SIU ชี้แจง ใจ อึ๊งภากรณ์ กรณีความเกี่ยวข้องของ SIU กับโครงการ TCIJ และ TPD

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรียน อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่นับถือ ผมในฐานะตัวแทนของ SIU (Siam Intelligence Unit) ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาเอ่ยถึง SIU ในบทความ “ใจ อึ๊งภากรณ์” วิพากษ์เว็บ “ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” หรือในชื่อบทความเดิม “เจาะลึก” ข้อมูลเรื่องเวป “ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” โดยข้อความที่อาจารย์ได้กล่าวถึง SIU นั้นเป็นดังต่อไปนี้ “5. อีกองค์กรที่ “ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” ลิงค์ด้วยคือ SIU (Siam Intelligence Unit) ซึ่งร่วมกับ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา (มาอีกแล้ว!!) ในการก่อตั้ง “เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย” ซึ่งมี คณะกรรมการกำกับทิศทาง ที่ประกอบไปด้วยคนอย่าง วีระ สมความคิด (พันธมิตรฯที่พยายามก่อสงครามกับประเทศเขมร) นพ.มงคล ณ สงขลา (อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหารของ คมช.) และ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คนทำสื่อฝ่ายเสื้อเหลือง” ผมขอเรียนชี้แจงดังต่อไปนี้ 1) ความสัมพันธ์ของ SIU และ TCIJ ผมและเพื่อนร่วมงานใน SIU ไม่มีใครทราบและไม่มีใครเคยติดต่อกับทาง ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) มาก่อน และไม่ทราบเลยว่า TCIJ ได้นำโลโกรวมถึงลิงก์ ไปยังเว็บไซต์ของ SIU ด้วยเหตุผลใด วานนี้ (31 พฤษภาคม 2554) ผมได้สอบถาม อาจารย์สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการของ TCIJ โดยตรง จากเบอร์โทรศัพท์ที่ประกาศไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของ TCIJ ก็ได้ทราบว่า อาจารย์เห็นว่าเนื้อหาของ SIU มีความน่าสนใจ และน่าจะเหมาะกับการเผยแพร่ต่อให้ผู้อ่านที่เข้ามาชมในเว็บไซต์ TCIJ โดยอาจารย์สุชาดาได้แสดงความเห็นเช่นเดียวกันนี้ในจดหมายเปิดผนึก (เปิดใจ)… ถึงอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ (กรณีวิพากษ์ TCIJ) SIU ไม่มีปัญหาที่เว็บไซต์หรือหน่วยงานใด ๆ ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองในลักษณะใด จะนำโลโก, ลิงก์ และข้อมูลของ SIU ไปใช้ ตราบเท่าที่มีการอ้างข้อมูลกลับ ที่ผ่านมาก็มีเว็บไซต์จำนวนมากที่สนับสนุนฝ่ายต่าง ๆ ได้วางลิงก์ของ SIU หรือเว็บไซต์ที่เป็นผลผลิตของ SIU อาทิ เช่น เว็บไซต์ ThaiEnews (http://thaienews.blogspot.com/), เว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (http://www.tpd.in.th), เว็บไซต์ข่าวไทยโพสต์ (http://www.thaipost.net), และ เว็บไซต์สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (http://www.ids-th.org) เป็นต้น (สองเว็บแรกเชื่อมโยงเว็บไซต์ siamintelligence.com และสองเว็บหลังเชื่อมโยงเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย http://www.politicalbase.in.th) 2) ความสัมพันธ์ระหว่าง SIU กับ TPD SIU ได้เริ่มโครงการศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (http://www.politicalbase.in.th) มาตั้งแต่ปี 2550 (โปรดอ่านรายงานข่าววันเปิดตัว http://siu.co.th/2008/11/want-to-know-all-about-thailand-politicians/ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการทั้งเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย และเว็บไซต์ Siam Intelligence ก็เพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านเท่าที่เป็นได้ ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของ SIU เองและข้อจำกัดในเชิงบริบทด้านกฎหมายของประเทศต่อพลเมือง เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างอย่างเต็มที่และนำไปสู่ประโยชน์ สาธารณะดังที่ควรจะเป็น เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thai Political Database หรือ TPD) เป็นการดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชื่อ “แผนงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบทางสังคม” ได้มีการเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการตามมาในภายหลังในช่วงต้นปี 2552 โดยมีคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ ทั้งสิ้น 12 ท่าน (ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการและมีจำนวนทั้งสิ้น 9 ท่าน) โดยมี ศ. ดร. จรัส สุวรรณมาลา เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทาง และรับหน้าที่เป็นผู้จัดการแผนงานวิจัยฯ ด้วย การทำงานของแผนงานฯ มีลักษณะเป็นการทำงานในรูปแบบ “เครือข่าย” โดยไม่ได้เป็นการสั่งการหรือมีสายงานบังคับบัญชากัน SIU ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน ฐานะภาคีของเครือข่าย ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในโครงการดังกล่าว SIU ไม่มีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว SIU อยู่ในฐานะภาคีของเครือข่าย โดยวัตถุประสงค์การร่วมมือกันของ SIU และแผนงานฯ เป็นการแลกเปลี่ยนด้านข้อมูลและงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะและการตรวจสอบ นักการเมือง ตลอดจนการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานของงานวิชาการเป็นหลักสำคัญ นอกเหนือจากการตรวจสอบนักการเมือง SIU ได้เสนอให้แผนงานฯ ได้พิจารณาการตรวจสอบผู้เล่นที่มีบทบาทสาธารณะที่ไม่ใช่นักการเมืองด้วย ตามเท่าที่ขอบเขตทางกฎหมายไทยได้อนุญาต และทางแผนงานฯ ก็ได้แสดงความเห็นด้วยและตอบรับข้อเสนอนี้ โปรดพิจารณาลิงก์ข้อมูล 2.1 กลุ่มทางการเมือง 2.2 บทบาทของกองทัพ 2.3 บทบาทภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาการร่วมงานระหว่าง SIU และแผนงานฯ เป็นในลักษณะให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นสำคัญ SIU ไม่เคยได้รับทุนสนับสนุนใด ๆ จากเครือข่าย เนื่องจาก SIU ได้รับทุนสนับสนุนในการทำงานโครงการศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (หรือ Thailand Political Base) จากมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประเทศเยอรมนี อยู่แล้ว และในปัจจุบันเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิแล้ว ทาง SIU เป็นผู้รับรองค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3) บทบาทและจุดยืนของ SIU SIU เป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย (Think Tank) ภาคเอกชน ด้วยบทบาทดังกล่าวทำให้ SIU มีจุดยืนที่ไม่เลือกฝักฝ่ายทางการเมือง (non-partisan) โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนจุดยืนในการเลือกฝักฝ่ายทางการเมือง (partisan) ควรเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองดังที่ปรากฎให้เห็นในต่าง ประเทศ SIU พร้อมจะดำเนินการกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคราชการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ ฯลฯ เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ผ่านทั้งการนำเสนองานวิจัย การจัดสัมมนา และการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ นอกจากนี้ SIU ยังรับงานด้านการวิจัยและที่เป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ให้กับผู้ว่าจ้างอีกด้วย (โปรดดูข้อมูลพันธมิตรและผู้ว่าจ้างของ SIU เพิ่มเติมได้จาก http://siu.co.th/partners/) อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา SIU ได้จัดทำโครงการ Challenge Thailand 2011 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ผู้นำทางความคิดจากฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัด แย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมา ดูลิงก์การสัมภาษณ์ทั้งหมดได้จาก http://www.siamintelligence.com/thitinan-pongsudhirak-interview/ (โปรดดูรายละเอียดรายชื่อผู้ถูกสัมภาษณ์ทั้งหมดตอนท้ายของบทความ) รวมถึงได้จัดงานสัมมนา “ก้าวข้ามความขัดแย้งสังคมไทย” และจัดพิมพ์หนังสือถังความคิด เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจระหว่างทุกฝ่าย เราได้ข้อสรุปว่าจุดยืนเชิงบวกที่ควรสนับสนุนของทั้งฝ่าย “เสื้อแดง” และฝ่าย “เสื้อเหลือง” คือ การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม การไม่มีระบบสองมาตรฐาน และการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น SIU จึงพร้อมจะสนับสนุนทุกฝ่ายที่มีจุดยืนในทุกด้านที่กล่าวถึงนี้ สำหรับประเด็นทางการเมืองที่ SIU ไม่เห็นด้วย อาทิ กรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา SIU พยายามจัดงานสัมมนาสาธารณะเพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยสันติ และนำไปสู่กรอบของการสร้างประชาคมอาเซียน อาทิเช่น 3.1 งานสัมมนานานาชาติ Looking Towards ASEAN Community 2015 : Constraints, Obstacles and Opportunites เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2011 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.2 งานสัมมนา “บนย่างก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015: ปัญหา อุปสรรคและโอกาส” ที่ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการนำเสนอบทความในเชิงคัดค้านข้อขัดแย้งดังกล่าวด้วย อาทิเช่น 3.3 ไทย : แกนนำในการสร้าง “อาเซียนที่เป็นจริง” ด้วยการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน 3.4 “When The Children Cry” คำถามซื่อจากเด็กน้อย เหตุใดจึงต้องก่อสงคราม 3.5 การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย – กัมพูชา : กรณีศึกษาข้อพิพาทปราสาทพระวิหารและเส้นเขตแดนทางบก-ทะเล 3.6 ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา : เรายังอยู่ในโลกก่อนสมัยใหม่ ในท้ายที่สุดนี้ขอเรียนให้ทราบว่า SIU ตระหนักดีถึงความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบัน เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมจะต้องเป็นไปโดยสันติ ใช้เหตุใช้ผล เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ ในขณะที่ยังรับฟังและไม่กีดกันเสียงส่วนน้อยออกไป ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสังคมครั้งใหญ่นี้ ดังคำของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ที่ได้กล่าวเอาไว้ “แท้จริงแล้ว วิกฤตของสังคมเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าสิ่งเก่ากำลังจะจากไป และสิ่งใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้ ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ พยาธิสภาพทางสังคมย่อมปรากฎให้เห็น” (The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะใช้สติพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง รอบคอบ และด้วยความอดทน จนกระทั่งวันหนึ่ง เราหวังว่าเราจะร่วมกันเปลี่ยนผ่านสังคมนี้จากสังคมที่เอาแพ้เอาชนะกันอย่าง เอาเป็นเอาตาย (ซึ่งใช้แนวคิดแบบ Machiavellian) มาเป็นสังคมที่เน้นการยอมรับความขัดแย้งและแข่งขันแนวคิดแบบไม่ใช่ศัตรูคู่ อาฆาตกัน (Agonistic Pluralism Society) จึงเรียนมาเพื่อทราบ ด้วยความนับถืออย่างสูง กานต์ ยืนยง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทสยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต จำกัด (SIU) ที่มา: http://www.siamintelligence.com/siu-to-reply-giles-ji-ungpakorn/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท