Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรษัทยุคใหม่จึงไม่สามารถคำนึงถึงเพียงกำไรสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียวได้ อีกต่อไป หากแต่จะต้องคำนึงถึง ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนต้องไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบคู่แข่งขันจากอำนาจเหนือตลาด และคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงภารกิจของกิจการตนเองว่าคุณค่าที่แท้จริงคือ อะไร และสามารถพัฒนาสังคมที่ตนเองนั้นเป็นสมาชิกอยู่ให้ก้าวหน้าไปได้อย่างไร
กานต์ ยืนยง  
SIU (http://www.siamintelligence.com)
ผมอ่านบทความของ ดร. โสภณ พรโชคชัย เรื่อง "ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดคือ ธุรกิจที่กำไรสูงสุด [1] ด้วยความสนใจ และเมื่อเห็นคำตอบของ ดร. โสภณ ต่อผู้แสดงความเห็นในบทความ ทำให้สามารถทำความเข้าใจวิธีคิดของ ดร. โสภณได้มากขึ้น
แม้โดยพื้นฐานข้อเสนอเรื่อง "การทำ กำไรสูงสุด" ของธุรกิจ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในระดับหน่วยผลิต เพราะการทำกำไรหมายถึง ผลจากการบริหารต้นทุนให้ต่ำสุด ในขณะที่มีการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด แต่คำว่า "ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด" และ อีกหลายข้อความในบทความ รวมไปถึงความคิดเห็นที่ตอบผู้แสดงความคิดเห็นของ ดร. โสภณ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากตรรกะที่ว่า เมื่อกำไรมากก็ทำให้เสียภาษีมาก อนุมานได้ว่าทำให้รัฐสามารถนำเอารายได้ที่จัดเก็บจากภาษีมาพัฒนาประเทศต่อ ได้มากนั้น (ประเด็นประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ของรัฐเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ในมุมมองของผม มองแล้วยังเป็นตรรกะที่มองได้ไม่ครอบคลุมนัก
ข้อเท็จจริงเรื่องภาษี
ตามปกติแล้วฐานจัดเก็บภาษีของรัฐไม่ได้มีที่มาจากภาษีที่เก็บจาก กำไรของบริษัท (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีที่มาจากรายได้ของประชาชนทั่วไป (ภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดา) และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน (รวมบริษัทและกิจการต่างๆ) อันเป็นภาษี ทางอ้อมอย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกด้วย [2] นอกจากภาษีทั้งสามชนิดยังมีภาษีอื่นๆ เช่นภาษีสรรพสามิต ภาษีอากรจากกรมศุลกากร และภาษีเบ็ดเตล็ด เช่นภาษีไพ่, ภาษีสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และภาษีสถานอาบน้ำหรืออบตัวและนวด เป็นต้น แผนภาพข้างล่างนี้แสดงข้อมูลเปรียบเทียบว่า เอาเข้าจริงแล้ว ภาษีที่มีความสำคัญมากที่สุดและเป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บได้มากที่สุด กลับเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ในบางเวลาเช่นช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐสามารถจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาได้มากกว่าภาษีนิติบุคคลด้วยซ้ำไป[3]
 
ดังนั้นหากใช้ตรรกะเรื่อง "การเสียภาษี" ว่าใครเสียภาษีมากกว่า ก็ถือว่าผู้นั้นมีความรับผิดชอบต่อสั
งคมสูงกว่า ดังบทความของ ดร.โสภณ มาตัดสินแล้ว เรายังสมควรต้องพิจารณาตัวละครที่เกี่ยวข้องอย่าง "ประชาชนทั่วไป" เพิ่มขึ้นมาจากการ พิจารณาเฉพาะแค่ บริษัท หรือหน่วยธุรกิจ อีกด้วย ในแง่มุมของผู้บริหารนโยบายสาธารณะจึงไม่สามารถยอมรับได้ว่าผลประโยชน์ของ บรรษัท (อันอาจทำให้บรรษัทได้รับกำไร) มีเหนือกว่าผลประโยชน์ของประชาชน หากแต่จะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมมากขึ้น บางครั้งอาจจำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบรรษัท อันอาจทำให้กำไรของบรรษัทลดน้อยลง (หรือบาง ครั้งกลับกัน) ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้มี "สวัสดิการสังคม" สูงสุด แทน
การแทรกแซงของรัฐที่เหมาะสม ในสภาพตลาดแบบผูกขาด
โดยอาศัยพื้นฐานแนวคิดการกำหนดเป้าหมายที่ "สวัสดิการสังคม" แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ กระแสหลัก แสดงตัวอย่างคลาสสิคในการแทรกแซงของรัฐต่อตลาดที่มีลักษณะผูกขาด (Monopoly market) เพื่อให้ได้สวัสดิการสูงสุดดังต่อไปนี้
ในกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงจากรัฐ ธุรกิจสมมตินี้จะกำหนดราคาขายที่ 18 บาท และขายไป 6 หน่วย (สามารถทำได้เนื่องจากเป็นตลาดแบบผูกขาด) ผลประโยชน์ของผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่ A และผล ประโยชน์ของผู้ผลิตอยู่ที่พื้นที่ B+D แต่ถ้ารัฐ กำหนดราคาเพดานเป็น 16 บาท จะทำให้ธุรกิจสมมตินี้ขายสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 8 หน่วย ผลประโยชน์ของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นมาเป็น A+B+C ใน ขณะที่ผลประโยชน์ของผู้ผลิตจะเปลี่ยนเป็น D+E
เมื่อคิดสวัสดิการสังคมในกรณีรัฐไม่ได้แทรกแซง (ไม่ได้ควบคุมราคา) จะมีผลรวมที่ A+B+D ในขณะที่หากรัฐเข้าควบคุมราคาสวัสดิการสังคมจะอยู่ ที่ A+B+D+C+E ประโยชน์ที่สูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์ (C+E) ซึ่งเกิดจากการที่รัฐไม่ได้เข้าแทรกแซงโดย การควบคุมราคานี้เรียกว่า Deadweight Loss [4]
เมื่อใช้ตรรกะเรื่องภาษีเข้ามาจับ แม้ว่ารายได้ (อันจะทำให้กำไร) ของผู้ผลิตลดน้อยลงบ้าง แต่ผลรวมจากประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้รัฐได้รับประโยชน์จากส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม จากธุรกรรมที่มากขึ้นด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า การที่กิจการทำกำไรได้มากที่สุด ไม่ได้แปลว่าทำให้รัฐได้รับรายได้สูงสุดตามไปด้วย
นอกเหนือจากรายได้ที่เป็นตัวเงินโดยตรงอย่างเช่นภาษีที่รัฐได้รับ เพิ่มมากขึ้น  ผู้บริโภคยังได้รับผลประโยชน์มากขึ้น คือผู้บริโภคที่มีความสามารถในการจ่ายราคาสินค้าที่ 18 บาทขึ้นไป ก็จ่ายเงินน้อยลง (16 บาท) ทำให้ได้รับความพึงพอใจมากขึ้น และสามารถนำเงินที่ประหยัดลงนี้ไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ในขณะที่มีผู้บริโภคบางคนที่มีความสามารถจ่ายราคาสินค้าที่ 16 บาทก็สามารถหาซื้อบริการเพิ่มขึ้นด้วย ในแง่สถานการณ์สมมตินี้ มีผู้บริโภคที่มีความสามารถซื้อหาสินค้าเพิ่มขึ้นได้อีก 2 หน่วย ในทางเศรษฐศาสตร์จึงมักนิยมกำหนดนโยบายหรือสร้างสภาพแวดล้อม ให้มีการแข่งขันอย่างเสรี หรือมีตลาดแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ (Perfect competition market) เพราะไม่เพียงแต่อำนาจการกำหนดราคาของ ผู้ผลิตจะลดลงแล้ว (ในทางกลับกันก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการจ่ายราคาที่ น้อยลง) ก็ยังทำให้มีผู้ผลิตหลายราย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อหาสินค้าบริการที่หลากหลาย ตรงตามรสนิยมและความต้องการของตนเองมากยิ่งขึ้น
การที่หน่วยธุรกิจตั้งใจตั้งราคาให้สูงกว่าที่ควรจะเป็นในตลาดแบบ ผูดขาด ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมหรือความรับผิดชอบทางสังคม แต่ในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นทางเลือกเชิงกลยุทธ์ที่ทำให้กิจการได้รับกำไร สูงสุด ซึ่งนอกจากอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว หน่วยธุรกิจยังอาจจะเลือกกำหนดราคาให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากๆ เพื่อผลในการข่มขู่และขับคู่แข่งออกจากตลาดได้อีกด้วย และเมื่อคู่แข่งไม่สามารถทำการแข่งขันได้ จนกระทั่งพ้นจากตลาดไปแล้ว หน่วยธุรกิจนั้นก็จะกำหนดราคาให้สูงกว่าที่ควรจะเป็นดังเดิม เพราะกลายเป็นผู้เล่นรายเดียวที่เหลืออยู่ในตลาด วิธีการแบบนี้เรียกว่า การกำหนดราคาแบบกำจัดคู่แข่ง (Predatory pricing หรือ Destroyer pricing) [5]
ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีกฎหมายควบการผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดนี้ โดยผ่านทางพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 [6] (ดูหมวดที่ 3 การป้องกันการผูกขาด) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เราจะเห็นว่าในปัจจุบันยังมีกิจการที่สามารถถูกพิจารณาได้ว่าอยู่ในสภาพผูก ขาดตลาดอยู่เต็มไปหมด ทั้งนี้เป็นได้ว่าสภาพเช่นนี้คงอยู่ได้เพราะการที่เจ้าของกิจการเหล่านี้มี ความเกี่ยวข้อง หรือมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมือง หรืออาจจะมีอิทธิพลที่สำคัญต่อนโยบายทางการเมือง มากกว่าประชาชนทั่วไป
ผลกระทบภายนอกเชิงลบ จากการแสวงหากำไรสูงสุด
นอกเหนือจากทางเลือกในการมีอิทธิพลในเชิงลบ จากการมีอำนาจเหนือตลาดของหน่วยธุรกิจแล้ว ผลพลอยได้จากการผลิตผลผลิตของหน่วยธุรกิจบางประเภทที่ทำอันตรายต่อสิ่งแวด ล้อม เช่นการปล่อยของเสียออกสู่บรรยากาศ หรือปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำ ผลกระทบภายนอกเชิงลบมีตั้งแต่กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจน ดังเช่นผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าการประกอบกิจการของธุรกิจบางประเภทสร้างผลกระทบเชิงลบต่อ สังคมได้ เช่นอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้น ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น (กรณี สุรา, บุหรี่, การพนัน) ด้วยเช่นกัน
หากใช้ตรรกะการทำกำไรสูงสุดมาจับแล้ว ก็อาจหมายความว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมหรือกำจัดของ เสียจากการผลิตเหล่านี้แต่อย่างใด เพราะการสร้างกระบวนการกำจัดหรือควบคุมของเสียมีผลทำให้ต้องมีต้นทุนเพิ่ม ขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลกำไรลดน้อยลง
กรณีการปล่อยของเสียสารพิษลงสู่แม่น้ำ จนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียง บางครั้งเงินชดเชยก็ไม่ได้ช่วยเยียวยาหรือรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ นอกจากปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว ก็อาจยังมีผลกระทบทั้งในแง่การดำรงชีวิตและการหาเลี้ยงชีพต่อเนื่องไปถึง ครอบครัวและญาติในครอบครัวอีกด้วย รัฐบาลจึงจะต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อประกันให้ผู้ผลิตมีมาตรการป้องกันและ ควบคุมการปล่อยของเสียต่างๆ
มุมมองจากกรอบมาร์กซิสต์
นอกเหนือจากกรอบแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กรอบแบบมาร์กซิสต์ในเรื่องการขูดรีดแรงงาน ก็มีความมีแง่มุมให้พิจารณาอยู่ไม่น้อย มาร์กซ์มองว่า คนเราไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกันทั้งหมด เพราะชนชั้นนายทุนซึ่งรวมไปถึงทายาทของเขาตั้งต้นที่เงิน คือเอาเงินตรานั้นไปลงทุนสร้างโรงงาน และว่าจ้างกรรมกรเข้ามาทำงานในโรงงาน, ในขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับเงิน ก็ต้องยินยอมขายกำลังแรงงานตนเองเพื่อแลกกับค่าจ้าง
ด้วยไม่มีทางเลือก ทำให้กรรมกรนั้นต้องยินยอมขายกำลังแรงงานของตนเองนั้นในราคาถูกกว่าที่ควรจะ เป็น ในขณะที่นายทุนสามารถประหยัดต้นทุนลงจากการจ่ายค่าแรงให้กรรมกร เมื่อโรงงานผลิตสินค้าและไปขายในท้องตลาด นายทุนก็จะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าที่ควรจะเป็น ก็เพราะส่วนหนึ่งเขาได้ขูดรีดเอาไปจากค่าแรงของกรรมกรนั้นเอง
ในขณะที่กรรมกรต้องทำงานในโรงงาน 10 ชั่วโมง ต่อวัน แต่ค่าจ้างที่เขาได้นั้น ในความเป็นจริงเทียบเท่าได้กับการที่เขาทำงานเพียง 3 ชั่วโมง คนที่เข้าใจเรื่องมาร์กซิสต์ และแนวคิดฝ่ายซ้ายจึงมองสินค้าต่างๆ ในรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างทุน และการขูดรีด ไม่ได้มองเป็นเพียงสินค้าที่สวยงาม (เช่นมองว่าโต๊ะ-เก้าอี้ที่ใช้อยู่ นีเป็นการขูดรีดแรงงานมาได้เป็นมูลค่ามากน้อยเท่าใด)
ดังนั้น นอกเหนือจากความสัมพันธ์แบบการแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเสรีแล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์ในเชิงขูดรีดกำลังแรงงานอยู่ด้วย
แนวทางปฏิบัติของบรรษัทยุคใหม่
ในโลกยุคใหม่ภารกิจขององค์กรยุคใหม่ย่อมมีความสลับซับซ้อนเพิ่ม มากขึ้น ผมเห็นด้วยกับข้อเขียนของ ดร.โสภณว่า กระแสความนิยม Corporate Social Response (CSR) ที่ มีอยู่ในเวลานี้มีลักษณะเป็นแบบฉาบฉวย และเป็นเรื่องเหลวไหลไร้แก่นสาร ทั้งนี้เพราะขาดการทำความเข้าใจถึง "หลักการ" และ "หลักปฏิบัติ" ที่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่มุมต่างๆ ในฐานะที่บรรษัทเป็นสมาชิกที่ดีหน่วยหนึ่งในสังคม
บรรษัทยุคใหม่จึงไม่สามารถคำนึงถึงเพียงกำไรสูงสุดแต่เพียงอย่าง เดียวได้อีกต่อไป หากแต่จะต้องคำนึงถึง ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนต้องไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบคู่แข่งขันจากอำนาจเหนือตลาด และคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงภารกิจของกิจการตนเองว่าคุณค่าที่แท้จริงคือ อะไร และสามารถพัฒนาสังคมที่ตนเองนั้นเป็นสมาชิกอยู่ให้ก้าวหน้าไปได้ อย่างไร [7]
…………
เชิงอรรถ 
[1] http://www.prachatai.com/05web/th/home/12644
[2] ถึงตรงนี้ผมยังมึนงงกับแคมเปญ อารยขัดขืนด้วยการไม่เสียภาษีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ กำลังมีการรณรงค์และชุมนุมทางการเมืองในช่วงนี้อยู่ไม่น้อย ว่าในทางปฏิบัติจะทำได้มากน้อยเพียงใด ในเมื่อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นถูกจัดเก็บ "ณ ที่จ่าย" ไปก่อนที่เราจะได้รับเงินเดือนแล้ว ในทำนองเดียวกัน ภาษีที่หลีกเลี่ยงได้ยากกว่าอย่าง "ภาษี มูลค่าเพิ่ม" นั้น ถูกจัดเก็บทุกขั้นตอนเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อหาสินค้าและบริการที่ มีจำหน่ายทั่วไปตามกฎหมาย
[3] เก็บข้อมูล รายได้รัฐบาล จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง http://www.fpo.go.th/content.php?action=view&section=A050000000&id=6630
[4] ดูเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Deadweight_loss
[5] ดูเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Predatory_pricing
[7] บรรษัทและองค์กรยุคใหม่ไม่ว่าจะ แสวงหากำไรหรือไม่ก็ตาม อาจใช้เครื่องมืออย่างเช่น ตารางการบริหารแบบสมดุล (Balanced Scorecard) และ แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) เพื่อรับมือกับความท้าทายในการกำหนดเป้าหมายที่ซับซ้อนเพิ่มมาก ขึ้นได้ โดยเบื้องต้นเครื่องมือตารางบริหารแบบสมดุล กำหนดเป้าหมาย (แบบวัดผลได้) อยู่ 4 วัตถุประสงค์คือ เป้าหมายทางการเงิน, เป้าหมายต่อการบริการลูกค้า, เป้าหมายต่อกระบวนการภายใน, และ เป้าหมายต่อกระบวนการเรียนรู้และการเติบโตขององค์กร เราสามารถประยุกต์เป้าหมายเหล่านี้ได้ตามที่ต้องการ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Strategy_map
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net