านฟองใต้ แม้ว่าพันธุ์ข้าวจะสูญหายไปมากจากการที่ชาวบ้านหันไปใช้พื้นที่ที่มีอยู่ปลูกข้าวโพด หรือกระทั่งช่วงหนึ่งถึงกับกู้ ธกส. ไปลงทุนปลูกขิงกันเป็นการใหญ่ เพราะเห็นราคาดี นับแต่นั้นมาไร่ขิงก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สร้างหนี้ก้อนใหญ่ให้ชาวบ้านฟองใต้ติดพันมาจนถึงปัจจุบัน


 


"เห็นคนอื่นเค้ารวยก็อยากปลูกกันบ้าง ปลูกแล้วราคามันตกพอดี แถมขิงก็เน่า ซื้อมาโลละ 20 ตอนขาย 5 บาทยังแทบไม่มีคนซื้อ" แม่สำรวยว่า 


 


ข้าวไร่จึงเป็นหลักประกันสำหรับชีวิตคนที่นี่ว่า จะดีจะร้ายอย่างไร อย่างน้อยก็มีข้าวกินเต็มท้อง !!


 


 


0 0 0 0 0 0


 


 


 "อนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน" …ไปทำไม


 


 


 


"การปฏิวัติเขียวมันล่วงเลยมากจนกระทั่งรู้ตัวเองว่าถูกทำลายโดยการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลกระทบชัดแล้ว ชาวบ้านเป็นหนี้ พื้นที่ป่าลด ชุมชนแตกสลาย พันธุกรรมกลายไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ชาวบ้านสูญเสียการพึ่งตอนเองไปเรื่อยๆ การทำงานด้านพันธุกรรมในวันนี้จึงมีนัยยะของการพึ่งตนเอง การตอบโต้ทุนนิยม การฟื้นฟูระบบนิเวศและวัฒนธรรมของตัวเอง" 


 


อุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกพูดถึงงานที่กำลังทำ


 


"การท้าทาย" นั้นฟังดูเท่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท้าทายระบบการผลิต ระบบเศรษฐกิจที่รีดเลือดเอากับปูตัวน้อยๆ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะโรแมนติกและสร้างได้ง่ายดาย เพราะแนวโน้มที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสเอาการ


 


เขาจำกัดความมันว่า "การปฏิวัติเขียวรอบ 2" หรือ "ทุนนิยมผูกขาด"


 


"การปฏิวัติเขียวรอบแรก สาระหลักคือการเปลี่ยนพันธุ์แล้วให้ใช้สารเคมี มันเดินทางมา 40 กว่าปีมาถึงปฏิวัติเขียวรอบ2 จากทุนนิยมก้าวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ใช้สารเคมี มาถึงขั้นที่ทุนต้องมุ่งไปสู่การผูกขาด"


 


"ปรากฏการตอนนี้ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ คือเมื่อเกษตรกรขาดทุนบริษัทก็จะชวนว่าเอาที่ดินมาให้บริษัทเป็นคนปลูก เกษตรกรขอแต่เพียงว่าขอให้จ้างฉันและลูกหักข้าวโพด เพราะการหักข้าวโพดได้ค่าจ้างแน่ๆ โดยไม่ต้องเสี่ยง  เรียกว่าเอาที่ดินมาร่วมทุนกับบริษัท แล้วบริษัทจะเป็นผู้บริหารการผลิตเอง ไทยก็จะดำเนินไปเหมือนอเมริกาใต้ที่ที่ดินการเกษตรเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ใช่รายย่อยอีกต่อไป"


 


หันไปคุยกับบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่จากมาบ้านทุ่งพระ บ้านสวนป่า ตำบลทุ่งพระ ซึ่งมาร่วมงานวันนั้น พบว่า แถบนั้นร้ายไปกว่าที่อุบลเล่า เพราะพวกเขาสูญเสียที่ดินทำกินไปนานแล้วจากนโยบายของรัฐ นั่นคือ "สวนป่ายูคาลิปตัส"


 


ปี 2522 ชาวบ้านหลายหมู่บ้านกว่า 270 ครอบครัวต้องย้ายออกจาพื้นที่มาอยู่รวมกันเป็นบล็อกๆ ในที่ใหม่ที่ออป. หรือองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดให้บ้านละ 1 ไร่ พร้อมสัญญาว่าจะจัดที่ดินทำกินให้อีกครอบครัวคนละ 25 ไร่ ผ่านมา 27 ปี ทุกอย่างว่างเปล่าเหมือนสายลมพัดผ่านช่องเขา


 


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า "ผักริมรั้ว" กลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรพลัดที่ "แม่โฮม" เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย 1 ไร่นั้นเธอปลูกผักพันธุ์พื้นบ้านมากมายจนพอได้เก็บขาย (รวมไปถึงผักป่า) เลี้ยงครอบครัว ส่วนคนอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าทุ่นค่ากับข้าวไปได้เยอะ


 


บ้านของแม่โฮมมีทั้งบวบเหลี่ยม บวบหอม บวบพั่ว บวบยาว ฟักทอง ฟักเขียว น้ำเต้าทั้งแบบยาวแบบสั้น ผักพอง ผักกาด ผักอีลุ่ย (ผักกาดขาว) ชะอม ดอกแค ผักแสง ตำนิน (ตำลึง) ผักปัง ผักบุ้ง กระเฉดต้น ผักก้านตรง มะเขือพวง มะเขือขื่น มะกอ (มะละกอ) สะเดา ผักอีหุม ผักกะโดน  (ขออภัยหากชื่อใดผิดพลาด เพราะหลายชื่อเกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน--ผู้เขียน)


 


"บ่ได้ซื้อจักเถือผัก ไก่ก็บ่ค่อยได้ซื้อ เลี้ยงอยู่ ซื้อแต่ปลากะเนื้อ ปลูกแล้วก็เก็บเม็ดไว้ปลูกต่อ บ่ได้ไซ้สารเคมี ไซ้ปุ๋ยคอก"


 


"ถ้าสมมติว่าสวนครัวเฮาบ่หลาย ผู้นี่ปลูกผักอันนี่ ผู้นั่นปลูกผักอันนั่น เปลี่ยนกันกินนำได้"


 


แม่โฮมยังพิสูจน์องค์ความรู้ด้วยการเด็ดใบไม้รอบๆ บริเวณที่นั่งพูดคุยกันมาบอกสรรพคุณ อันนี้กินแก้ปวดท้อง อันนั้นเอาไปอ่อมกบอร่อย กินแก้ร้อนในได้ ฯลฯ ทำเอาผู้มาเยือนตื่นตะลึงเพราะเธอเล่นเนรมิตให้วัชพืชแถบนั้นกลายเป็นยา เป็นอาหารไปต่อหน้าต่อตา โดยมีเสียงเพื่อนบ้านที่มาด้วยกันคอยถกเถียง และเอออออยู่ข้างๆ


 


อรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงานโครงการจัดการทรัพยากรต้นน้ำเซิน เสริมว่า "เรื่องเมล็ดพันธุ์มันเชื่อมโยงกับปัญหาที่ดินที่ชาวบ้านประสบอยู่ มันพอเป็นคำตอบส่วนหนึ่งได้ว่าชาวบ้านจะพึ่งพาตัวเองได้ยังไง ในเรื่องอาหารการกิน ยารักษาโรค เราอาจจะทำได้จุดเล็กๆ แล้วค่อยขยายผลไป แต่ไม่รู้จะได้แค่ไหน เพราะกระแสข้างนอกมันมาแรงมาก"


 


"ในพื้นที่น้ำหนาว นายทุนจากข้างนอกทั้งกรุงเทพฯ และภาคใต้มากว้านซื้อที่ดินในราคาถูกปลูกยางพารา มีบางหมู่บ้าน 99% ขายที่ดินแล้วไปเป็นลูกจ้างปลูกลูกจ้างกรีดยาง ตอนนี้มันถีบตัวสูงกว่า 5-6 ปีที่ผ่านมามาก"


 


 


0 0 0 0 0 0


 


 


การอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน  ณ ปี 2007 !


 


 


กิจกรรมนี้ช่วยขับเน้นคุณค่าของวิถีชีวิตชาวบ้าน และทำให้ผู้คนจากหลายพื้นที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนพบปะกัน


 


คนเมืองอาจเริ่มเบื่อตั้งแต่งานช่วงแรกผ่านไป เพราะแต่ละซุ้มที่โชว์พันธุ์ข้าวพันธุ์ผักดูไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่สำหรับชาวนา พวกเขาตระเวนเดินไปทุกซุ้ม สอบถามประวัติ สรรพคุณของข้าวกันให้จ้าละหวั่น มีชีวิตชีวา และดูเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง


 


วิธีทดสอบพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ หยิบมาเคี้ยวทั้งที่ยังเป็นข้าวสารดิบๆ มีคนแอบทำตามป้าๆ ลุงๆ และพบว่านอกจากจะแยกแยะรสชาติของข้าวแต่ละพันธุ์ไม่ได้แล้วยังท้องอืดเพราะกินข้าวดิบเข้าไปไม่น้อย ! (คำเตือน-ไม่เชี่ยวชาญจริงอย่าเลียนแบบ)


 


"การรักษาที่ยั่งยืนที่สุดคือการรักษาไว้ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคน เบื้องต้นที่สุดคือการปลูกกิน คนที่มาวันนี้กินข้าวไม่เหมือนกันเลย" อุบลว่า


 


นอกเหนือไปจากนั้น "เรา" ยังจะมีส่วนช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวได้ด้วย เพราะขณะนี้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกซึ่งมีประสบการณ์การเป็นคนกลางขายข้าวอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในภาคอีสานอยู่แล้ว กำลัง "วางแผนการตลาด" ให้ข้าวพื้นบ้าน พวกข้าวเล้าแตก ข้าวหางปลาไหล ข้าวควายหาย ข้าวอีกหลูบ ข้าวเล็บช้าง ฯลฯ นี่แหละ.....แค่ชื่อก็กินขาด


 


โดยขณะนี้กำลังประสานความร่วมมือเพื่อให้คณะวิทยาศาสตร์การอาหาร ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ช่วยคิดค้นดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะช่วยศึกษาหาสรรพคุณทางยาจากข้าวพื้นบ้าน หรือพัฒนาแป้งอัดเม็ดยาที่ส่งเสริมให้ยาออกฤทธิ์ดีขึ้น


 


"ผมพยายามเปิดประเด็นใหม่มา 2 ปีแล้วคือ  "การบริโภคเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรม" ตอนนี้ทิศทางการบริโภคเป็นการบริโภคข้อมูลอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ  ข้อมูลทางสังคม พร้อมกับการพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาจเริ่มต้นจากภูมิปัญญาก็ได้แต่ต้องประยุกต์ใดสอดรับกับรสนิยมของผู้บริโภค" อุบลกล่าว


 


ในส่วนของเครือข่ายเกษตรฯ จะร่วมกับนักวิชาการเกษตรของภาครัฐจัดการส่วนของการผลิต การปรับปรุงพันธุ์ สร้างมาตรฐานของพันธุ์และนำออกสู่ตลาด โดยจะทดลองส่งขายคู่ไปกับข้าวอินทรีย์ที่มีตลาดอยู่แล้ว


 


"การช่วยส่งเสริมตรงนี้ ทำให้พื้นที่ปลูกขยายขึ้นได้ ถ้าเอาพันธุกรรมพื้นบ้านยึดครองพื้นที่ไว้ไม่ได้จำนวนหนึ่ง มันจะแพ้พันธุ์ที่ทุนนิยมเสนอเข้ามา พวกลูกผสมผลผลิตสูง ใช้สารเคมีสูง ถ้ามันไม่มีที่เหยียบที่ยืน ไม่ถูกใช้ประโยชน์มันก็จะรักษาไว้ลำบาก" อุบลกล่าว


 


นอกเหนือไปจากนั้น ดูเหมือนคนทำงานด้านการเกษตรคนนี้จะไม่ฝากความหวังอะไรไว้กับอำนาจใหญ่โตของรัฐ พร้อมทั้งสรุปประสบการณ์ที่ผ่านมาของเกษตรกรไว้อย่างเจ็บปวดว่า "รัฐ-มิใช่อื่นใด หากแต่เป็นเครื่องมือของทุน"


 


"ทุกครั้งที่มีการขยับว่าจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการเกษตร ผมนี่สยองมากเลย มันกลายเป็นว่ากฎหมายและนโยบายคือเครื่องมือในการทำลายรายย่อย เริ่มต้นจากเทคโนโลยีซึ่งพ่วงด้วยกฎมายสิทธิบัตรมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อแล้วสุดท้ายกฎหมายและนโยบายก็จะไปสนับสนุนพวกนี้  ตั้งแต่รัฐบาลอานันท์ กฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ มาถึงร่างพ.ร.บ.ข้าว เมื่อปีที่แล้วสาระหลักในกฎหมายพวกนี้คือการโซนนิ่งการเกษตร มันเป็นความประสงค์ของทุน ที่ต้องการจัดพื้นที่การลงทุน"


 


"ประชาชนไม่ควรไปมีความหวัง หรือไปเชียร์รัฐบาลไหนโดยง่าย แต่ว่ามันจะต้องตั้งความหวังกับตัวเอง ทวงหาผลงานและติดตามทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม" อุบลกล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


.....ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามที่จะรักษาชีวิตของข้าว และถึงที่สุดคือ ชีวิตของชาวนา ....

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net