Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กานต์ ยืนยง

ดูเหมือนการอ้าง วลีที่ว่า "ทุนนิยมสามานย์" เป็นฉายาให้กับกลุ่มอำนาจเก่า ดูจะยังไม่น่าเชื่อถือและไม่สามารถจูงใจคนได้มากพอ เท่ากับในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพยายามจะรณรงค์และชุมนุม ประชาชนในการโค่นล้มรัฐบาลชุดที่แล้ว

คำนูณ สิทธิสมาน จึงพยายามนำเสนอแนวคิดเพิ่มเติมขึ้นมาในบท ความของเขา[1] เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 โดยเริ่มต้นจากการแสดงให้ เห็นว่า มีความพยายามเชื่อมโยงมาจากกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ เพื่อร่วมลงนามถวายฎีกาเพื่อปลดพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ออกจากตำแหน่งองคมนตรีและรัฐบุรุษ แล้วก็นำเสนอต่อไปว่า นอกจากความคิดการเสนอปลดองคมนตรี แล้วก็ยังมีแนวความคิดไม่เห็นด้วยกับ การมีอยู่ขององคมนตรี แล้วก็เชื่อมโยงเข้ามาหา ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยถึงกับนำข้อเขียนส่วนหนึ่งของสมศักดิ์ มาตัดตอนอ้างอิง แล้วสรุปให้เป็นประเด็นว่า มีแนวคิด "ไม่เอาองคมนตรี, ไม่เอาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, ไม่เอารัฐธรรมนูญมาตรา 8, ไม่ให้มีมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา" ก่อนจะมาสรุปในที่สุดว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์ทำอะไรไม่ได้ และต้องไม่ทำอะไร"

ในบทความนั้นจบลง ด้วยข้อเสนอที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่มีหลักการ คือ "ให้ตอบโต้ด้วยเหตุด้วยผล เมื่อไม่เห็นด้วยกับเขา" แต่เมื่อ "เซี่ยง เส้าหลง" นำเสนอบทความ "ยุทธ การปลดป๋าเปรม เปลือยความคิดแฝดคนละฝา "คอมมิวนิสต์ อารมณ์ค้าง" "ทุนเหิมเกริมไร้บัลลังก์""[2] ลงติดต่อกันสองตอน (ตอน ที่ 1, ตอน ที่ 2) โดยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อวันที่ 10 และ 11 เมษายน 2550 ก็เริ่ม เห็นแนวคิดเบื้องหลังของคำนูณมากขึ้น[3]

เซี่ยงเส้าหลง แสดงความเห็นว่ากลุ่มที่เขาเรียกว่า "ทุนนิยมเหิมเกริม" และ "คอมมิวนิสต์อารมณ์ค้าง" ไม่มีความเห็นขัดแย้งเรื่อง "ชาติ" หรือพูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ทั้งสองกลุ่มไม่มีแนวคิดเรื่อง "ชาติ" ในความหมายของ เซี่ยงเส้าหลง ที่พยายามจะเชื่อมโยงว่าเป็นชาติในความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือ "ทุนนิยมสามานย์" ก็เชื่อว่าในระบบโลกาภิวัตน์ เขตแดนของชาติสมัยใหม่ไม่ตายตัว เพื่อนร่วมชาติก็มีไม่จำกัด ในขณะที่ "คอมมิวนิสต์อารมณ์ค้าง" ก็เชื่อว่า จินตภาพในเรื่องชาติมีความหมายในเรื่องของ "สากล นิยมของชนชั้นกรรมาชีพ" หรือเชื่อว่า "กรรมกรทั้งหลายเป็นพื่น้องกัน" ก่อนสรุป ปิดท้ายว่า กลุ่มทั้งสองสมประโยชน์ด้วยความเชื่อที่ไม่ขัดแย้งกัน จึงจัดตั้งพรรคการเมืองผูกขาดและนิยมการขายทรัพย์สินของชาติ ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะทำตามแนวคิดในปฏิญญาฟินแลนด์, เป็นภาคต่อของการชนผู้มีบารมี และนำไปสู่การเสนอปลดประธานองคมนตรี เพื่อในที่สุดแล้วทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์และนั่นคือ การลิดรอนพระราชอำนาจ

การอภิปรายที่ เป็นท่อนสรุป เปิดเผยเบื้องหลังแนวคิดของคำนูณที่พยายามก่อตัวมาเป็นความคิดชี้นำได้อย่าง แจ่มชัดยิ่ง

"ขอฝากผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาลว่า การกระทำที่หมิ่นเหม่ จาบจ้วง แสดงความไม่เคารพใดๆ ต่อสถาบันที่เป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทยนั้น รัฐบาลจะต้องเอาจริงเอาจังอย่างถึงที่สุดในระยะเวลาที่เหลืออยู่ ถ้าทำไม่ได้ หรือรอแต่จะให้พวกเขากลับใจ ทำนอง "พระ อยู่ร่วมกับโจร" ได้ กระผมก็ขอฝากท่านประธานฯ ผ่านไปยังรัฐบาลว่า ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีมหามงคล ภายใต้การบริหารงานของหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ประชาชนเคยตั้งความหวังไว้สูงคน หนึ่ง กลับบ้านเถอะ"[4]

อันที่จริง หากว่าไปแล้ว ถ้าใครติดตามเกมการเมืองช่วงนี้ตลอดก็จะพบว่า กลุ่มผู้จัดการได้เริ่มหันมาโจมตีนายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สักพักหนึ่งแล้ว หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างกระแสกดดันให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จาก พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวศ ให้รักษาการแทน และกดดันให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจาก ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ให้ลาออกไป เมื่อหมดเป้าหมายหลักสองคนดังกล่าวแล้ว กลุ่มผู้จัดการก็เริ่มโจมตีไปยังตัว พล.อ. สุรยุทธ์ โดยตรง

สำหรับข้อกล่าวหา ที่ได้ผลที่สุดก็คือการกล่าวหาว่าตัว พล.อ. สุรยุทธ์ ตกลงอย่างลับๆ กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะให้ช่วยดูแลในเรื่องต่างๆ ให้ การนำเอาข้อกล่าวหาว่า กลุ่มอำนาจเก่าซึ่งประกอบไปด้วย "ทุนนิยมเหิมเกริม" และ "คอมมิวนิสต์อารมณ์ค้าง" มีการกระทำที่ หมิ่นเหม่ จาบจ้วง แสดงความไม่เคารพต่อสถาบัน จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง เมื่อทำไม่ได้นายกรัฐมนตรีจึงควรจะสำนึกผิดแล้วลาออกจากตำแหน่ง ที่น่าขันก็คือ มีรัฐมนตรีที่ตอบรับคำอภิปรายนี้ว่าจะช่วยกวดขันให้มากขึ้นอีกเสียด้วย

เมื่อตรวจสอบดู ตรรกะและเหตุผลของคำนูณที่นำมาใช้อ้างในงานเขียนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนมาถึงการอภิปรายในสนช. ก็น่าสงสัยอยู่ว่าคำนูณทำการบ้าน ตรวจสอบข้อมูลซึ่งเป็นต้นตอที่ของแนวคิดตนเองไว้ได้มากน้อยเพียงไร

ข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่คำนูณตัดตอนมานำเสนอแบบไม่ครบถ้วนนั้น (รวมไปถึงแนวคิดที่คำนูณเรียกว่าการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ ) หากพิจารณากันดูให้ดีแล้วก็มิได้มีความผิดพลาดบกพร่องอะไร น่าจะมองเป็นข้อเสนอทางวิชาการที่น่าสนใจเสียด้วยซ้ำไป

ต้องเข้าใจกันให้ ดีก่อนว่า ฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันนั้น ได้ผ่านพ้นความขัดแย้งกับฝ่ายประชาชนมาตั้งแต่สมัยการอภิวัฒน์แผ่นดินในช่วง พ.ศ. 2475 - 2476 มาแล้ว ด้วยการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของประเทศต่างๆ ในโลกเมื่อเวลานั้น แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (constitutional monarchy) หรือในความหมายอีกอย่างก็คือจาก absolute monarchy มาเป็น limited monarchy ก็ คือระบอบกษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจที่จำกัด หรือสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายนั่นเอง

จากความกดดันด้าน สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในขณะนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้การดุลยข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก ยังผลให้เกิดความไม่พอใจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเชื่อกันว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นทางออก ความรู้สึกนี้อยู่ในจิตใจของผู้กระทำการอภิวัฒน์การปกครองอย่างแรงกล้า ดังจะเห็นได้จาก ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 [5]ซึ่งมีการกล่าวโจมตีระบอบการปกครองเก่าเอาไว้ดังต่อไปนี้

 

ประกาศคณะ ราษฎร ฉบับที่ 1
ราษฎรทั้งหลาย

 

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศ เพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรง ต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอม ให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธี ทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่ สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

  1. จะต้องรักษา ความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎร ให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

 

คณะราษฎร
24 มิถุนายน 2475

 

คณะราษฎรต้อง ผ่านการต่อสู้กับกลุ่ม "อนุรักษ์นิยม" ของพระยามโน ปกรณ์นิติธาดา ที่เลือกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามประเทศ และหวังว่าจะสร้างการประนีประนอมระหว่าง "คณะเจ้า" และ "คณะราษฎร" ได้ กลับประสบความล้มเหลว เพราะกลุ่ม "อนุรักษ์ นิยม" กลับเล่นเกมการเมืองโดยอิงความไม่ไว้วางใจกัน ระหว่างคณะราษฎรและรัชกาลที่ 7 จนทำให้เกิดการรัฐ ประหารโดยพระราชกฤษฎีกา สั่งงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและสั่งปิดการประชาสภาผู้แทนราษฎร

คณะราษฎรโดยการนำ ของ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมด้วย พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก และ น.ท. หลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ โดยมีหลวงนฤเบศร์มานิตย์ และพระยานิติศาสตร์ไพศาลเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือน ก็ได้ร่วมกันยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในวันที่ 20 มิถุนายน 2546 และต่อมาก็เกิดกบฏบวรเดชใน ช่วงกลางเดือนตุลาคม ภายใต้การนำของ พล.อ. พระองค์ เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และ พ.อ. พระ ยาศรีสิทธิสงคราม นายทหารนอกราชการ เมื่อรัฐบาลฝ่ายคณะราษฎรสามารถปราบกบฏบวรเดชได้ ก็ทำให้เกิดการต่อสู้กันในทางการเมืองระหว่างรัชกาลที่ 7 กับรัฐบาล พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา โดย รัชกาลที่ 7 ทรงนำพระองค์กับตำแหน่งพระมหา กษัตริย์เข้า "ต่อรอง" กับ รัฐบาล ผลการต่อสู้นี้จบลงด้วยการสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477[6] และนับจากนั้นประเทศสยามก็เข้าสู่ยุคของระบอบ constitutional monarchy อย่างสมบูรณ์

จากข้อมูลข้างต้น นี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคใหม่จึงเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้วยหลักการนี้จึงย่อมหมายความว่า พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงย่อมมีจำกัดกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ กล่าวคือรัฐบาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ใช้อำนาจในนามของพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า "กษัตริย์ ทรงปกเกล้า แต่ไม่ทรงปกครอง"

 

ธงทอง จันทรางศุ ได้ชี้ว่า พระมหากษัตริย์ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ 3 ประการ คือ ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงรับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล (The Right to be consulted), ทรงมีพระราชอำนาจที่จะสนับสนุนรัฐบาล (The Right to encourage) และทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือน (The Right to warn) หรือกล่าวโดยย่อก็คือ พระราชอำนาจที่จะได้รับคำกราบบังคมทูลและการปรึกษานั่นเอง (The Right to be informed and the Right to be consulted)

เหตุที่ทรงมี อำนาจเช่นนี้ เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และใช้พระราชอำนาจตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมิต้องทรงรับผิดในผลแห่งการกระทำนั้น ตามหลัก "พระมหา กษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้" (The King can do no wrong) แต่ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำตักเตือนหรืออาจทรงสนับ สนุนก็ได้[7]

ข้อเสนอที่คำนูณ โจมตีไปข้างต้นบทความนี้ จึงมิได้เป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจแต่ประการ ใดเลย เพราะมิได้ขัดกับหลักการพระราชอำนาจตามแนวทางของ constitutional monarchy แต่หากคำนูณยังเชื่อมั่นตามหลักการของตนเองจริงๆ คำนูณย่อมไม่อาจจะโจมตี นายกรัฐมนตรีหรือแม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ได้ เพราะตามมาตรา 13 ในรัฐ ธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจำนวนไม่เกิน 35 คนตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ[8] การกล่าวโจมตีตัวนายกรัฐมนตรีก็ดี ตลอดจนรัฐมนตรีก็ดี จะมิเป็นการล่วงละเมิดต่อพระราชอำนาจในตรรกะของคำนูณ แบบเดียวกับที่คำนูณใช้กล่าวหาคนอื่นในกรณีขององคมนตรีหรอกหรือ ยิ่งไปกว่านั้นการที่คำนูณยังยืนยันว่าการนำเสนอขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 7 ก็มีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วว่า "ไม่เป็นไป ตามประชาธิปไตย"

"ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ พูดแบบมั่ว แบบไม่ ไม่ ไม่มีเหตุมีผล สำคัญอยู่ที่ ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่ ที่แจ่มใส สามารถ ควรจะสามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือ ปกครองต้องมี ต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วน เขาว่าไม่ได้ แต่ก็เขา แต่อาจจะหาวิธีที่จะ ที่จะตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วน และทำงาน ทำงานได้

ก็ รู้สึกว่ามั่วอย่างที่ว่า ต้องขอโทษอีกทีนะ ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบ แบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ ไม่ ไม่มีหน้าที่ ที่จะไปมั่ว ก็เลยต้องขอร้องฝ่ายศาล ให้คิด ให้ช่วยกันคิด เดี๋ยวนี้ประชาชน ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา ศาลอื่นๆ"[9]

จึงน่าสงสัยอยู่ ว่า ข้อเสนอของ คำนูณ สิทธิสมาน เป็นข้อเสนอที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยก่อนปี 2475 หรือ หลังจากปี 2476 กันแน่? ที่ น่าสงสัยยิ่งไปกว่านั้นก็คือ กลับมีผู้เชื่อตามโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงให้แยบคายเสียด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อตามนั้นเป็นถึงระดับนายทหารในคมช.เองบ้าง เป็นระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลบ้าง ทั้งยังน่าสงสัยว่า การให้เหตุผลที่ผิดพลาดเช่นนี้หลายครั้ง (ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นกรณีเว็บไซต์มนุษยะดอทคอม) รวมไปถึงการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 หรือ แม้แต่การไปยื่นข้อเสนอให้กับผู้บัญชาการทหารบกและองคมนตรีเมื่อคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 จะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐประหารใช้เป็นข้ออ้างเพื่อทำการรัฐ ประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องทำใจ เพราะแม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่วนเวียนวกวน แต่ในที่สุดประวัติศาสตร์จะคลี่คลายตัวของมันไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย ที่พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น แม้นบรรยากาศในปัจจุบันจะมิใช่บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ แต่เราก็คงต้องเชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องกลับคืนสู่ประชาชน

เสมือนหนึ่งดัง เหตุการณ์ในช่วงคณะราษฎรถูกรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารด้วยพระราช กฤษฎีกา และเป็นเหตุให้ 4 ทหารเสือคณะราษฎรต้องพ้นไปจากตำแหน่ง แต่หนังสือพิมพ์ประชาชาติก็ยังเชื่อมั่นว่า 4 ทหาร เสือคณะราษฎรจะต้องนำพาระบอบประชาธิปไตยกลับมา ดังที่นำเสนอในบทความ "ผู้ก่อกำเนิดประชาธิปตัย" เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน

ในวัน หนึ่งประชาธิปตัยจะเรียกร้องต้องการตัวท่าน จะออดอ้อนวอนให้ท่านกลับมาอีก ประชาธิปตัยแห่งสยาม ประชาธิปตัยที่ยังเยาว์วัย เยาว์สติ เยาว์ความเข้มแข็ง ประชาธิปตัยที่เนื้อตัวยังสั่นเทาอยู่ นี่แหละคือภาวะประชาธิปตัยแห่งสยาม

 


[1] บทความ ไม่ ใช่แค่ปลดป๋าเปรม แต่ไม่เอาองคมนตรี,ทรัพย์สินฯ และฯลฯ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการวันที่ 10 เมษายน 2550
[2]บทความ"ยุทธการ ปลดป๋าเปรม เปลือยความคิดแฝดคนละฝา "คอมมิวนิสต์ อารมณ์ค้าง" "ทุนเหิมเกริมไร้บัลลังก์"" ตอน ที่ 1 และ ตอน ที่ 2
[3] มี ข้อมูลว่าเบื้องหลังนามปากกา "เซี่ยงเส้าหลง" ก็คือ คำนูณ สิทธิสมาน บ้างก็ว่ามีการเขียนร่วมหลายคน โดยเฉพาะข้อเขียนชุดทุกวันจันทร์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2548 ลงตีพิมพ์ติดต่อกัน 16 ตอนจนถึงวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2548 ภายหลังสำนักพิมพ์ผู้จัดการได้นำบทความชุดนี้มารวมเล่ม เป็นหนังสือชื่อ "จากกัลยาณมิตรถึงนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร" แต่สำหรับบทความ "ยุทธ การปลดป๋าเปรมฯ" ที่ถูกอ้างถึงในบทความนี้ทั้งสองบท ความนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเป็น คำนูณ ที่ลงมือเขียนเอง โดยเฉพาะในตอนที่ 2 ลำดับตรรกะ และเหตุผลคล้ายคลึง (เรียกได้ว่าเหมือน) กับบทความที่เขาเขียนเองเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติของคำนูณเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาใช้ทั้งตรรกะ และสำนวนแบบเดียวกับ "เซี่ยงเส้าหลง" อย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามบทความทั้งสองบทความของเซี่ยงเส้าหลง และการอภิปรายของคำนูณในสนช. ไม่ได้เอ่ยอ้างชื่อ บุคคลใด
[6] สรุปจาก ปฏิวัติ 2475, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์, 2547 โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
[7] ธงทอง จันทรางศุ, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทาง กฎหมายรัฐธรรมนูญ, บริษัท เอสซีพรินท์แอนด์แพค จำกัด, 2548
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net