Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 เมษายน 2550 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง หรือท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรงคมนาคม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีชาวบ้านตำบลสะกอม และแกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เข้าร่วมประมาณ 50 คน


 


หลังจากแจ้งถึงที่มาของโครงการแล้ว นายมานะ ภัทรพานิช ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ท่าเรือนำลึกสงขลาแห่งที่ 2 อาจจะคล้ายกับโครงการขยายท่าเรือน้ำลึกบางสะบาน อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัทในเครือสหวิริยา เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 300,000 ตัน มีการสร้างสะพานเชื่อมไปยังท่าเรือที่อยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร ทำให้มีผลกระทบน้อย เพราะน้ำลอดใต้สะพานได้


 


นายมานะ กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย มีท่าเรืออยู่มากมาย แต่เป็นท่าเรือขนาดเล็ก มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อกับท่าเรือ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนท่าเรือมาบตาพุดที่มีปัญหามาก เพราะมีการถมทะเล เพื่อใช้พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ทางบริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อแก้ปัญหากัดเซาะ ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว


 


นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลสะกอม แสดงความเห็นว่า พื้นที่ทะเลสะกอม มีลักษณะเป็นอ่าว ต่างกับอำเภอบางสะพานที่เป็นหัวแหลม โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ในอำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 20,000 ไร่ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โครงการนี้จึงเกี่ยวข้องกับโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ถ้าบอกว่าสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ชาวบ้านคงไม่เชื่อ


 


นายประเสริฐ รักษ์ไทยดี ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เกี่ยวโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย แต่เกิดจากความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่อยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มีการสำรวจและออกแบบเสร็จแล้ว


 


นางจันทิมา ชัยบุตรดี แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าโครงการนี้ไม่เกี่ยวกับโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย เพราะคณะที่ปรึกษาได้ศึกษาถึง 8 แห่ง ตั้งแต่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส แต่เหตุใดจึงเลือกที่จังหวัดสงขลา


 


นางจันทิมา กล่าวต่อไปว่า ถ้ามีการถมทะเลแล้ว ชาวประมงจะไปจับปลาที่ไหน ชาวบ้านที่เลี้ยงปลากะพงในกระชังจะอยู่อย่างไร วิถีชีวิตของชาวมุสลิมจะเปลี่ยนไปแบบไหน โครงการนี้ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านเลย เมื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแล้วต่อไป โรงงานอุตสาหกรรมอีกกว่า 2,000 ในอำเภอจะนะก็จะตามมา เพราะเป็นแผนพัฒนาที่กำหนดไว้แล้ว คำถามก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะตามมาด้วยหรือไม่ ถ้าเกิดผลกระทบจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะขนาดปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรมแค่ 7 แห่ง ในอำเภอจะนะก็ยังแก้ไม่ได้ เช่นเดียวกับที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าจะให้พวกตนอยู่ดีกินดี ก็อย่าสร้างโครงการขนาดใหญ่ๆ ในพื้นที่นี้


 


นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า พวกตนไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึก เพราะไม่ต้องการตามแก้ปัญหาภายหลัง พวกตนต้องการให้ยกเลิกโครงการนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา ฝากบอกไปยังผู้ใหญ่ด้วยว่า พวกตนไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึก และไม่ต้องการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง


จากนั้นแกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายคน ได้สลับกันแสดงความคิดเห็น โดยยกเรื่องผลกระทบที่จะตามมา รวมทั้งผลกระทบจากโครงการของรัฐ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข


 


ก่อนปิดการประชุม นายเสกสรร สาหีมซา ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอมม กล่าวว่า ตนรู้ดีชาวบ้านในตำบลสะกอมส่วนใหญ่อย่างไรก็ได้ ไม่มีผู้ใดตามคัดค้านโครงการอย่างมืออาชีพ จนทำให้คนในพื้นที่เสียโอกาส


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงที่นายเสกสรรลุกขึ้นพูดอยู่ เป็นช่วงที่ชาวบ้านในเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ออกจากห้องประชุมไปหมดแล้ว


 


จากนั้น เวลา 14.30 น. วันเดียวกัน คณะที่ปรึกษาโครงการ ได้ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีนายประสิทธิ์ วิสุทธิ์จินดาภรณ์ นายอำเภอจะนะ และชาวบ้านกว่า 180 คนเข้าร่วม ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ตำบลนาทับ แต่ก็แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะตามมา


 


นายมานะ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะที่ปรึกษาจะไปประมวลความเห็นและข้อเสนอทั้งหมด จากนั้น จะจัดสัมมนาระดับจังหวัดอีกครั้ง ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2550 โดยวันที่ 13 เมษายน 2550 จะส่งคณะที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมลงสำรวจพื้นที่ทันที


 


นายสุไลมาน โหดเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ เปิดเผยว่า คณะที่ปรึกษาต้องการที่ดินสาธารณะ 650 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่หลังท่าเรือ สำหรับที่ดินสาธารณะแปลงนี้ อยู่ในหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 มีพื้นที่ทั้งหมด 2,000 กว่าไร่


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net