Skip to main content
sharethis

สื่อเบนาร์นิวส์รายงาน 'นักวิชาการ-นักสิทธิมนุษยชน' เสียงแตก กรณีมีข่าว 'ทักษิณ' พูดคุยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ชี้มีทั้งดีและเสีย


ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)

ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2567 เบนาร์นิวส์ รายงานว่าสืบเนื่องจากมีการเปิดเผยกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (National Unity Government-NUG) รวมทั้ง กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในฐานะ “ตัวกลางไกล่เกลี่ย” ที่เชียงใหม่ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2567

“ดีลนี้ไม่ง่ายแน่นอน ทุกคนไม่เชื่อว่า ทักษิณจะทำสำเร็จ เพราะเขาไม่มีพื้นฐานความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือประสบการณ์เรื่องกระบวนการสันติสุขเลย ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นปกติ ประเด็นธรรมดา เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีจุดยืน และข้อเรียกร้องที่ต่างกันออกไป ดังนั้น มันไม่ง่าย และอาจจะทำให้สถานการณ์วุ่นวายได้ด้วยซ้ำ” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะที่ รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า บารมีทางการเมืองของนายทักษิณอาจจะมีผลกับการเจรจาครั้งนี้

“ผมเชื่อว่าคุณทักษิณมีบารมี และคอนเน็กชัน ซึ่งอาจจะทำให้ฝ่ายต่าง ๆ เกรงใจได้ และการที่คุณทักษิณเห็นอกเห็นใจกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นเรื่องปกติ ขณะที่ฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ก็คงพยายามที่จะพูดคุยกับผู้มีหลักผู้ใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เพื่อถ่วงดุลทางการเมือง ซึ่งนอกจากไทย เขาก็มีการพูดคุยกับจีน สหรัฐฯ หรืออินเดียด้วย เพราะต้องการตัวแสดงภายนอกเพื่อมาร่วมแก้ปัญหา” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ถึงปัจจุบัน แม้ว่านายทักษิณจะไม่ได้ยืนยันกับสื่อมวลชนเรื่องการพูดคุยดังกล่าว แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวเช่นกัน

“เราก็อยากเห็นการสันติภาพที่เกิดขึ้นอย่างถาวรในประเทศพม่า เพราะฉะนั้นใครช่วยอะไรได้ก็ควรจะช่วย เพราะว่านั่นก็เป็นเรื่องที่ทางพม่า หรือว่าชนกลุ่มน้อยเขามาขอให้ท่านทักษิณ เป็นคนช่วยก็เป็นเรื่องของเขา เป็นสิทธิของเขา เขาจะปรึกษาหารือใคร ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล” นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับสื่อมวลชนในวันจันทร์

การสู้รบในพม่าปะทุขึ้นหลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศพม่ามาจำนวนมาก

“ตอนนี้ ข้อดีหรือข้อเสียของการที่คุณทักษิณเริ่มเจรจายังเห็นไม่ชัด เพราะยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาลทหารพม่า หรือกองกำลังติดอาวุธ แต่หากคุณทักษิณเข้าไปทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) การตอบรับอาจจะช้า เพราะรัฐบาลทหารคงไม่ยอมรับคนกลางง่าย ๆ จึงควรจะเริ่มวางตัวในฐานะ ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ซึ่งมีบทบาทที่เบา และคล่องตัวกว่า เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อน” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว

การสู้รบรุนแรงขึ้นอีก เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ที่ประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army - MNDAA) กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) และ กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ได้รวมตัวบุกโจมตีกองทัพพม่า ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานใช้ชื่อปฏิบัติการ 1027 มีเป้าหมายโค่นล้มระบอบเผด็จการทหาร และสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่า

“จากที่ทราบข้อมูลกลยุทธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มไม่ต้องการจะคุยกับกองทัพพม่ามาแล้ว เพราะเคยส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาแล้วคนเจรจาถูกทำร้าย จึงไม่มีความไว้ใจ กลยุทธ์ของเขาจึงมีทางเดียวคือรุก ชนะให้ให้ได้แล้วค่อยคุย ดังนั้น ข่าวทักษิณอาจสะท้อนความไม่เข้าใจปัญหาของทักษิณเองก็ได้” นางชลิดา กล่าว

นับจากปฏิบัติการ 1027 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้ร่วมกันบุกโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่า และกองกำลังพันธมิตร เพื่อยึดครองเมืองต่าง ๆ จนทำให้มีการปะทะกันหลายจุดในประเทศพม่า และประชาชนพม่าบางส่วนต้องหนีภัยการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทย

“IDP (Internally Displaced People หรือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ) เพิ่มสูงขึ้นมาก ประเมินแล้วน่าจะมากกว่า 750,000 คน การสู้รบยังมีเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะเขตตรงข้ามแม่สอด พบพระ อุ้มผาง คนก็เลยต้องขยับมาใกล้ชายแดนมากขึ้น” น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าว

การสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ทำให้อาเซียน และนานาชาติแสดงความเป็นห่วงพม่ามากขึ้น ปลายเดือน มี.ค. 2567 รัฐบาลไทยเองก็เริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนพม่าที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ และไทยยังเคยประกาศว่า พร้อมจะเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพในประเทศพม่า

รศ.ดร. ดุลยภาค ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกประเด็นปัญหาของพม่าอยู่แล้วอย่างน้อย 2 คน คือ 1. นายอาลุนแก้ว กิดติคุน ผู้แทนพิเศษด้านพม่าของประธานอาเซียน (Alounkeo Kittikhoun, Special Envoy of the ASEAN Chair on Myanmar) และ 2. นางจูลี บิช็อป ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยพม่า (Julie Bishop, the United Nations Special Envoy on Myanmar)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net